คิดออกแต่คนละครึ่ง! “ศิริกัญญา” อัดรัฐบาลไร้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทิ้งประชาชน อุ้มกลุ่มทุน
“ฟังนายกรัฐมนตรีชี้แจงแล้วทำให้รู้สึกโกรธ เพราะท่านพูดราวกับว่ารัฐบาลไม่ต้องทำอะไรเดี๋ยวเศรษฐกิจจะดีขึ้นมาเอง ส่งออกจีดีพีก็จะขึ้นเอง ถ้าเปิดประเทศนักท่องเที่ยวจะกลับมาเศรษฐกิจจะดีเอง ธุรกิจบริการ โรงแรม ท่องเที่ยว ก็จะฟื้นขึ้นมาได้เอง โดยที่รัฐบาลแทบไม่ต้องทำอะไรเลย และทุกวันนี้ที่ทำดีอยู่ดีแล้ว ซึ่งวิธีคิดแบบนี้มีปัญหามากๆ”
ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 โดยนำข้อมูลมากางให้เห็นว่า รัฐบาล‘คนละครึ่ง’ ซึ่งเป็นผลดีในระยะสั้นเท่านั้น แต่ไม่มีแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว ไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้ประเทศก้าวทันประเทศอื่นได้ อีกทั้งยังไม่สามารถบริหารจัดการเรื่องค่าครองชีพสูงที่เป็นภาระหนักของประชาชน คอยแต่โอบอุ้มช่วยเหลือนายทุนใหญ่
ไร้แผนฟื้นฟู เศรษฐกิจ คิดออกแต่คนละครึ่ง – เต็มไปด้วยโครงการเบี้ยหัวแตก
ศิริกัญญา กล่าวว่า ถ้าเราย้อนไปดูรัฐบาลนี้ ที่ผ่านมาคิดอะไรไม่ออกก็แจกคนละครึ่ง กระตุ้นเศรษฐกิจก็แจกคนละครึ่ง เยียวยาก็แจกคนละครึ่ง ช่วยค่าครองชีพก็แจกคนละครึ่ง ตอนนี้โครงการคนละครึ่งใช้ไปกว่า 220,000 ล้านแล้ว แต่เศรษฐกิจในประเทศยังวนเวียนอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน โครงการคนละครึ่งนั้น ยอมรับว่าเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นที่ดี แต่มันไม่เหมาะในการนำมาใช้เยียวยาหรือนำมาใช้ช่วยเหลือค่าครองชีพ เพราะว่าเป็นการแจกแบบใครมาก่อนได้ก่อน สุดท้ายแล้วคนที่ไม่สมควรได้รับกลับได้ แต่คนที่ควรได้รับกลับไม่ได้ และที่สำคัญคือประเทศ ไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาวได้จากการแจกคนละครึ่ง ข้อเสนอที่เรามีคือ รัฐบาลจำเป็นต้องมีแผนฟื้นฟูประเทศจริงๆ จังๆ ได้แล้ว ไม่ใช่แค่พาเศรษฐกิจเรากลับมาสู่จุดเดิมได้ แต่ต้องใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ให้ทุนเล็กทุนน้อยได้มีที่อยู่ที่ยืน เติบโต เกิดการจ้างงานที่มีคุณภาพ และทำให้อุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ ในโลกยุคหลังโควิดเกิดขึ้นจริงได้
“ตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 เป็นต้นมา รัฐบาลนี้กู้เงินผ่าน พ.ร.ก. เงินกู้ มาแล้ว 2 ครั้ง 1.5 ล้านล้านบาท ผ่านมาแล้วเกือบ 2 ปี ตั้งแต่มีเงินกู้ครั้งแรก ตอนนี้งบประมาณอนุมัติเกือบเต็มวงเงินแล้ว และยังไม่นับรวมงบกลางที่มีอยู่บนหน้าตักอีก 2 ปี รายการสำรองจ่ายฉุกเฉินและจำเป็น และงบกลางโควิด รวมกันเกือบ 240,000 ล้านบาท แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า เงินเกือบ 2 ล้านล้าน มีงบประมาณสำหรับสิ่งที่เรียกว่า ‘แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม’ จริงๆ ไม่รวมงบกระตุ้นเศรษฐกิจ แค่ 77,000 ล้านบาทเท่านั้น งบฟื้นฟูจำนวนเท่านี้ แทบจะเป็นงบฟื้นฟูที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เราเคยมีวิกฤตเศรษฐกิจมา ทั้งๆ ที่วิกฤตครั้งนี้หนักหนากว่าทุกครั้ง แล้วถามว่าฟื้นฟูได้จริงหรือเปล่า ฟื้นไม่ได้ เพราะว่าเศรษฐกิจภูมิภาคยังไม่ฟื้น 2 ตัวที่ดู คือ การอุปโภคบริโภคกับรายได้เกษตรกร ทุกตัวติดลบ หรือไม่ก็ลดลงอย่างน่าใจหาย แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้นใช้ไม่ได้ผล รัฐบาลใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ เต็มไปด้วยโครงการเบี้ยหัวแตกแบบที่ไม่มีวันเสร็จ”
ศิริกัญญา กล่าว
วาดฝันสวยหรูแต่ทำจริงไม่มีอนาคต – ไทยยังเดินตามหลังต่างประเทศ
ศิริกัญญา กล่าวว่า ตอนแรกที่รัฐบาลมานำเสนอแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กับสภา วาดฝันให้เราเป็นอย่างดีว่าจะสร้างมีเกษตรอัจฉริยะ เกษตรมูลค่าสูง เศรษฐกิจชีวภาพ ท่องเที่ยวคุณภาพ ระบบดิจิทัล รองรับเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเต็มไปด้วยคำสวยหรูดูดี แต่สุดท้ายไม่มีโครงการพวกนี้อยู่ในแผนฟื้นฟู การท่องเที่ยวคุณภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าทั้งประเทศมีแค่ 3 โครงการ ใช้เงินเพียงแค่ 800 ล้านบาท อุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มสูง เศรษฐกิจชีวภาพ จะมาได้ยังไง ถ้ามีโครงการเรื่องนี้แค่ 4 โครงการ มูลค่า 450 ล้าน เกษตรอัจฉริยะ การเกษตรแม่นยำสูง (precision farming) ก็ไม่มี มีแต่เกษตรแปลงใหญ่จัดให้แปลงละ 3 ล้าน ซึ่งก็ยังเห็นเกษตรกรเอาซื้อรถเกี่ยว รถแทรกเตอร์เหมือนเดิม ไม่ได้สมาร์ทขึ้น และก็ดูเหมือนเศรษฐกิจไทยยุคหลังโควิดนี้จะไม่มีอนาคตไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ย่ำอยู่กับที่แต่ว่าคือการเดินถอยหลัง ประเทศอื่นเขาใช้ช่วงโควิด ในการอัดฉีดเงินลงทุนสร้างเศรษฐกิจหลังโควิดกันอย่างเต็มที่ เกาหลีใต้ลงทุนขนานใหญ่กว่า 3 ล้านล้านบาท ผ่านแพ็คเกจ green new deal เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว ญี่ปุ่นอัดฉีดเงินอุดหนุนหลายพันล้านเพื่อดึงไต้หวันให้มาเปิดโรงงานนาโนชิปในประเทศ แก้ปัญหาชิปขาดแคลน สิงคโปร์จ่ายเงินให้ SMEs เพื่อจูงใจให้เขามาใช้ระบบดิจิทัล ในการทำธุรกิจ
“กลับมาดูประเทศไทย นายกฯ พูดถึงการลดก๊าซเรือนกระจก แต่เราเพิ่งต่ออายุโรงไฟฟ้าถ่านหินเพียงเพราะก๊าซธรรมชาติราคาสูงไป รัฐบาลแทบไม่ได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอะไรเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างที่พูด นายกฯ โฆษณาว่ามีคนมาขอ BOI ตนไปดูมาแล้วจาก 6 แสนล้านที่พูด ลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 7 อุตสาหกรรม เพียงแค่ 98,970 ล้านบาท มีเป้าหมายเดิม 2 แสนล้าน และแบบนี้เศรษฐกิจจะไปข้างหน้า เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตจริงๆ เหรอ และที่สำคัญ นี่คือคำขอ ไม่ใช่การลงทุนจริง ไม่มีทางรู้เลยว่าสุดท้ายแล้วนักลงทุนจริงจะมาเมื่อไหร่ นอกจากนี้ ทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมรถยนต์แบบเก่ากำลังจะล่มสลายตามยุคสมัย แต่เรายังไม่ได้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจริงๆ จังๆ เลย รัฐบาลต้องใช้เวลานานมากถึงจะปล่อยแพ็คเกจอีวีอันแรกออกมา เพื่อส่งสัญญาณให้โลกรู้ว่าประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะสร้างดีมานด์ในประเทศเพียงพอที่จะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ และในขณะที่เรากำลังงกๆ เงิ่นๆ นั้น ตอนนี้เวียดนามมีรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ตัวเองได้แล้ว ยี่ห้อ Vinfast ประเทศอื่นไปไกลถึงไหนแล้ว” ศิริกัญญา กล่าว
ค่าครองชีพแพงกดกำลังซื้อ ปชช. – กองทุนน้ำมันฯ ไม่เคยทำหน้าที่ตัวเอง
ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า นอกจากอนาคตที่มองไม่เห็นแล้ว เฉพาะหน้านั้น เศรษฐกิจประเทศนี้ยังไม่รู้ว่าจะฟื้นได้อย่างไรถ้าค่าครองชีพยังแพงอยู่ ปัญหาค่าครองชีพในขณะนี้หนักหนาสาหัสมากโดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เพราะ 2 สินค้าที่ขึ้นราคาหนักๆ คือ อาหารและน้ำมัน ซึ่งสำหรับคนมีรายน้อย นี่คือครึ่งหนึ่งของเงินในกระเป๋าของเขา ยิ่งขึ้นเท่าไหร่เท่ากับมีเงินเหลือไปทำอย่างอื่นน้อยลง ยิ่งกดกำลังซื้อของประชาชนมากขึ้นอีก ทั้งนี้ สองวันที่ผ่านมา ครม.เพิ่งมีมติว่ายอมลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง 3 บาท เพื่อแก้ไขปัญหากองทุนน้ำมันที่ถังแตกอยู่ 16,000 ล้านบาท ถ้าเราจำกันได้ รัฐบาลอนุมัติให้กองทุนน้ำมัน ไปกู้เงินตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ก็กู้ไม่ได้ เพราะติดว่ากองทุนน้ำมันยังไม่ได้รองรับบัญชีเพราะเพิ่งเปลี่ยนเป็นองค์การมหาชน สุดท้ายแล้วรัฐบาลหลังชนฝา เลยต้องลดภาษีสรรพสามิต ซึ่งก็ดูจะเป็นทางเลือกที่หลายๆ คนเสนอกันมา แต่ตัวดิฉันเองไม่เคยสนับสนุน ไม่เคยเสนอให้ลดภาษีสรรพสามิต เพราะรู้อยู่เต็มอกว่าลดไม่ได้ เพราะเพราะงบปี 2565 ถูกตั้งไว้แบบตึงมาก เก็บภาษีลดลง 1 บาท เท่ากับงบประมาณลดลง 1 บาทด้วย ดังนั้น 3 บาทที่ลดลงจากภาษีสรรพสามิต เป็นเวลา 3 เดือน จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษี 17,100 ล้านบาท และสุดท้ายแล้วจะต้องไปตัดลดงบประมาณตรงไหน ท่านอาจจะบอกว่าราคาน้ำมันสูงขึ้น ภาษีมูลค่าเพิ่มก็จัดเก็บได้สูงขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ว่ามันจะเพียงพอที่จะอุดรูรั่วนี้หรือไม่ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องมีคำตอบ เพราะเราก็อยากรู้เหลือเกินว่าถ้าจำเป็นต้องลดงบ ท่านจะไปตัดงบที่ตรงไหนก่อน
