free geoip

สังคมไทยต้องได้รับการดูแลโดยเร่งด่วน!


ความรุนแรงต่อผู้หญิงและครอบครัวพุ่งสูงขึ่นเรื่อยๆ สื่อ/เพจดังต่างๆ พึ่งได้มากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ กระบวนการช่วยเหลือยังไม่เอื้อให้เหยื่อแจ้งเหตุ ทัศนคติและกฎหมายยังมีปัญหา


วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นที่สหประชาชาติประกาศให้เป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” เพื่อรำลึกถึง Mirabal Sisters นักต่อสู้ทางการเมืองหญิงชาวโดมินิกันที่ถูกฆ่าอย่างโหดร้ายโดยระบอบเผด็จการ พรรคก้าวไกลจึงอยากชวนทุกท่านมาทบทวนสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและครอบครัวของประเทศไทยว่าสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

จากข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าสถานการณ์ความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.6 ในปี พ.ศ.2560 เป็นร้อยละ 42.2 ในปี พ.ศ. 2563 ทั้งความรุนแรงต่อจิตใจ ร่างกายและทางเพศ สอดคล้องกับข้อมูลความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการ พ.ศ. 2564

มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมและสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ พบว่า “ผู้หญิงไทยถูกกระทำความรุนแรงไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน” สอดคล้องกับข้อมูลจากระทรวงยุติธรรมที่พบว่าผู้หญิงไทยไม่ต่ำกว่า 75 % เคยถูกคุกคามทางเพศ

ไม่ว่าข้อมูลด้านใด บ่งชี้ว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศไทย ติด 1 ใน 10 ของโลก ยังไม่นับข้อมูลที่ไม่อาจสำรวจได้ หรือกรณีที่ผู้หญิงไม่กล้าเปิดเผยการถูกกระทำความรุนแรง ที่หลายครั้งนำไปสู่การบาดเจ็บ การทำร้ายตนเอง การฆ่าตัวตาย และการถูกฆ่าตายในที่สุด นับเป็นความสูญเสียที่ควรจะระงับเหตุได้ หากมีช่องทางหรือกระบวนการช่วยเหลือที่เอื้อต่อผู้หญิงที่ถูกกระทำแต่ต้น

แม้องค์การสหประชาชาติมีมติรับรองให้วันที่ 25 พ.ย. ของทุกปีเป็น “วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล” นับแต่เหตุการณ์คืนวันที่ 25 พ.ย. ค.ศ.1960 ที่เกิดการสังหารสามพี่น้องผู้หญิงชาวโดมินิกัน แต่สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” มาเป็นระยะเวลากว่า 23 ปีแล้ว โดยมีการตั้งหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การบัญญัติกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มีแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการหลายระดับ มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม หรือสายด่วน 1300 ที่ทำให้เกิดระบบและกระบวนการช่วยเหลือและการป้องกันปัญหาที่ดีขึ้น แต่สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและครอบครัวกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19

ปัจจัยสำคัญคือมายาคติเรื่องชายเป็นใหญ่ ยิ่งหากเป็นความรุนแรงระหว่างคู่ที่ใช้ชีวิตร่วมกัน ที่ผู้ชายยังมักเห็นว่าตนเองมีสิทธิเหนือหญิงที่เป็นคู่ของตน รวมถึงครอบครัว ชุมชน และสถาบันทางสังคม ที่มองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว นี่ทำให้ความรุนแรงแฝงซ่อนอยู่ในพื้นที่ของครอบครัวจำนวนมาก ดังที่เราจะเห็นได้จากการรายงานของสื่อมวลชนไทยรายวัน

แม้ในรอบปีที่ผ่านมามีหลายกรณีที่คนในสังคมลุกขึ้นมาช่วยผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้น อันถือเป็นนิมิตหมายที่ดี รวมถึงเมื่อผู้หญิงประสงค์ขอความช่วยเหลือ แต่กลับถูกปฏิเสธจาก จนท.ของรัฐ ซึ่งมีหลายเรื่องที่ร้องมายังพรรค ร้องมาที่สภาฯ หรือร้องไปที่มูลนิธิหรือเพจดังต่างๆ ที่ช่วยเหลือประชาชน อีกทั้งไม่มีระบบกระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการทางสังคมที่จะปกป้องฟื้นฟูผู้หญิงอย่างเพียงพอ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงระบบแก้ไขพฤติกรรมการกระทำความรุนแรงของผู้กระทำ และแทบจะไม่ต้องพูดถึงเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงที่ไม่อาจร้องขอความช่วยเหลือด้วยตนเองได้

ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงได้เสนอ 4 แนวทาง ที่สังคมนี้ควรจะเดินไปเพื่อผู้หญิง เด็ก และคนทุกเพศได้รับการปกป้องจากปัญหาความรุนแรง

1.- ต้องเร่งปรับกระบวนการศึกษา และกระบวนการหล่อหลอมทางสังคมในทุกระดับ

ลดการตีตราหรือการสร้างมายาคติซ้ำ ทั้งเรื่องชายเป็นใหญ่ และเรื่องความรุนแรงในบ้านที่เป็นเรื่องส่วนตัว โดยเริ่มจากการสร้างทัศนคติที่เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน มองว่า “คนเท่ากัน” สร้างมุมมองที่เคารพต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ และทำให้เห็นว่าความรุนแรงทั้งต่อผู้หญิง หรือเด็ก หรือความรุนแรงในบ้านมิใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป


2.- ปรับระบบการรับแจ้งเหตุที่เป็นมิตรต่อผู้หญิง

โดยเพิ่มช่องทางที่หลากหลายผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ รวมถึงช่องทางของราชการที่มีอยู่หลากหลาย ทั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ สายด่วน 1300 ศูนย์ OSCC ที่มีอยู่ทุกโรงพยาบาล และที่สำคัญในสถานีตำรวจ โดยจะต้องเพิ่มพนักงานสอบสวนหญิงที่มีอยู่ปัจจุบัน 763 คน ให้ครบทุกสถานีตำรวจ 1,482 แห่ง รวมถึงการเพิ่มทักษะของ จนท.ทุกภาคส่วนให้มีความเข้าใจต่อเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง


3.- ปรับแก้กฎหมายและกระบวนการช่วยเหลือ

ทั้งกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการทางสังคมที่นำไปสู่การเยียวยาฟื้นฟูผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง ดังเช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่ถูกใช้มาเป็นระยะเวลานาน และมีปัญหาอุปสรรคในการบังคับใช้ ประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของผู้หญิง รวมถึงกระบวนการช่วยเหลือที่เน้นการเยียวยาฟื้นฟูและคืนพลังอำนาจให้ผู้หญิงในการดำรงชีวิต และเพิ่มกระบวนการแก้ไขพฤติกรรมการกระทำความรุนแรงของผู้กระทำในอีกทางหนึ่งด้วย


4.- ผลักดันและดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการที่ทำให้ผู้หญิงสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี

เช่น สิทธิในการลาคลอด 180 วัน ที่สามารถใช้ได้กับทั้งผู้เป็นแม่และพ่อ สิทธิที่จะได้รับเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าในกรณีมีบุตร อันเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนพลังอำนาจของผู้หญิง และสถาบันครอบครัว และเป็นส่วนหนึ่งของการลดปัจจัยของการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง
แทนที่เราจะแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงด้วยการ “ติดริบบิ้นสีขาว” ในเดือนพฤศจิกายนเพียงอย่างเดียว แต่ความรุนแรงต่อผู้หญิงกลับมีแต่เพิ่มขึ้น พรรคก้าวไกลเรียกร้องให้รัฐบาลต้องแก้ปัญหาทั้งระบบทั้งเรื่องพลังอำนาจและสวัสดิการของผู้หญิง เรื่องการลดมายาคติและปรับเปลี่ยนทัศนคติที่เคารพสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเมื่อเกิดเหตุแล้ว ต้องทำให้ระบบการรับแจ้งเหตุเป็นระบบที่ทำให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงกล้าที่จะเดินเข้าหาและเชื่อมั่นว่าจะช่วยเหลือเขาได้จริงๆ แบบนี้ต่างหาก ที่จะนำไปสู่การลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและรวมถึงเด็กได้ในระยะยาว


ณัฐวุฒิ บัวประทุม
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล


สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของพรรคก้าวไกลนี้ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ปี พ.ศ. 2565
ผลิตโดย บริษัท สเปกเตอร์ ซี จำกัด จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น งบประมาณ 3,000 บาท ผลิตวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า