free geoip

งานสร้างพรรค

สวัสดีเพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลทุกท่านครับ

วันนี้ถือเป็นครั้งแรกที่พวกเราได้มาเจอกันเยอะขนาดนี้นับตั้งแต่ตั้งอดีตพรรคอนาคตใหม่มา

ผมอยากเริ่มด้วยความฝันครับ

การที่เรามาอยู่ตรงนี้เพราะเรามีความฝันร่วมกัน เราอยากจะสร้างประเทศไทยที่มีอนาคตมากกว่านี้ จึงทำให้พวกเรา แม้มีที่มาแตกต่างหลากหลาย แต่เราก็มาอยู่ร่วมกันที่นี่แม้ว่าหลายท่านไม่ได้อยากทำงานการเมืองหรือเป็นนักการเมือง  เพราะเป้าหมายร่วมกันของเราคือการสร้างประเทศไทยที่มีอนาคตมากกว่านี้

ผมอยากสรุปให้ง่าย สั้นๆ 3 ด้าน

ในมิติด้านการเมือง เราอยากเห็นประเทศไทยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

ในมิติเศรษฐกิจ เราอยากเห็นประเทศไทยที่มีระบบเศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวหน้าและเป็นธรรม

ในมิติสังคม เราอยากเห็นประเทศไทยที่ประชาชนมีเสรีภาพ ความเท่าเทียม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

และนี่คือความฝันของเราครับ

แน่นอนเรารู้ว่ายาก ต้องใช้เวลา 20 ปี 30 ปี หรือมากกว่านั้น เราจึงไม่อาจฝากความหวังให้กับคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ เราต้องมาช่วยกันทำ ช่วยกันสร้าง

และนี่คือเหตุผลครับว่าทำไมเราต้องสร้างพรรคแบบมวลชน นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจะต้องสร้างพรรคที่สมาชิกทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ

แล้วพรรคมวลชน พรรคที่สมาชิกร่วมเป็นเจ้าของมีหน้าตาอย่างไร ผมมี 4 ตัวชี้วัด ที่จะเป็นแนวทาง ที่เราจะดำเนินการต่อไปหลังจากนี้

ตัวชี้วัดที่ 1

จำนวนสมาชิก

ปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรก เรามีสมาชิก 19,836 คน

ปี 2564 เรามีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 35,518 คน

สิ้นปี 2565 เรามีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 55,953 คน

ปัจจุบันสมาชิกเราเพิ่มขึ้นเป็น 72,092 คน

และผมเชื่อว่าตอนนี้อาจจะมากกว่านั้นแล้ว

และสิ้นปีนี้เรามีเป้าหมายที่อยากเห็นสมาชิกของเราขยับขึ้นไปสู่ 100,000 คน

จำนวนสมาชิกจะบ่งบอกถึงความเข้มแข็งของเราครับ และการเพิ่มจำนวนสมาชิกนี้จะเป็นภารกิจร่วมกันของเราทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหนของพรรค จะเป็นกรรมการบริหารพรรค จะเป็น สส. จะเป็นคณะทำงานจังหวัด หรือจะเป็นเพียงสมาชิก เราทุกคนสามารถร่วมกันสร้างภารกิจนี้ได้ ด้วยการเริ่มต้นจากคนที่ใกล้ตัว คนในครอบครัวของท่าน ที่ทำงานของท่าน เพื่อนมิตร พูดคุยกับเขาให้เห็นถึงเป้าหมายของเรา แนวทางในการสร้างพรรคของเรา และนโยบายที่เราอยากจะผลักดัน เมื่อคนเหล่านั้นเห็นด้วยกับเรา ชวนมาเป็นสมาชิกพรรคร่วมกันครับ

จำนวนสมาชิกพรรคที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแรงกายแรงใจให้เราทำงานอย่างเข้มแข็ง ขณะเดียวกันจะเพิ่มความเข้มแข็งให้กับพรรคด้วย นี่คือตัวชี้วัดที่หนึ่ง

ตัวชี้วัดที่ 2

การมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรค

เราคงไม่สามารถพูดได้ว่าพรรคของเราเป็นพรรคมวลชน หากเรายังไม่มีการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรค

ปัจจุบันเรามี 2 ช่องทางหลักในการสื่อสารกับสมาชิก

ช่องทางแรกคือ Line ก้าวไกลครับ ปัจจุบันมีสมาชิกแอดเข้ามาเป็นเพื่อนกับไลน์ก้าวไกลมากกว่า 10,000 คนแล้ว ช่องทางนี้จะเป็นช่องทางในการซักถาม สมาชิกท่านใดมีข้อสงสัยอะไร สามารถติดต่อกับเราได้ เป็นช่องทางที่แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องราวต่างๆ ที่พรรคได้ดำเนินการอยู่