“ที่ปัญหาคาราคาซังเป็นเพราะเรามีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่เคยทำหน้าที่ตัวเอง ในการต้องรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน นั่นคือยามที่ราคาน้ำมันถูกต้องเก็บ แล้วค่อยชดเชยในวันที่ราคาน้ำมันแพง ไม่ใช่เก็บจากน้ำมันตัวหนึ่ง ไปอุดหนุนให้กับน้ำมันตัวหนึ่งให้มีราคาถูกตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น น้ำมันดีเซลตอนปี 2563 เคยลงไปต่ำสุดถึงลิตรละ 14 บาท แล้ววันนั้น เราก็ยังชดเชยให้ดีเซล B10 ลิตรละ 2.50 บาท แทนที่จะเริ่มเก็บเงินเข้ากองทุนเพิ่ม ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะต้องอุดหนุนดีเซล B10 ในวันที่ราคา 14 บาท ถ้าวันนั้นเราเริ่มเก็บ และพยายามรักษาสเถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ที่ 25 บาท ทุกวันนี้เราจะมีเงินของกองทุนน้ำมัน เพื่อมาชดเชยราคาน้ำมันที่สูงขึ้นได้ไปถึงปลายปี 2564 แต่ท่านก็ไม่ทำ” ศิริกัญญา กล่าว
ทิ้งประชาชนอุ้มกลุ่มทุน – ประเคนผลประโยชน์รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน
ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลนี้ไม่ทำอะไรกับเศรษฐกิจเลย ปล่อยให้ประชาชนเผชิญชะตากรรมไปตามยถากรรม อาจบอกว่ารัฐบาลเดินตามระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม รัฐไม่ต้องมีบทบาทอะไร ทำให้น้อยที่สุด ใครอ่อนแอก็แพ้ไป แต่พอตัดภาพที่รัฐบาลเข้าไปโอบอุ้มเจ้าสัว กลุ่มทุน ดูจะตรงข้ามกับที่รัฐบาลโอบอุ้ม SMEs และประชาชนในประเทศ พอเจ้าสัวบอกว่ามีปัญหาเรื่องโควิด รัฐบาลพร้อมอุ้มทันที อย่างกรณีแรก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทางกลุ่ม Asia Era One ที่เครือ CP ถือหุ้นใหญ่ 75% จะต้องจ่ายเงินค่าสิทธิ์ในการเดินรถ ตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2564 ให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเงิน 10,671 ล้านบาท แต่ไม่มีการจ่ายค่าสิทธิ์ตามที่ตกลงกัน เพราะฝั่งเอกชนขอผ่อนผัน อ้างเหตุผู้โดยสารลดลงจากโควิด รัฐบาลตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ศึกษาเงื่อนไขการเจรจาสัญญา เลื่อนการจ่ายเงินมาเบ็ดเสร็จ 6 เดือน ในระหว่างนี้ มีการจ่ายค่ามัดจำแค่ 10% ของค่าสิทธิ์เท่านั้น เงินที่ รฟท. ควรจะได้ ต้องรอต่อไปเรื่อยๆ และมีข่าวว่าจะขยายเวลาให้ผ่อนจ่ายได้ 6 ปี โดยเป็นการผ่อนจ่ายแบบ 5-10% ใน 5 ปีแรก แล้วค่อยไปปูดเอาในปีสุดท้ายพร้อมดอกเบี้ย พูดง่ายๆ คือไม่คิดจะควักเงินตัวเอง ค่าสิทธิ์ในการบริหารเป็นเงินก้อนที่ต้องวางล่วงหน้าแล้วค่อยไปเก็บเกี่ยวรายได้ในภายหลัง ไม่ใช่เอาค่าสิทธิ์มาแยกผ่อนจ่ายแบบนี้ แล้วเอารายได้มาจ่ายเป็นค่าเช่า ผิดหลักการตอนเปิดประมูลสิ้นเชิง
“ล่าสุด มีเป็นข่าวจากหลายสำนักข่าวว่า ครม.อาจจะมีการขยายระยะเวลาของสัญญาให้ยาวกว่า 50 ปี รวมถึงรัฐอาจจะจ่ายเงินร่วมทุนให้เร็วขึ้น จากตอนแรกที่จ่ายปีที่ 6 เลื่อนมาจ่ายให้เร็วขึ้นอีก เป็นปีที่ 3 และอาจจะมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามมาอีกมาก กรณีนี้นายกรัฐมนตรีอาจบอกว่าการอนุมัติให้เอกชนผ่อนจ่ายในครั้งนี้ มีการคิดดอกเบี้ย 2.375 เปอร์เซ็นต์ รัฐไม่ได้เสียหายอะไร แล้วก็จะอ้างอีกว่า นี่เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน รัฐบาลต้องร่วมรับความเสี่ยงด้วย แต่ดิฉันเห็นว่า คำแก้ตัวเหล่านี้ฟังไม่ขึ้น เพราะขณะเดียวกันนี้พวกคุณปล่อยผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อยล้มหายตายจาก ยืดหนี้ไม่ได้ เรื่องใหญ่กว่านั้น การแก้สัญญาร่วมทุนครั้งนี้ เป็นคู่สัญญาที่มาจากการชนะการประมูล ซึ่งหากเราปล่อยให้มีการแก้สัญญาตามอำเภอใจหลังการประมูลแบบนี้ ก็ไม่ต้องประมูลก็ได้ เพราะจะประมูลกันมาแบบไหน ร่างสัญญากับรัฐบาลอย่างไร พอมีความเสี่ยงขึ้นมาก็ขอให้รัฐบาลโอบอุ้ม รัฐบาลก็อุ้มตลอด เรียกได้ว่าเอกชนไม่มีวันเจ๊งภายใต้การบริหารของพล.อ.ประยุทธ์ พร้อมเสมอที่จะแก้สัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์เจ้าสัว พร้อมเสมอที่จะเอาผลประโยชน์ของชาติไปประเคนให้นายทุน ใช่หรือไม่”
ศิริกัญญา กล่าว
“นายกฯ – รมว.คลัง” แก้สัญญาสัมปทาน “ดิวตี้ฟรี” ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยคลังได้เหรอ?
ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ตัวอย่างถัดมา เป็นการแก้ไขสัญญาสัมปทานร้านค้าปลอดอากรในสนามบิน หรือ Duty-Free ซึ่ง ปี 2564 เป็นปีแรกที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย ขาดทุนและเป็นปีแรกไม่ได้ส่งเงินสมทบเป็นรายได้รัฐ ปีนี้ผลขาดทุนสุทธิถึง 16,322 ล้านบาท ขาดทุนหนักจนถึงขั้นต้องขออนุมัติกู้เงินเพิ่มเสริมสภาพคล่องต่อคณะรัฐมนตรี เป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ต้องกู้เงินถึง 20,700 ล้านบาท แน่นอนว่าสาเหตุที่ขาดทุนย่อมมาจากจำนวนผู้โดยสารที่น้อยลง แต่รายได้หลักอีกแหล่งที่คิดเป็น 42% เป็นรายได้ที่มาจากการเอาพื้นที่่ให้เอกชนเช่าทำการพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านค้า ร้านค้าดิวตี้ฟรี แต่พอโควิดระบาด บอร์ด ทอท. ก็มีมติเร็วมากเยียวยาให้กับผู้ประกอบการในท่าอากาศยาน รายใหญ่สุดที่ได้รับผลประโยชน์ก็คือผู้ได้รับสัมปทานดิวตี้ฟรี ให้ได้ยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานอีก 2 ปี ยังไม่พอ บอร์ดยังมีมติให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเก็บรายได้ขั้นต่ำ มาเป็นการเก็บรายได้ขั้นต่ำตามรายหัวผู้โดยสาร คือมาเยอะจ่ายเยอะ มาน้อยจ่ายน้อย ซึ่งระบบใหม่นี้จะใช้ 1 เมษายน 2565 แต่ยังไม่หนำใจ เดือนพฤศจิกายน 2564 ยังได้ออกมาตรการเพิ่มเติมต่ออายุมาตรการยกเว้นรายได้ขั้นต่ำอีก 1 ปี โดยให้เริ่มอัตราใหม่ในเมษายน 2566 แทน และต่ออายุสัมปทานดิวตี้ฟรีให้อีก 1 ปีด้วย
