ของแพง ค่าแรงไม่ขึ้น! หาเสียงไว้ ทำไม่ได้สักเรื่อง – ถ้าไม่ไหวก็ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากผลกระทบวิกฤตโควิด สถานประกอบการต้องหยุดชะงัก บางแห่งต้องปิดชั่วคราว บางแห่งต้องปิดถาวร ส่งผลให้แรงงานในระบบ ต้องออกจากประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบกว่า 600,000 ราย อีกทั้งมาเจอกับวิกฤตของแพงทั้งประเทศ ที่รัฐอ้างไม่ใช่ผลจากการบริหาร และผลักภาระขายฝันด้วยนโยบายเพิ่มค่าแรงแต่ทำไม่ได้จริง หลอกให้ประชาชนด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ
รัฐบาลอาจไร้เสถียรภาพ แต่รัฐรู้ไหมว่า ประชาชนไร้อนาคต หากไม่ไหวอย่าฝืน พิจารณาตัวเอง ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน
ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแรงงานในระบบอย่างน้อย 600,000 คน ต้องออกจากระบบประกันสังคมและยังไม่สามารถกลับเข้าในระบบได้ หลายคนที่เคยมีเงินเดือนใช้ทุกเดือน เคยมีสวัสดิการทั้งจากประกันสังคมและเจ้าของบริษัท กลับต้องหลุดออกจากระบบกลายเป็นคนที่ว่างงาน ต้องหันไปทำอาชีพอิสระที่ไม่มั่นคง ได้ค่าแรงน้อย ไม่มีสวัสดิการ แต่รัฐบาลกลับหลอกตัวเลขว่า อัตราว่างงานของไทยอยู่ที่ 1-2% เท่านั้น
วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนแรงงาน พรรคก้าวไกล อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ว่า ตัวเลขการว่างงานเป็นตัวเลขที่หลอกตัวเอง เพราะทำงานแค่ 1 ชั่วโมงต่อวัน หรือภาคเกษตรกรรมรับจ้างแค่ 1 วันสัปดาห์ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีงานทำแล้ว หลักเกณฑ์นี้อาจใช้ในหลายประเทศทั่วโลก แต่ไม่ใช่ใช้เพียงดัชนีชี้วัดเดียวแล้วบอกเป็นนกแก้วนกขุนทองดังที่ พลเอกประยุทธ์ ชี้แจงว่า ตัวเลขคนว่างงานน้อย รัฐบาลบริหารไม่บกพร่อง
วรรณวิภา กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่พวกเขาสูญเสียไม่ใช่แค่งานเท่านั้น แต่เขาต้องสูญเสียสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปด้วย จากที่เคยเป็นที่พึ่งให้ครอบครัว กลับต้องตกงาน ไร้ความมั่นคงในชีวิต บางคนตกงานตอนอายุมากแล้ว กลับไปตั้งต้นใช้ชีวิตที่บ้านเกิดกลายเป็นภาระครอบครัว การตกงานจึงเป็นหายนะของประชาชน ในประเทศที่ไร้รัฐสวัสดิการ และยังถูกซ้ำเติมจากวิกฤตราคาสินค้าที่สูงขึ้น ตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา
“มีสัญญาณเตือนทางเศรษฐกิจมากมายตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว ไม่ว่าราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้น หรือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลต่อราคาสินค้าที่จะถีบตัวสูงขึ้น เท่ากับว่า เรามีเวลาเตรียมตัวหลายเดือนเพื่อหามาตรการรองรับค่าครองชีพ ทั้งการลดต้นทุน การผลิตของภาคเอกชน และการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน”
“เมื่อย้อนกลับไปดูมาตรการของรัฐบาลในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาพบว่า รัฐบาลใช้โครงการเฉพาะหน้าที่เน้นแจกเงิน แจกส่วนลดมาโดยตลอด ไม่มีประโยชน์ในระยะยาว รวมถึงมาตรการของนายกรัฐมนตรีที่เป็นตลกร้าย เช่น การให้ทหารปลูกผักชีช่วยประชาชน แนะนำให้เลี้ยงไก่ 2 ตัว เพื่อเก็บไข่ไว้กิน ล่าสุดหมูตาย หมูแพง ให้สร้างหมูขึ้นมาใหม่ ไม่รู้ว่าต้องการสื่ออะไร แต่คนฟังเขาไม่ตลกด้วย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีแต่แพงขึ้น แพงขึ้น โดยเฉพาะคนจนที่ต้องจ่ายแพงกว่าเสมอ”
