รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อกรณีที่ยังคงประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมโรคหรือการระบาดของโควิด 19 เอาไว้ แม้สถานการณ์จะคลี่คลายลงอย่างมากและเตรียมเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม มาเป็นผู้ตอบกระทู้แทน
รังสิมันต์ กล่าวว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจาก โควิด-19 ประกาศใช้อย่างต่อเนื่องมาแล้วเป็นเวลากว่า 2 ปี ต่ออายุมาแล้ว 18 ครั้ง จนคนนึกว่าเป็นกฎหมายปกติที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จึงมีข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า คงไว้เพื่อดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างเข้มข้น ทั้งที่เป็นการออกไปชุมนุมตามสิทธิของเขา โดยอ้างว่าการชุมนุมอาจเป็นสาเหตุการระบาดของโควิด แต่ก็ไม่เคยได้รับรายงานหรือมีหลักฐานว่ามีการชุมนุมครั้งไหนมีการระบาดขนาดใหญ่ที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง มีแต่การระบาดเกิดขึ้นในเรือนจำเมื่อจับพวกเขาไปขังไว้แล้ว
รังสิมันต์ จึงตั้งคำถามไว้ 4 ข้อ ดังนี้
📌 ขอข้อมูลว่าตั้งแต่มีการชุมนุมทางการเมืองมา ครั้งไหนเป็นต้นเหตุการณ์ระบาดของโควิดบ้าง
📌 เมื่อโควิดเป็นโรคประจำถิ่นรัฐบาลมีความจำเป็นอะไรที่ยังต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
📌 ทำไมไม่ใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ หากมองว่าไม่พอทำไมไม่แก้ให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน
📌 ขอให้ตอบให้ชัดเจนว่า เมื่อไหร่จะยุติการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
“ถ้าไม่คิดที่จะเลิกก็ขอให้ประกาศให้ประชาชนได้ยินหน่อยว่าจะประกาศใช้ชั่วฟ้าดินสลาย”
รังสิมันต์ กล่าว
ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ได้ตอบคำถามว่า เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงต้องคงไว้เพื่อบูรณาการการทำงานของส่วนงานต่างๆ ได้ทัน ปัจจุบันได้ดำเนินการจนสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายลงไป แต่ก็ยังมีรายงานการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ ฝ่ายสาธารณสุขยังคงมีความกังวลว่าจะมีการระบาดกลุ่มก้อนใหม่จึงต้องมีความรวดเร็วในการบูรณาการการทำงาน ทุกส่วนงานไม่ว่าการแพทย์หรือเศรษฐกิจ
สำหรับคำถามว่ามีข้อมูลพบการระบาดจากการชุมนุมหรือไม่ มีข้อมูลที่สามารถพบได้บนหน้าสื่อ เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณา ส่วนจะเลิกประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ ขณะนี้อยู่ในช่วงที่ ศบค.กำลังติดตามและประเมินสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศและอยู่ในการพิจารณาที่ต้องคำนึงถึงสาธารณสุขเป็นหลัก
คำถามในช่วงที่สอง รังสิมันต์ กล่าวว่า การแก้สถานการณ์โควิด จากบทเรียนของต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วจะเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ดึงทุกฝ่ายมามีส่วนร่วมแก้ปัญหา ไม่ใช่เอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปกดทับ เพื่อไม่ให้ประชาชนแสดงออกหรือมีส่วนร่วมได้ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายลงมากและกำลังไปสู่โรคประจำถิ่น การใช้กฎหมายแบบนี้เหมาะสมหรือไม่
ช่วงที่ผ่านมามีการประกาศให้ 7 พื้นที่ของ กทม.สามารถชุมนุมได้ เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อให้มีการส่งเสียงเรียกร้องไปยังรัฐบาลได้ แต่การเปิดพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าไม่มีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงยังคงดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมได้เพราะเป็นกฎหมายคนละฉบับ
“ถ้าต้องการใช้เพื่อควบคุมโรคระบาดทำไมจึงไม่ไปตั้งซุ้มตรวจ หรือฉีดวัคซีน เห็นทำแค่ครั้งสองครั้งแรกเท่านั้น มากไปกว่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดเฉพาะการชุมนุมทางการเมืองที่เป็นไปในลักษณะตำหนิด่าว่าพวกท่านเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดี กลุ่มคนบางสีที่สีเสื้อเหมือนวันจันทร์ มักจะไม่โดนดำเนินคดีด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”
“ไม่ได้มองว่าเจ้าหน้าที่ควรไปดำเนินคดีกับกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล แต่เด็ก เยาวชน นักศึกษา ประชาชนที่เขาออกมานำเสนอปัญหาที่มีต่อรัฐบาลไม่ควรถูกดำเนินคดีเช่นกัน จึงอยากถามว่า เจตนารมณ์การดำเนินคดีคืออะไรและทำไมดำเนินคดีเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น”
ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ตอบคำถามนี้ว่า ผู้ที่มาแสดงออกทางการเมืองทุกกลุ่มที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายสามารถทำได้ แต่ถ้านอกขอบเขตกฎหมายเจ้าหน้าที่ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่
ในการถามช่วงสุดท้าย รังสิมันต์ กล่าวว่า กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ได้เรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมการชุมนุมมาชี้แจงหลายครั้ง ปรากฏว่ามีการซัดทอดจากเจ้าหน้าที่ว่า สาเหตุที่ต้องบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดเกิดจากการที่สาธารณสุขไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ ความน่าสนใจคือ การแจ้งดังกล่าวเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ชุมนุมที่เห็นต่างจากท่านเท่านั้น นี่คือบรรทัดฐานทางกฎหมายหรือ หน้าที่ของรัฐคือการบังคับใช้กฎหมายให้ได้อย่างเท่าเทียมกัน
รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า วันนี้สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงจากโควิดผ่านไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือข้าวของราคาแพง ค่าครองชีพสูง พวกเขารู้สึกว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่มีความสามารถในการบริหารและนำพาประเทศไปข้างหน้า บางคนอยากเปลี่ยนรัฐบาล หรืออยากส่งเสียงให้ได้ยิน ซึ่งบางคนอาจอยากใช้วิธีชุมนุมทางการเมืองที่เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ตั้งแต่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีประชาชนถูกดำเนินคดีไปแล้ว 1,473 คน เฉพาะเดือน มิ.ย.ที่ผ่อนคลายแล้ว 21 คน
“คำถามคือจะให้เขาชุมนุมตามสิทธิ และตามรัฐธรรมนูญอย่างไรให้ไม่ขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้อสอง อย่างการชุมนุมบริเวณดินแดงที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งต้องการไปส่งเสียงที่บ้าน พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายก แต่มักโดนสลายการชุมนุม โดนกระสุนยาง โดนรถฉีดน้ำความดันสูง เขาไม่มีอะไรเลยและการชุมนุมควรจะจบด้วยความสงบ แต่ไปสลายเขาแบบนั้น มันก็ยิ่งบานปลายเพราะพวกเขาก็มีหัวใจ”
รังสิมันต์ มองว่า รัฐบาลไม่ต้องการปกครองประเทศนี้ด้วยกฎหมาย แค่อ้างกฎหมายเวลาได้ประโยชน์ เวลาเสียประโยชน์ก็จะอ้างความจำเป็น และมีกรอบอำนาจที่เขียนเอาไว้กว้างๆ เพื่อไม่ต้องรับผิดอะไรเลย อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นต้น
“สิ่งที่ท่านทำคือความใจแคบและคือพฤติกรรมของทรราช ขอภาวนาและอวยพรให้คนอย่างท่านมีอายุยืนเพียงพอที่จะได้ฟังประชาชนตราหน้าคนอย่างท่านไว้อย่างไร พวกเขาจะบอกลูกหลานว่าโตไปอย่าเป็นคนแบบ ประยุทธ์ จันทร์โอชา พวกเขาจะเรียนรู้ว่า ผู้นำแบบท่านสร้างความเสียหายต่อประเทศอย่างไร ขออวยพรให้พวกท่านอายุยืนเพียงพอเห็นปรากฏการณ์นี้”