free geoip

อวยยศเป็นปลัดกระทรวง วิธีการลงโทษ “หักหัวคิว” แบบมหาดไทย


“สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” กับเส้นทางสายทุจริตบนถนนสายพาราซอยล์ ที่มี “อนุพงษ์” รู้เห็นเป็นใจ


ย้อนกลับไปเมื่อราวสองเดือนที่แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์ฉาวโฉ่สะเทือนเลือนลั่นออกมาจากข้างในกระทรวงมหาดไทย เมื่อมีคลิป “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกเผยแพร่ทางสื่อ ปรากฏเรื่องราวการทำตัวไม่เหมาะสม ด่ากราดข้าราชการดูถูกเสื่อมเสียไปถึงสถาบันการศึกษา เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จนเจ้าตัวต้องออกมาแก้ตัวข้างๆ คูๆ ขอโทษขอโพยสังคมกันไป

แต่จริงๆ แล้ว นั่นไม่ใช่วีรกรรมที่พีคที่สุดของปลัด มท. คนนี้ เพราะสิ่งที่ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ไปขุดมาเจอมันร้ายแรงกว่านั้นหลายเท่า เป็นถึงวีรกรรมการทุจริตในสมัยที่ปลัด มท. คนนี้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่หลุดรอดการฟันเอาผิดมาได้อย่างเหลือเชื่อ และยังได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นปลัด มท. ในขณะที่คดีความยังไม่ทันหายอุ่นดีด้วยซ้ำ


ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นภายใต้การกำกับดูแลกระทรวงหาดไทย โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

เริ่มเรื่องเกิดขึ้นเมื่อปี 2562 เมื่อรัฐบาลในเวลานั้นมีโครงการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำด้วยการนำยางพารามาผสมทำเป็นถนน “พาราซอยล์” เป็นนโยบายที่คิดขึ้นมาในยุครัฐบาล คสช. ปี 2560 ก่อนที่จะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเมื่อปี 2561 ภายใต้ชื่อโครงการ “1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร” ดำเนินการโดยการยางแห่งประเทศไทย

โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร นี้ จะดำเนินการผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ผ่านการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณโครงการ ของปีงบประมาณ 2562 – 2563 ไปให้กับ อปท. โดยมีเป้าหมายให้ อปท. ทำถนนให้ได้ 75,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ

ในช่วงแรกของการทำโครงการดังกล่าว มีบริษัทอยู่เพียง 3 บริษัทเท่านั้น ที่ได้รับการรับรองจากการยางแห่งประเทศไทย ให้ผ่านเกณฑ์การรับรองสารเคมีว่าสามารถเอาไปผสมกับน้ำยางพาราเพื่อเอามาทำถนนได้ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกต ว่าทั้ง 3 บริษัทนั้น มีที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน และมีคนนามสกุลเดียวกันเป็นทั้งกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัท


คิดเป็นอื่นไม่ได้เลย ว่าทั้ง 3 บริษัทนี้ เป็นบริษัทที่มีเจ้าของคนเดียวกันหรือครอบครัวเดียวกัน มีสถานะผูกขาดตลาดผู้ผสมยางพาราทำพาราซอยล์อยู่ในขณะนั้นแต่เพียงเจ้าเดียวทั้งตลาด

ประจวบเหมาะกับในเวลาเดียวกันนั้นเอง นายก อปท. ทั่วประเทศ ยังคงเป็นคนเดิม ถูกเปลี่ยนตัว หรือถูกปลดแล้วให้รักษาการโดยข้าราชการประจำ เนื่องจาก คสช. ในเวลานั้นสั่งห้ามไม่ให้มีการเลือกตั้งทุกระดับ รวมทั้ง อปท. ด้วย

ที่ อปท. แห่งหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ คือ เทศบาลตำบลนายม เป็นหนึ่งใน อปท. หลายที่ทั่วประเทศ ที่ไม่มีตัวนายกฯดำรงตำแหน่งอยู่ ซึ่งสำหรับเทศบาลตำบลนายมนั้น ไม่มีทั้งนายกฯ และปลัดเทศบาล ตำแหน่งรักษาราชการจึงตกอยู่ที่รองปลัดเทศบาลแทน


ซึ่งรองปลัดเทศบาลตำบลนายมคนนี้ ก็ยังเอิญว่ามีสามีเป็นกรรมการ บริษัท ไทย ภัสนันท์ พร๊อพเพอร์ตี้ ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของ 1 ใน 3 บริษัท ที่ผูกขาดตลาดผสมน้ำยางพาราทำถนนอยู่


