free geoip

หมูหายไปไหน ทำไมถึงแพง


เรื่องนี้ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ยังอับจนและมืดบอดทางปัญญาดังที่เป็น มองหน้ารัฐมนตรีทุกคนจนครบวงประชุมแล้วยังไม่รู้ว่าจะหาทางออกได้จากที่ไหน

เราขอชวนท่านพร้อมทั้งรัฐบาลมาฟังคำตอบจาก  เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center คลังสมองของพรรคก้าวไกล ที่จะมาให้ข้อมูลเรื่องหมูๆแบบไม่มีกั๊ก ซึ่งนอกจากสืบสาวราวเรื่องให้เห็นต้นสายปลายเหตุ ‘วิกฤตหมูแพง’ และผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมาพร้อมวิธีการแก้ปัญหาแบบชัดเจนเป็นระบบ เพื่อให้ท่านนายกฯและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องรับไปปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนโดยเร่งด่วนได้ทันที

แต่หากแก้โจทย์ให้แทนขนาดนี้แล้ว ยังแก้ไขไม่ตรงจุดหรือพบว่าเพิกเฉยอีก เราคิดว่าก็คงจะเป็นเพราะท่าน ‘เห็นแก่ตัว’ เกินไปที่จะอยู่เป็นรัฐบาลบริหารประเทศต่อได้ ก็ขอให้พิจารณาตัวเองและออกไปในเวลาที่ยังพอมี ก่อนประชาชนจะทนไม่ไหวกับปรากฏการณ์ #แพงทั้งแผ่นดิน ที่สร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าแล้วออกมา #ไล่ทั้งแผ่นดิน แทนในปีนี้  


LIVE เปิดข้อมูล! ทำไมหมูแพง ของขึ้นราคา ค่าครองชีพสูง?




เนื้อหมูไทยหายไปไหน

เพื่อหาคำตอบนี้ เราจำเป็นต้องดูตั้งแต่โครงสร้างการเลี้ยงหมูของประเทศไทย ซึ่งจะเห็นความเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 10 ปีทีผ่านมา

เดิมการเลี้ยงหมูส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงตามบ้าน มีอะไรเหลือก็ให้หมูกิน ต่อมา จึงเกิดผู้ประกอบการเลี้ยงหมูขึ้น จากรายย่อยในสัดส่วนใกล้เคียงกันก็มีแนวโน้มเปลี่ยนมือไปสู่รายใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆในระยะหลัง 

ข้อมูลจากการสำรวจความเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตร สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2551-2561 ชี้ให้เห็นว่า จำนวนผู้เลี้ยงหมูในประเทศลดลงอย่างมากจาก 285,533 ราย เหลือเพียง 82,979 ราย หรือจำนวนผู้เลี้ยงหมูลดลงกว่า 200,000 ราย ในเวลา 10 ปี  ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบจากขนาดผู้ประกอบการ (เลี้ยงมากกว่า 500 ตัวขึ้นไปคือรายใหญ่) พบว่า มีการหายไปของเกษตรกรรายเล็กอย่างชัดเจน

  • ปี 2551 สัดส่วนผู้ประกอบการเลี้ยงหมูรายเล็กต่อรายใหญ่อยู่ที่ ร้อยละ 52 : 48
  • ปี 2561 สัดส่วนผู้ประกอบการเลี้ยงหมูรายเล็กต่อรายใหญ่เหลือเพียง ร้อยละ 16 : 84


จะเห็นได้ว่า ในเวลา 10 ปี การประจุกตัวของผู้เลี้ยงหมูไปอยู่ในมือผู้ประกอบการขนาดขนาดกลางและขนาดใหญ่มากขึ้น

ข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังแยกย่อยรายละเอียดผู้เลี้ยงหมูลงไปอีก โดยแบ่งเป็น รายเล็ก (จำนวน 1-500 ตัว ) รายกลาง (501-5,000 ตัว) รายใหญ่ (มากกว่า 5,000 ) พบว่ามีสัดส่วนเป็น ร้อยละ 30 : 30 : 40

กระทั่ง ปี 2562  เริ่มพบรายงานการระบาดของโรคอหิวาต์​แอฟริกา​ในหมู (​ASF : African Swine Fever) ในเอเชียตะวันออก 14 ประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ติมอร์เลสเตเวียดนาม ลาว เมียนมาร์ แต่กลับไม่มีรายงานพบการระบาดในประเทศไทย

นี่จึงคำถามที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนถึงตอนนี้ว่า ประเทศไทยไม่มี ASF จริง หรือ ไม่ได้แจ้ง ?

