แม้ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม จะผ่านสภาแล้วในวาระที่ 1 แต่ก็เป็นการผ่านร่างฯ ไปพร้อมๆ กับ ร่าง พ.ร.บ. ทุกฉบับที่ยื่นมาประกบ ทำให้หลายคนเกิดความสับสนว่า แล้วกฎหมายนี้จะออกมาเป็นร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม แบบที่พรรคก้าวไกลเสนอ หรือจะออกมาเป็นร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต กันแน่? แล้วประชาชนยังต้องรออีกนานแค่ไหน จึงจะได้ใช้กฎหมายนี้?
พรรคก้าวไกล จะมาตอบคำถามที่คนยังสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ร่าง พ.ร.บ. #สมรสเท่าเทียม
Q: เมื่อไหร่จะได้ใช้ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม?
A: ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เพิ่งจะผ่านการพิจารณารับหลักการในวาระที่ 1 เท่านั้น ยังต้องผ่านอีกหลายด่านกว่าจะมีผลบังคับใช้ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่
- การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร >> คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะแปรญัตติหรือปรับแก้กฎหมาย แล้วส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาว่าเห็นด้วยกับการปรับแก้ในรายมาตราหรือไม่ ในการพิจารณาวาระ 2 จากนั้นค่อยพิจารณาว่าจะรับร่างฯ ที่มีการแก้ไขนี้ไหมในวาระ 3
- การพิจารณาของวุฒิสภา >> วุฒิสภาจะพิจารณาร่างกฎหมายต่ออีก 3 วาระ
- นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
- ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หากผ่านมาจนมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ก็มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย
*** หากมีคนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างฯ นี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน แล้วจึงดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้
Q: ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม และ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต 4 ร่างมารวมเป็นร่างเดียวกัน?
A: เมื่อผ่านร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม และ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ผ่านวาระ 1 มาแล้ว มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างกฎหมายออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่
- ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) หรือ สมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล ซึ่งมีการแก้ 69 มาตรา และ ร่างฯ แก้ ป.พ.พ. 5 มาตรา ของ ครม. ซึ่งถูกโหวตให้ใช้เป็นร่างฯ หลัก ในการแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ
- ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ของพรรคประชาธิปัตย์ กับ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ของ ครม. ซึ่งถูกโหวตให้ใช้เป็นร่างฯ หลัก ในการแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมี ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม และ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ออกมาแยกกัน ซึ่งในหลายประเทศก็มีกฎหมายทั้งสองฉบับ เพื่อให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม มีตัวเลือกในการก่อตั้งครอบครัวในรูปแบบและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ไม่ถือว่ากฎหมายขัดกันแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เรายังต้องจับตาดูรายละเอียดของร่างกฎหมายทั้งสองฉบับกันต่อไปว่า จะกำหนดเงื่อนไขในการจดทะเบียนสมรสและทะเบียนคู่ชีวิตที่มีการเลือกปฏิบัติหรือไม่
Q: ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะให้สิทธิเท่าที่พรรคก้าวไกลร่างไว้หรือไม่?
A: เรื่องนี้จำเป็นต้องไปจับตากันในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่คณะกรรมการจากสัดส่วนคณะรัฐมนตรี และพรรคการเมืองต่างๆ จะไปหารือกันว่าควรจะปรับแก้เนื้อหาส่วนใดบ้าง ประเด็นที่ควรจับตามองก็คือ ร่างฯ ของ ครม. ที่ใช้เป็นร่างหลัก แตกต่างจาก ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล จึงมีความเสี่ยงว่า ร่างฯ สมรสเท่าเทียม จะถูกลดทอนเนื้อหาสาระลงไปเป็นเพียงการแก้กฎหมายส่งเสริม ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตเท่านั้น ไม่ใช่การให้สิทธิสมรสเท่าเทียมแก่กลุ่มหลากหลายทางเพศ
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล ยืนยันว่าจะต่อสู้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้กฎหมายที่ประชาชนต้องการ มีสิทธิในการสมรสอย่างเท่าเทียมกันทุกคน
Q: ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล ต่างจาก ร่างฯ แก้ไข ป.พ.พ. ของ ครม. ยังไง?
A: หลักการและสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล แก้ไข ป.พ.พ. 69 มาตรา เพื่อให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรส มีศักดิ์และสิทธิ์เท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง
ส่วนร่างฯ แก้ไข ป.พ.พ. 5 มาตรา ของ ครม. นั้นมีหลักการสำคัญเพียงแค่ต้องการ ห้ามประชาชนจดทะเบียนสมรสและทะเบียนคู่ชีวิตซ้อนกัน เพิ่มเหตุฟ้องหย่าและยกเลิกค่าเลี้ยงชีพคู่สมรส หากจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นเพียงกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับ พ.ร.บ. คู่ชีวิตเท่านั้น