เมื่อกำลังจะเกิดโครงการพาราซอยล์ขึ้นมา รองปลัดเทศบาลคนนี้ จึงได้ไปติดต่อผู้รับเหมา “ป.” ว่าจะให้เป็นตัวแทนของบริษัทสารเคมีผสมน้ำยางที่สามีตัวเองเป็นกรรมการอยู่ เพื่อที่จะให้บริษัทได้รับงานโครงการทำถนนพาราซอยล์ในจังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดใกล้เคียง 55 โครงการ รวมมูลค่าโครงการ 394 ล้านบาท

เป็นผลประโยชน์มหาศาล ที่ทั้งรองปลัดและสามีจะได้ค่าหัวคิว ส่วน “ป.” ก็จะได้งานมูลค่ามหาศาล ซึ่งภายหลังมีการเปิดเผยว่าค่าหัวคิวนั้นสูงถึง 15% โดยแบ่งเป็น “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” 5% และอีก 10% จะเอาไปจ่ายให้กับ “นาย” 

โดยนายที่ว่านี้ ก็คือ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในขณะนั้นนั่นเอง 


สิ่งที่ยืนยันได้ถึงเรื่องราวทั้งหมด ก็คือหลักฐานจากการสอบสวนภายในโดยกระทรวงมหาดไทย ที่เรียกได้ว่าแจ่มแจ้งแดงแจ๋ น้อยคดีนักที่จะมีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนได้มากมายขนาดนี้ เรียกได้ว่ามัดตัวจนแน่นหลุดดิ้นไปไหนไม่ได้เลย สำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด

หลัฐานชิ้นแรก ก็คือข้อความสนทนาในแชทไลน์ ระหว่างรองปลัดเทศบาล กับผู้รับเหมา “ป.” ที่เผยให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงความพยายามการันตีว่าสุทธิพงษ์พร้อมที่จะให้โครงการนี้กับ “ป.” จริงๆ 

โดยที่รองปลัดคนนี้ถึงกับให้ความมั่นใจ ด้วยการแคปหน้าจอแชทไลน์ ที่ตัวเองคุยกับ “อสถ.” ซึ่งเป็นอักษรย่อของ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือก็คือสุทธิพงษ์ในขณะนั้น ที่ได้ส่งแชทไลน์มาหารองปลัดฯ เมื่อวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2562 เป็น “รายงานผลการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองงบประมาณแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และงบประมาณแผนงานบูรณาการส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ครั้งที่ 17/2562”

หรือก็คือหนังสือยืนยัน ว่าได้มีการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ ให้ไปทำโครงการถนนพาราซอยล์ที่ไหนบ้าง ส่งมาพร้อมกับข้อความแจ้งว่า “รองขจรกำลังจะลงนามครับออกเลขวันนี้” ซึ่ง “รองขจร” ที่ว่านี้ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และปัจจุบันนี้ได้ขึ้นมาเป็นอธิบดีแทนสุทธิพงษ์แล้ว 


เอกสารราชการที่ปรากฏในภาพดังกล่าว เป็นร่างเอกสารที่ยังไม่ได้ลงนาม แต่มีลายเซ็นกำกับจากหัวหน้าส่วนงานต่างๆ ที่คนที่ถ่ายมาได้จะเป็นคนอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากตัวอธิบดีหรือเลขาหน้าห้องอธิบดีเอง 

จากประโยคที่ว่า “รองขจรกำลังลงนามครับออกเลขวันนี้” ก็เกิดการ “ออกเลข” ในวันดังกล่าวจริงๆ เกิดเป็นเอกสาร ที่ มท 0810.8/ว3235 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2562 พร้อมผู้ลงชื่อเป็น “รองขจร” จริงๆ ด้วย 

ผ่านไป 6 วัน คือในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 หนังสือทางการพร้อมบัญชีแนบท้ายก็ออกมา ซึ่งสุทธิพงษ์ก็รีบส่งไลน์ให้รองปลัดฯ เพื่อให้รองปลัดฯ ส่งต่อให้ผู้รับเหมา “ป.” ทันที


รายละเอียดตามที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าว คือการอนุมัติการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณทั้งสิ้น 1,870 กว่าล้านบาท เฉพาะจังหวัดอำนาจเจริญของรองปลัดเทศบาลคนนี้ได้ไป 49 ล้านบาท พร้อมจังหวัดใกล้เคียงในกลุ่มภาคอีสาน ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ได้ไป 431 ล้านบาท ชัยภูมิ 68 ล้านบาท มหาสารคาม 94 ล้านบาท และสกลนคร 25 ล้านบาท


ส่วนตัวของ “ป.” เธอเล็งไว้ว่าจะต้องได้ 55 โครงการ ทั้งในจังหวัดอำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี นครพนม ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ รวมเป็นมูลค่าเกือบ 400 ล้านบาท


