‘ปฏิรูปตำรวจ’ คือ คำแห่งความหวังที่คนฟังฝันถึงตำรวจที่ดีขึ้นกว่านี้
“ผมเป็นตำรวจ”
ถ้อยคำสั้นๆของ ‘หยั่น’ จากภาพยนตร์ Infernal Affairs เป็นประโยคคลาสสิคที่สร้างความจดจำเสมือนบอกกล่าวกับผู้ชมว่า ‘ตำรวจ’ ไม่อยู่ในสถานะแบบไหนก็มีความภาคภูมิใจในตัวตนของตัวเองอยู่เสมอ
ผมเองก็เป็นตำรวจครับ แม้ในวันนี้จะต้องใช้คำว่าอดีตนำหน้า แต่ผมยังมีความฝันเดียวกับเพื่อนตำรวจทุกคนเหมือนวันที่ยังใส่เครื่องแบบทำงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจพิสูจน์หลักฐานคลี่คลายคดี มัดตัวคนร้าย คืนความเป็นธรรมให้ผู้บริสุทธิ์
ในอาชีพของเรา ผมยังคงอยากเห็นตำรวจทุกนายได้รับการดูแลด้านคุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความเป็นธรรมในอาชีพการงาน ไม่ตกเป็นเหยื่อของระบบอุปถัมป์พวกพ้องรับใช้นาย หรือต้องคอยวิ่งหา ‘ตั๋ว’ ไปวันๆ เพื่อบุกเบิกความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
และผมก็ยังมีความฝันเดียวกับประชาชนที่อยากเห็นการรับใช้ให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น เมื่อเดือดร้อนถูกโจรลัก วิ่ง ชิง ปล้น หรือโดนโกง เราคือที่พึ่งที่ตามจับโจรมารับโทษ ตามหาทรัพย์สินที่สูญเสียไปให้กลับมา หรือจะดีกว่านั้นคือสามารถป้องกันเหตุไม่ให้เกิดขึ้นเลย ในที่นี้ยังรวมไปถึงปัญหาการรีดไถ ส่วย หรือเงินใต้โต๊ะ ที่ประชาชนต่างหวังให้มันสูญสิ้นไป เมื่อมีใครเอ่ยคำว่า ‘ปฏิรูปตำรวจ’ ขึ้นมาแล้วมันจะเป็นจริง
เรามีความพยายามทำเรื่องนี้กันหลายครั้ง (พ.ร.บ.ตำรวจ เริ่มมีครั้งแรก ในปี พ.ศ.2547 แก้ไขบางมาตรามา 10 ครั้ง โดยสภา 3 ครั้ง และโดยประกาศคำสั่ง คสช. 7 ครั้ง) ก่อนที่จะมาแก้ไขทั้งฉบับในครั้งนี้
ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ที่จะมีการพิจารณาวาระ 2 ในสภา ระหว่างวันที่ 9-10 มิ.ย.นี้ จึงมีความสำคัญมาก
ในชั้นรับหลักการ หลายคนยังหวังถึงการ ‘ปฏิรูปตำรวจ’ อย่างที่ควรเป็น แต่ในระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ผมมีข้อสังเกตจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าหากยึดเอาตามการแก้ไขของกรรมาธิการเสียงข้างมาก การปฏิรูปตำรวจที่เราฝันถึงอาจไม่เกิดขึ้นจริง นั่นจึงทำให้ผมขอสงวนคำแปรญัตติไว้จำนวนหนึ่ง
โดยหวังว่าจะโน้มน้าวให้สภาแก้ไขกฎหมายของตำรวจในมาตราที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจที่ไม่ว่าตำรวจหรือประชาชนอยากเห็น จากทั้งหมด 172 มาตรา ที่จะมีการพิจารณา
ผมได้สรุปหัวใจสำคัญในสิ่งที่ต้องแก้ไขดังต่อไปนี้ครับ
ปราบทุจริต ! ต้องเปลี่ยนแปลงระบบและโครงสร้าง
เวลาได้ยินคำว่า ‘ทุจริต’ หรือ ‘โกง’ ภาพของตำรวจและนักการเมือง มักผุดขึ้นมาในหัวเราเป็นอันดับแรกๆ แล้วค่อยตามด้วยข้าราชการอื่นๆ แต่สิ่งที่ชวนขำก็คือ ผมเป็นมาแล้วทั้งสองอาชีพเลยครับ
เป็นเรื่องจริงที่เราจะนึกถึงไม่ยากกับภาพของตำรวจรีดไถพ่อค้าแม่ค้าคนหาเช้ากินค่ำ นึกถึงตำรวจที่บิดสำนวนคดีเพื่อช่วยคนร้าย หรือนึกถึงการรีดไถตำรวจด้วยกันเองเพื่อประโยชน์ในการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งมีทั้งที่เราอาจเคยประสบแบบนี้กับตัวเอง คนรู้จักเล่าให้ฟัง หรือเห็นในข่าวบ่อยๆ จนภาพเหล่านี้กลายเป็นภาพจำของตำรวจไทย
แต่เอาเข้าจริงแล้ว หากจะกล่าวถึงการทุจริต ความหมายของมันกว้างกว่านั้นมาก อาจเป็นเรื่องของโครงสร้างอำนาจที่ผู้มีอำนาจสามารถใช้ตำแหน่งหน้าที่มาหาประโยชน์ได้ และมีแบบนี้ในทุกวงการ เช่น ทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างอย่างกรณีมหากาพย์โรงพักตำรวจ การซื้อขายตำแหน่งแสวงหาตั๋ว การช่วยเหลือทางคดีเพื่อเรียกเงินหรือสร้างบุญคุณกัน
การทุจริต การโกง ยังมีอีกหลากรูปแบบทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ซึ่งบางตำแหน่ง บางหน่วยงาน อาจมากหรือน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่า ‘ระบบ’ การทำงานของเขา ออกแบบมาให้ทำผิดยาก หรือง่าย แค่ไหน
บางตำแหน่ง บางอำนาจหน้าที่ ทุจริตได้ยาก ถ้าระบบงานถูกออกแบบมาให้หลักฐานปรากฎได้ง่ายเมื่อทำผิด ยิ่งมีระบบที่ตรวจสอบย้อนหลังที่ดี หรือเปิดให้ประชาชนมองจากข้างนอกเข้ามาข้างในได้ง่าย การจะทุจริตก็ยากตาม
บางตำแหน่ง บางอำนาจหน้าที่ ทุจริตได้ง่าย โดยเฉพาะหากเป็นระบบที่มีคนรู้เห็นการทำงานน้อย ไม่มีหลักฐานบันทึกขั้นตอนการทำงานให้ตรวจสอบย้อนหลัง และประชาชนตรวจสอบได้ยาก การทุริตก็จะมีมากตาม
ดังนั้น หลักการสำคัญในการปราบทุจริตแบบก้าวไกล จึงมุ่งไปที่การ สร้างระบบ ปรับสภาพแวดล้อม และจัดวางโครงสร้างอำนาจ เพื่อให้การทุจริตเกิดขึ้นได้ยาก
การปราบทุจริตคดีดังๆ บางคดี อย่างเช่น บอส กระทิงแดง ตั๋วช้าง หรือค้ามนุษย์ ที่หลายคนอาจมองว่าเป็นผลงานการตรวจสอบของก้าวไกลที่เข้มข้น แต่เราไม่ได้มองว่าเป้าหมาย เพราะถึงแม้ได้เปิดโปงคดีต่างๆ จนเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นในสังคมก็ตาม แต่สิ่งที่เราพบก็คือ การทุจริตจะกลับมาเสมอตราบใดที่เรื่องยังไม่แดงขึ้นมา ซึ่งแทบไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่เราจะเข้าถึงกลไกค้นหาการกระผิดผิดเหล่านี้ได้อย่างครอบคลุมภายใต้ระบบและโครงสร้างปัจจุบัน นั่นจึงทำให้เราเชื่อในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบและโครงสร้างดังที่ทำมาตลอด
“พ.ร.บ.ตำรวจ หากมีการออกแบบระบบและวางโครงสร้างได้ดีจะแก้ปัญหาทุจริตได้ การที่วงการตำรวจมีทุจริตมาก ไม่ได้แปลว่าตำรวจทุกคนเป็นคนเลวทราม เราอาจจะมองว่า เมื่อมีตำรวจทำผิด ก็ต้องมีตำรวจในหน่วยงานรู้เห็นบ้าง แต่คนที่รู้เห็นกลับช่วยกันปกปิด ไม่เปิดโปง ไม่แฉ ต้องถือว่าเป็นคนเลวทรามไปด้วยหรือไม่ นี่คือมุมมองที่อยากชวนแลกเปลี่ยน เนื่องจากที่ผ่านมา กฎหมายตำรวจก็ไม่ได้มีกลไกปกป้องตำรวจดีที่ออกมาเปิดโปงหรือแฉพฤติกรรมอันเลวร้าย หากแต่ยังเปิดช่องให้ผู้บังคับบัญชาสามารถริดรอนสิทธิ ริดรอนความเป็นธรรมของเขาได้ ภายใต้กฏหมายที่ไม่มีกลไกเอื้อให้เขาทำสิ่งที่ถูกต้องได้ง่ายเลย ในสถานการณ์แบบนี้ การเพิกเฉยจึงอาจเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าหากเขายังอยากเป็นตำรวจต่อไป”
แล้วพรรคก้าวไกล เสนอแก้กฏหมายอย่างไร เพื่อ แก้ปัญหานี้
โปรดติดตามในหน้าถัดไป…
“ปกป้องและให้รางวัล” คืนสิทธิพื้นฐานที่ข้าราชการทั่วไปมี แต่ตำรวจไม่มี!!!
ความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นหลักการทั่วไปง่ายๆ แต่เชื่อหรือไม่ว่า กฎหมายของตำรวจกลับไม่มีเรื่องนี้
ปกติใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน มาตรา 98 กำหนดไว้ว่า ถ้าเห็นผู้บังคับบัญชาทำผิด แล้วเราเปิดโปงแฉการกระทำผิดนั้น เราย่อมสมควรได้รับการยกย่อง ได้รับรางวัล และได้รับการปกป้องไม่ให้โดนกลั่นแกล้งเล่นงานใดๆ นี่เป็นหลักการที่ข้าราชการพลเรือนทั่วไปมี เป็นสิทธิพื้นฐานของข้าราชการแต่ของตำรวจกลับถูกทำให้หายไป หรือนี่อาจเป็นความจงใจของคนเขียนกฏหมายยุคก่อนมาจนถึงปัจจุบันที่จงใจปกป้องคนทำผิด ไม่ให้ถูกแฉ ถูกเปิดโปงได้ง่ายๆ และอาจเป็นคำอธิบายหนึ่งว่า ทำไมตำรวจจึงมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตมากกว่าข้าราชการอื่น
เพื่อแก้ไขเรื่องพื้นฐานนี้ เราจึงเสนอเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ คือ มาตรา 117/1 (ตอนประกาศใช้กฏหมาย เลขมาตราจะรันใหม่) ความว่า
“ข้าราชการตำรวจผู้ใดให้ข้อมูลต่อผู้บังคับบัญชาหรือให้ถ้อยคำในฐานะพยานต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนหรือตรวจสอบตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการอันเป็นประโยชน์และเป็นผลดียิ่งต่อทางราชการ ผู้บังคับบัญชาอาจพิจารณาให้บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษได้
ข้าราชการตำรวจผู้ใดอยู่ในฐานะที่อาจจะถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำผิดวินัยกับข้าราชการอื่นให้ข้อมูลต่อผู้บังคับบัญชา หรือให้ถ้อยคำต่อบุคคลหรือคณะบุคคลตามความในวรรคหนึ่งเกี่ยวกับการกระทำผิดวินัยที่ได้กระทำมา จนเป็นเหตุให้มีการสอบสวนพิจารณาทางวินัยแก่ผู้เป็นต้นเหตุแห่งการกระทำผิด ผู้บังคับบัญชาอาจใช้ดุลพินิจกันผู้นั้นไว้เป็นพยานหรือพิจารณาลดโทษทางวินัยตามควรแก่กรณีได้
ข้าราชการตำรวจผู้ใดมีหลักฐานว่าผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กระทำผิดวินัย หรือกระทำผิดวินัยร่วมกับผู้บังคับบัญชา สามารถให้ข้อมูลต่อผู้บังคับบัญชาที่อยู่เหนือขึ้นไประดับใดก็ได้ หรือ ก.ต.ช. หรือคณะกรรมการนโยบายตำรวจนครบาล หรือคณะกรรมการนโยบายตำรวจภูธรจังหวัด แล้วแต่กรณีก็ได้ โดยไม่เป็นความผิดทางวินัยตามมาตรา 103/1 (2) และมีสิทธิได้รับบำเหน็จความชอบ หรือถูกกันไว้เป็นพยานหรือพิจารณาลดโทษทางวินัยตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง
ข้าราชการตำรวจผู้ใดให้ข้อมูลหรือให้ถ้อยคำในฐานะพยานตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองอันเป็นเท็จ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยตามมาตรา 103/1 (1)
หลักเกณฑ์และวิธีการการให้บำเหน็จความชอบ การกันเป็นพยาน การลดโทษ และการให้ความคุ้มครองพยาน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.
กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการคุ้มครองพยานตามวรรคสี่ จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ตร. และผู้มีอำนาจตามมาตรา 83 จะดำเนินการย้าย โอน หรือดำเนินการอื่นใด โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมหรือเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาของข้าราชการผู้นั้น และไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนหรือกระบวนการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ก็ได้”
…ลองนึกภาพตามนะครับ
ถ้าคุณเป็นตำรวจคนหนึ่งที่เห็นการกระทำผิดในองค์กร คุณต้องเป็นคนดีดุจดังพระโพธิสัตว์ขนาดไหน ถึงจะมีความกล้าแฉ กล้าเปิดโปงได้ โดยที่ตัวเองไม่ได้รางวัลอะไร แถมยังเสี่ยงถูกกลั่นแกล้งอีกด้วย ลองนึกถึงชะตากรรมของ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ เมื่อเปิดโปงคดีทุจริตการค้ามนุษย์สิครับ แล้วคุณจะเข้าใจว่า ทำไมการเป็นตำรวจที่ดีจึงไม่ง่ายในประเทศนี้
การออกแบบระบบที่ดีคือสิ่งที่เราอยากเห็น เราอาจไม่ได้ต้องการคนที่มีความกล้าหาญมากนัก แต่เราต้องการเพียงคนธรรมดา ที่เมื่อเห็นผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงานกระทำผิดก็ออกมาบอกกล่าวต่อสังคม ไม่ช่วยกันปกปิดในสิ่งที่ผิด ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ โดยพื้นฐานที่สุดเขาจะต้องไม่มีอะไรให้ต้องกลัวว่าจะการถูกกลั่นแกล้งด้วยการทีกฏหมายเป็นระบบที่ช่วยปกป้อง
“เราเชื่อว่า ระบบที่ดี จะทำให้ตำรวจทุกคนไม่ว่าจะเคยดีหรือไม่ดี จะไม่ทำเรื่องทุจริตได้ง่ายๆ อีกต่อไป และระบบที่ดีนี้สามารถสร้างได้เพียงแค่เพิ่มมาตรานี้เข้าไป ผมอยากเห็นทุกคนช่วยกันต่อสู้ เพื่อนำสิทธิความเป็นธรรมนี้ คืนให้กับตำรวจ สู้เพื่อให้ตำรวจได้กฏหมายมาตราที่จะเป็นเกราะคุ้มกันในการเป็นคนที่ไม่เพิกเฉยต่อความอยุติธรรมใดๆเข้ามา”
ลำดับต่อไป เมื่อเราทำให้ตำรวจสามารถเปิดโปงการทุจริตในองค์กรได้ง่ายขึ้นแล้ว การกระทำผิดเหล่านี้จะดำเนินไปสู่การลงโทษได้อย่างไร?
