free geoip

ในสภาจบ นอกสภายังไม่จบ! เปิดหลักฐานเพิ่ม สู้กลับ ‘ส.ว.ทรงเอ’


หลังอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ที่ รังสิมันต์ โรม เปิดประเด็น ‘ไทยดำ-จีนเทา’ สะเทือนรัฐบาลและ ส.ว. ‘คนดีย์’ รวมถึงองค์กรตำรวจ ภายในเวลาอันรวดเร็ว ‘อุปกิต ปาจรียางกูร’ ส.ว. จากการเลือกสรรของ คสช. ที่ถูกกล่าวถึงในการอภิปราย ก็โร่ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหายถึง 100 ล้านบาท!

รังสิมันต์ นอกจากจะยืนยันการทำหน้าที่ตรวจสอบในฐานะ ส.ส. และประกาศพร้อมต่อสู้คดีเต็มที่ เช้าวันนี้ยังแถลงข่าวเปิดหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อย้ำความหนักแน่นของเนื้อหาที่อภิปรายในสภาฯ


โดยระบุว่า ‘อุปกิต’ เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการของบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป จำกัด (Allure Group) ที่ถูกเชื่อมโยงว่าเป็นบริษัทเพื่อฟอกเงินที่ได้มาโดยผิดกฎหมายของ ‘ทุนมินลัต’ (Tun Min Latt) นักธุรกิจ(สีเทา)ชาวเมียนมา โดยบริษัทนี้เมื่อปี 2542 เคยทำสัญญา Build, Operate and Transfer (BOT) กับกรมการโรงแรมและการท่องเที่ยวของเมียนมา เพื่อก่อสร้างและดำเนินกิจการโรงแรมที่รู้จักกันในชื่อ Allure Resort Hotel ที่เมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ติดกับชายแดนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

ปลายปี 2565 เมื่อตำรวจไทยจับกุม ‘ทุนมินลัต’ ข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ และการฟอกเงิน ‘อุปกิต’ ก็รีบออกมาชี้แจงว่า ในปี 2562 ก่อนรับตำแหน่ง ส.ว. ได้ขายหุ้นและลาออกจากตำแหน่งกรรมการของ Allure Group และ Myanmar Allure รวมถึงโรงแรม Allure Resort ก็ขายไปแล้ว และยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรียบร้อย

แต่คำถามคือ การขายหุ้น-ขายโรงแรมที่อุปกิตอ้างว่าทำไปแล้วนั้น เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า?


ลักษณะสัญญามาแปลก: เป็นในนามระหว่างบุคคลธรรมดา ไม่ใช่นิติบุคคล

เนื่องจากหนึ่งในเอกสารที่อุปกิตยื่นประกอบบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. คือเอกสารสัญญาซื้อขายอาคารและกิจการโรงแรม ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 เนื้อหาสัญญาระบุว่า อุปกิต (ผู้ขาย) ทำสัญญากับ ‘ชาคริส กาจกำจรเดช’ (ผู้ซื้อ) ว่าตกลงซื้อขายอาคารตึกคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น จำนวน 1 หลัง ห้องพักจำนวน 78 ห้อง และกิจการโรงแรม Allure Resort และสิทธิการใช้ประโยชน์บนที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าว ในราคา 8,150,000 ดอลลาร์สหรัฐ ชำระเงินในเดือนสิงหาคม 2562 และตกลงกันว่าจะส่งมอบและรับมอบการครอบครองอาคารดังกล่าวในวันเดียวกันกับวันที่ทำสัญญา

นอกจากนี้ อุปกิตยังแนบสำเนาหนังสือรับรองจากธนาคาร B.I.C. (CAMBODIA) BANK PLC. ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2562 รับรองบัญชีธนาคารดังกล่าว ว่ามีเงินฝากจำนวน 8,150,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ข้อสังเกตต่อเอกสารสัญญาฉบับนี้ คือสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับโรงแรม Allure Resort ตามสัญญา BOT ที่ทำกับกรมการโรงแรมฯ เมียนมานั้น ต้องเป็นของบริษัท Allure Group หรือ Myanmar Allure ดังนั้น ถ้าจะมีการขายโรงแรม Allure Resort ให้ผู้อื่นจริงๆ ก็ควรเป็นการที่อุปกิตขายหุ้นของตัวเองใน Allure Group หรือ Myanmar Allure ที่ถือสิทธิและหน้าที่ในโรงแรม ให้กับชาคริส

หรือถ้าเป็นกรณีที่ Allure Group หรือ Myanmar Allure จะขายสิทธิและหน้าที่ในโรงแรมที่บริษัทถืออยู่ให้กับชาคริส ก็ควรต้องเป็นสัญญาที่ทำขึ้นในนามของบริษัทนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ไม่รู้ว่ากรณีนี้ทำได้หรือไม่ เพราะสัญญา BOT กำหนดว่ากรมการโรงแรมฯ ต้องยินยอมด้วย

แต่ปรากฏว่าสัญญาฉบับนี้

  1. มีลักษณะเป็นสัญญาในนามบุคคลธรรมดา 2 คน ไม่ใช่นิติบุคคล
  2. ไม่ได้เป็นสัญญาเพื่อซื้อขายหุ้นของบริษัทใดๆ แต่เป็นการซื้อตึกโรงแรม กิจการโรงแรม และสิทธิใช้ประโยชน์บนที่ดินโรงแรม หมายความว่า ตามสัญญานี้ สิทธิในโรงแรม Allure Resort จะต้องตกเป็นของบุคคลธรรมดาที่ชื่อชาคริสคนเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้!

ยิ่งกว่านั้น เมื่อไปดูเนื้อหาหนังสือรับรองของ B.I.C. (CAMBODIA) BANK PLC. แม้จะระบุว่าบัญชีธนาคารที่อุปกิตอ้าง มีเงินฝาก 8,150,000 ดอลลาร์สหรัฐจริง แต่ก็ไม่มีตรงไหนระบุว่าเป็นการจ่ายมาจากชาคริส นี่คือข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลของการขายโรงแรม ที่อุปกิตอ้างต่อ ป.ป.ช.


คำให้การชาคริสชี้ สัญญาซื้อขายที่อุปกิตอ้าง เป็นของปลอม

หลังจากมีการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดและการฟอกเงินที่เกี่ยวข้องไปถึงพนักงานของ Allure Group มีการเรียกชาคริสไปให้การเมื่อเดือนเมษายน 2565 ตามบันทึกคำให้การช่วงหนึ่ง ชาคริสให้การว่าถือหุ้น 15% ของโรงแรม Allure Resort มาตั้งแต่ปี 2558

กระทั่งปลายปี 2562 เคยตกลงซื้อกิจการโรงแรมฯ จากอุปกิตในราคา 8,150,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 251,572,000 บาท แต่ไม่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายกันจริงแต่อย่างใด เพราะไม่มีเงินซื้อ ไม่รู้จะไปหาจากไหนตั้ง 250 กว่าล้าน และยังให้การต่อด้วยว่า ประมาณเดือนกรกฎาคม 2563 อุปกิตได้ตกลงขายกิจการให้กับบุคคลอื่นในราคาประมาณ 300 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายแล้วคงเหลือ 265 ล้านบาท ตนได้รับส่วนแบ่งตามจำนวนที่ถือหุ้น 15% เป็นเงินจำนวน 39,750,000 บาท

“เนื้อหาคำให้การของชาคริสครั้งนี้ เป็นการบอกว่าสัญญาซื้อขายโรงแรมที่อุปกิตทำกับชาคริสเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 และยื่นต่อ ป.ป.ช. นั้น เป็นสัญญาปลอม นอกจากนี้ยังบอกในทางอ้อมด้วยว่า ไม่ได้มีการขายหุ้นบริษัทให้ชาคริสเพิ่มแต่อย่างใด เพราะชาคริสยังคงมีหุ้น 15% เท่าเดิม ถามว่าชาคริสให้การเท็จต่อตำรวจหรือไม่ ผมคิดว่าถ้ามีการซื้อขายเกิดขึ้นจริง ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องมาโกหกว่าไม่ได้ซื้อ”

ยิ่งเมื่อไปดูสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของ Allure Group เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ก่อนวันทำสัญญา 9 พฤษภาคม 2562 แค่ 9 วัน ชาคริสถือหุ้นอยู่ 1,500 หุ้น 15% ตามที่ให้การไว้จริง ต่อมาอีกฉบับ 30 มิถุนายน 2562 ชาคริสก็ยังถือหุ้นอยู่ 1,500 หุ้นเท่าเดิม เป็นหลักฐานชัดๆ ว่าไม่เคยมีการขายหุ้น Allure Group ไปที่ผู้ขอสิทธิบริหารจัดการโรงแรม Allure Resort เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่หุ้นเดียว