งบประมาณได้รับการโอนแล้ว ขาดเพียงแค่การเปิดประมูลเท่านั้น บริษัทสารเคมีผสมยางพารา 1 ใน 3 ที่กำลังผูกขาดตลาดในขณะนั้นอยู่เพียงเจ้าเดียว ก็จะได้รับงานชิ้นโตๆ มูลค่ามหาศาล พร้อมกระจายดอกผลส่วนแบ่งจากภาษีประชาชนไปถึงทั้งตัวแทน ผู้รับเหมา และผู้ที่จะได้ส่วนแบ่งค่าหัวคิว อย่างรองปลัดฯ ไปจนถึงตัว อสถ. สุทธิพงษ์ ด้วย

แต่แล้ว… ฝันนั้นก็สลายลงในพริบตา เมื่อมีคนหนึ่งเดินเข้าสภา จับไมค์เปิดแล้วพูดออกไป…

หลังจากที่ประเทศไทยไม่มีผู้แทนมานานถึง 5 ปี ในที่สุดหลังการเลือกตั้งปี 2562 ทันทีที่สภาเปิด เหล่า ส.ส. ก็เริ่มมีการอภิปรายในประเด็นต่างๆ ที่ซุกอยู่ใต้พรม คสช. มาอย่างยาวนาน และหนึ่งในนั้น ก็คือปัญหาการล็อกสเปคผูกขาดบริษัทสารเคมีผสมยางพาราที่มีอยู่แค่ 3 เจ้าในขณะนั้น 

พอมีการเปิดเผยความไม่ชอบมาพากลนี้ออกมา การยางแห่งประเทศไทยก็อยู่ไม่สุข กลัวจะถูกตรวจสอบลงไปมากกว่านั้น จึงเกิดการเปลี่ยนเกณฑ์อนุญาตให้บริษัทอื่นๆ เอาสารเคมีมาผสมยางพาราได้อีก 20 กว่าเจ้า จากตลาดที่ผูกขาดอยู่โดยเจ้าเดียวในนาม 3 บริษัท มีงานเมื่อไหร่นอนรอเฉยๆ ก็ได้กินชัวร์ๆ กลายเป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ที่มีคู่แข่งกว่า 20 เจ้า ต้องมาประมูลแข่งขันกันอย่างดุเดือด


นั่นส่งผลให้บริษัทรับเหมาของ “ป.” ต้องสะดุ้งตื่นจากความฝันในทันที เงินที่จ่ายจองโครงการไปแล้วมีสิทธิสูญสลายไปในพริบตา “ป.” เริ่มอยู่ไม่สุข ดิ้นไปโวยวายกับรองปลัดฯ ผู้ที่แต่แรกนำโชคลาภมาให้ แต่ตอนนี้กำลังจะโดนคาบไปกินแล้ว


รองปลัดฯ และสามี ก็ได้พยายามเป็นตัวกลางเพื่อต่อรองขอคืนเงินให้กับ “ป.” อยู่หลายครั้ง รวมทั้งเซ็นเช็คของโรงรับจำนำทรัพย์ชวนชม ซึ่งเป็นโรงรับจำนำที่รองปลัดคนนี้เป็นเจ้าของอยู่ ให้ “ป.” เก็บไว้ พร้อมให้ความมั่นใจว่าจะเอางานทำถนนพาราซอยล์กลับมาให้ได้แน่นอน ถ้าเอางานคืนมาไม่ได้ “ป.” เอาเช็คนี้ไปขึ้นเงินได้เลย

แต่จนแล้วจนรอด รองปลัดฯ และสามี ก็ไม่อาจเอางานมาให้ “ป.” ตามที่รับปากไว้ได้ และเมื่อ “ป.” เอาเงินไปขึ้นก็ดันกลายเป็นเช็คเด้งอีก สร้างความเดือดดาลให้แก่ “ป.” เป็นอย่างมาก จนถึงขั้นขู่ว่าจะแฉกระบวนการกินถนนพาราซอยล์ครั้งนี้

กลายเป็นเรื่องร้อนที่ลามไปถึงสุทธิพงษ์ ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ที่สุดของขบวนการกินหัวคิว ที่ในที่สุดแล้วความร้อนตัวนี้ ก็ได้ก่อให้เกิดเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของคดีขึ้นมา นั่นคือการที่สุทธิพงษ์โทรศัพท์หา “ป.” เพื่อขอเคลียร์เรื่องนี้ด้วยตนเอง


จากหลักฐานการสอบสวนภายใน ที่เป็นภาพบันทึกสายโทรศัพท์เข้าออกของเครื่อง “ป.” ปรากฏเบอร์โทรศัพท์เบอร์หนึ่ง ที่ถูกเมมไว้ว่า “อธิบดี สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” โทรเข้ามาหาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 12.27 นาที คุยกันเป็นเวลา 5 นาที 

