เปิดแนวคิด #อีสานสองเท่า ของ ‘เดชรัต’ : เพิ่มรายได้เท่าตัว – ลดความเหลื่อมล้ำ
ดร.เดชรัต ผู้เป็นมันสมองในการศึกษานโยบายของพรรคก้าวไกล ชูแนวคิด ‘อีสานสองเท่า’ เพื่อเพิ่มรายได้ต่อหัวคนอีสานเท่าตัวภายใน 10 ปี และใช้รัฐสวัสดิการลดความเหลื่อมล้ำ
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center – ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ของพรรคก้าวไกล ได้นำเสนอแนวนโยบายการพัฒนาภาคอีสาน ซึ่งมีเป้าหมายคือ การทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว และความยากจนลดลงภายในปี 2575 หรือ ‘อีสานสองเท่า’
ย้อนชมการนำเสนอนโยบายจากกิจกรรม ‘ก้าวไกลไปนำแหน่’ ที่นี่
เป้าหมายแรกของแนวคิด ‘อีสานสองเท่า’ คือ ต้องการยกระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวของภาคอีสาน ให้เพิ่มขึ้นเท่าตัว จากเฉลี่ย 83,594 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2565 เป็น 183,676 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2575
“ตลอดระยะเวลา 10 ปี อัตราการขยายตัวของภาคอีสานชะลอตัว ขยายตัวช้ามาก ศักยภาพของอีสานจึงถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง อีสานมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียง 1 ใน 3 รายได้เฉลี่ยของผู้คนทั้งประเทศเป็นเวลานานแล้ว และตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่เหมือนเดิม เราอาจเรียกได้ว่านี่คือทศวรรษของการเสียโอกาส”
หากอัตราการขยายตัวของภาคอีสานยังไม่ดีขึ้น จากการคำนวณจากข้อมูลจีดีพีรายภูมิภาค ก็มีแนวโน้มว่า หลังปี 2566 อีสานจะกลายเป็นภูมิภาคเดียวในประเทศไทยที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนสูง หรือ 125,503 บาท ต่อคน ต่อปี
ดร.เดชรัต กล่าวว่า เมื่อมาวิเคราะห์สถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคอีสานแล้ว จะเห็นได้ว่า เครื่องจักรเศรษฐกิจในอีสาน มี 4 ลักษณะคือ เกษตร อุตสาหกรรม การศึกษา และการค้าส่ง – ค้าปลีก แต่เครื่องจักรเหล่านี้มีปัญหาคือเติบโตช้ามาก และแต่ละภาคส่วนมีความสำคัญและการเติบโตที่ไม่เหมือนกัน
ยกตัวอย่าง เช่น ภาคที่มีความสำคัญมากแต่เติบโตน้อย คือภาคเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต และการศึกษา ส่วนที่เติบโตปานกลางคือค้าส่งและค้าปลีก ในส่วนนี้ ต้องแก้ปัญหาเพื่อเร่งการเติบโตให้เร็วขึ้น ส่วนภาคที่ยังมีความสำคัญน้อยแต่เติบโตขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ก็ได้แก่ศิลปะ บันเทิง นันทนาการ ภัตตาคารและโรงแรม ไฟฟ้าและก๊าซ และโทรคมนาคมและข้อมูลข่าวสาร ซึ่งส่วนนี้เรียกได้ว่าเป็นเศรษฐกิจดาวรุ่ง ที่ยิ่งต้องพัฒนาให้มีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีเศรษฐกิจภาคสนับสนุน และภาคสนับสนุนพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นขนส่งและเก็บรักษา วิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคนิค การเงินและประกันภัย ประปาและสุขาภิบาล สุขภาพและบริการสังคม การจัดการและธุรกิจสนับสนุน อสังหาริมทรัพย์ การบริหารราชการ ก่อสร้าง และบริการอื่นๆ ก็ต้องได้รับการพัฒนาให้เติบโตมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาในทางคุณภาพด้วย
อย่างไรก็ตาม ดร.เดชรัต ระบุว่า ข้อเสนอทั้งหมดนี้จะไม่สัมฤทธิ์ผลได้ ถ้าไม่กระจายอำนาจ เปลี่ยนประเทศไทย จากรัฐรวมศูนย์ส่วนกลาง มาเป็นอำนาจอยู่ที่ท้องถิ่นเปลี่ยนระบบงบประมาณ จากให้ท้องถิ่น 20% มาเป็น 40% ในเวลา 5 ปีนับจากนี้
การขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ จะขาดการเข้าถึงกลุ่มคนที่จนที่สุดของประเทศไปไม่ได้ ซึ่งภาคอีสานมีครบในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านของกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดในประเทศ หนี้ภาคเกษตรและการบริโภคมากที่สุด การพึ่งพิงสวัสดิการและเงินช่วยเหลือที่สูง และมีอัตราการพึ่งพิงของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้สูงอายุสูงที่สุด เป็นต้น
ในส่วนนี้ พรรคก้าวไกล ก็ยังคงยืนยันแนวทางจัดสรรสวัสดิการแบบถ้วนหน้า โดยมีกรอบข้อเสนอประกอบด้วยการมีเงินอุดหนุนเด็กเล็ก เงินสนับสนุนการเรียนรู้ บำนาญผู้สูงอายุ หลักประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคม และเบี้ยยังชีพผู้พิการ ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นเป็นระยะ จนสามารถนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินของครัวเรือนได้