หลังจากที่ผมได้เสนอต้นตอปัญหา PM2.5 ที่เกิดจากการขยายพื้นที่ทางการเกษตรในต่างประเทศ มีคำถามเข้ามาจำนวนมากว่า “ถ้าไม่เผาเรามีทางเลือกอะไร”
การลบจุดแดงที่เกิดจากการเผาในภาคเกษตรจากแผนที่ มองภาพให้ใหญ่กว่านั้นคือประเทศไทยต้องเปลี่ยนจากเกษตรที่พึ่งพาการเผา เป็นภาคเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีที่มีการลงทุนมากขึ้น ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้มข้นขึ้น และสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปวัสดุเศษเหลือจากการเกษตร ให้เปลี่ยนจากขยะที่ต้องเผาทิ้งไปสร้างมูลค่า
1. เปลี่ยนเกษตรแบบเผา เป็นเกษตรที่ใช้เครื่องจักร
สิ่งที่รัฐบาลทำได้ทันทีคือไปคุยกับธุรกิจเครื่องจักรทางการเกษตร และทำโครงการร่วมกัน เพื่อให้เกษตรกรสามารถ ซื้อเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยว (อ้อย) และเตรียมดิน (ข้าว และข้าวโพด) โดยขอรับสินเชื่อที่ดอกเบี้ย 0% พร้อมการดูแลหลังการขาย สำหรับกลุ่มเกษตรกร/ สหกรณ์/ ผู้ประกอบการในชุมชนที่ให้บริการเกษตรกรในพื้นที่จำนวนมาก รัฐบาลสามารถให้เงินสนับสนุนอีกทางสูงสุด 25% เพื่อเร่งให้ภาคเกษตรไทยในพื้นที่ต่างๆ ให้ใช้เครื่องจักรกลมากยิ่งขึ้น นอกจากจะช่วยลดการเผาแล้ว ยังเป็นการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ของภาคเกษตรกรรมของประเทศในระยะยาว
นี่คือความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็นระหว่างรัฐบาลและกลุ่มทุน พรรคก้าวไกลเราไม่ได้มองกลุ่มทุนเป็นศัตรูในทุกเรื่อง แต่ในเรื่องที่ต้องทำงานร่วมกันแล้วเกิดผลดีกับประเทศเราต้องสนับสนุนให้กลุ่มทุนสร้างการแข่งขันให้กับประชาชนคนตัวเล็ก แต่ในเรื่องที่กลุ่มทุนทำธุรกิจอย่างไม่รับผิดชอบจนเกิดผลกระทบกับประชาชน รัฐบาลก็ต้องกล้าจัดการอย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังสนับสนุนให้เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ สามารถเปลี่ยนมาเป็นการปลูกไม้ยืนต้น ที่มีความหลากหลายและมีมูลค่าได้ โดยสามารถเลือกที่ใช้เพื่อการปลดหนี้ หรือการรับเป็นรายได้ประจำเป็นรายเดือนด้วย ซึ่งจะเป็นการลดการเผาวัสดุการเกษตรในระยะยาว
2. เปลี่ยนขยะที่ต้องเผา เป็นเงินในกระเป๋าเกษตรกร
อีกอุตสาหกรรมที่เราจำเป็นต้องทำให้เกิดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรคืออุตสาหกรรมแปรรูปเศษวัสดุการเกษตร (by-product) ทั้งฟางข้าว ใบอ้อย และต้นข้าวโพด ซึ่งไม่ใช่แค่การลดการเผา แต่เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดและทำให้ผลผลิตจากการเกษตรสร้างเงินในกระเป๋าประชาชนมากที่สุดอีกด้วย
พรรคก้าวไกลมีนโยบาย สนับสนุนงบประมาณผ่านผู้ประกอบการ/ผู้รวบรวมรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตร ทั้งฟางข้าว ใบอ้อย และต้นข้าวโพด ให้สามารถรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตรเหล่านี้ในอัตรา 1,000 บาท/ตัน เพื่อมาใช้ประโยชน์ (เช่น อาหารสัตว์ ปุ๋ยอินทรีย์) และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ (เช่น ภาชนะบรรจุ) เกษตรกรสามารถได้รับการสนับสนุนโดยการขายให้กับผู้รวบรวมรายใดก็ได้
3. ทุนสร้างตัว 100,000-1,000,000 ล้านบาท สร้างผู้ประกอบการแปรรูปวัสดุการเกษตร