“ผลจากการเยียวยาในครั้งนั้น มีการประเมินว่า ทอท.จะสูญเสียรายได้เป็นแสนล้าน และแน่นอนว่ารัฐต้องสูญเสียรายได้ด้วย เพราะ ทอท.นั้นเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้มีประชาชนเกิดข้อสงสัยว่าการที่รัฐสูญเสียรายได้ขนาดนี้ การแก้สัญญาสัมปทานโดยที่ไม่ต้องขอ ครม.ก่อน โดยที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง นั้น ถูกต้องโปร่งใสหรือไม่ นี่เป็นอีกครั้งสำหรับรัฐบาลนี้ที่กับคนธรรมดาๆ รัฐบาลไม่อินังขังขอบ แต่พอกับนายทุนใหญ่ หน่วยงานรัฐก็พร้อมที่จะยืดหดสัญญาให้ได้เต็มที่ และดูเหมือนกับว่ากระบวนการอาจจะไม่ได้ถูกต้องสมบูรณ์เสียด้วยซ้ำ ตนขอให้นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ตอบคำถามในสภาเพื่อเป็นการบันทึกไว้ด้วยว่า เห็นด้วยหรือไม่ตามความเห็นของ ทอท. และสำนักงานเศรษฐกิจการคลังว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทานไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และไม่ต้องนำเข้า ครม.แม้จะกระทบต่อรายได้รัฐ เพียงเพราะ ทอท.มีสถานะเป็นบริษัทมหาชน และท่านอ้างกฎหมายข้อไหน” ศิริกัญญา กล่าว
กสทช. ทำงานล่าช้า กรณีซูเปอร์ดีล “ทรู-ดีแทค”
ศิริกัญญา กล่าวว่า เรื่องสุดท้าย การปิดซุปเปอร์ดีลโทรคมนาคม การควบรวม ทรู-ดีแทค หากสำเร็จกระทบกับค่าครองชีพประชาชนโดยตรง ซึ่งบอร์ด กสทช. ชุดปัจจุบันที่อยู่มา 8 ปีแล้ว ได้แก้ประกาศเพื่อริบอำนาจตัวเองในการให้อนุญาตการควบรวม คือ แก้ประกาศเรื่องการควบรวมในปี 2561 ว่า ต่อไปนี้ไม่ต้องมาขออนุญาต ให้ควบรวมแล้วมารายงานให้ กสทช. ทราบ แล้วถ้าเกิดผลกระทบกับสภาวะการแข่งขัน กสทช. ค่อยออกมาตรการหลังการควบรวม ซึ่งเท่าที่มีการคุยกันทั้งในวงของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ดูแลเรื่องนี้ และวงวิชาการอื่นๆ ไม่มีทีท่าเลยว่าจะมีแก้ไขประกาศนี้ให้เป็นการขออนุญาตแต่อย่างใด และจะปล่อยให้มีการควบรวมเกิดขึ้นให้ได้ และที่ตนไม่เข้าใจก็คือ ตอนนี้กระบวนการสรรหา กสทช. ชุดใหม่ โดย ส.ว. เสร็จตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม ปีที่ผ่านมาแล้ว ชื่อไปค้างอยู่ที่นายกรัฐมนตรียังไม่ยอมทูลเกล้าให้ลงพระปรมาภิไธยจริงหรือไม่ ตนตั้งคำถามว่านายกรัฐมนตรีรออะไร รอให้บอร์ด กสทช. ชุดนี้ดูแลการควบรวมซุปเปอร์ดีล ทรู-ดีแทค ให้จบก่อนใช่หรือไม่ ให้บอร์ดชุดที่แก้ประกาศลดอำนาจตัวเองดูแลดีลนี้ให้จบใช่หรือไม่ และจะไม่ยอมแก้ประกาศให้เป็นระบบขออนุญาตใช่หรือไม่
ศิริกัญญา กล่าวปิดท้ายว่า ขอฝากคำถามทั้งหมดนี้ และข้อเสนอแนะปัญหาเหล่านี้ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้ตอบ เพราะเป็นความคับข้องใจอย่างยิ่ง แต่ไม่มีอะไรที่จะคับข้องใจไปกว่า การที่ประชาชนจะต้องทนกับสภาพนี้ไปอีกนานแค่ไหน เมื่อไหร่ท่านจะยอมรับว่า ท่านไม่เหลือความนิยม ไม่เหลือความชอบธรรมใดๆ ที่จะปกครองประเทศนี้ได้แล้ว เมื่อไหร่ท่านจะยอมลงจากอำนาจเพื่อเปิดทางให้ประชาชนได้เลือกผู้นำที่พวกเขาต้องการ และมีความชอบธรรมเต็มมาบริหารแผ่นดินนี้ ซึ่งนี่น่าจะเป็นคำถามที่ถามแทนใจประชาชนทั้งประเทศ