ช่องทางที่สองคือ แอพ ก้าวไกล Today (MFP Today) ปัจจุบันมีแอพนี้แล้วนะครับ สมาชิกหลายท่านก็อาจจะโหลดมาใช้แล้ว ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมความเคลื่อนไหวของพรรคทุกช่องทาง ปัจจุบันเราได้เชื่อมต่อแอพกับฐานข้อมูลสมาชิกพรรค นั่นหมายความว่าจากนี้ไปเราจะรู้ว่าการกระทำของท่านในแอพเป็นสมาชิกกี่คน หลังจากนี้ไปเราจะใช้ช่องทางนี้ในการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกพรรคในเรื่องราวต่างๆ ที่เราอยากรู้ อยากฟังความเห็น ว่าสมาชิกพรรคของเรามีความเห็นต่อเรื่องนั้นๆ อย่างไร

นอกจากนี้เรามีกิจกรรมริเริ่มขึ้นมา คือ ก้าวไกล Pitch

สำหรับสมาชิกพรรคท่านใดที่มีความคิดสร้างสรรค์เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมกับพรรค สามารถส่งโครงการเข้ามาได้ โครงการไหนที่สมาชิกจำนวนมากเห็นด้วย เราจะเอาไปทำ

นอกจากนี้เราได้พัฒนาระบบ ก้าวไกล act ซึ่งเอามาใช้แล้วในการประชุมครั้งนี้ เป็นระบบการลงทะเบียน จะทำให้เราทราบว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละครั้งเป็นใครบ้าง และระบบนี้เราได้เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลสมาชิกพรรค ต่อไปทุกการดำเนินกิจกรรม เราจะทราบว่ามีสมาชิกพรรคเข้าร่วมกิจกรรมมากน้อยเพียงใด และนี่จะเป็นภารกิจร่วมกันของพวกเรา คือการทำให้พรรคนี้ สมาชิกผู้เป็นเจ้าของพรรคเข้ามาร่วมกันช่วยแสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วมในด้านต่างๆ

ตัวชี้วัดที่ 3

โครงสร้างอำนาจภายในพรรคต้องยึดโยงกับสมาชิก

เราจะเป็นพรรคมวลชนได้ อำนาจของสมาชิกต้องสามารถจับต้องได้ นั่นคือโครงสร้างอำนาจภายในพรรคต้องยึดโยงกับสมาชิกพรรค

ปัจจุบันที่ประชุมใหญ่ซึ่งถือเป็นว่าเป็นโครงสร้างสูงสุดทางอำนาจภายในพรรค เป็นที่กำหนดทิศทาง กำหนดกรรมการบริหาร ซึ่งเราจะมีการประชุมใหญ่ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ในช่วงเดือนมีนาคม หรือ เมษายน (2567) เราตั้งเป้าหมายว่าในที่ประชุมใหญ่ครั้งนั้นผู้เข้าร่วมทุกคนจะต้องยึดโยงกับสมาชิกพรรค จะต้องเป็นตัวแทนของสมาชิกพรรค เพื่อให้ทุกมติที่ออกมาจากที่ประชุมใหญ่จะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากสมาชิกพรรค

นอกจากนั้นเรากำลังสร้างโครงสร้างเครือข่ายพื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างที่เป็นตัวแทนของสมาชิกพรรค มีอยู่ 2 ระดับ คือระดับจังหวัดและระดับอำเภอ

ระดับที่ 1 ระดับจังหวัด จะมี 2 องค์ประกอบหลัก คือ

คณะกรรมการสาขาจังหวัด

และตัวแทนพรรคประจำอำเภอ

คณะกรรมการสาขาจังหวัดจะเป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมือง จังหวัดใดที่มีสมาชิกพรรคเกิน 500 คน ให้เรียกประชุมสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 100 คน เพื่อเลือกคณะกรรมการจังหวัด

ส่วนตัวแทนพรรคประจำอำเภอไม่อยู่ในกฎหมายพรรคการเมือง แต่เป็นระเบียบของคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ซึ่งกำหนดว่าอำเภอใดที่มีสมาชิกเกิน 100 คน ให้เรียกประชุมสมาชิกไม่น้อยกว่า 50 คนเพื่อเลือกตัวแทนพรรคประจำอำเภอ อันดับที่ 1, 2, 3 (3 คน)