เมื่อกลุ่มแรงงานมาทวงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำตามที่รัฐบาลหาเสียง เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำแทบไม่ขึ้นมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ล่าสุดปลายเดือนมกราคม สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงกับพี่น้องประชาชนว่า มีการปรับแน่นอน แต่เท่าไรยังไม่สามารถตอบได้ ซึ่งไม่รู้ว่าประชาชนจะต้องอดทนอีกนานแค่ไหน ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้
“รัฐมนตรีเคยพูดเอาไว้ว่าการปรับขึ้นค่าแรง 492 บาทเป็นไปไม่ได้ เพราะสูงเกินไป กลัวว่าโรงงานจะปิดลง แต่รัฐบาลชุดนี้เคยมีนโยบายเกี่ยวกับค่าแรงที่หาเสียงเลือกตั้งไว้ในปี 2562 อาทิ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท เงินเดือนอาชีวะ 18,000 บาท ผ่านมา 3 ปี จนรัฐบาลใกล้หมดวาระ หรือจะยุบสภาเมื่อไหร่ไม่รู้ ก็ยังไม่เคยเห็นสิ่งที่เคยสัญญาไว้กับประชาชนในตอนหาเสียงสำเร็จแม้แต่ข้อเดียว หรือนี่เป็นเพียงสัญญาเพียงลมปาก ลมๆ แล้งๆ ที่เอาไว้หลอกประชาชนเท่านั้น”
วรรณวิภา เรียกร้องให้รัฐบาลให้ขึ้นค่าแรงเพิ่มให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและสถานการณ์ปัจจุบัน หลังจากนั้นควรมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้มีการขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดจนกระทบกับธุรกิจ นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลกำลังจะยื่นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพื่อผลักดันการเพิ่มค่าแรง และลดชั่วโมงในการทำงาน เพิ่มวันลาคลอด วันหยุดประจำสัปดาห์ และการไม่เลือกปฏิบัติในทุกมิติในสมัยประชุมนี้ด้วย
วรรณวิภา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการรับอนุสัญญา ILO แปลกใจที่รัฐบาลไม่ยอมรับข้อที่ 87 และ 98 ทั้งที่เป็นหลักพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้แรงงานทุกกลุ่ม ทั้งแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ เรื่องนี้ทำได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว นอกจากนี้ รัฐต้องจัดสวัสดิการในการดูแลประชาชนให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพิ่มเงินเลี้ยงดูบุตรและบำนาญ เพื่อให้มีสวัสดิการที่มั่นคง
“เราอยู่ในยุคมืดบอดที่ประชาชนต้องดิ้นรนเอารอดด้วยตัวเองมานาน จะหวังพึ่งรัฐบาลในแต่ละเรื่องต้องรออย่างไร้จุดหมาย อยู่มาจนจะยุบสภาอยู่แล้วก็ไม่เห็นว่ารัฐบาลจะทำตามนโยบายที่ได้เคยหาเสียงไว้ได้เลยสักเพียงข้อเดียว รัฐบาลไร้เสถียรภาพ แต่ประชาชนไร้อนาคต จะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่ ก็ต้องมาลุ้นกันยิ่งกว่าหวย หวยยังมีเจ้าแม่มาเดาทางให้ แต่รัฐบาลในวันนี้เราไม่สามารถเดาอะไรได้เลย หากท่านคิดว่าทำเต็มที่แล้วยังได้แค่นี้ ก็ควรหยุดเพียงเท่านี้ เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสามารถเข้ามาบริหารประเทศ หากจะอยู่กันเช่นนี้ควรจะพิจารณาตนเอง ไม่ไหวอย่าฝืน ยุบสภาและคืนอำนาจให้ประชาชน”
วรรณวิภา กล่าวทิ้งท้าย