ซึ่งเบอร์โทรศัพท์ดังกล่าวนั้น เมื่อนำไปตรวจกับเบอร์โทรศัพท์ติดต่อผู้บริหาร ที่ปรากฏอยู่บนเว็ปไซต์ทางการของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก็ปรากฏว่าเป็นเบอร์เดียวกันเป๊ะๆ ทุกตัวเลข

ซึ่งผลการสืบสวนยังระบุด้วย ว่าการโทรศัพท์ไปของสุทธิพงษ์ในวันนั้น เป็นการติดต่อเพื่อขอเคลียร์เรื่องเงินที่ยังค้างกันอยู่ร่วม 60 ล้านบาท แต่ในที่สุดตกลงกันไม่ได้ จนสุทธิพงษ์บอกว่าจะส่งคนไปไกล่เกลี่ยอีกทีหนึ่ง



ซึ่งคนที่ถูกส่งไปไกล่เกลี่ยที่ว่านั้น ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกลที่ไหนเลย แต่ปรากฏว่าเป็น ณฐพร โตประยูร นักร้องหน้าเก่าที่เคยพยายามฟ้องยุบพรรคอนาคตใหม่ในคดี “อิลูมินาติ” นั่นเอง

หลักฐานปรากฏชัดเจน เป็นเบอร์โทรศัพท์ของณฐพร โทรมาหา “ป.” เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 บอกให้มาเคลียร์ที่ออฟฟิศของณฐพร ตกปากรับคำว่าถ้า “ป.” มาหารับรองได้เงินคืนแน่นอน และยังมีการส่งไลน์หา “ป.” เป็นภาพณฐพรนั่งอยู่ในออฟฟิศด้วย 

แต่สุดท้าย ด้วยความที่ “ป.” ไม่ไว้ใจ จึงไม่ได้ไปตามนัด ในที่สุดความพยายามเคลียร์เรื่องให้จบก็ไม่เป็นผลสำเร็จ และเกิดกลายเป็นคดีความขึ้นมา นำไปสู่การสอบวินัยของทั้งรองปลัดฯ และสุทธิพงษ์ในฐานะอธิบดีด้วย

ท่ามกลางหลักฐานที่มัดแน่นเสียจนไม่รู้จะแน่นอย่างไร กลายเป็นเรื่องน่าแปลกที่สุดท้ายแล้ว มีแต่เพียงรองปลัดเทศบาลเท่านั้นที่ถูกตัดสินว่าทุจริตผิดวินัยร้ายแรง ส่วนตัวสุทธิพงษ์เอง กลับมีการระบุเพียงว่า “หลักฐานไม่พอ” และหลุดคดีไปเสียเฉยๆ


บทสรุปของเรื่องนี้ จบลงที่นอกจากหัวเรือใหญ่จะหลุดรอดไปจากเงื้อมมือของกฎหมายได้แล้ว หัวเรือใหญ่คนเดียวกันนี้ยังได้รับการปูนบำเหน็จในเวลาต่อมา ให้ขึ้นนั่งแท่นปลัด มท. เพียง 5 เดือนให้หลังจากที่เรื่องแดงขึ้นมา

โดยคนที่ปูนบำเหน็จให้นั้น ก็ไม่ใช่ใครอื่น นอกจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มท. 1 เจ้าเก่าเจ้าเดิมนั่นเอง

คำถามที่น่าถามต่อ คือรองปลัดเทศบาลเล็กๆ คนหนึ่ง อยู่ๆ จะสามารถสร้างมหากาพย์มหาโกงแบบนี้ได้อย่างไร ถ้าไม่มีคนที่มีอำนาจอย่างอธิบดี คอยช่วยจัดการผันงบประมาณ โยนโครงการลงมาให้แบบพอเหมาะพอเจาะแบบนี้?

การที่สุทธิพงษ์หลุดคดีมาได้ เกิดขึ้นจากปาฏิหารย์หรือจากอำนาจใดที่ใหญ่โตเป็นพิเศษจนถึงขั้นแทรกแซงองค์กรอิสระได้หรือไม่ และนั่นเป็นอำนาจเดียวกันกับที่ปูนบำเหน็จให้กับสุทธิพงษ์หลังเรื่องแดงขึ้นมาหรือไม่?

ยังมี อปท. อื่นนอกเหนือจากเทศบาลตำบลนายมหรือไม่ ที่ทำการล็อคผู้รับเหมา กินค่าหัวคิวในลักษณะเดียวกัน จากโครงการมูลค่าทั้งหมดเกือบ 2 พันล้านบาท?

นี่คือเรื่องราวที่เต็มไปด้วยคำถาม ที่เราคงไม่อาจคาดหวังให้รัฐบาลนี้มีคำตอบที่เป็นที่น่าพอใจสำหรับประชาชนได้

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า