คณะกรรมการจังหวัดจะเกิดขึ้นเมื่อมีคณะกรรมการสาขา และมีตัวแทนพรรคประจำอำเภอไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจังหวัดที่มีอยู่ เช่น จังหวัดไหนมี 13 อำเภอ จะต้องมีตัวแทนพรรคประจำอำเภอ 7 อำเภอจึงจะสามารถตั้งเป็นคณะกรรมการจังหวัดได้

คณะกรรมการจังหวัดจะเป็นตัวแทนของพรรคในการตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ ในระดับจังหวัด

นี่คือระดับที่หนึ่ง

ระดับที่ 2 ระดับอำเภอ มีคณะกรรมการอำเภอ ซึ่งมี 2 องค์ประกอบเช่นเดียวกัน

องค์ประกอบที่ 1 คือ ตัวแทนพรรคประจำอำเภอซึ่งผมได้กล่าวไปแล้ว

องค์ประกอบที่ 2 คือ ตัวแทนพรรคประจำตำบล ซึ่งเรากำหนดไว้ว่าตำบลใดที่มีสมาชิกเกิน 25 คน ให้เรียกประชุมสมาชิกไม่น้อยกว่า 15 คน เพื่อเลือกตัวแทนพรรคประจำตำบล

และคณะกรรมการอำเภอจะเกิดขึ้นได้เมื่อในอำเภอนั้นมีคัวแทนพรรคประจำตำบลไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของตำบลที่มีอยู่ในอำเภอนั้น และเมื่อตัวแทนพรรคประจำอำเภอได้เรียกประชุมจัดตั้งเป็นคณะกรรมการประจำอำเภอแล้ว ตัวแทนพรรคประจำอำเภอที่ 1 จะเป็นหัวหน้าอำเภอ

และนี่คือโครงสร้างระดับอำเภอ ตัดสินใจในนามพรรคในระดับอำเภอ

นี่คือโครงสร้างหลักที่เรากำลังดำเนินการหลังจากนี้

สำหรับกรุงเทพมหานคร เนื่องจากไม่มีอำเภอและตำบล เราจะใช้เขตแทนอำเภอ และแขวงแทนตำบล

เรามีเป้าหมายว่าในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีในปีหน้าหรือในอีก 6 เดือนข้างหน้า เราจะมีตัวแทนพรรคประจำอำเภอไม่น้อยกว่า 400 อำเภอ และมีคณะกรรมการจังหวัดไม่น้อยกว่า 40 จังหวัด

นอกจากนี้เรายังมีเครือข่ายอื่นๆ อีก 2 เครือข่าย คือ เครือข่ายชาติพันธุ์และเครือข่ายแรงงาน

ตัวชี้วัดที่ 4

เงินทุน

แน่นอนครับ เรายอมรับว่าแม้เราจะสร้างพรรคแนวทางมวลชน เงินทุนก็ยังจำเป็นในการทำงานพรรค

ปัจจุบันเรามีรายได้หลักมาจากหลายช่องทางด้วยกัน

ช่องทางแรก กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง หรือที่มาจาก กกต. เงินในส่วนนี้เรามีรายรับประมาณ 40-50 ล้านบาท / ปี นั่นเป็นเพราะว่าพรรคของเราได้รับการสนับสนุนจากผู้เสียภาษีจำนวนมากและเป็นแชมป์มา 2 ปีซ้อนแล้ว และคาดว่าปีนี้เรายังคงได้รับการสนับสนุนเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิม

ส่วนที่ 2 คือ รายได้ที่มาจากสมาชิกพรรค แน่นอนครับในการที่เราตั้งเป้าหมายเพิ่มสมาชิกพรรค ย่อมหมายถึงรายได้ที่มาจากสมาชิกพรรคเพิ่มมากขึ้นด้วย เราตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10 ล้านบาท / ปี

ส่วนที่ 3 รายได้จากเงินบริจาค สส. เป็นความภาคภูมิใจที่ สส.ของเราทั้ง 151 คน มีส่วนร่วมในการบริจาคกับพรรคทุกคน เงินในส่วนนี้ประมาณ 10 ล้านบาท / ปี

ส่วนที่ 4 เงินบริจาคอื่นๆ ประชาชนทั่วไปซึ่งผมแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่น้อยกว่า 5,000 บาท และ มากกว่า 5,000 บาท / ครั้ง เราคาดการณ์ว่า  จะมีรายรับในส่วนนี้ประมาณ 20 ล้านบาท

ส่วนที่ 5 นอกจากนั้นยังมี เงินจากการขายสินค้า อีก 4 ล้านบาท / ปี

และ ส่วนที่ 6 เงินจากกิจกรรมระดมทุน ที่เราคาดหวังไว้ว่า 10 ล้านบาท / ปี

นั่นหมายความว่ารายได้ / ปี เราตั้งเป้าหมายไว้ที่ 90-100 ล้านบาท แน่นอนว่าดูเหมือนเยอะ แต่มีข้อจำกัดเช่นเดียวกัน ไปดูที่ค่าใช้จ่ายครับ

