ถึงเวลาล้างมรดกบาป! ก้าวไกลพร้อมร่วมกับประชาชนล้างผลพวงประกาศ-คำสั่ง คสช.
“ตลอดช่วงเวลาของการครองอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีประกาศ คำสั่ง คสช. จำนวนมากที่มีเนื้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดหลักนิติธรรม ขัดหลักความยุติธรรม ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน…”
“…ในขณะที่ประเทศไทยกำลังทยอยเข้าสู่ระบบปกติ จึงไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องคงประกาศและคำสั่งนี้ไว้ เพื่อให้ประเทศไทยได้เริ่มต้นกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยและยึดมั่นในหลักนิติธรรมอย่างแท้จริง”
นี่คือส่วนหนึ่งของหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. …. ซึ่ง ปิยบุตร แสงกนกกุล กับคณะ เป็นผู้เสนอ ตั้งแต่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2562
เวลาผ่านมากว่า 2 ปี ในที่สุด วาระประชาชนก็มาถึง ร่างกฎหมายยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ถูกบรรจุระเบียบวาระไว้ในที่สุดก็กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภา ร่วมกับร่างยกเลิกคำสั่ง คสช. ของประชาชน ที่มีนายจอน อึ๊งภากรณ์ (iLaw) กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 12,609 คน เป็นผู้เสนอ
📌 เราเสนอยกเลิกคำสั่ง คสช. อะไรบ้าง?
1) คำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการลิดรอนเสรีภาพ
ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง, ประกาศเรียกบุคคลมารายงานตัว, ประกาศให้บุคคลที่ไม่มารายงานตัวเป็นความผิด, การดูแลสอดส่องการใช้สื่อออนไลน์, คำสั่งดำเนินการกับการกระทำที่เป็นการบ่อนทำลายความเรียบร้อยของชาติ, และคำสั่งให้ทหารเป็นพนักงานในการรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งคำสั่งเหล่านี้ หลายเรื่องไม่มีผลบังคับใช้แล้ว แต่ยังไม่เคยมีกระบวนการชำระกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมเหล่านี้เลย
2) คำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการผังเมือง ที่ดิน และสิ่งแวดล้อม
- คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 18/2557 เรื่อง การเร่งรัดจัดหาที่ดินเพื่อใช้พัฒนาประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีผลให้ถอนสภาพที่ดินต่างๆ และให้ที่ดินเหล่านั้นเป็นที่ราชพัสดุ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
- คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 และ 4/2559 ที่ยกเว้นการใช้กฎหมายผังเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่เปิดทางไปสู่การเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมไปสู่พื้นที่อุตสาหกรรมได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปกติที่มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน
- คำสั่ง คสช. ที่ 9/2559 เรื่อง แก้กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่เปิดช่องให้การก่อสร้างโครงการที่มีผลกับสิ่งแวดล้อมทำไปพลางก่อนได้โดยที่ยังไม่ต้องผ่านการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)
- คำสั่ง คสช. ที่ 31/2560 เรื่อง การใช้ที่ดินตามกฎหมาย สปก. เพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ที่อนุญาตให้นายทุนสามารถใช้ที่ดิน สปก. ไปทำกิจการอื่น และสามารถให้ประชาชนออกจากที่ดิน สปก. นั้นได้
📌 สัปดาห์นี้ คือสัปดาห์ที่เป็นหมุดหมายของการล้างมรดก คสช.
รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สัปดาห์นี้ถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญในการล้างมรดก คสช. เนื่องจากทาง iLaw ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนที่ต้องการ ‘รื้อมรดกคสช.’ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่าร่างกฎหมายดังกล่าว ได้ถึงคิวการพิจารณาและจะบรรจุในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 นี้
ตนและพรรคก้าวไกลขอสนับสนุนร่างกฎหมายของประชาชนและการอภิปรายที่กำลังจะมีขึ้นในครั้งนี้อย่างเต็มที่ พร้อมกันนี้อยากเชิญชวนให้สื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนติดตามการอภิปราย เพื่อช่วยกันส่งเสียงไปให้ถึง ส.ส. ในสภาทุกคน ให้มาร่วมกับประชาชนในการปลดอาวุธ คสช. ที่ยังคงอยู่
“ถึงแม้ว่าตอนนี้ คสช.จะหมดสถานะไปแล้วในทางกายภาพ แต่ในความเป็นจริงยังมีวิญญาณร้ายสิงอยู่ผ่านประกาศคำสั่งทั้งหลายที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ทำให้มีผลบังคับใช้ตลอดไปจนกว่าจะถูกยกเลิก ซึ่งช่องทางการยกเลิกในระบบประชาธิปไตย ก็คือการเสนอให้รัฐสภาออกพระราชบัญญัติมายกเลิก”
“หากมรดกบาปเหล่านี้ยังอยู่ ประเทศไทยจะไม่อาจกลับคืนสู่สภาวะปกติ เป็นประชาธิปไตยที่ยืนอยู่บนหลักนิติรัฐได้เลย”