ประเทศไทยมี 22 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเลและทำการประมง ข้อมูลจากกรมประมงระบุว่า หากคิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2557 ภาคประมงมีมูลค่ามากกว่า 145,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8% ของ GDP ภาคเกษตร
แต่ตั้งแต่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองประเทศไทย เพราะปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing หรือ IUU) เมื่อปี 2558 รัฐบาล คสช. จากการรัฐประหาร ก็แก้ปัญหาด้วยการบังคับใช้กฎหมายกับภาคประมงอย่างเข้มงวดแต่ขาดการมีส่วนร่วม ก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา
เช่น มีการกำหนดโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด ต้นทุนการประกอบอาชีพประมงสูงขึ้น จังหวัดที่เคยเป็น ‘เมืองประมง’ ต้องกลายเป็น ‘สุสานประมง’ เพราะเรือจำนวนมากจอดนิ่ง ไม่ได้ออกทะเล ชาวประมงสูญเสียรายได้ ผู้ประกอบการบางรายถึงขั้นเลิกกิจการ มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงที่เคยสูงกว่าสองแสนล้านบาทเมื่อปี 2557 ถดถอยเหลือราว 196,000 ล้านบาท ในปี 2563
จุดยืนของพรรคก้าวไกล การแก้ปัญหาในภาคการประมงต้องคำนึงถึง 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชน โดยต้องสร้างความสมดุลระหว่างกันให้ได้ เพื่อให้อุตสาหกรรมประมง สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวประมง สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็มีความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติ
นโยบายประมงของพรรคก้าวไกล ที่จะคืนชีวิตชาวประมง และสร้างอนาคตใหม่ให้ประมงไทยก้าวหน้า-ก้าวไกล ไม่ได้หวังเพียงทำให้อุตสาหกรรมประมงกลับมาดีเหมือนเดิม แต่หวังทำให้ดีและแข็งแเกร่งกว่าเดิม ผ่านนโยบาย 8 ข้อต่อไปนี้
1. จดทะเบียน – ต่อทะเบียนเรือได้ผ่านมือถือ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางทำเอกสาร
ปัญหา: การต่อทะเบียนเรือ และ ขอใบอนุญาตทำการประมงมีความซ้ำซ้อน ประชาชนต้องเดินทางไปกลับหลายครั้ง ทั้งกับกรมเจ้าท่าและกรมประมง
ข้อเสนอ: เพิ่มการอำนวยความสะดวกบริการภาครัฐให้ชาวประมง ต่อทะเบียนเรือผ่านมือถือได้ ขอใบอนุญาตทำการประมงได้พร้อมกัน ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ทำเอกสารหลายครั้ง
2. ฟรีประกันภัยเรือล่มเอกชน เมื่อต่อทะเบียนเรือ (วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท)
ปัญหา: ชาวประมงประสบปัญหาความล่าช้าในการเบิกจ่ายเงินค่าชดเชย กรณีเรือล่มจากภัยพิบัติ จากระเบียบราชการ
ข้อเสนอ: สร้างสวัสดิการรองรับให้พี่น้องชาวประมง ด้วยการจูงใจให้ชาวประมงนำเรือประมงมาขึ้นทะเบียนเรือ/ต่ออายุทะเบียนเรือให้ถูกต้อง โดยรัฐจะแถมประกันภัยเรือล่มเอกชน วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท หรือ 50,000 บาท/ตันกรอส ให้เลย
3. บัตรชมพู และ Seabook ทดแทนกันได้ ใบเดียวจบ ตัดความซ้ำซ้อน
ปัญหา: กฎระเบียบในการใช้แรงงานต่างด้าวมีความซ้ำซ้อน แรงงานต่างด้าวที่มีบัตรชมพูกับกระทรวงแรงงานอยู่แล้ว ยังต้องมาขอทำ Seabook กับกรมประมง ทำให้เกิดความล่าช้า เกิดความเสียหายและสูญเสียโอกาสในระหว่างการรอ และทำให้เกิดปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายตามมา
ข้อเสนอ: ปลดล็อกความซ้ำซ้อนของเอกสารในการใช้แรงงานต่างด้าวในการประมง – เรือประมงในราชอาณาจักรใช้บัตรชมพู หรือ Seabook ทดแทนกันได้
4. หยุดบังคับประมงพาณิชย์ติดตั้งระบบ AIS ตัดความซ้ำซ้อนกับ VMS
