จรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.ชลบุรี เขต 6 พรรคก้าวไกล อภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 กรณีแรงงานไทยเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนและฟินแลนด์ ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงปัญหาการค้ามนุษย์
โดยระบุว่า ในช่วง 10 ปีทีผ่านมา จุดหมายปลายทางใหม่ที่แรงงานไทยนิยมไปทำงาน คือทวีปยุโรป และกลุ่มใหญ่ที่สุดเดินทางไปที่ฟินแลนด์และสวีเดนเพื่อเก็บเบอร์รี่ป่า ตั้งแต่ปี 2548 ส่งแรงงานไปทั้งหมดกว่า 100,000 คน
งานเก็บเบอร์รี่กลายเป็นงานยอดฮิต มีการโฆษณาชักชวนว่าได้เงินเป็นแสนภายในเวลาไม่กี่เดือน แต่ในความเป็นจริง งานนี้เป็นงานหนัก ทั้งด้วยสภาพพื้นที่และสภาพอากาศ บางคนโชคดี เจอนายจ้างและสภาพการทำงานที่ดี แต่บางคนโชคร้าย เก็บเบอร์รี่ได้หนี้กลับมา เจอนายจ้างหลอกให้ทำงาน สภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ ซ้ำยังถูกยึดพาสปอร์ตอ้างว่าป้องกันการหลบหนี
จรัส ตั้งคำถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอย่าง ‘สุชาติ ชมกลิ่น’ ที่เดินทางไปเยี่ยมแรงงานเก็บเบอร์รี่ทั้งที่สวีเดนและฟินแลนด์เมื่อปี 2565 ว่าไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเลยหรือ?
เพราะเพียงไม่ถึงเดือน หลัง รมว.แรงงาน กลับจากสวีเดน มีแรงงานเก็บเบอร์รี่ป่ามาร้องเรียนกับคณะกรรมาธิการการแรงงานว่า ไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญา รายได้ไม่เพียงพอจ่ายคืนหนี้สิน
จึงสงสัยว่า ตอนไปดูงาน รัฐมนตรีฯ ไปดูเฉพาะที่ที่ทำถูกต้องตามกฎหมายอย่างนั้นหรือ? แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ เพราะบริษัทที่ไปเยี่ยม ชื่อโพลาริกา (Polarica) ซึ่งถูกทางการฟินแลนด์ดำเนินคดีข้อหาค้ามนุษย์ และผู้ถูกกระทำคือแรงงานไทย โดยทั้ง CEO และผู้ประสานงานคนไทยที่ รมว.แรงงานไปถ่ายรูปด้วย ทั้งคู่ถูกจับกุมในข้อหาค้ามนุษย์
“รมว.แรงงาน ไม่รู้จริงๆ หรือว่าแกล้งไม่รู้ เพราะกรณีนี้เชื่อมโยงไปถึงผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงแรงงานของฟินแลนด์ ที่กลายเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเรียกรับสินบนจากบริษัทเอกชนในการจัดโควตาแรงงานเก็บเบอรี่ป่าด้วย”
เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เกิดขึ้นมากว่า 10 ปี ในไทยเองก็เคยมีเรื่องร้องเรียนในประเด็นการค้ามนุษย์แล้วถึง 3 ครั้ง หนึ่งในนั้นมีคดีค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประสานงานที่ร่วมทริปกับรัฐมนตรีแรงงาน ที่ก่อนหน้านี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เคยตรวจสอบแต่ไม่พบการทุจริต จึงยุติการสืบสวนไว้ แต่ในปีนี้ ดีเอสไอได้รื้อคดีนี้กลับมาอีกครั้ง
สำหรับรูปแบบการทำสัญญา จะมีถึง 3 เวอร์ชัน
📍 เวอร์ชันแรก ในสัญญาจะต้องระบุเงื่อนไขการทำงาน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน รวมถึงคุ้มครอง ไม่ให้นายจ้างบังคับให้เซ็นสัญญาอื่น เพื่อยกเลิกสัญญาที่เป็นธรรมฉบับนี้ เวอร์ชันนี้จะเป็นสัญญาที่ใช้ยื่นกับกรมจัดหางาน และสถานทูต เพื่อให้ได้วีซ่าทำงาน
📍 เวอร์ชันที่สอง คือเวอร์ชันที่แรงงานได้รับจริงๆ เป็นสัญญาที่เนื้อหาคล้ายฉบับแรก แต่ตัดเรื่องการคุ้มครองแรงงานออก ในกรณีที่นายจ้างบังคับให้เซ็นสัญญาอื่น