นอกจากการรับประกันราคาฝั่งเกษตรกรแล้ว ผู้ประกอบการที่นำเศษวัสดุทางการเกษตรไปแปรรูป และ/หรือไปใช้ประโยชน์ก็เป็นภาคเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่จะลดการเผาในระยะยาว โดยถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลหรือบริหารกระทรวงเกษตรฯ เราจะมีนโยบายจัดสรรเงินทุนหมุนเวียนปลอดดอกเบี้ย+ทุนตั้งตัว 100,000 บาท/ราย เพื่อก่อตั้งธุรกิจ และทุนสร้างตัว 1,000,000 บาท/ราย เพื่อขยายกิจการให้ยั่งยืนในระยะยาว
4. ฟรี! รับรองมาตรฐาน GAP-GMP-เกษตรอินทรีย์ ส่งสินค้าเกษตรคุณภาพดีไปทั่วโลก
เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าถึงการเข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าประเภทพืชไร่และข้าว ซึ่งทำให้ไม่สามารถขายสินค้าเกษตรได้ราคาส่งออกต่างประเทศได้ เราจึงมีนโยบาย “รับรองมาตรฐาน GAP-GMP-เกษตรอินทรีย์ฟรี! ส่งสินค้าเกษตรคุณภาพดีไปทั่วโลก”
เมื่อเกษตรกรดำเนินการโดยปลอดการเผา และการดำเนินการอื่นๆ ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (หรือ GAP) เกษตรกรจะสามารถขอรับมาตรฐาน GAP และ/หรือมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ฟรี! โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็นเวลา 2 ปี
5. เลิกงบไฟป่าไม่โปร่งใส ให้งบตรงไปที่ท้องถิ่นและประชาชน
สุดท้าย การลบจุดแดง PM2.5 อย่างยั่งยืน เราต้องแก้ปัญหาไฟป่า ถามว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาไฟป่าได้อย่างยั่งยืนกันแน่?
มีคำกล่าวว่าที่ใดมีงบแก้ไฟป่า ที่นั่นมีการเผา จุดแดงจากไฟป่าในประเทศไทยมักจะเกิดขึ้นในที่ซ้ำๆ เดิมๆ ทุกปี ข้อมูลจากคุณมานพ คีรีภูวดล ส.ส.ชาติพันธุ์พรรคก้าวไกลที่ทำงานในพื้นที่มายาวนานบอกกับผมว่าปัญหาไฟป่ามีความซับซ้อนในทางการเมือง
ประสบการณ์ 8 ปีที่ผ่านมาวิธีการแก้ปัญหาโดยให้งบประมาณไปที่ราชการส่วนกลางไม่ว่าจะเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่กระทรวงกลาโหม ไม่ได้ผล ไม่สามารถแก้ปัญหาไฟป่าได้ ที่ไม่โปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วม และเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น
วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องควรจะต้องเป็นการเปลี่ยนงบแก้ไฟป่าที่ไม่โปร่งใส กระจายตามส่วนราชการต่างๆ เหล่านี้ เปลี่ยนเป็นเงินสนับสนุนให้ท้องถิ่นต่างๆ ในพื้นที่เสี่ยง ส่งตรงถึงประชาชนเพื่อสร้างแนวกันไฟ ตำบลละ 3 ล้านบาท รวมทั้งมีรับรางวัลในการพัฒนาพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการลดการเผาลงได้ วิธีการนี้คือการให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นเจ้าของป่าและดูแลจัดการปัญหาไฟป่า ที่นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาไฟป่าแล้ว ยังทำให้เกิดงานเกิดรายได้ในพื้นที่สำหรับประชาชนนอกฤดูเก็บเกี่ยวอีกด้วย
หลายท่านอาจจะบอกว่านโยบาย “เกษตรก้าวหน้า” เพื่อลดไฟป่าของพรรคก้าวไกลนั้นโลกสวยเกินไป เกิดขึ้นจริงได้ยาก แต่ผมอยากสื่อสารกับทุกท่านว่าพวกเรามีความเชื่อว่าสังคมที่ดีกว่านี้เป็นไปได้ ภาคเกษตรและชนบทไทยจะเดินหน้าไปในโลกอนาคตได้ เราไม่สามารถทำแบบเดิมแล้วได้ผลลัพธ์แบบเดิม แต่เราต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการพัฒนาสิ่งใหม่เพื่อให้ผลิตภาพ ความสามารถในการแข่งขัน และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรนั้นดีขึ้น
นี่คือคำตอบของนโยบายเพื่อภาคเกษตรและสิ่งแวดล้อมของพรรคก้าวไกลครับ