ก่อนเกษตรกรรายย่อยจะล่มสลาย 5 ประเด็นน่าตกใจจาก “ฟาร์มหมู”
เรื่องหมูวันนี้ไม่หมูเสียแล้ว! มีปัญหาตามมาสารพัดจากความผิดพลาดในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ สถานการณ์การระบาดของ “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” หรือ ASF (African Swine Fever) ที่ทำให้หมูเกษตรหายไปจากระบบถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และส่วนใหญ่ที่ล้มตายก็ล้วนแต่เป็นหมูของเกษตรกรรายย่อยนั้น อาจส่งผลให้ #หมูแพง ยังเป็นปัญหาใหญ่ลุกลามไปจนทำให้ #แพงทั้งแผ่นดิน เว้นอย่างเดียวคือ “ค่าแรง” ประชาชนที่ยังคง “ถูก” ไม่ได้ขึ้นมาหลายปีแล้ว
ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เกาะติดกรณีโรค ASF ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ พร้อมด้วย สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม และ นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ร่วมติดตามปัญหาของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว
จากการร่วมพูดคุยกับเจ้าของฟาร์มหมูใน อ.สามพราน และ อ.ดอนตูน จ.นครปฐม ทำให้ได้ทราบความจริงที่น่าตกใจหลายประเด็น ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่เร่งแก้ไข “เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย” น่าจะล้มละลายอาชีพล่มสลายกันไปหมด ได้แก่
1. ประชาชนอาจต้องกินหมูที่ราคาแพงแบบนี้ไปอีกหลายปี หรืออาจกล่าวอีกแบบคือ บางครอบครัวอาจไม่ได้กินหมูไปอีกหลายปีเลยก็ว่าได้ นี่คือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ที่พรรคก้าวไกลเตรียมนำไปถามหาความจริงนี้จากผู้มีส่วนรับผิดชอบ
2. กรณีวัคซีน รัฐบาลต้องไม่ให้ความหวังอย่างไม่รอบคอบแก่เกษตรกร เพราะจะทำให้เกษตรกรวิ่งไปหาวัคซีนเถื่อน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่สามารถจัดการโรคได้ ตัวอย่างจากประเทศจีน เป็นบทเรียนที่สำคัญ มีความพยายามนำวัคซีนมาใช้ แต่กลายเป็นว่าทำให้ระบาดหนักกว่าเก่า สถานการณ์ตอนนี้เหมือนกับว่ารัฐบาลออกมาพูดเรื่องวัคซีนเพื่อลดแรงกดดันจากเกษตรกรเท่านั้น
3. สถานการณ์หนี้สินของเกษตรกรรายย่อยยังคงเป็นปัญหาสืบเนื่อง เพราะการมาของโรคระบาดดังกล่าว ฟาร์มต้องลดรายจ่ายด้วยการเร่งขายหมูที่มีความเสี่ยงจะติดโรค ทำให้ขาดทุน การจะกู้เงินเพิ่มก็ติดเพดานหนี้สิน และปัญหานี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไม่อาจจะกลับมาเลี้ยงหมูได้อีก สำหรับกรณีที่รัฐบาลมีมาตรการออกเงินกู้ 1 แสนบาท ที่ให้ ธกส.อนุมัติให้เกษตรกรรายย่อยสำหรับเลี้ยงหมูต่อไปนั้น เชื่อว่าจะไม่สามารถทำได้จริงและจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
4. ถ้ายอมรับและเริ่มแก้ปัญหาเร็ว อาจจะควบคุมการระบาดของโรคได้ แต่ทว่าพอปล่อยให้เรื้อรังแบบที่เป็นอยู่ และไม่มีการยอมรับว่ามีการระบาดเลยทำให้กระทบกันไปหมด ข้าวของแพงลามไปเป็นลูกโซ่ กรณีนี้ พรรคก้าวไกลเตรียมยื่นญัตติเพื่อขอตั้ง กมธ.ศึกษาข้อเท็จจริงของการระบาดครั้งนี้ด้วย
5. การกลับมาเลี้ยงใหม่ต้องตั้งโจทย์ว่าจะเลี้ยงอย่างไร ถ้าเราลองดูกรณีระบบปศุสัตว์ของจีน เวียดนาม ซึ่งก่อนหน้านี้ตามหลังระบบของเราอยู่หลายปี แต่เมื่อมีการระบาดนั้น ทำให้เกิดการยกเครื่องครั้งใหญ่ และปรับปรุงอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูได้ในที่สุด สำหรับประเทศไทยถ้าปล่อยเสรี เชื่อว่าเกษตรกรรายย่อยจะล้มละลาย และไม่สามารถกลับมาเลี้ยงหมูได้อีกเลย
เป็น 5 ประเด็นน่าตกใจที่ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล เดินทางไปรับฟังมาจากปากของเกษตรกรรายย่อยผู้เลี้ยงหมู ซึ่งหลายๆ ราย เท่าที่ได้เจอะเจอมานั้น ตัดสินใจกันแล้วว่าคงจะยุติอาชีพการเลี้ยงหมูไว้แค่เพียงเท่านี้