อย่างไรก็ตาม การระบาดได้ส่งผลกระทบรุนแรงทำให้การผลิตหมูในภูมิลดลง เช่น ในเวียดนามมีการระบาดถึง 2 ระลอก คือปี 63 และปลายปี 64 ขณะที่ ประเทศไทยกว่าจะแจ้งพบการระบาดครั้งแรก จำนวน 1 ตัวอย่าง คือกลางเดือน ม.ค. 65 ที่ผ่านมานี้เอง


หากดูจากดัชนีผลผลิตสุกรมีชีวิตรายเดือน เรายังคงเห็นว่าในปี 62-63 ผลผลิตสุกรของไทยยังมีอัตราการผลิตคงที่ที่ตัวเลขดัชนี 160-170  แต่พอมาถึงปี 64 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ดัชนีกลับลดลงมาเหลือ  120 เท่านั้น เท่ากับว่า ตั้งแต่กลางปี 64 เป็นอย่างน้อย หน่วยงานรัฐรู้ชัดเจนว่า ผลผลิตหมูหายร้อยละ 20-30 ซึ่งย่อมคาดเดาได้ว่าจะเกิดปัญหาราคาหมูตามมาแน่ แต่กลับไม่มีการขยับอะไร จึงเกิดเป็นคำถามที่ดังขึ้นว่ามีการปิดบังการแพร่ระบาด ASF หรือไม่ และเป็นเรื่องที่ต้องสอบสวนหาความจริงกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่สำคัญสำหรับการฟื้นวิกฤตในครั้งนี้ เดชรัต ชี้ประเด็นสำคัญว่า แค่การทำให้ผลผลิตหมูกลับมาอย่างเดียวไม่ว่าจะเป็นการเพาะพันธุ์ขึ้นใหม่หรือนำเข้าเนื้อหมูเพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนในระยะสั้นที่มีผลต่อราคายังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา แต่จะต้องหาวิธีทำให้ ‘ผู้เลี้ยงหมูรายย่อย’ กลับคืนมาด้วย จึงจะเกิดความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริง โครงสร้างอุตสาหกรรมเลี้ยงหมูเข้มแข็งจริง และสามารถรับมือสิ่งต่างๆที่จะเกิดในอนาคตได้



ปกปิดโรคระบาด ใครได้ประโยชน์


ปี 2563-64 ประเทศรอบข้างพบการระบาด ASF จนทำให้ขาดแคลนเนื้อหมู แต่สถานการณ์นี้เท่ากับโอกาสทองธุรกิจเลี้ยงหมูขนาดใหญ่ที่สามารถส่งออกเพื่อทดแทนความต้องการของประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นแบบมีชีวิตหรือเนื้อหมูแช่แข็ง

การระบาดของ ASF ตั้งแต่ปี 62 ทำให้ราคาหมูมีชีวิตในหลายประเทศพุ่งสูงขึ้น เช่น เวียดนามจากราคา 30 บาทต่อกิโลกรัม พุ่งขึ้นเป็น 80 บาทต่อกิโลกรัม หมูจากประเทศไทยจากที่เดิมที่แทบไม่เคยส่งออกเลย ในปี 63 สามารถส่งออกและทำมูลค่าได้มากกว่า 10,807 ล้านบาท ส่วนในปี 64 (ม.ค.- พ.ย.) แม้จะลดลง แต่ก็ยังทำรายได้จากการส่งออกได้ถึง 5,809 ล้านบาท สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องมาจากตั้งแต่กลางปี 64 เป็นต้นมา ผลผลิตหมูของไทยก็ลดน้อยลงมาเช่นกัน

.