ต้องบอกว่า นี่เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของวงการตำรวจ เพราะการกำหนดโทษและขั้นตอนการดำเนินคดี มีความผิดแปลกไปจากกฏหมายของข้าราชการพลเรือนพอสมควร มีการดัดแปลงให้แย่ลง มีลักษณะของการริดรอนสิทธิและพยายามทำให้คลุมเครือไม่ชัดเจน
ดังนั้น ต่อจากนี้ เราจะไปดูรายละเอียดของปัญหาที่ว่า มันคืออะไร และพรรคก้าวไกล เสนอแก้กฏหมายอย่างไรเพื่อแก้ปัญหานี้
ปราบทุจริต แก้ไม่ได้ด้วยโทษวินัยป่าเถื่อน
เราอาจเคยคิดว่า ถ้าไม่ชอบการทุจริต ก็ต้องเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรง เพื่อสร้างความหวาดกลัว ไม่ให้กล้ากระทำผิด
เราอาจจะหลงคิดไปว่า ยิ่งโทษรุนแรง ทุจริตจะยิ่งน้อย จนทำให้หลายครั้งรู้สึกสะใจไปกับความป่าเถื่อน ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่สิ่งที่ผมอยากตั้งคำถามคือ ทุกวันนี้กฏหมายของตำรวจไทยยังมีโทษทางวินัยที่รุนแรง ล้าหลัง และป่าเถื่อนอยู่ แต่ทำไมปัญหาทุจริตกลับยังคงสูง?
ผมอยากเล่าว่า ระบบของตำรวจทุกวันนี้เป็นแบบนี้ครับ นั่นคือ ตำรวจทุกคนที่มีลูกน้องจะต้องคอยควบคุมให้ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ถ้าลูกน้องทำผิด ตัวเองก็โดนลงโทษด้วย เพราะถือว่าไม่ควบคุมลูกน้องให้ดี จะมาอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ ต้องควบคุมเหมือนตัวติดกันอยู่ตลอดเวลา ทั้งในเวลางานและนอกเวลางาน ระบบนี้ใช้มานานหลายสิบปีแล้ว แต่ปัญหาทุจริตก็ยังเยอะอยู่ดี แถมเป็นในทางตรงกันข้ามเสียด้วย
ตำรวจในประเทศที่เจริญแล้ว ไม่มีระบบและโทษที่ล้าหลัง ป่าเถื่อนเหมือนหัวหน้าไพร่ทาสดูแลคนในสังกัดมูลนายตัวเองเช่นนี้ครับ แต่เขาสามารถแก้ปัญหาทุจริตของตำรวจได้ด้วยการสร้างระบบที่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้า กำกับดูแลซึ่งกันและกัน เมื่อเห็นการกระทำผิดสามารถเปิดโปงได้ มีแรงจูงใจเชิงบวกเป็นรางวัล และมีกลไกปกป้องไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง นอกจากนี้ จะมีการสร้างระบบการทำงานให้มีหลักฐานตรวจสอบย้อนหลังได้ รวมถึงการเปิดให้ประชาชนมองเห็นจากภายนอกเพื่อสร้างความโปร่งใส ปราบทุจริตได้จริง โดยไม่จำเป็นต้อง ‘สร้างความกลัว’ และกำกับและลงโทษแบบป่าเถื่อนล้าหลังมาใช้
เราลองมาดูกันนะครับ ว่าโทษทางวินัยสำหรับตำรวจคงความป่าเถื่อนแบบตั้งแต่สมัยเผด็จการก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้อย่างไรบ้าง
- โทษ ทัณฑกรรม (ให้ตำรวจไปทำงานโยธาเช็ดล้าง)
- กักยาม (จำกัดบริเวณแต่ไม่ได้เอาไปขังคุก)
- กักขัง (เอาไปขังคุก)
โชคดีเท่าไหร่แล้วที่ไม่คงโทษ ‘โบย’ กับ ‘ขังมืด’ ที่กำเนิดยุคเดียวกันไว้ด้วย ไม่งั้นคงครบสูตรตำรวจไทยยุคก่อน 2475 กันเลยทีเดียว
ทีนี้ มาดูอีกความล้าหลังที่ซ่อนที่อยู่ใน พ.ร.บ.ตำรวจ ปัจจุบันกันครับ นั่นคือ มาตรา 106 ที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาโดยแทบไม่ต้องรับผิดในการกระทำต่อร่างกายไว้เลย ดังนี้ครับ
“เมื่อมีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาวินัยและปราบปรามข้าราชการตำรวจผู้ก่อการกำเริบ หรือเพื่อบังคับข้าราชการตำรวจผู้ละทิ้งหน้าที่ให้กลับทำหน้าที่ของตน ผู้บังคับบัญชาอาจใช้อาวุธหรือกำลังบังคับได้ และถ้าได้กระทำโดยสุจริตตามสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ช่วยเหลือไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา เมื่อมีเหตุดังกล่าว ผู้บังคับบัญชาจะต้องรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตนตามลำดับชั้นจนถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติโดยเร็ว”
‘คดีวินัย’ เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง บุคลากรในองค์กร กับ องค์กร ต่างจาก ‘คดีอาญา’ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลใน รัฐ กับ รัฐ
โทษทางวินัยโดยทั่วไป จึงเป็นอำนาจที่องค์กรจะใช้ลงโทษกับคนในองค์กรได้ แต่จะเกี่ยวกับอาชีพการงานเท่านั้น ทำได้ตั้งแต่ตักเตือนไปจนร้ายแรงสุด คือไล่ออกจากงาน แต่จะไม่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางร่างกาย อธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น เช่น
สมมุติว่าตำรวจทำความผิดปล้นทรัพย์ คดีอาญา คือ รัฐต้องดำเนินไปในกระบวนการปกติเหมือนประชาชนทั่วไปทำผิดเพื่อไปสู่การโทษจำคุก ส่วน คดีวินัย องค์กรจะดำเนินกระบวนการภายในองค์กรเองเพื่อไปสู่โทษไล่ออกหรือตัดสิทธิสวัสดิการต่างควบคู่กันไป จากการกระทำผิดเดียวกัน
พ.ร.บ.ตำรวจ ที่กำลังพิจารณากันอยู่ พรรคก้าวไกลเห็นว่า ควรจำกัดขอบเขตโทษทางวินัยเป็นเรื่องของการดำเนินภายในองค์กร จะต้องไม่มีโทษการจำกัดสิทธิทางร่างกายเหมือนในคดีอาญาซึ่งมีบัญญัติโทษไว้อยู่แล้วในกฏหมายฉบับอื่น และนี่เป็นหลักสากลทั่วไป
ใน พ.ร.บ.ตำรวจ นี้ เราได้เสนอแก้โทษทางวินัยของตำรวจ เอาโทษที่ล้าหลัง ป่าเถื่อน ละเมิดสิทธิ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของข้าราชการตำรวจออกไป และกำหนดโทษวินัยให้เหมือนข้าราชการทั่วไป ในมาตรา 107
โทษทางวินัยสำหรับข้าราชการปกติ มีดังนี้
- ภาคทัณฑ์ (ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร)
- ตัดเงินเดือน (หัก%เงินเดือนแบบชั่วคราวมีกำหนดเวลา)
- ลดเงินเดือน (หัก%เงินเดือนแบบยาวๆ ไม่มีกำหนดเวลา)
- ปลดออก (ออกจากราชการแบบยังได้เงินบำเหน็จบำนาญ)