📍 เวอร์ชันสุดท้าย เรียกได้ว่าเป็นสัญญาทาส ที่ใช้บอกล้างสัญญาฉบับก่อนหน้าทุกประการ ถึงขั้นระบุไว้เลยว่า ทั้งสองฝ่ายจะต้องลงนามในสัญญาจ้างแรงงานของกรมการจัดหางาน ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำขึ้นตามขั้นตอนของกรมการจัดหางาน สัญญาดังกล่าวไม่ตรงกับความเป็นจริง และเจตนาที่แท้จริงของทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใด แต่ทั้งสองฝ่ายต้องยินยอมลงนามในสัญญาจ้างแรงงานของกรมการจัดหางาน เพื่อให้ผ่านตามขั้นตอน ที่กรมการจัดหางานกำหนดไว้ โดยทั้งสองฝ่ายไม่มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงาน
กระบวนการเพื่อล่อลวงแรงงานให้เซ็นสัญญาทาส ก็มีความแยบยล เช่น ต้องมีการอบรมแรงงาน จัดงานสัมมนาใหญ่โต จัดร่วมกับกรมการจัดหางาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ หลังการอบรมก็จะหลอกให้คนงานเซ็นสัญญา ทั้งสามเวอร์ชัน ซึ่งเป็นไปได้อย่างไรที่กรมการจัดหางานจะไม่ทราบ กรมฯ เคยเตือนแรงงานหรือร่วมตรวจสอบการทำสัญญาหรือไม่ รัฐมนตรีแรงงานยอมให้กรมการจัดหางานเข้าไปมีส่วนร่วมกับบริษัทนายหน้าที่หลอกลวงได้อย่างไร
👉 จึงขอตั้งคำถามกับ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีแรงงาน
- ที่ผ่านมาเคยมีคดีค้ามนุษย์เกิดขึ้นแล้ว แต่ทำไมทางการไทยถึงปิดตาข้างเดียว และยังส่งแรงงานไทยไปต่อเนื่อง โดยไม่มีมาตรการเพิ่มเติม แถมยังไปดูงานบริษัทค้ามนุษย์ของเขาหน้าตาเฉย แม้มีการตั้งกองทุนช่วยเหลือแรงงานขึ้นมา โดยให้นายหน้าวางเงินประกัน คนละ 30,000 บาท แต่นั่นก็น้อยมากเมื่อเทียบกับความสูญเสียและยอดหนี้ที่แรงงานได้มา
- กรมการจัดหางาน ยังไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติของบริษัทที่จะพาคนงานไปเก็บเบอร์รี่ ไม่ตรวจประวัติการจัดส่งแรงงานในอดีต บางบริษัทน่าสงสัย แต่ทำไมยังปล่อยให้พาคนงานไทยไปเก็บเบอร์รี่ได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหลือความเป็นไปได้อย่างเดียวหรือไม่ คือกรมการจัดหางานมีส่วนรู้เห็นกับบริษัทพวกนี้
- ปัญหานี้ กำลังส่งผลกระทบในวงกว้าง ล่าสุด
- ทางสวีเดนประกาศหยุดรับแรงงานไทยไปเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนจนกว่าไทยจะแก้ไขปัญหาสัญญาปลอมได้
- ทางฟินแลนด์ ระงับการให้วีซ่ากับคนไทยที่จะไปเก็บเบอรี่ป่าเช่นกัน และกำลังอยู่ในกระบวนการปรับเปลี่ยนเป็นวีซ่าทำงาน เพื่อให้แรงงานมีสัญญาการจ้างงาน
- แต่ทั้งหมดนี้ รัฐบาลไทยหรือกระทรวงแรงงาน รอให้ต่างประเทศเป็นผู้ริเริ่มจัดการก่อนตลอด ทั้งที่เกี่ยวข้องกับแรงงานไทย พอไม่จัดการอะไร กลายเป็นบริษัทอื่นๆ ที่ทำถูกต้อง ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะรัฐมนตรีไม่ยอมแก้ไขปัญหา ข้าราชการก็ใส่เกียร์ว่าง
สิ่งเหล่านี้ จะไม่สามารถเกิดขึ้นต่อเนื่องมากว่าสิบปีได้เลย ถ้าไม่มีผู้สมรู้ร่วมคิด ใครบางคนคงตั้งใจปล่อยปละละเลย จนเกิดเป็นการค้ามนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดของกระทรวงแรงงาน
ขอฝากถึง รมว.แรงงาน ให้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อแรงงาน ให้แรงงานได้รับการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการ ให้สมกับที่แรงงานได้ต่อสู้เรียกร้องให้มีกระทรวงแรงงานเกิดขึ้น
ประชุมสภา #แรงงาน
——————
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของพรรคก้าวไกลนี้ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
ผลิตโดย บริษัท สเปกเตอร์ ซี จำกัด จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น งบประมาณ 3,000 บาท ผลิตวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566