วันนี้ (31 สิงหาคม 2563) ที่ประชุม กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้พิจารณางบประมาณของอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในรายการจัดซื้อเรือดำน้ำ โดยองค์ประชุมมีทั้งหมด 66 คน ผลการลงมติคือ เห็นด้วยในการปรับลดงบประมาณในการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือจำนวน 63 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 3 เสียง แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้ ที่มีการเลื่อนการจ่ายค่างวดงบประมาณของกองทัพเรือในการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3 ในปี 2564 จำนวน 3,925 ล้านบาท ต้องผ่านการต่อสู้และเรียกร้องกดดันจากประชาชนอย่างหนักแน่นและยาวนาน
“ที่บอกว่าคืนงบประมาณ แต่ก็ได้กลับมาทันด่วน”
กองทัพเรือมักบอกเสมอว่ากองทัพเรือเป็นหน่วยงานแรกที่โอนงบประมาณกลับคืนรัฐบาล ทั้งนี้ข้อเท็จจริงปรากฎว่ารัฐบาลได้สั่งการให้ส่วนราชการปรับลดงบประมาณ เพื่อนำไปจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 ไปเป็นงบกลาง ซึ่งทางกองทัพเรือก็ได้โอนงบกลับคืน 33% คิดเป็นเงินประมาณ 4,100 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณในการชะลอการดำเนินการโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ 3 งบประมาณรวม 22,500 ล้านบาท แต่เมื่อโอนกลับไปแล้ว เพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ในการพิจารณางบประมาณ พ.ศ.2564 กองทัพเรือก็ได้ตั้งงบประมาณในการซื้อเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ 3 กลับมาในทันที และจะตั้งงบประมาณผูกพันจนถึงปีงบประมาณ 2570 เป็นเงินงบประมาณรวม 22,500 ล้านบาทตามเดิม นี่หรือความจริงใจ???
และตลอดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวของกองทัพเรือและฝั่งรัฐบาล ในการผลักดันให้มีการเดินหน้าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำต่อไปอย่างจริงจัง ดังนี้
ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ อันเป็นส่วนหนึ่งของ กมธ. พิจารณางบปรมาณปี 2564 ของสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 21 สิงหาคม 2563 กองทัพเรือได้เดินทางมาชี้แจงรายละเอียดโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 โดยกองทัพเรือยืนยันว่ามีความจำเป็น ไม่สามารถเลื่อนการจัดซื้อได้ ซึ่งอย่างที่ทราบกันดี มีการลงมติ 4 ต่อ 4 และประธานคือสุพล ฟองงาม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐใช้อำนาจชี้ขาดให้ซื้อเรือดำน้ำในปี 2564 นี้ จนเกิดกระแสต่อต้านการดำเนินการดังกล่าวสูงมากจากคนทั้งสังคม
วันที่ 24 สิงหาคม 2563 นายทหารระดับสูงของกองทัพเรือตั้งโต๊ะแถลงชี้แจงความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน โดยมีการชี้แจงว่า หากไม่ดำเนินการตามที่เจรจาไว้ทั้งหมด จนได้ข้อยุติในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลแล้ว แล้วต่อไปเราจะไปคุยค้าขายกับประเทศจีนอย่างไร เขาจะเชื่อเราหรือ พูดอย่างหนึ่ง ขอผ่อนผัน เอาเงินไปช่วยโควิดก่อน ซึ่งเขาก็เข้าใจ เพราะเขาก็ประสบปัญหาเหมือนเรา เราเจรจากันอย่างมิตรภาพ ก็ช่วยเหลือกันไป ทีนี้เมื่อมาถึงในปีที่พอจะสนับสนุนงบประมาณได้ ทางกองทัพเรือก็เห็นว่ามันมีความจำเป็น รวมทั้งช่วงระยะเวลาที่เรามีความจำเป็นต้องใช้เรือดำน้ำมาใช้งาน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ มาดูแลผลประโยชน์ของประชาชน มาดูแลเศรษฐกิจของประเทศชาติ