นอกจากนี้ตามที่ชาคริสให้การ ว่าอุปกิตไปขายกิจการให้กับบุคคลอื่นในราคา 300 ล้านบาท เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 การขายกิจการที่ว่าคือสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัท Allure Group ระหว่าง ‘ดีน ยัง จุลธุระ’ (ผู้ขาย) ลูกเขยของอุปกิต กับพันณรงค์ ขุนพิทักษ์ (ผู้ซื้อ) 1 ใน 3 เจ้าพ่อพนันออนไลน์รายใหญ่ของไทย โดยมีอุปกิตลงนามเป็นพยานการซื้อขายครั้งนี้ด้วย ในสัญญาก็ระบุไว้ชัดเจนว่าบริษัท Allure Group ที่ซื้อขายหุ้นกัน เป็นบริษัทที่ได้รับสิทธิในการบริหารและจัดการโรงแรม Allure Resort และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นสามัญจำนวน 6,691 หุ้นของ Myanmar Allure ซึ่งมีสิทธิครอบครองในทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจของ Allure Group

นี่แสดงให้เห็นว่าสิทธิและหน้าที่ในโรงแรม Allure Resort ไม่เคยไปเป็นของชาคริสในฐานะบุคคลธรรมดา ตามที่จะต้องเป็นตามสัญญาระหว่างอุปกิตกับชาคริสเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 เลย

ดังนั้น ตามข้อมูลนี้ หมายความว่าหนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างอุปกิตกับชาคริสเป็นเอกสารเท็จ สัญญาซื้อขายไม่ได้เกิดขึ้นจริงใช่หรือไม่

  • รายได้ที่เข้าบัญชีกัมพูชาของอุปกิตกว่า 8 ล้านดอลลาร์มาจากไหน
  • เป็นเงินจากใคร และได้มาจากเรื่องอะไรกันแน่?

การกระทำเช่นนี้เป็นการจงใจยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบหรือไม่ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้หรือไม่ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาที่แท้จริงของทรัพย์สินคือเงิน 8 ล้านดอลลาร์ ว่ามาจากที่ไหน ซึ่งจะเป็นความผิดตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 167 และในมาตรา 114 ประกอบมาตรา 81 ยังกำหนดให้ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อวินิจฉัยด้วย หากวินิจฉัยว่าผิดจริง อุปกิตจะต้องพ้นตำแหน่ง ส.ว. ถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสูงสุด 10 ปี ซึ่งภายในสัปดาห์นี้ รังสิมันต์จะยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ต่อไป

สุดท้าย รังสิมันต์ตั้งคำถามถึงองค์กรตำรวจ 3 ข้อ

คำถามแรก เนื่องจากในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ จะเป็นวันปิดสมัยประชุมสภาฯ ทำให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของ ส.ส. และ ส.ว. หมดไป จึงขอถามผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะพนักงานสอบสวนระดับสูงสุด ว่าหลังจากตนเปิดหลักฐานไปหมดแล้ว ตำรวจจะดำเนินการอย่างไรต่ออุปกิต เรื่องนี้ต้องตอบสังคมให้ได้

คำถามสอง ถ้าข้อเท็จจริงชี้ว่าทรัพย์สินต่างๆ ของอุปกิตได้มาจากการฟอกเงิน หรือยังไม่มีความชัดเจนว่าอาจได้มาโดยผิดกฎหมาย จะต้องมีการยึดอายัดทรัพย์สินเหล่านั้นตามหลักปฏิบัติหรือไม่ และตำรวจจะกล้ายึดอาคารและที่ดินที่วันนี้เป็นที่ตั้งของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) หรือไม่

คำถามสาม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พยายามปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุปกิต แต่ตอนนี้ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตำรวจ ตนขอตั้งคำถามว่า ทำไมตำรวจที่รับผิดชอบคดีจับกุม ‘ทุนมินลัต’ จึงถูกย้าย เป็นเพราะ พล.อ. ประยุทธ์รู้ใช่หรือไม่ ว่าตัวเองอาจหนีความรับผิดชอบไม่พ้น

หลังจากนี้ตามดูกันต่อ ว่าหน่วยงานต่างๆ จะขยับรับเรื่องจากรังสิมันต์อย่างไร โดยเฉพาะท่าทีของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ถึง 3 บทบาท ทั้งในฐานะคนแต่งตั้ง ส.ว. ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตำรวจ และในฐานะแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ


สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของพรรคก้าวไกลนี้ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
ผลิตโดย บริษัท สเปกเตอร์ ซี จำกัด จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น งบประมาณ 3,000 บาท ผลิตวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า