สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้ + ลดรายจ่าย-เพิ่มแต้มต่อ-เติมตลาด-เติมทุน ให้ SMEs = ประเทศไทยที่ก้าวหน้าสำหรับทุกคน
สิทธิลาคลอดในประเทศไทยสำหรับลูกจ้างทั่วไปปัจจุบันอยู่ที่ 98 วัน โดยครอบคลุมการจ่ายค้างอยู่ที่ 90 วัน ซึ่งนับเป็นระดับที่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนมายาวนานเกือบ 30 ปี
ในการประกาศชุดนโยบาย “การเมืองไทยก้าวหน้า” (ซึ่งเป็น 1 ใน 9 เสานโยบายของพรรค) หนึ่งนโยบายที่ได้รับความสนใจจากสังคมคือ “สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้” ซึ่งเป็นทั้งการขยายสิทธิลาคลอดให้กับลูกจ้างจากปัจจุบันที่ 98 วัน และการเพิ่มความยืดหยุ่นให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถแบ่งวันลากันได้จากทั้งหมดรวมกัน 180 วัน ซึ่งเป็นมาตรการที่ถูกใช้ในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีเหตุผลรองรับสำหรับกรณีของประเทศไทยดังต่อไปนี้
1. ส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสุขภาพของเด็กแรกเกิด
แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ออกคำแนะนำว่าลูกควรได้รับน้ำนมแม่อย่างเดียว นับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน เนื่องจากเป็นแหล่งโภชนาการที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมองและเชาว์ปัญญา (IQ) ของเด็ก แต่สถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติกลับเผยว่ามีเพียง 14% ของทารกทั้งหมดในประเทศไทย ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต
การขยายสิทธิลาคลอดให้แม่ได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่กับลูกช่วงแรกเกิดโดยไม่สูญเสียความมั่นคงทางรายได้ จึงเป็นหนึ่งในวิธีในการช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว (ซึ่งอาจทำได้ควบคู่กับการพิจารณามาตรการสนับสนุนให้มีห้องให้นมตามสถานที่ทำงาน สถานที่ราชการ หรือสถานที่สาธารณะ)
2. คุ้มครองความเสมอภาคทางเพศด้านโอกาสทางการงาน และการเลี้ยงดูบุตร
ข้อกังวลอย่างหนึ่งที่สังคมมักมีเกี่ยวกับการขยายสิทธิลาคลอด คือการเลือกปฏิบัติโดยผู้ว่าจ้าง ที่อาจเลือกจะจ้างงานผู้หญิงน้อยลงเพราะกังวลถึงผลกระทบที่ตามมาหากผู้หญิงดังกล่าวตั้งครรภ์และลางานด้วยการใช้สิทธิลาคลอด
แม้พฤติกรรมเลือกปฏิบัติเป็นสิ่งที่เราต้องร่วมกันขจัดในทุกกรณี แต่การเพิ่มความยืดหยุ่นให้พ่อ-แม่เลือกว่าต้องการแบ่งวันลา 180 วันระหว่างกันอย่างไร (เช่น ลาทั้ง 2 คนร่วมกัน 3 เดือน / คนหนึ่งลา 5 เดือน อีกคนลา 1 เดือน) เป็นวิธีหนึ่งในการช่วยส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ทั้งในมิติของการส่งเสริมให้การเลี้ยงลูกเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งพ่อและแม่ (ไม่ใช่แค่แม่ฝ่ายเดียว) และในมิติของการเพิ่มความยืดหยุ่นให้คู่รักในการวางแผนการเลี้ยงดูและการงาน โดยไม่บีบให้คู่รักต้องเลือกให้ฝ่ายแม่เป็นฝ่ายลาจากงานเป็นหลักและเสี่ยงที่จะสูญเสียโอกาสทางการงาน เพียงเพราะสิทธิลาคลอดทั้งหมดถูกจำกัดให้กับเพียงฝ่ายแม่ฝ่ายเดียว
3. เพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนมีลูก ท่ามกลางวิกฤตสังคมสูงวัย
จากการเก็บสถิติโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติมาหลายสิบปี ปี 2564 นับเป็นปีแรกที่จำนวนคนเกิดใหม่ (544,570 คน) น้อยกว่าคนเสียชีวิต (563,650 คน) – อีกหนึ่งสัญญาณของปัญหา ‘สังคมสูงวัย’ ที่โครงสร้างประชากรมีสัดส่วนคนวัยทำงานต่อคนหลังวัยทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง และสร้างความท้าทายทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ เพราะทำให้จัดเก็บรายได้รัฐจากคนวัยทำงานได้ลดลง แต่รายจ่ายในการดูแลผู้สูงอายุกลับสูงขึ้น
หากต้องการเพิ่มแรงจูงใจให้คนหันมามีลูกมากขึ้น การตลาดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก หรือผลกระทบต่อหน้าที่การงานของคนที่กำลังจะเป็นพ่อแม่ จึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งหมายถึงทั้งเรื่องสิทธิลาคลอด เบี้ยเด็กแรกเกิด (ที่พรรคก้าวไกลสนับสนุนให้เพิ่มขึ้นเป็น 1,200 บาทต่อคนต่อเดือนแบบถ้วนหน้า) บริการดูแลลูก (Childcare) หรือแม้แต่การศึกษาที่มีคุณภาพและฟรีจริง
แม้เราเห็นถึงตัวอย่างของผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายใหญ่หลายราย ที่มีการขยายสิทธิลาคลอดมากกว่าที่รัฐกำหนดอยู่แล้ว (เช่น บริษัทศรีจันทร์ ที่ประกาศให้สวัสดิการลาคลอดพนักงาน 180 วันสำหรับแม่และ 30 วันสำหรับคู่รัก เมื่อกลางปี) แต่ทางพรรคก้าวไกลเราเข้าใจดีว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กหลายราย (SMEs) อาจมีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างที่ตามมาจากกฎหมายดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันร่วมกันรับผิดชอบระหว่างผู้ว่าจ้างและประกันสังคม
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเพื่อสนับสนุนให้ SME สามารถเติบโตและแข่งขันกับรายใหญ่ได้อย่างเป็นธรรม ทางพรรคก้าวไกลจึงมีหลายมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพิ่มแต้มต่อ และเติมตลาดให้ SME (ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของชุดนโยบาย “เศรษฐกิจไทยก้าวหน้า” ที่จะมีการเปิดรายละเอียดในเร็วๆนี้) ซึ่งเราเชื่อว่าจะนำมาสู่ประโยชน์ทางธุรกิจที่สูงกว่า ค่าใช้จ่ายที่อาจจะสูงขึ้นจากการขยายสิทธิลาคลอด
อย่างเช่น การลดภาระภาษี SME โดยการให้นำค่าแรงมาหักภาษีได้ 2 เท่า เป็นระยะเวลา 2 ปี และการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SME รวมถึงโครงการอย่าง “หวย SME” ที่เป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้ากับห้างร้านขนาดกลางและขนาดย่อม โดยการให้ลูกค้า (ทั้งทั่วไปและนิติบุคคล) ใช้ยอดซื้อแลกเป็นสลากได้
เมื่อขับเคลื่อนนโยบายทุกชุดรวมกัน ทางพรรคก้าวไกลเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า เศรษฐกิจที่เติบโตเพื่อทุกคน สังคมที่คนเสมอภาคกัน และ ประเทศที่ประชาชนมีความมั่นคงด้านสวัสดิการ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นจริงอย่างควบคู่กันได้
ต้องก้าวไกล ให้ไทยก้าวหน้า
เปลี่ยนรัฐบาลไม่พอ ต้องเปลี่ยนประเทศ