อย่างไรก็ตาม มูลค่าจากการส่งออกที่สูงขนาดนี้ไม่ได้กระจายไปถึงรายย่อย เนื่องจากเกิดโรคลึกลับที่ทำให้หมูในฟาร์มตายไปเรื่อยๆ แต่สำหรับฟาร์มใหญ่ระบบปิดที่ได้รับผลกระทบน้อยจึงยังส่งออกได้เมื่อไม่มีการประกาศพบ ASF ในไทย จึงกลายคำถามสำคัญต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า การประกาศพบการระบาดของ ASF ช้า มีความเกี่ยวข้องอย่างมีเจตนาที่สอดคล้องกับโอกาสทองการส่งออกหมูของบางกลุ่มทุนแล้วปล่อยให้รายย่อยแบกรับชะตากรรมหมูตาย ฟาร์มเจ๊งหรือไม่


‘หมูแพง’ ส่งผลกระทบลูกโซ่ สะเทือนผู้มีรายได้น้อยมากที่สุด 


ความล่าช้า (หรือเพิกเฉย) ในการแจ้งเตือนโรคระบาดส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันการระบาดของ ASF เพราะเท่าการการที่หน่วยงานต้องทำเรื่องสำคัญด้วยงบประมาณและอำนาจหน้าที่ที่จำกัด จนส่งผลให้การแพร่ระบาดไม่อยู่ในจุดที่ควบคุมได้อีก โดยเฉพาะตั้งแต่กลางปี 64 เป็นต้นมา จึงเห็นแนวโน้มของปริมาณการผลิตหมูลดลงอย่างชัดเจน ส่งผลให้หมูมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ และแพงขึ้นอย่างชัดเจนมากตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค.

ผลสืบเนื่องที่ตามมาคือ การหาโปรตีนทดแทนหมูที่ราคาสูงของผู้บริโภค เช่น หันมากินไก่ กินเนื้อ กินไข่ หรือกินปลา ทำให้เกิดการดึงราคาสินค้าอื่นขึ้นไปด้วยอย่างเป็นระบบ โดยมีข้อมูลที่ชัดเจนยืนยันว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นลักษณะนี้ กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ‘กลุ่มผู้มีรายได้น้อย’

ราคาเนื้อหมู ที่ไปดึงราคาเนื้อไก่ เนื้อวัว ไข่ไก่หรืออื่นๆให้เพิ่มขึ้น เกิดผลกระทบมากแค่ไหน จากการจำลองคาดการณ์ว่า ราคาเนื้อหมูจะเพิ่มขึ้นไปอีกร้อยละ 30  เนื้อวัวร้อยละ 5 และเนื้อไก่ร้อยละ 15

พบว่า ผู้บริโภคจะมีรายจ่ายในภาพรวมประมาณ 3,583 ล้านบาทต่อเดือนเดือน หรือประมาณ 43,000 ล้านบาทต่อปี และยิ่งแก้ช้าผลกระทบก็ยิ่งมากขึ้น

หรือจะหากคำนวณเฉพาะราคาหมูอย่างเดียว ในแบบจำลองราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ผลกระทบก็ยังคงสูงคิดเป็นประมาณ 2,800 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 33,600 ล้านบาทต่อปี  นี่คือภาระใหญ่มาก แต่ยังมีความน่าเป็นห่วงยิ่งไปกว่านั้น หากประเมินต่อไปด้วยข้อมูลภาระครัวเรือนที่มีความแตกต่างกันในแง่รายได้

สมมติว่ามีการแบ่งครัวเรือนออกเป็น 10 กลุ่ม จากที่จนที่สุดไปถึงรวยที่สุด การประเมินว่ากลุ่มไหนมีภาระมากกว่ากันในสถานการณ์นี้จะขึ้นอยู่กับการซื้อหมูมากน้อยต่างกันเพียงใดในแต่ละกลุ่ม ซึ่งสันนิษฐานแรกมักเดากันว่า ครัวเรือนยากจนที่สุดจะซื้อหมูน้อยที่สุด แต่ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่สวนทางกัน เพราะครัวเรือนยากจนมักมีสมาชิกครัวเรือนเยอะ ในขณะที่หมูเป็นสินค้าพื้นฐานที่นำไปทำกินได้สะดวกในแต่ละมื้อ จึงพบว่า ใน10 กลุ่มนี้ กลุ่มครัวเรือนยากจนจะมีภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อหมูเมื่อปรียบกับรายได้สูงที่สุด คือ ร้อยละ 6 ของรายได้ ส่วนครัวเรือนที่รวยที่สุด จะมีภาระในการซื้อหมูเมื่อเทียบกับรายได้ ไม่ถึงร้อยละ 1 ซึ่งเป็นอัตราก่อนเกิดภาวะหมูแพง