- ไล่ออก (ออกจากราชการแบบไม่ได้เงินบำเหน็จบำนาญ)
“มาตรา 106 เราเสนอตัดออกแน่นอน หากมีการละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ มีความผิดทางวินัยอยู่แล้ว และถ้าทำให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ก็ให้เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 104(3) มีโทษ 2 สถานเท่านั้น คือ ปลดออก หรือ ไล่ออก ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธหรือกำลังบังคับตำรวจด้วยกันเลย ดังนั้น เราจึงเสนอตัดมาตรานี้ออก”
กระบวนการดำเนินคดีวินัย ต้องกลับสู่ปกติ
นอกจากการทำให้ การกระทำผิดถูกแฉ ถูกเปิดโปงได้ง่ายแล้ว กระบวนการที่ทำให้การกระทำผิดดำเนินไปสู่การลงโทษก็สำคัญไม่แพ้กัน
เราจึงเสนอแก้ กระบวนการดำเนินคดีวินัยในหมวด 6 ของ พ.ร.บ.ตำรวจ นี้
ปกติ การดำเนินคดีวินัย แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ
- “คนที่มีอำนาจชี้มูลความผิด” หากสงสัยหรือรับทราบการกล่าวหาว่ามีคนทำผิด ให้ทำการรวบรวมสืบหาข้อเท็จจริง จนชี้มูลความผิด หรือเห็นว่าไม่มีมูลก็ยุติ
- “คนที่มีอำนาจตัดสินลงโทษ” รับเรื่องมาจากคนที่มีอำนาจชี้มูลความผิด แล้วพิจารณาลงโทษ หรือยุติเมื่อพิจารณาว่าไม่ผิด
ความต่างของกระบวนการดำเนินคดีวินัยในกฏหมายตำรวจกับกฏหมายข้าราชการพลเรือนทั่วไปคือ ความคิดที่ว่า ‘ตำรวจทุกคน’ มีความสามารถสืบสวนสอบสวนและชี้มูลความผิดได้
กฏหมายตำรวจปัจจุบันจึงกำหนดให้ ตำรวจทุกคนที่มีลูกน้อง เมื่อลูกน้องถูกกล่าวหาหรือสงสัยว่าทำผิดวินัย ให้ดำเนินคดีเองตั้งแต่การชี้มูลความผิด และถ้าหากเป็นวินัยไม่ร้ายแรง ตนเองซึ่งเป็นคนชี้มูลความผิด ก็จะมีอำนาจตัดสินลงโทษได้เอง แต่ถ้าหากเป็นวินัยร้ายแรง ค่อยส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่มีอำนาจตัดสินลงโทษ ตั้งกรรมการ และพิจารณาตัดสินลงโทษอีกที
ในเรื่องนี้แตกต่างจากกฏหมายของข้าราชการพลเรือนทั่วไป คือ เมื่อลูกน้องถูกกล่าวหาหรือสงสัยว่าทำผิดวินัยจะไม่ต้องดำเนินคดีเอง แต่ให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไป ที่ถูกกำหนดให้มีอำนาจชี้มูลความผิด จากนั้นจึงค่อยดำเนินคดีจนมีการชี้มูลความผิด หากเป็นวินัยไม่ร้ายแรง คนชี้มูลความผิดจะมีอำนาจตัดสินลงโทษได้เอง แต่ถ้าเป็นวินัยร้ายแรง ให้ส่งเรื่องต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่มีอำนาจตัดสินลงโทษ ตั้งกรรมการ และพิจารณาตัดสินลงโทษอีกที
ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ ตำรวจไม่ได้เชี่ยวชาญในการสืบสวนรวมรวมข้อมูลชี้มูลความผิดได้ทุกคน เพราะตำรวจมีหลากหลายหน้างานแตกต่างกันไป ถึงแม้จะเคยเรียนเกี่ยวกับงานสอบสวน แต่ถ้าไม่ใช่งานที่ทำประจำ ก็มักไม่มีประสิทธิภาพเท่าคนที่กำหนดหน้าที่ให้ทำงานคดีวินัยเป็นประจำ
ดังนั้น การกำหนดผู้บังคับบัญชาระดับสูงให้มีอำนาจชี้มูลความผิด หรือเป็นเจ้าภาพหลัก และมีทีมที่เชี่ยวชาญคดีวินัยจะทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพกว่า สามารถให้ความเป็นธรรมกับทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องได้ดีกว่า ส่วนตำรวจทุกคนที่มีลูกน้อง เมื่อเห็นลูกน้องทำผิดควรมีหน้าที่รายงานให้คนที่มีอำนาจชี้มูลความผิดก็เพียงพอ ไม่ต้องดำเนินการเพื่อชี้มูลความผิดเอง
ในส่วนนี้ เราจึงเสนอแก้กฏหมายให้ “คนที่มีอำนาจชี้มูลความผิด” เป็นไปตามนี้
- ประธาน ก.ต.ช. ตามมติของ ก.ต.ช. สำหรับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสำหรับข้าราชการตำรวจทุกตำแหน่ง ยกเว้นข้าราชการตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรจังหวัด
- ผู้บัญชาการหรือตำแหน่งเทียบเท่าสำหรับข้าราชการตำรวจในกองบัญชาการหรือในส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากองบัญชาการทุกตำแหน่งในสังกัด ยกเว้นข้าราชการตำรวจสังกัดตำรวจภูธรจังหวัด
- ประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจนครบาล ตามมติของคณะกรรมการนโยบายตำรวจนครบาลสำหรับผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
- ประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจภูธรจังหวัด ตามมติของคณะกรรมการนโยบายตำรวจภูธรจังหวัดสำหรับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด
- ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสำหรับข้าราชการตำรวจทุกตำแหน่งในสังกัด
โดยคนที่มีอำนาจชี้มูลความผิดดังกล่าว สามารถมอบอำนาจให้ผู้บังคับบัญชาระดับรองลงมา มีอำนาจชี้มูลความผิดแทนก็ได้
ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มีอำนาจชี้มูลความผิดแทน สามารถสั่งลงโทษได้ในความผิดวินัยไม่ร้ายแรง
แต่ถ้าเป็นกรณีความผิดวินัยร้ายแรง ถ้ามีผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มีอำนาจชี้มูลความผิดแทน ก็ต้องส่งให้คนที่มีอำนาจหลักตาม (1)-(6) ด้านบน เป็นคนสั่งตั้งกรรมการ และพิจารณาลงโทษเอง
ขอให้สังเกต (1)-(6) ที่เราเสนอ จะเห็นตำแหน่งที่น่าสนใจ เช่น “คณะกรรมการนโยบายตำรวจนครบาล” และ “คณะกรรมการนโยบายตำรวจภูธรจังหวัด”
กลไกนี้คืออะไร ทำไมเราจึงเสนอเข้ามาในกฏหมาย พ.ร.บ.ตำรวจ ครั้งนี้
โปรดติดตามได้ในหน้าถัดไป…
ได้เวลากระจายอำนาจ ปรับโครงสร้างบังคับบัญชาใหม่ให้ใกล้ชิดประชาชน