ค่าใช้จ่ายของพรรคปัจจุบันเราแบ่งเป็น 4 หมวดใหญ่ๆ

เพื่อให้เห็นชัดเจน

ส่วนที่ 1 คือ ค่าใช้จ่ายคงที่ คือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ ทุกๆ เดือนเราต้องใช้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เช่น เงินเดือน ค่าจ้างบริการในด้านต่างๆ ดาต้า ไอที งานสื่อ งานบัญชี งานกฎหมาย เหล่านี้คือค่าใช้จ่ายจำเป็นที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งจะใช้ประมาณ 3 ล้านบาท / เดือน หรือ 36 ล้านบาท / ปี

ส่วนที่ 2 ค่าใช้จ่ายผันแปร ที่สำคัญคือค่าผลิตสินค้า อื่นๆ ก็จะเป็นบัตรสมาชิกต่างๆ เรามีการใช้จ่ายประจำเดือนประมาณ 1 ล้านบาท

ส่วนที่ 3 คือ งานเครือข่ายทั้งหมด จากแผนการสร้างเครือข่ายที่ผมได้พูดไปแล้ว จะทำให้เรามีรายจ่ายในด้านนี้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2 เท่า ก็จะอยู่ที่ประมาณ 2.5 ล้านบาท / เดือน หรือ 30 ล้านบาท / ปี

ส่วนที่ 4 อื่นๆ คือกิจกรรมอื่นๆ อย่างเช่นกิจกรรมในวันนี้ (ก้าวต่อไป ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน | 24 กันยายน 2566), กิจกรรมสัมมนาจังหวัด, กิจกรรมสัมมนา สส. หรือการผลิตปฏิทินประจำปี เหล่านี้จะอยู่ในค่าใช้จ่ายส่วนนี้

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ค่าใช้จ่ายในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 เราไม่สามารถใช้จากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองได้ เนื่องจากเงื่อนไขข้อจำกัดในการใช้กองทุน นั่นหมายความว่าค่าใช้จ่าย 2 ส่วนนี้ยังจำเป็นต้องมีรายได้ในส่วนอื่นเข้ามา นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยถึงประมาณ 90-100 ล้านบาท / ปี

นี่เป็นปัญหาอีกประการหนึ่งในการทำงาน

แล้วเงินทุนของพรรคมวลชนจะเป็นอย่างไร เรามีเป้าหมายอย่างไร?

เราอยากจะเห็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง คือพรรคการเมืองที่มีรายรับมาจากสมาชิก มาจากประชาชนทั่วไป ด้วยจำนวนเงิน-น้อย แต่จำนวนผู้ให้-มาก นี่คือแนวทางของการสร้างพรรคมวลชน เราไม่ต้องการผู้สนับสนุนเงินทุนรายใหญ่ จำนวนเงินมากๆ แต่จำนวนคนน้อย เราต้องการเห็นผู้บริจาครายเล็กรายน้อย เดือนละ 100 บาท 200 บาท ของคนจำนวนมากๆ เพราะถ้ารายได้จำนวนแบบนี้เพิ่มมากขึ้น แสดงถึงการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมากขึ้น และนี่คือแนวทางของเราในการสร้างพรรคมวลชน

ทั้ง 4 เรื่องที่ผมกล่าวไปแล้วจะเป็นทั้งตัวชี้วัด และเป้าหมาย ในการดำเนินงานหลังจากนี้ ทั้งจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น การมีส่วนร่วมของสมาชิกที่เพิ่มขึ้น โครงสร้างอำนาจภายในพรรคที่ยึดโยงกับสมาชิกทั้งหมด และเงินทุนที่มาจากประชาชนจำนวนมาก สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดถึงความเข้มแข็งของพรรคมวลชนของเรา

และจะเป็นหลักประกันว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เปลี่ยนพรรคกี่ครั้ง เปลี่ยนกรรมการกี่ชุด เป้าหมายของเรายังคงมีคนขับเคลื่อนผลักดันต่อไป

ร่วมกันทำงานกับเรา ร่วมกันสร้างพรรคกับเรา

ขอบคุณทุกท่านครับ

บทความที่เกี่ยวข้องกับ “งานสร้างพรรค”

มานพ คีรีภูวดล
สส.เครือข่ายชาติพันธุ์

ทวีศักดิ์ ทักษิณ
เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า