“เมื่อหมูแพงขึ้น ครัวเรือนที่ยากจน จากเดิมซื้อหมูและเนื้อสัตว์อื่นๆรวมกัน ร้อยละ 9.4 เมื่อเนื้อสัตว์เหล่านี้แพงขึ้นตามอัตราที่จำลองร้อยละ 30 ผลคือ กลุ่มนี้จะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12 ของรายได้ ขณะที่ครัวเรือนที่รวยที่สุด แม้ภาระค่าใช้จ่ายต่อรายได้จะขยับมาบ้าง แต่ก็ยังไม่ถึงร้อยละ 1 อยู่ดีดังนั้น ความแตกต่างกันของผลกระทบ จึงกระทบต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อยชัดเจนมาก ซึ่งเดิมกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 มากอยู่แล้ว ขณะที่ผลกระทบในภาพรวมคือรายจ่ายที่มากกว่า 3,500 ล้านบาทต่อเดือน และจะสูงกว่านี้หากรัฐบาลแก้ปัญหาได้ช้า”





ข้อเสนอแนะ : การแก้ไขและฟื้นฟูอุตสาหกรรมหมูทั้งระบบ ต้องทำแบบ 3D Policy 

3D Policy คือต้องทำไปทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ การลดภาระค่าครองชีพผู้บริโภค, การทำให้การเลี้ยงหมูทั้งระบบกลับมาเข้มแข็งแข่งขันได้ทั้งระยะสั้นและยาว และผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจะต้องได้รับการสนับสนุนที่มากพอ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดการผูกขาดตลาด และสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแค่เรื่องหมูมีราคาแพงเท่านั้น แต่มีผลสะเทือนถึงโครงสร้างการเลี้ยงหมูในประเทศไทยที่ทำให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหายไปจากตลาด เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบจาก ASF มากกว่าครึ่งเกิดขึ้นในผู้เลี้ยงรายย่อยจนต้องยุติการผลิตไป ทำให้แนวโน้มของโครงสร้างผู้เลี้ยงหมูหลังการระบาดของ ASF จะยิ่งกระจุกตัวมากขึ้นและเปลี่ยนมือไปสู่ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่

โจทย์ที่แก้ไขจึงต้องมีทั้ง 3 ด้าน ต้องมีเนื้อหมูมาทดแทนในราคาใกล้เคียงปกติเพื่อผู้บริโภค การฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมู และต้องทำให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกลับมาให้ได้



ฟื้นฟูอุตสาหกรรมหมูทั้งระบบ ต้องทำแบบ 3D Policy


  • การฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรต้องใช้ระยะเวลานานอันดับแรกต้องเริ่มต้นจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้ได้
  • ประเมินจำนวนแม่พันธุ์และลูกสุกรว่าเพียงพอหรือไม่ เพิ่มด้วยวิธีการใด ในกรณีของจีนใช้เวลาตั้งแต่หนึ่งปีครึ่งถึงสองปี  ส่วนกรณีของไทยจากเงื่อนเวลาและการเลี้ยงใช้เวลา 4-5 เดือน จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะใช้เวลาตั้งแต่ครึ่งปีถึงหนึ่งปีครึ่ง ขณะที่ในแต่ละเดือนหมายถึงภาระค่าใช้จ่ายผู้บริโภคราว 3,000 ล้านบาทต่อเดือนและตกหนักกับครัวเรือนยากจน จึงต้องคิดถึงทางเลือกอื่นด้วย เช่น การนำเข้าจากต่างประเทศ
  • สุกรแม่พันธุ์ และลูกสุกร ได้รับผลกระทบบางส่วน (แต่ยังไม่ทราบขนาดของผลกระทบ/จำนวนที่ชัดเจน) ยังไม่แน่ใจว่าจะต้องนำเข้าหรือไม่ แต่ไม่น่าจะเป็นปัจจัยเร่งด่วน
  • อาหารสัตว์อาจไม่ใช่ปัจจัยเร่งด่วนนัก แต่หากลดต้นทุนอาหารสัตว์ได้จะมีผลต่อต้นทุนของเนื้อสุกรในระยะยาว




