ผ่านไป 1 ปี ‘พ.ร.ก. ซอฟต์โลน’ ภาค 2 ข้อสรุปเดิมไม่ช่วย SMEs ตอกย้ำความไม่จริงใจแก้ปัญหาของรัฐบาล
ผ่านไปแล้วสำหรับ พ.ร.ก. Soft Loan ที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้มีการผ่อนปรนวงเงินสินเชื่อ และแบ่งเงินส่วนหนึ่งสำหรับทำโครงการ “โกดังพักหนี้” หรือ “Asset Warehousing” แต่อย่างไรก็ดี SMEs ทั่วประเทศบอกตรงกันว่ามาตรการที่ออกมายังไม่แก้ปัญหา ซึ่ง ส.ส. พรรคก้าวไกลทั้ง 5 คน ได้เป็นตัวแทนนำเอาเสียงความเดือดร้อนของ SMEs ทั่วประเทศมาสะท้อนถึงผู้ออกกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎร
วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส. เขต ยานนาวา/บางคอแหลม กทม. บอกกับเราว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้อาจทำให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อยากขึ้นไปอีก เนื่องจากประกาศออกมาให้ธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือกับ “ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีศักยภาพ เพื่อช่วยประคับประคองฟื้นฟูธุรกิจให้สามารถดำเนินกิจการการต่อไปได้” ทำให้ SMEs ที่ได้รับความเดือดร้อนอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือ สิ่งที่เขียนไว้อย่างสวยหรู อ่านแล้วดูดี มีความหวัง แต่ความเป็นจริงธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ปฏิบัติตาม ทำให้เธอให้นิยามกฎหมายฉบับนี้ว่า พ.ร.ก. ซอฟต์โลนทิพย์
พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค พูดในทำนองเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขของ พ.ร.ก. ฉบับใหม่ ผ่านมาแล้ว 1 เดือน มีการปล่อยกู้เพิ่มแค่ 1.15 หมื่นล้านจาก 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ขอสินเชื่อรายใหม่เพียงแค่ 0.9% หรือ 104 ล้านบาทเท่านั้น พิจารณ์ยังย้ำว่า ผลกระทบครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากการบริหารธุรกิจที่ผิดพลาดของผู้ประกอบการ แต่เกิดจากความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาล รัฐบาลจึงควรแสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้
ส่วน องค์การ ชัยบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตัวแทนจากกลุ่มผู้ต่อสู้ด้านหนี้สินประชาชน อภิปรายว่า ผลของ พ.ร.ก. ฉบับปัจจุบัน แทบจะเหมือนกับกฎหมายฉบับเดิมที่ออกเมื่อปีที่แล้ว ถ้ารัฐบาลต้องการแก้ปัญหาให้สำเร็จจำเป็นต้องพิจารณาคนทั้งองคาพยพที่เดือดร้อนจากโควิด ไม่ใช่ออกมาแล้วคนได้ประโยชน์คือคนกลุ่มเดิมซึ่งมีไม่ถึง 20%
ซึ่งในเรื่องนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำเสนอทางออกสำหรับ SMEs ที่ไปไกลกว่าแค่การให้สินเชื่อ แต่ต้องมีการชดเชยโดยตรงจากรัฐบาลเหมือนอย่างที่รัฐบาลต่างประเทศทำ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งพิธาย้ำว่าอนาคตของประเทศไม่ได้อยู่ที่ทุนใหญ่ แต่อยู่ที่ SMEs รัฐบาลจึงจำเป็นต้องช่วยคนกลุ่มนี้เป็นลำดับแรก
ปิดท้ายที่ วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ที่ชี้ให้เห็นปัญหาในภาพรวมว่า พ.ร.ก. ฉบับปัจจุบัน ปัญหาใจกลางยังไม่ได้ถูกแก้ไข คืออัตราการชดเชยหนี้สูญผ่านกลไก บสย. ซึ่ง พ.ร.ก. ชดเชยน้อยเกินไปสำหรับช่วงวิกฤตที่ธนาคารจะกล้าปล่อยสภาพคล่องให้กับ SMEs ขนาดเล็ก SMEs ที่ไม่เคยมีสินเชื่อมาก่อน ส่วนมาตรการ “โกดังพักหนี้” ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้ที่เดือดร้อนจริง เพราะผู้เลือกว่าใครควรได้เข้า-ไม่ได้เข้าโครงการคือ ‘ธนาคารพาณิชย์’
ถึงแม้ว่าร่าง พ.ร.ก. Soft Loan ฉบับนี้จะผ่านไปได้ในการเปิดสภาวันแรกของสมัยประชุม แต่สำหรับกฎหมายอีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และ พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่จะเป็นเช็คให้รัฐบาลประยุทธ์นำงบประมาณของประเทศไปใช้ได้กว่า 3.6 ล้านล้านบาท การติดตามตรวจสอบจะเข้มข้นขึ้นอย่างแน่นอน
ย้อนชมการอภิปรายของทั้ง 5 คนได้ในเพลย์ลิสต์นี้ https://www.youtube.com/playlist?list=PL1lgv8WXJu4YfMwCN4DUx53OSgM7ncNVi