ปัญหา: ปัจจุบันมีนโยบายจากกรมสรรพสามิต พยายามให้ติดเครื่องติดตามเรือชื่อ AIS (Automatic Identification System) ให้เรือประมงพาณิชย์ ทั้งที่เรือประมงพาณิชย์มีระบบติดตามจากกรมประมงอยู่แล้ว ซึ่งหากทรัพย์สินนี้เสียหาย เรือประมงต้องรับผิดชอบ – ปัจจุบัน หลังจากชาวประมงร่วมกันฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว ศาลได้ให้ยกเลิกส่วนบังคับติด AIS แล้ว แต่กรมสรรพสามิตยังอุทธรณ์ต่อ การพิจารณาจึงยังไม่เสร็จสิ้น
ข้อเสนอ: ยกเลิกนโยบายกำหนดให้เรือประมงติดตั้งระบบ AIS ที่ซ้ำซ้อนกับ VMS (Vessel Monitoring System) ให้เหลือเพียงระบบเดียว
5. กระจายอำนาจการประมงให้ท้องถิ่น-ชาวประมง
ปัญหา: การกำหนดเครื่องมือห้ามทำการประมงมาจากส่วนกลาง ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการประมงจังหวัด ประกอบไปด้วยข้าราชการส่วนภูมิภาคเป็นส่วนใหญ่ (เช่น นายอำเภอในอำเภอที่มีการประมง เป็นต้น) จึงทำให้การตัดสินใจมีความยึดโยงกับประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ไม่มากนัก
ข้อเสนอ:
(i) เพิ่มอำนาจคณะกรรมการประมงจังหวัดในการกำหนดกติกาทำการประมง (เช่น เครื่องมือ / พื้นที่ / ฤดู / ประมงไหนทำได้-ไม่ได้) ภายในเขต 12 ไมล์ทะเล
(ii) เพิ่มสัดส่วน ท้องถิ่น และ ชาวประมง ในคณะกรรมการประมงจังหวัด และให้ นายก อบจ. (หรือผู้ว่าฯเลือกตั้ง เมื่อมีการควบรวมภูมิภาคกับท้องถิ่นภายใต้ผู้บริหาร 1 คน) เป็นประธานคณะกรรมการประมงจังหวัด
6. เปลี่ยนบทลงโทษที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบอาชีพประมง
ปัญหา: พ.ร.ก. การประมง 2558 เป็นกฎหมายที่ออกมาโดยมีความเร่งรีบ และมีบทลงโทษที่รุนแรง เช่น ปรับสูงสุดถึง 30 ล้านบาท และสามารถยกเลิกใบอนุญาตการทำประมงเรือทุกลำทั้งหมดที่มีได้เลย ถึงแม้จะเป็นความผิดจากไต้ก๋งเรือลำเดียว
ข้อเสนอ:
(i) เปลี่ยนการลงโทษ จากที่เน้น ปรับ/จำคุก เป็น โทษกักเรือ โดยอาจพิจารณาเพิ่มโทษในกรณีที่กระทำผิดซ้ำ
(ii) ดูที่เจตนาการกระทำผิดควบคู่ในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเน้นลงโทษเฉพาะเรือประมงที่เจตนาตั้งใจทำผิดกฎหมาย มากกว่า ความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ
7. ช่วยเจรจาหาประเทศปลายทาง อนุญาตให้เรือประมงไทยทำการประมงนอกน่านน้ำได้
ปัญหา: กฎหมายประมง มีกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการทำประมงนอกน่านน้ำ เช่น กำหนดให้ต้องมีเงินหมุนเวียน (ไม่นับมูลค่าเรือประมง) 10 ล้านบาท และรัฐบาลไม่ได้มีการเจรจาหาประเทศปลายทางที่เปิดให้เรือประมงไทยทำการประมงนอกน่านน้ำ ทั้งๆ ที่เรือไทยมีศักยภาพทำได้
ข้อเสนอ: ปลดล็อกกฎหมาย คืนชีวิตเรือประมงนอกน่านน้ำ ภายใต้กติกาสากล และ รัฐบาลไทยต้องช่วยเจรจาหาประเทศปลายทาง อนุญาตให้เรือประมงไทยสามารถทำการประมงนอกน่านน้ำไทยได้
8. รักษาสัญญาของรัฐบาลประยุทธ์ ที่จะซื้อคืนเรือประมงที่โดนกระทบจาก IUU แต่ยังไม่ดำเนินการ
ปัญหา: ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายประมง IUU หรือจัดการประมงที่ผิดกฎหมายและไม่มีการควบคุมตามเกณฑ์ EU โดยประกาศใช้ทันทีและไม่มีเวลาตั้งตัว ทำให้เรือประมงได้รับผลกระทบออกเรือไม่ได้กว่า 3,000 ลำ รัฐบาลปัจจุบันเคยสัญญาว่าจะซื้อเรือดังกล่าวคืนให้ แต่ผ่านไป 8 ปี รัฐซื้อไปเพียง 364 ลำ (และถึงแม้ว่ารัฐบาลจะรีบอนุมัติงบเพิ่มมาอีก 2,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่เพียงพอในการชดเชยให้ครบได้ทั้งหมด และยังไม่คำนึงถึงความเสียหายจากความล่าช้าที่ผ่านมาอีกด้วย)
ข้อเสนอ: ซื้อเรือประมงที่รัฐบาลสัญญาไว้แล้ว แต่ยังไม่ซื้อคืนทั้งหมด ที่เหลืออีก 3,000 ลำ