วันที่ 26 สิงหาคม 2563 ที่ประชุม กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ พ.ศ.2564 โดยความพยายามของกรรมาธิกาจจากพรรครัฐบาล ใช้สารพัดวิธีการจนสามารถเตะถ่วงจนสามารถเลื่อนการพิจารณาเรือดำน้ำได้สำเร็จ และในวันเดียวกัน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี มี ส.ส.ของพรรคบางคนระบุหากการจัดซื้อเรือดำน้ำผ่านความเห็นชอบของกรรมาธิการ จะโหวตสวนในชั้นการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 2564 วาระ 2-3 โดยเชื่อว่ายังมีทางออก“มันยังไม่ไปไกลถึงขนาดนั้น ตอนนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของ กมธ. เชื่อว่าทุกอย่างมีทางออก ถ้าได้ข้อยุติในชั้น กมธ.ได้ก็จะช่วยให้ดำเนินการในขั้นอื่นๆต่อไปได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ตนยังไม่ได้คุยกับนายกฯถึงเรื่องนี้ ปล่อยให้ กมธ.ไปพูดคุยกันก่อน” อีกทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะชะลอเรื่องการจ่ายเงินอย่างเดียว เพราะเรื่องยุทธศาสตร์กองทัพเรือเขาเตรียมการมานานแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านก็มีกันทั้งนั้น ความจริงมันดำเนินการไปหมดแล้วทางด้านเอกสาร สื่อว่าควรซื้อหรือไม่ มันเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3
ยิ่งไปกว่านั้นในวันที่ 26 สิงหาคมยังมีคำให้สัมภาษณ์จากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กล่าวว่าเรือดำน้ำมีไว้เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของคนในประเทศ เพื่อคนไทยทุกคน และเป็นทรัพยากรของชาติของแผ่นดิน ไม่ได้มีไว้ไปรบหรือสู้กับใคร แต่เป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ เพื่อปกป้องอธิปไตย และนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ทุกคนต้องรับผิดชอบด้วยกันทั้งหมด ถ้าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งกองทัพอธิบายไปหมดแล้วถึงเหตุผลและความจำเป็นทั้งหมดในการจัดซื้อเรือดำน้ำโครงการอะไรก็ตามที่มีความต่อเนื่องและจำเป็นหรือไม่อย่างไรก็ต้องมีการพิจารณา ส่วนจะได้หรือไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการพิจารณา
แต่จนแล้วจนรอด ในวันนี้ วันที่ 31 สิงหาคม 2563 ในช่วงสาย อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า
“ท่านนายกรัฐมนตรีอยากให้กองทัพเรือไปพิจารณาชี้แจงกับ กมธ. งบประมาณปี 2564 เรื่องให้ชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำ อีก 2 ลำ ออกไป 1 ปี”
และในช่วงเที่ยง สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ. พิจารณาร่างงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ได้พูดคุยกับ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล และ กมธ. งบประมาณฟากฝั่งรัฐบาลว่าทุกคนเห็นตรงกันว่าต้องมีเรือดำน้ำ และผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ส่งสัญญาณมาแล้วให้เลื่อนการจ่ายค่างวดเรือดำน้ำทาง กมธ. งบประมาณมีความเห็นว่าอย่างไรบ้าง สันติ พร้อมพัฒน์ กล่าวว่าเป็นความจำเป็นในการมีเรือดำน้ำแต่เรื่องการชำระเงินจะเป็นอย่างไรต้องมีการพูดคุยกันในที่ประชุมในบ่ายวันนี้
นอกจากนี้ สันติ พร้อมพัฒน์ ประธานในที่ประชุม กมธ. งบประมาณฯ ได้ชิงแจ้งต่อที่ประชุมว่า การมีเรือดำน้ำจำเป็น แต่ยังไม่เหมาะตอนนี้ และได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับกรรมาธิการงบประมาณหลายพรรคการเมืองและเห็นตรงกันว่าควรมีเรือดำน้ำ รวมทั้งสันติยังกล่าวด้วยว่า กองทัพเรือได้ทำหนังสือแจ้งมายังประธานที่ประชุมว่า กองทัพเรือขอเลื่อนการของบประมาณในการจัดหาเรือดำน้ำในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่จะจ่ายงวดแรกเป็นเงิน 3,925 ล้านบาทออกไปก่อน โดยทางกองทัพเรือจะไปเจรจาให้มีเรือดำน้ำในปีงบประมาณหน้าหรือปีถัดๆ ไป เป็นจำนวนเงินรวม 22,500 ล้านบาท ซึ่งจะจ่ายเป็นงวดๆ ผูกพันไปถึงปี 2570 หรือปี 2571
ทั้งนี้ เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.จังหวัดเชียงราย เขต 1 พรรคก้าวไกล ได้ขอให้ที่ประชุมบันทึกไว้ว่า พรรคก้าวไกล ไม่ได้พูดคุยด้วยกับสันติ พร้อมพัฒน์ที่บอกว่ามีการไปคุยกับ กมธ. งบประมาณหลายพรรคการเมืองและหลายคน รวมทั้งพรรคก้าวไกลไม่เห็นความสำคัญในการมีเรือดำน้ำ และเห็นว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ในปีงบประมาณเดียว