ข้อเสนอการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมู


ด้วยการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูที่ใช้เวลานาน การนำเข้าเนื้อหมูเพื่อเพิ่มอุปทาน และลดราคาเนื้อหมูในระยะสั้น คงเป็นทางเลือกที่หลีกเลี่ยงได้ยากแต่โจทย์ของการนำเข้าจะต้องคำนึงในหลายมิติ

  • มิติคุ้มครองผู้บริโภค ต้องนำเข้าจากประเทศที่ไม่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง มีมาตรฐานทางสุขอนามัยไม่ต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น และไม่มีการแพร่ระบาดของโรค ASF
  • มิติคุ้มครองผู้ผลิต ต้องคำนึงถึง ราคาที่นำเข้าและมาจำหน่ายแล้ว ไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมสุกรในระยะยาว นั่นคือ ควรจะสูงกว่าราคาก่อนเริ่มวิกฤตการณ์ประมาณ 10%
  • มิติการฟื้นฟูผู้ผลิตรายย่อย หากมีการเก็บค่าธรรมเนียมเนื้อสุกรนำเข้า จะต้องนำเงินที่เก็บจากค่าธรรมเนียมดังกล่าว มาใช้เป็นกองทุนในการชดเชยฟื้นฟูผู้เลี้ยงรายย่อย
  • มิติการกระจายเนื้อสุกร ตามแหล่งต่างๆ ต้องมีความเป็นธรรม ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่กับ
    โมเดิร์นเทรดรายใหญ่เท่านั้น
  • มิติเชิงความเร่งด่วน มีโจทย์ในการเตรียมตู้คอนเทนเนอร์และระวางเรือ ซึ่งอาจใช้เวลานาน


น่าจะต้องนำเข้าอย่างน้อย 6 เดือน ในอัตราประมาณ 20% ของการบริโภค



โจทย์เรื่องการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ

การนำผู้ประกอบการรายย่อยกลับมาเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดการกระจุกตัวหรือผูกขาด และจะเป็นการช่วยสนับสนุนเศรษฐฏิจท้องถิ่น แต่ภาครัฐจะต้องคิดถึงสิ่งที่เขาต้องเผชิญ ซึ่งปัญหาหลักก็คือ ต้นทุน ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการลงทุนเพิ่มเกี่ยวกับมาตรฐานการควบคุมโรคที่สูงขึ้นอย่างแน่นอน

  • การฟื้นฟูการเลี้ยงหมูของผู้เลี้ยงรายย่อยจะเริ่มต้นได้ก็ต่อเมื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้ได้ก่อน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายซ้ำซ้อนและลดการแพร่ระบาดของโรค
  • ระหว่างนี้มีความจำเป็นต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ใน 5 ด้าน ได้แก่
  • การจัดเตรียมระบบการเข้าถึงปัจจัยการผลิต ทั้งลูกสุกร อาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ในต้นทุนที่เหมาะสม
  • การร่วมลงทุนในการพัฒนาระบบมาตรฐานฟาร์ม โดยเฉพาะเรื่อง Biosecurity
  • มาตรการในการชดเชย เยียวยาในกรณีที่ต้องมีการกำจัดสุกรเพื่อการควบคุมโรค
  • การแก้ไขปัญหาหนี้สินเดิม และการมีสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยในระยะเวลาหนึ่งเพื่อการฟื้นฟู
  • การเตรียมช่องทางการกระจายสินค้าในระดับท้องถิ่น

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า