ปัญหาของ ‘รัฐราชการรวมศูนย์’ คือ ข้าราชการมีสายการบังคับบัญชาที่ยาวมาก เป็นอุปสรรคของการบริหารองค์กรแบบใหม่ ที่ต้องการความคล่องแคล่ว มีประสิทธิภาพ
เราลองนึกภาพ พนักงานสอบสวนระดับสารวัตรคนหนึ่ง มีผู้บังคับบัญชาที่เหนือขึ้นไปกี่ระดับ ถ้าสุดแค่ ผู้บังคับการจังหวัด ก็มีแค่ 4 ระดับ แต่ถ้า ยาวขึ้นไปถึง ผบ.ตร. ก็มีถึง 9 ระดับ
ผู้บังคับบัญชาที่อยู่เหนือขึ้นไป หากมีอำนาจให้คุณให้โทษแก่พนักงานสอบสวนคนนี้ได้ ก็สามารถรับเงินสินบนวิ่งเต้นคดีกดดันให้พนักงานสอบสวนคนนี้ทำสำนวนบิดไปจากที่ควรจะเป็นได้ ยิ่งมีสายบังคับบัญชาที่เหนือขึ้นไปมาก โอกาสที่จะถูกกดดันให้ทำทุจริตก็มากตามครับ แถมการกดดันเหล่านี้ ไม่มีหลักฐานให้เอาผิดได้ง่ายๆ เพราะฝากเป็นปากเปล่า ถ้าไม่ทำตามก็อาจถูกโยกย้ายกลั่นแกล้งได้
ปัญหาของเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาการทำสำนวนบิดเบี้ยว แต่ยังรวมถึงอะไรที่เป็นผลประโยชน์ทุกอย่าง เช่น บ่อนนี้ เจ้านายระดับนี้ฝากมาอย่าไปจับ , โครงการก่อสร้างนี้ เจ้านายระดับนี้ฝากมาให้เอาผู้รับเหมาเจ้านี้ , รับตำรวจเข้าใหม่ มีเจ้านายระดับนี้ฝากเด็กคนนี้มา หรือปัญหาแต่งตั้งโยกย้าย ที่เราเคยได้ยินเรื่อง “ตั๋วช้าง” ก็เกิดจากสาเหตุที่ ระบบราชการเรามันรวมศูนย์ มีสายบังคับบัญชาที่ยาวเกินไป
ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาอย่างนานาอารยประเทศที่เขาทำกันคือ การทำให้สายบังคับบัญชามันสั้นซะ แล้วทำให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง
เพื่อแก้ไขไปในแนวทางนี้ เราได้เสนอแก้ พ.ร.บ.ตำรวจ ใน มาตรา 10 ถึง มาตรา 44 เพื่อปรับโครงสร้างบังคับบัญชาใหม่ ให้เป็นแบบกระจายอำนาจไปที่จังหวัดใน ‘โมเดลแบบญี่ปุ่น’ ที่เป็นรัฐเดี่ยวเหมือนประเทศไทย
โมเดลนี้ ตำรวจทุกคนยังคงอยู่ในองค์กรตำรวจเหมือนเดิม ที่ทำงานที่เดิม ทำงานเดิม ใส่เครื่องแบบเหมือนเดิม สามารถก้าวหน้าในสายงานจากระดับจังหวัดสูงขึ้นไปกว่าระดับจังหวัดไประดับภาคและประเทศ ได้เหมือนเดิม
อธิบายให้ชัด โมเดลนี้ไม่ได้เป็นการโอนหน่วยงานไปให้ท้องถิ่น แต่เป็นการแก้ไขที่สายการบังคับบัญชา ให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ตำรวจที่ใหญ่สุดแต่ละจังหวัด) เป็นอิสระจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ไม่ต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาตำรวจระดับสูงขึ้นไปอีกถึง 5 ระดับ กว่าจะถึง ผบ.ตร. (รอง ผบช., ผบช., ผู้ช่วย ผบ.ตร., รอง ผบ.ตร., ผบ.ตร.) โดยกองบัญชาการตำรวจภูธรภาคให้ทำหน้าที่สนับสนุนเท่านั้น ไม่ให้มีอำนาจบังคับบัญชาโดยตรง
.การกระจายอำนาจที่แท้จริง คงไม่ใช่การเขียนคำว่ากระจายอำนาจไปในกฏหมายเพื่อให้อ่านแล้วดูสวยหรู แต่ต้องเขียนกำหนดไปเลยว่า อำนาจลงโทษทางวินัย อำนาจแต่งตั้งโยกย้าย อำนาจสั่งให้ไปประจำ ช่วย ปฏิบัติราชการ อำนาจในการประเมินผลการทำงาน ต้องเป็นใคร และใครที่มีอำนาจนั้นต้องยึดโยงกับประชาชน
จะต้องไม่ใช่เขียนกฏหมายให้ ผู้บังคับการจังหวัด มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในจังหวัด แต่ผู้บัญชาการภาคมีอำนาจให้คุณให้โทษผู้บังคับการจังหวัดได้ ถ้าแบบนี้ ผู้บัญชาการภาคก็ฝากให้ผู้บังคับการจังหวัดแต่งตั้งโยกย้ายคนตามที่ผู้บัญชาการภาคต้องการได้ การเขียนกฏหมายว่า ให้ผู้บังคับการจังหวัดมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในจังหวัด จึงไม่มีความหมาย หากผู้บัญชาการภาคมีอำนาจให้คุณให้โทษผู้บังคับการจังหวัดได้ เป็นการเขียนไว้เพื่อหลอกคนอ่านเพียงเท่านั้น
ดังนั้น การออกแบบโครงสร้างอำนาจที่เราเสนอ คือ ให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มีอำนาจเต็ม โดยตำแหน่งตำรวจที่สูงกว่านั้น ให้มีหน้าที่สนับสนุน แต่ไม่มีอำนาจสั่งการ ให้คุณให้โทษ
คำถามต่อมาก็คือ แล้วใครจะมาเป็นคนมีอำนาจให้คุณให้โทษผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแทน ?
ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จะถูกบริหารโดยคณะกรรมการนโยบายตำรวจนครบาล จำนวน 5 คน ซึ่งแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในทางด้านนิติศาสตร์ การบริหารรัฐกิจ การเงินการคลัง จิตวิทยาองค์การ และสังคมวิทยา ด้านละหนึ่งคน โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหารราชการตำรวจนครบาลให้เหมาะสมกับบริบทภายในกรุงเทพมหานครโดยไม่ขัดหรือแย้งกับ ก.ต.ช. (มาตรา 13/13)
ส่วนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด จะถูกบริหารโดยคณะกรรมการนโยบายตำรวจภูธรจังหวัด จำนวน 5 คน ซึ่งแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในทางด้านนิติศาสตร์ การบริหารรัฐกิจ การเงินการคลัง จิตวิทยาองค์การ และสังคมวิทยา ด้านละหนึ่งคน โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตามความเห็นชอบของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการบริหารราชการตำรวจภูธรจังหวัดให้เหมาะสมกับบริบทภายในจังหวัดโดยไม่ขัดหรือแย้งกับ ก.ต.ช. (มาตรา 13/7)
ทีนี้ลองนึกภาพตามต่อไปนะครับ จะเป็นอย่างไร ถ้าทีมชัชชาติ เป็น คณะกรรมการนโยบายตำรวจนครบาล บริหารตำรวจใน กทม. ตำรวจใน กทม. จะทำงานดีขึ้นแค่ไหน
แต่ถ้าลองนึกอีกภาพ จะเป็นอย่างไร ถ้า นายก อบจ. สักคนมาจากตระกูลการเมืองเก่าแก่ หรือเป็นมาเฟีย แล้วมีอำนาจหาคนมาบริหารตำรวจจังหวัดนั้น เขาจะไม่ยิ่งเป็นเสือติดปีก แย่ไปใหญ่หรือ?
หากท่านกังวล เรามีความกระจ่างให้ในหน้าถัดไป…
ตำรวจตรวจสอบได้ด้วยการขยาย ‘ประชาธิปไตย’ และอำนาจประชาชนให้มากขึ้น
เป็นประเด็นที่สืบเนื่องจากคำถามที่ผมทิ้งเอาไว้เกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจต่อจากหน้าที่แล้ว (ถ้าเขียนในหน้าเดียว จะยาวไป)
เวลาเราพูดถึงการกระจายอำนาจ เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตย ต้องไม่ใช่ว่า เลือกตั้งเสร็จก็จบ ถ้าเลือกคนมาผิด เลือกไม่ดี ต้องทนรอถึง 4 ปี ถึงค่อยเลือกใหม่ ต้องไม่ใช่แบบนั้น เราต้องสร้างระบบที่ประชาชนตรวจสอบได้ตลอดเวลาควบคู่กัน ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ระบบที่ดี ก็เปรียบได้กับ ร้านค้าที่ติดกล้องวงจรปิด ต่อให้มีคนนิสัยขี้โขมยเข้ามาในร้าน ก็ไม่กล้าขโมยของ เพราะเขารู้ว่าถ้าขโมยจะโดนเอาผิดได้แน่นอน แต่ถ้าเราไม่ทำระบบให้มันดี ไม่ติดกล้องวงจรปิดให้ร้านค้า ไม่รู้จะป้องกันขโมยยังไง ก็ไม่ต้องเปิดร้านซะเลย ไม่ต้องขายของกันเลย คงเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ดีนัก
เราต้องขจัดทัศนคติ กลัวนักการเมืองท้องถิ่น ด้วยการสร้างระบบตรวจสอบที่ดีจากประชาชนควบคู่กันไปกับการกระจายอำนาจ
ความจริงแล้ว ‘นักการเมืองท้องถิ่น’ กับ ‘นักการเมืองระดับชาติ’ ก็ไม่ต่างอะไรกันมากครับ
นักการเมืองระดับชาติอย่างตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ก็มีอำนาจใน “คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.)”
ทัศนคติแบบเผด็จการ คือการกีดกัน อำนาจประชาชนออกไปจากการบริหารตำรวจ กฎหมายตำรวจที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ก.ต.ช. กรรมการแต่ละคน จึงมีที่มาจากตำแหน่งในกระทรวงอื่นๆ เช่น ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม อัยการสูงสุด เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ โดยเฉพาะตำแหน่งที่ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมาอยู่ใน ก.ต.ช. คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม
ปัญหาที่สำคัญของกรรมการที่มีที่มาแบบนี้ คือ เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความผิดพลาด บกพร่อง คำถามคือ ใครรับผิดชอบ? หาคนรับผิดชอบได้ไหม เพราะกรรมการบริหารแต่ละคนก็กระจายไปกระทรวงต่างๆ หมด
ประเทศที่เจริญแล้วและเป็นประชาธิปไตย เขาไม่ทำกันแบบนี้แน่นอน เพราะทำให้บริหารองค์กรไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ตอบสนองต่อประชาชน
ตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่น ก.ต.ช. ก็คือ คณะกรรมการบริหารองค์กรตำรวจ แทนที่จะให้ รัฐมนตรีคนเดียว บริหารเหมือนกระทรวงอื่นๆ ก.ต.ช.จึงต้องมาจากนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งมา เหมือนนายกแต่งตั้งรัฐมนตรีไปคุมกระทรวงต่างๆ
ถ้ามีความผิดพลาด คนรับผิดชอบ คือ ‘นายกรัฐมนตรี’ เต็มๆ เพราะที่มาของกรรมการแต่ละคนมาจากนายกรัฐมนตรี
เราจึงเสนอในมาตรา 13/1 ให้ กรรมการ ก.ต.ช. ทุกคน มาจาก
- นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง
- กรรมการจำนวนหกคน แต่งตั้งจากบุคคลซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในด้านนิติศาสตร์ การบริหารรัฐกิจ การบริหารธุรกิจ การเงินการคลัง จิตวิทยาองค์การ และสังคมวิทยาด้านละหนึ่งคน โดยนายกรัฐมนตรี ตามความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
เรายังออกแบบกฏหมายให้ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายตำรวจนครบาล และ คณะกรรมการนโยบายตำรวจภูธรจังหวัด แต่ละจังหวัด มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียน อยู่ภายใน เพื่อประชาชนจะได้ร้องเรียนตำรวจที่ทำผิด หรือร้องเรียนความผิดพลาดที่เกิดจากนโยบาย และติดตามผลการดำเนินการได้ง่าย
ทุกคณะกรรมการ ต้องเปิดเผยรายงานการประชุมและผลการประชุม ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย
ประชาชนจะไล่หาคนรับผิดชอบได้ง่าย โดยเริ่มจากคนที่ประชาชนเลือกเข้ามาเอง เป็นคนที่รับผิดชอบคนแรก
สุดท้ายในเรื่องนี้จะขอพูดถึง “คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ” (ก.ตร.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารงานบุคคล แยกต่างหากกับคณะกรรมการบริหารนโยบายที่กล่าวไปก่อนหน้านี้
ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ก.ตร. คือผู้รับผิดชอบ ถ้าที่มาของ ก.ตร. ประชาชนไม่สามารถกดดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ ปัญหาก็จะยังคงอยู่เหมือนเดิม
มีอีกความคิดที่เป็นกระแสอยู่บ้าง คือ ควรเอาแต่เฉพาะตำรวจเก่า มาเป็นกรรมการซะเลย ด้วยความเชื่อที่ว่า ตำรวจด้วยกันจะเข้าใจตำรวจด้วยกันมากกว่าคนนอก คนนอกโดยเฉพาะคนที่ถูกตั้งมาจากฝ่ายการเมือง จึงไม่ควรมายุ่งกับการบริหารตำรวจเลย
โมเดลแบบนี้ ก็จะไม่ยึดโยงกับประชาชน แล้วก็ไม่เสมอไปว่าจะดีกับตำรวจเอง เพราะอดีตตำรวจที่เคยเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูง ที่อยู่ในวัฒนธรรมเก่าแก่ กดขี่ลูกน้อง ก็มีเช่นกัน คนที่ไม่ใช่ตำรวจแต่มีคุณวุฒิด้านบริหารงานบุคคล อาจมีทักษะการเข้าไปนั่งในใจของตำรวจมากกว่า ออกแบบสิ่งที่ดีต่อตำรวจและประชาชนได้ดีกว่า ก็เป็นได้
เราจึงเสนอในมาตรา 14 ให้ที่มาของ ก.ตร. มาจาก
- นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการข้าราชการตำรวจโดยตำแหน่ง
- กรรมการข้าราชการตำรวจจำนวน 8 คน ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในทางด้านการบริหารงานบุคคล 4 คน โดยนายกรัฐมนตรีตามความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร และจากข้าราชการตำรวจซึ่งได้รับการเลือกจากข้าราชการตำรวจด้วยกันเองอีก 4 คน ประกอบด้วย
- (ก) ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนสองคน จากการเลือกของข้าราชการตำรวจชั้นประทวนทั้งประเทศ
- (ข) ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรสองคน จากการเลือกของข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรทั้งประเทศ
ให้คนรับผิดชอบหลักคือนายกรัฐมนตรี ที่ประชาชนเลือกมา ประชาชนด่าได้ กดดันได้ ไม่เลือกในครั้งต่อไป ถึงขั้นขับไล่ได้ หากไม่แก้ปัญหาตำรวจให้ดีขึ้น จะอ้างปัดความรับผิดชอบแบบเดิมไม่ได้ นี่คือพลังของประชาธิปไตย
แต่งตั้งโยกย้ายเป็นธรรม พอกันทีระบบ ‘ตั๋วช้าง’ !!
ปกติการแต่งตั้งโยกย้ายจะมีกฏเกณฑ์พื้นฐานว่า ถ้าจะเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ต้องอยู่ตำแหน่งระดับเดิมมากี่ปีว่ากันไปครับ หมายความว่าต้องอดทน ต้องรอคอยเวลา ต้องมีความเชี่ยวชาญในงานของตนเพื่อไปถึงโอกาสที่จะเข้ามาเมื่อถึงวันที่คุณสมบัติพร้อม แต่อยู่ดีๆก็มีคนกำตั๋วมาจากไหนไม่รู้แล้วปาดหน้าได้ตำแหน่งไป เรื่องแบบนี้จึงเป็นสิ่งที่บั่นทอนขวัญกำลังใจของวงการตำรวจมาก แต่ก็ต้องฝืนทนกล้ำกลืนกันไปครับ
การทุจริตเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย ใช้เส้นสาย ซื้อตำแหน่ง ปกติจะเป็นการเอาเปรียบคนที่อายุงานผ่านเกณฑ์ด้วยกันเอง ซึ่งก็ว่าแย่แล้ว กรณีอื้อฉาว ‘ตั๋วช้าง’ ที่ ก.ตร. ใช้อำนาจในทางที่ผิด แหกหลักเกณฑ์ ให้คนที่อายุงานในตำแหน่งระดับเดิมยังไม่ถึงเกณฑ์ เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นได้ จึงยิ่งสร้างความขุ่นเคือง กระทบจิตใจ ข้าราชการตำรวจไม่น้อย และร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับนี้ก็ยังไม่ได้แก้ปัญหานี้
พ.ร.บ.ตำรวจ ร่างที่รัฐบาลเสนอสภา มาตรา 80 วรรคสอง ยังถึงกับเขียนว่า
“ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก.ตร. จะมีมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ เพื่อแต่งตั้งบุคคลใดให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการตำรวจแตกต่างไปจากหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในหมวดนี้ก็ได้”
คล้ายกับเขียนเพื่อเปิดช่องให้ ก.ตร. ใช้อำนาจแหกหลักเกณฑ์รองรับตั๋วช้างได้ โดยมีกฏหมายรองรับ แต่ยังดีที่ในชั้นกรรมาธิการ มีมติตัดวรรคนี้ออกไปก่อน เพราะ ถ้า ก.ตร. ยังรับตั๋วช้างมาแหกหลักเกณฑ์อีก ก็ถือเป็นความผิดติดตัวไป ถึงแม้ยุคนี้จะยังไม่ถูกเช็คบิล แต่เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ เรื่องนี้เราไม่ยอมแน่นอน
อันที่จริง ปัญหาตั๋วช้าง แหกหลักเกณฑ์ดังกล่าว ถ้ามีการทำผิด จะมีหลักฐานจะชี้ชัดด้วยตัวเลขอายุงาน
แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดกับแทบทุกตำแหน่ง คือ การใช้เส้นสาย ซื้อขายตำแหน่ง เอาเปรียบกันในหมู่คนที่ถึงเกณฑ์กันอยู่แล้ว โดยคนที่ถึงเกณฑ์ก็มีจำนวนมากกว่าตำแหน่งที่ว่างอยู่แล้ว
เช่น ตำแหน่งผู้กำกับสถานีหนึ่ง เมื่อว่าง จะมีคนที่เป็นรองผู้กำกับที่อายุงานถึงเกณฑ์หลายสิบคน รวมถึงคนที่เป็นผู้กำกับจากที่อื่นอีกหลายสิบคนจากทั่วประเทศ อยากถูกแต่งตั้งมาตำแหน่งนี้ ปัญหาคือ จะเลือกคนอย่างไร ให้เป็นธรรมต่อตำรวจทุกคน
ที่ผ่านมาก็จะมีลักษณะ ใช้เงินประมูลตำแหน่ง เอาตัวเลขมาเทียบกัน ดูแล้วง่ายดี ตัดสินใจง่ายดี หรืออีกแบบคนที่มีอำนาจเหนือกว่าฝากมาก็ตัดสินใจง่ายดี
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตำรวจจะไม่มีหวังกับระบบการประเมินผลการทำงานเลย จะไปมีความหวังกับความอาวุโส เพราะไม่ต้องใช้ดุลพินิจ จะได้แก้ปัญหาเส้นสาย และการรีดไถเงินซื้อขายตำแหน่งได้
อย่างไรก็ตาม ระบบอาวุโสอย่างเดียวจะต้องแลกกับประสิทธิภาพการทำงาน เพราะความอาวุโส กับ ผลการทำงานที่ดี เป็นคนละเรื่องและไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน
แล้วเราจะออกแบบอย่างไร ให้แก้ปัญหานี้
ผมคิดว่า ‘การกระจายอำนาจไปที่จังหวัด’ เป็นคำตอบได้ โดยให้แต่ละจังหวัดมีอำนาจแต่งตั้งตำรวจในสังกัดของตัวเอง เพียงเท่านี้จะทำให้ตำรวจที่ถึงเกณฑ์จะได้รับการแต่งตั้งมีตัวเลือกเฉพาะแค่ในสังกัด เป็นคนที่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งในจังหวัด โดยดูจากผลการปฏิบัติงาน ไม่มีสายบังคับบัญชาที่ยาวจากข้างบนมากดดันใช้เส้นสายฝากกันได้ง่ายๆ
การกำหนดอำนาจเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้าย เราได้เสนอให้เป็นแบบกระจายอำนาจ อยู่ในมาตรา 70 แบบเดียวกับการกระจายอำนาจลงโทษทางวินัย ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ให้แต่ละจังหวัดแต่งตั้งกันเอง แล้ว ยังแก้ปัญหาการสั่งให้ไปปฏิบัติราชการ โยกย้าย กลั่นแกล้ง ให้ไปอยู่ในท้องที่ที่ห่างไกลด้วย (การเรียกตำรวจจากจังหวัดอื่นมาปราบม็อบ ก็จะทำไม่ได้เช่นกัน)
แต่..เพียงเท่านี้ยังไม่พอครับ
เพราะจะต้องทำให้การวัดผลการปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ เป็นธรรมด้วย และดีต่อการให้บริการประชาชนด้วย ในรายละเอียดอาจต้องให้ ก.ตร. ไปกำหนดอีกที แต่ในกฎหมายระดับ พ.ร.บ. เราได้เสนอในมาตรา 71 เพื่อตีกรอบให้ ก.ตร. กำหนดขั้นตอนการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งข้าราชการตำรวจแต่ละตำแหน่งให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณา จากความอาวุโส ความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ผลการปฏิบัติงาน ความรับผิดชอบในหน้าที่ และการเอาใจใส่ผู้รับบริการ ประกอบกัน และหากข้าราชการตำรวจผู้ได้รับพิจารณามีผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ให้นำข้อเสนอแนะจากผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชามาพิจารณาด้วย เพื่อให้ การวัดผลประฎิบัติงาน มีความแม่นยำ เป็นธรรม ไม่ต้องพึ่งพิงกับระบบอาวุโสอย่างเดียว
หลักสำคัญที่ต้องยึดถือไว้คือ ความเป็นธรรมของข้าราชการตำรวจ กับ ผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากการบริการที่ดีขึ้น ต้องมาควบคู่กันครับ
ตำรวจมีวุฒิภาวะพอ ได้เวลายกเลิก ‘บังคับตัดผม’
แม้แต่เด็กนักเรียนในปัจจุบันก็ยังยกเลิกการบังคับตัดทรงผมที่ล้าหลังไปแล้ว ยิ่งข้าราชการตำรวจทุกคนเป็นผู้มีวุฒิภาวะ จึงไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดเลยที่จะต้องบังคับตำรวจชายตัดผมสั้นเกรียนเหมือนกันหมดอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการออกระเบียบโดยอำนาจ ผบ.ตร. เป็นกฏหมายที่มีชั้นต่ำกว่ากฏกระทรวง และ พ.ร.บ.