สิ่งที่น่ากังขาคือวราเทพ รัตนากร มีความพยายามรวบรัดไม่ให้มีการพูดถึงหรือมีรายงานจากอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน เรื่องเรือดำน้ำ โดยมีการตัดบทในการอภิปรายของกรรมาธิการคนอื่นๆ และยังรวบรัดให้มีการเสนอญัติโดยประธานในที่ประชุมคือ สันติ พร้อมพัฒน์ รวมทั้งขอมติจากที่ประชุมว่า เห็นด้วยตามญัติที่เสนอโดยประธานในที่ประชุมหรือไม่ในการปรับลดงบประมาณในการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ
ผลการลงมติคือ เห็นด้วย 63 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง
มาถึงตรงนี้ หากหน่วยงานและผู้มีอำนาจมีความจริงจัง จริงใจและมองกาลไกลมากพอ คงไม่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาจนถึงวันนี้ คงไม่ตั้งงบประมาณมาตั้งแต่ต้น ทั้งๆ ที่ประเทศชาติกำลังมีวิกฤตทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านสุขภาพของพี่น้องประชาชน คงไม่ต้องมีมติ 5 ต่อ 4 เสียงจากที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ อนุมัติงบโครงการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3 คงไม่ต้องเกิดเหตุการณ์เตะถ่วงโดยพรรคร่วมรัฐบาลใน กมธ. พิจารณางบประมาณชุดใหญ่จนต้องเลื่อนการพิจารณาเรือดำน้ำในวันที่ 26 สิงหาคม ออกไป จนต้องมาพิจารณากันในวันนี้
การเลื่อนจ่ายค่างวดในปีนี้ออกไปทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่าเป็นเพราะทนกระแสต่อต้านจากสังคมไม่ไหวเลยต้องกลับลำในการตัดสินใจจากฝั่งรัฐบาล เป็นข้อพิสูจย์ว่าที่กองทัพเรือชอบอ้างว่าทำ MOU กับประเทศจีน ไม่สามารถเลื่อนได้ จริงๆ นั้นเลื่อนได้ หากนายกรัฐมนตรีสั่งการมา อีกทั้งในสัญญาก็ไม่ได้ปรากฎข้อความตามที่กองทัพเรือกล่าวอ้างในเรื่องความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศจีนหากมีการเลื่อนการจัดซื้อในปีนี้แต่อย่างใด รวมถึงในสัญญาก็ไม่ได้มีการระบุพันธะผูกพันให้ต้องซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 แต่อย่างใดด้วย
และการที่นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณให้มีการเลื่อนการจัดซื้อ ไม่ได้เป็นเพราะนายกรัฐมนตรีมองกาลไกลหรือเห็นว่าเรือดำน้ำไม่มีความจำเป็นในสภาวะที่ประชาชนกำลังบากเพราะก่อนหน้านี้ก็ยังให้สัมภาษณ์เสียงแข็งว่าต้องจัดซื้อ ยิ่งไปกว่านั้นหากมองเห็นความลำบากของประชาชนและมองกาลไกลคงไม่ปล่อยให้ล่วงเลยมาจนวันนี้ แต่เป็นเพราะพี่น้องประชาชนและพรรคฝ่ายค้านร่วมกันกดดันเรียกร้อง แสดงความไม่เห็นด้วยในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ทำให้รัฐบาลกลัวกระแสสังคม กลัวพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคที่ทนกระแสสังคมไม่ไหวจนโหวตสวนมติ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเอกภาพของรัฐบาล และกลัวความไม่พอใจของพี่น้องประชาชน ที่จะกลายเป็นกระแสสังคม “น้ำผึ้งหยดเดียว” กดดันจนนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้
สุดท้ายนี้แม้รัฐบาลที่ทนกระแสกดดันจากสังคมไม่ไหวจนจะต้องเลื่อนการจ่ายค่างวดเรือดำน้ำในปีนี้ออกไปก่อน แต่ทางพรรคก้าวไกลเห็นว่าหากเศรษฐกิจของประเทศชาติยังไม่ดีขึ้น และยังมีพี่น้องประชาชนที่ยังลำบากต้องตกงานเป็นจำนวนมาก พวกเราก็เห็นว่าการซื้อเรือดำน้ำยังไม่ควรจัดซื้อเป็นอย่างยิ่ง ควรนำงบประมาณไปใช้ในส่วนที่มีความจำเป็นต่อประเทศชาติและของประชาชนมากกว่า
ในโอกาสนี้พรรคก้าวไกล ขอขอบพระคุณประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศนี้ทุกท่าน ที่ใส่ใจและร่วมกันส่งเสียงเรียกร้องปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติจนรัฐบาลยอมถอยในเรื่องนี้ พวกเราพรรคก้าวไกลจะร่วมต่อสู้และยืนเคียงข้างพี่น้องประชาชนในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติสืบไป