free geoip

พร้อมชน! ทำทางม้าลายกรุงเทพฯ ให้ปลอดภัยคือหน้าที่ ไม่ใช่นโยบาย



ปัญหาทางม้าลายไม่ปลอดภัยเป็นแผลใหญ่ที่คนเดินเท้ากรุงเทพฯ ทุกคนเจ็บปวดร่วมกัน หลังจากที่ผมเปิดให้ประชาชนแจ้งเรื่องร้องเรียนทางม้าลายไม่ปลอดภัยผ่าน Traffy Fondue (ต้องมีแอพ LINE ในมือถือ) เพียง 3 วัน มีเรื่องแจ้งเข้ามาแล้วกว่า 109 เรื่อง และล่าสุดวันนี้ยังมีมาอีกเรื่อยๆ

ข้อมูลคดีอุบัติเหตุจราจรที่รับแจ้งปี 2558-2560 จากกรมควบคุมโรคพบว่า ประเทศไทยมีคนเดินเท้าเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฉลี่ยถึงปีละ 740 ราย โดยเป็นเหตุที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานครถึงปีละ 250 ราย หรือพอจะสรุปได้ว่า 1 ใน 3 ของคนเดินเท้าที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ นั้นต้องเอาชีวิตมาทิ้งที่กรุงเทพมหานคร

จากจำนวนทางม้าลายกว่า 4,160 จุดทั่วกรุงเทพฯ กทม. เพิ่งจะทำการปรับปรุงด้วยการทาสีแดงเพื่อให้ทางม้าลายสามารถเห็นได้เด่นชัดเพียงแค่ 621 แห่งเท่านั้น และในปีงบประมาณ 2565 นี้ ก็มีแผนงานที่จะทำเพิ่มอีกเพียงแค่ 117 แห่ง รวมแล้วเป็น 738 แห่ง สรุปแล้วถ้าทุกการปรับปรุงสภาพทางม้าลายเป็นไปตามงบประมาณ 2565 เท่ากับว่ามีทางม้าลายที่ได้รับการปรับปรุง ไม่ถึง 20% ของทางม้าลายทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร

สำหรับสัญญาณไฟคนข้าม ก็พบว่าในปีงบประมาณ 2565 สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร มีแผนที่จะติดสัญญาณไฟคนข้ามเพียงแค่ 54 แห่ง โดยกันงบประมาณไว้เพียง 20 ล้านบาทเท่านั้น

เหตุการณ์ที่มีคนถูกรถชนบนทางม้าลาย ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ประชาชนมีความตระหนัก ถึงสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในการข้ามถนนมากขึ้น โดยเฉพาะทางม้าลาย ควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการข้ามถนน ได้แล้ว


สิ่งที่ผม และเพื่อนว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. จะดำเนินการต่อไปจากนี้ ก็คือ การจัดส่งรายงานสรุปปัญหาทางม้าลายที่อยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ เส้นไม่ชัดเจน โดยมีรูปภาพประกอบ พร้อมระบุตำแหน่งที่พบปัญหา ให้กับสำนักจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร เพื่อปรับปรุงทางม้าลายดังกล่าวทั้งหมด

โดยผม และเพื่อนว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. ของผม จะเกาะติดปัญหานี้แบบกัดไม่ปล่อย และคอยติดตามเรื่องนี้ในทุกสัปดาห์



ถ้ากรุงเทพฯ มีผู้ว่าชื่อวิโรจน์ สิ่งที่ผมจะ “ทำทันที” คือ

1. ปรับปรุงโครงสร้างทางวิศวกรรม ทางม้าลาย 4,160 แห่ง ให้ปลอดภัยสำหรับคนกรุงเทพฯ ทันที

ทางม้าลายที่ได้มาตรฐานต้อง…

  • มีสีเส้นทางม้าลายชัดเจน
  • มีสัญญาณไฟคนข้ามแบบกด โดยเฉพาะหน้าโรงเรียน-โรงพยาบาล
  • มีกล้องวงจรปิดตรวจจับความเร็วรถที่ทำผิดกฎจราจร
  • มีเส้นซิกแซก (Zigzag line) ชะลอก่อนถึงจุดทางม้าลายอย่างน้อย 15 เมตร เพื่อมีสิ่งเตือนว่าข้างหน้ามีทางม้าลาย เพื่อรถจะได้ชะลอก่อนถึงเวลา


ในเบื้องต้น ทางม้าลายที่ได้มาตรฐานต้องเร่งทำบนถนนที่มีการสัญจรของรถ-คนสูง โดยเฉพาะหน้าสถานศึกษา-โรงพยาบาล ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างเหล่านี้ใช้งบประมาณไม่มาก ผมยืนยันว่าถ้ามีความใส่ใจ ผู้ว่าฯ กทม. สามารถดำเนินการให้มีการทำทางม้าลายให้ดีได้ทันที


2. บังคับใช้กฎหมายจราจร ด้วยการจี้-เป็นเจ้าทุกข์ร้องตำรวจจราจรให้บังคับใช้กฎหมาย

การบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องซับซ้อนที่จะใช้เพียงกล้องวงจรปิดและใบสั่งออนไลน์ไม่ได้ จากสถิติปี 2563 มีการส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ 13 ล้านใบ แต่มีคนมาจ่ายค่าปรับเพียงแค่ 1 ล้านใบ (8% เท่านั้น) ทางแก้นี้ต้อง

ผลักดันนโยบายระดับชาติ ด้วยการต้องทำให้ใบสั่งศักดิ์สิทธิ์-คนเคารพกฎหมาย โดยเชื่อมโยงระบบข้อมูลใบสั่ง ถ้าใครไม่จ่ายค่าปรับ ต่อภาษีรถยนต์ไม่ได้ และต้องคิดถึงการตัดคะแนนใบขับขี่ หากฝ่าฝืนกฎหมายแล้วไม่ยอมเสียค่าปรับ ก็จะถูกตัดคะแนนตามความร้ายแรงของความผิดนั้น ๆ หากคะแนนลดลงจนถึงระดับหนึ่ง ก็อาจมีบทลงโทษอื่นตามมา เช่น ห้ามขับรถ 30 วัน หรืออาจถึงขั้นยกเลิกใบขับขี่ แต่เรื่องบทลงโทษเหล่านี้เป็นอำนาจบริหารที่เกินกว่าอำนาจของกรุงเทพฯ
กทม. ทำงานเชิงรุกการเป็นเจ้าทุกข์ แจ้งความรถผิดกฎจราจร เพื่อกระตุ้นให้ตำรวจจราจรทำงานเชิงรุกในการเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชน


3. เชื่อมไฟคนข้ามกับไฟแดงสี่แยก เพิ่มทางม้าลายบนแยกวัดใจ

ทางม้าลายไม่ใช่แค่เรื่องการแก้จุดต่อจุด แต่เป็นเรื่องของการออกแบบเมืองทั้งหมด การปรับปรุงไฟทางข้ามต้องคิดเรื่องการเชื่อมโยง (Sync) กับสี่แยกไฟแดงรถยนต์ด้วย นอกจากนี้ คนตายบนถนนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ เกิดอุบัติเหตุนอกทางม้าลาย หรือที่เรียกว่า “แยกวัดใจ” ดังนั้น ถ้าคิดถึงการออกแบบเมืองทั้งระบบ ต้องคิดเรื่องการเพิ่มจุดข้ามถนนที่ปลอดภัยด้วย


4. กรุงเทพฯ ต้องทำงานเชิงรุก ไม่ต้องรอประชาชนแจ้ง

สุดท้าย เราเชื่อว่าการทำทางม้าลายที่ดีคือหน้าที่ ไม่ใช่นโยบาย!

“การบำรุงรักษาพื้นผิวจราจร คือ หน้าที่พื้นฐานของ กทม. !!!” ดังนั้น สำนักงานเขตต้องร่วมกับสำนักจราจร สำรวจทางม้าลาย ผิวถนน และทางเท้าเป็นประจำ เพื่อให้การซ่อมบำรุงและแก้ปัญหาทำได้อย่างทันท่วงที

“พนักงานดูแลกรุงเทพฯ คือหัวใจแก้ปัญหา” เพราะพนักงานทำความสะอาด-พนักงานรดน้ำต้นไม้ มีหน้าที่ที่ต้องเดินทางบนถนนทุกเส้นของกรุงเทพฯ อยู่แล้ว เราเพิ่มคุณค่าให้กับงานเหล่านี้ได้ด้วยการใช้เทคโนโลยี เช่น การติดกล้องหน้ารถ เพื่อสำรวจปัญหากรุงเทพได้อย่างทันท่วงที

นี่คือ ข้อเสนอแนะของผมและเพื่อนว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. พรรคก้าวไกล หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กรุงเทพมหานคร จะเร่งนำเอาแนวคิดดังกล่าว ไปปรับปรุง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ โดยเร็วที่สุดครับ


พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า