ดังนั้น เมื่อมีโอกาสที่ พ.ร.บ. ตำรวจ มีการร่างขึ้นใหม่ ต้องแก้ไขเรื่องนี้ เพราะผมเชื่อว่าข้าราชการตำรวจชายที่อึดอัด ไม่พอใจ แต่ต้องจำทนกับคำสั่งละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นนี้
ในเรื่องนี้ พรรคก้าวไกล เป็นพรรคเดียวที่เสนอเพิ่มความในมาตรา 143 วรรคสอง เป็น
“ข้าราชการตำรวจทุกเพศมีสิทธิและเสรีภาพในการไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ โดยสุภาพและเรียบร้อย การออกกฎ ระเบียบ หรือคำสั่งเกี่ยวกับทรงผมข้าราชการตำรวจ ให้จำกัดสิทธิและเสรีภาพได้เท่าที่จำเป็นเพื่อความสุภาพและเรียบร้อยเท่านั้น”
มาจับตาดูกันครับว่าผมในกรรมาธิการเสียงข้างน้อยในมาตรานี้จะสามารถโน้มน้าวสภาได้หรือไม่ ถ้าโหวตชนะจะมีผลให้ระเบียบทรงผมขาวสามด้าน ที่ ผบ.ตร. บังคับถูกยกเลิกไปโดยปริยาย และจะออกคำสั่งริดรอนสิทธิในทรงผมเช่นนี้ไม่ได้อีก
ตำรวจทุกนายนอกจากเป็นกำลังใจ ท่านยังสามารถมีส่วนร่วมด้วยการส่งข้อหรือแสดงเจตจำนงค์ไปถึง ส.ส.ของท่านเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อบังคับนี้ได้
ถ้าเราชนะ เราจะชนะไปด้วยกันครับ
คืนสิทธิวันลาให้ตำรวจ
ตำรวจพร้อมปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจำเป็นต้องเป็นผู้เสียสละชีวิตส่วนตัวไปทั้งหมด ปัจจุบันยังมีการให้ออกไปทำงานวันหยุดแบบไม่ได้รับค่าตอบแทนชดเชยใดๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากเป็นความไม่เป็นธรรมแล้ว การช่วงชิงเวลาส่วนตัวไปของเขา ซึ่งเวลานั้นอาจเป็นช่วงสั้นๆที่จะได้อยู่กับครอบครัว เล่นกับลูกๆ หรือดูแลพ่อแม่
ผมจึงอยากให้วันหยุดสำหรับตำรวจ อย่างน้อยต้องมีมาตรฐานเดียวกับข้าราชการพลเรือน เพื่อให้พวกเขาสามารถออกแบบจัดการเวลาได้ เมื่อกลับมาทำงานก็เหมือนชาร์ตพลังมาเต็มที่เพื่อทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
แน่นอนครับว่า อาจมีความจำเป็นที่งานแบบตำรวจที่อาจต้องทำงานในวันหยุดบ้าง แต่เมื่อมีคำสั่งเหล่านั้นจะต้องไม่ใช่การให้มาทำงานด้วยคำปลอบใจว่าเป็นการเสียสละ แต่ท่านจะต้องออกแบบค่าตอบแทนที่เป็นธรรมหรือการชดเชยอื่นๆให้พวกเขาด้วยครับ
ไม่แบ่งแยกสร้างพลเมืองชั้นสองในวงการตำรวจ
ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ มาตรา 8 ที่รัฐบาลเสนอเข้ามา กำหนดชัดเจนให้แบ่งตำรวจบางกลุ่มสายงานให้เป็น ‘ตำรวจไม่มียศ’ นั่นคือกลุ่มสายงานตาม มาตรา 53(2) กลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน และ (5) กลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ แถมยังเขียนทิ้งท้ายในมาตรานี้ไว้ว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐาน พระราชกฤษฎีกาต้องกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคำว่า “มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่” เหมือนจะดูดี แต่ต้องตั้งคำถามว่า จะอิสระได้อย่างไร ในเมื่อหน่วยงานยังคงสังกัดอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อความนี้จึงไม่มีความหมาย แต่มีไว้เพื่อหลอกคนอ่านให้รู้สึกดูดีเพียงเท่านั้น
พรรคก้าวไกล แม้จะเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์เป็นแบบก้าวหน้า แต่เราเป็นพรรคเดียวที่เสนอตัดมาตรานี้ออก เพื่อไม่ให้เกิดการแบ่งแยกเรื่องตำรวจมียศกับไม่มียศครับ
ในมุมมองของเรา ‘ยศ’ ไม่ใช่สิ่งชั่วร้ายใดๆ และไม่ได้เกี่ยวกับระบบบังคับบัญชา เป็นเพียง คำนำหน้าชื่อ ที่ให้ความรู้สึกภาคภูมิใจแก่ตำรวจเท่านั้น อาจเทียบได้กับเครื่องราชย์ที่เป็นเรื่องของความรู้สึกมีเกียรติ เป็นเรื่องความรู้สึกภาคภูมิใจ การมีอยู่ของยศจึงไม่ใช่ปัญหาในการบังคับบัญชาหรือบริหารองค์กร แต่ต้องเป็นธรรมเท่าเทียม คือถ้ามีก็มีให้หมดทุกคนในองค์กร ถ้าไม่มีก็ไม่มีให้หมดทุกคนในองค์กร ถ้าแบ่งแยกยิ่งจะเป็นปัญหา กระทบความรู้สึกและศักดิ์ศรี การแบ่งแยก ถูกทำให้เป็นพลเมืองชั้นสองเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อกำลังใจของตำรวจ
ผมขออธิบายเพิ่มเติม เพื่อให้เข้าใจชัดขึ้นไม่สับสนระหว่าง ยศ ตำแหน่ง และอำนาจบังคับบัญชา ซึ่งหลายคนยังเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ความจริงแล้ว คำว่า ‘ยศ’ ในกฏหมายไทย มีความหมายต่างจาก ‘ตำแหน่ง’ และไม่เกี่ยวกับอำนาจบังคับบัญชาครับ
‘ตำแหน่ง’ ยกตัวอย่างเช่น สารวัตร หรือ ผู้กำกับ หมายถึงหน้าที่และอำนาจ ที่จะสั่งการลูกน้อง ตามที่กฏหมายกำหนด
ส่วน ‘ยศ’ ยกตัวอย่างเช่น พันตำรวจตรี หรือ พันตำรวจเอก หมายถึง คำนำหน้าชื่อ เท่านั้น ดังนั้น ตำรวจหลายคนเกษียณหรือลาออกมา ไม่มีตำแหน่งครับ หมายความว่า ไม่มีอำนาจสั่งลูกน้องได้แล้ว แต่เขายังมียศติดตัวมาซึ่งไม่ได้ผูกติดกับอำนาจแต่อย่างใด แต่ก็ยังเป็นความภูมิใจในหน้าที่การงานของเขา
ผมยังหวังว่า ส.ส. แต่ละพรรคทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล จะคำนึงถึงความรู้สึกของข้าราชการตำรวจที่ต้องบอกว่ามีจำนวนมากที่กำลังจะกลายเป็นตำรวจไม่มียศ จากการโหวตลงมติในสภาวาระ 2 ในวันที่ 9-10 มิ.ย. นี้ ไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย ที่จะไปเปลี่ยนให้เขากลายเป็นตำรวจไม่มียศ เพื่อแบ่งแยกออกจากตำรวจส่วนอื่นให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสองในวงการตำรวจไทย