free geoip

เดินหน้าปลดอาวุธ ล้างมรดกบาป คสช.


‘ก้าวไกล’ เดินหน้า ล้างมรดก คสช. : สรุปเนื้อหาบัญชีมรดกบาปทั้งหมด โดย ส.ส. พรรคก้าวไกล

ประกาศคำสั่ง คสช. ส่งผลต่อประเทศและประชาชนในหลายมิติ ถึงแม้ร่างกฎหมายรื้อมรดก คสช. จะไม่สามารถลงมติได้เมื่อวาน (8 ธันวาคม 2564) เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ แต่พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่าเราจะเดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อสานต่ออุดมการณ์อนาคตใหม่ ล้างมรดก คสช. ออกไปจากการเมืองไทย และนี่คือการรวมเนื้อหาการอภิปราย ยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. ของ ส.ส. พรรคก้าวไกล


“ให้อำนาจทหารล้นฟ้า แทรกแซงการทำงานทุกองค์กร” : ธีรัจชัย พันธุมาศ, พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ, ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์, สมเกียรติ ถนอมสินธุ์

คำสั่ง ที่ 3/2558 และ 13/2559 เป็นคำสั่งที่ให้อำนาจให้แก่คนไม่เหมาะสมมาคุกคามหรือควบคุมกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย และเรื่องอื่นๆ สามารถใช้มาตรา 44 ให้อำนาจนายทหารตามที่ คสช. มอบหมาย มาตรวจสอบ สอบสวน ข่มขู่คุกคามประชาชน เทียบการใช้อำนาจตุลาการของศาล

คำสั่งเหล่านี้ยังคงให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไม่เกิน 7 วันในสถานที่ลับ ซึ่งเป็นการกระทำที่เกินของอำนาจตามหลักกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทหารยังสามารถใช้อำนาจนี้ได้ ถัดจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อมีการยกระดับเป็นการละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง

ไม่เพียงใช้อำนาจในคำสั่งเหล่านี้ เพื่อจัดการผู้เห็นต่างทางการเมืองเท่านั้น แต่คำสั่ง คสช. ยังวางกลไกให้ทหารเข้าไปแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานปกติหรือท้องถิ่นด้วย เช่น การดูแลวินมอเตอร์ไซค์และรถตู้ ที่ดูแลโดยกรมขนส่งทางบก หรือการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ของ อปท. ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญามาตรา 113



“จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน” : ปดิพัทธ์ สันติภาดา

ประกาศ คสช. ที่ 14/2557 ห้ามสื่อมวลชนสัมภาษณ์บุคคลที่สร้างความขัดแย้งหรือก่อให้เกิดความสับสน ซึ่งสิ่งเหล่านี้นี้ส่งผ่านไปถึง กสทช. ในปัจจุบัน จากเหตุการณ์ที่ พล.ท.พีรพงศ์ มานะกิจ เรียกสื่อมวลชนเข้าไปหารือ และใช้อำนาจให้สื่อมวลชนไม่เสนอข่าวสาร ‘ล้มล้างการปกครอง’ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน 10 ข้อ รวมถึง ‘บุคคลที่เข้าข่ายมีแนวคิดแบบเดียวกัน’

นี่คือวัฒนธรรมที่ทำให้เรามีสิทธิเสรีภาพสื่อต่ำกว่าเมียนมาและอัฟกานิสถาน



“ล้วงข้อมูลโซเชียลมีเดีย ทำลายเศรษฐกิจดิจิทัล” : วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

คำสั่ง คสช. ที่ 26/2557 สอดส่องการใช้สื่อโซเชียล ของประชาชน ให้อำนาจรัฐมนตรี DE ทำหน้าที่แทนศาล ใช้อำนาจสอดส่องประชาชน หากพบว่าข้อมูลใดเชิงปลุกระดม ยั่วยุ ต่อต้าน คสช. สามารถระงับการเผยแพร่ได้เลย ซึ่งเป็นการละเมิดหลักนิติรัฐอย่างร้ายแรง

ถ้าเราไม่ยกเลิกคำสั่งนี้ จะเป็นอุปสรรคในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่หัวใจความมั่นคงไซเบอร์อยู่ที่การ “การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” และคำสั่งนี้ เกิดขึ้นมาเพื่อทำลายเศรษฐกิจดิจิทัลโดยสิ้นเชิง



“อีอีซี เอื้อทุนใหญ่” : เบญจา แสงจันทร์

คสช. พยายามผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศ รวมถึงอีอีซี ด้วยการยกเว้นกฎหมายผังเมือง หรือเรียกว่าเป็นการให้อำนาจรัฐไปจับมือนายทุนเพื่อช่วงชิงทรัพยากรอย่างเป็นระบบ นายทุนเหล่านี้ล้วนได้สิทธิพิเศษ และเข้าไปนั่งบริหารในโครงสร้างพิเศษเพื่อมีอำนาจเต็มในการออกนโยบายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้คนแค่ 10 % เสียงดังกว่าคนอีกหลายสิบล้านคนในประเทศ ด้วยการใช้กฎหมายไล่ยึด ฟ้อง รื้อ เวนคืนที่อาศัยประชาชน



“ยกเว้นผังเมือง เอื้อโรงไฟฟ้าขยะ สร้างมลพิษ” : นิติพล ผิวเหมาะ, กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี, จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ, คำพอง เทพาคำ

คำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 และ 9/2259 ให้ยกเว้นผังเมือง คือประตูวิเศษ ตั้งโรงไฟฟ้าขยะโดยไม่ต้องทำ EIA ทำให้โรงไฟฟ้าขยะเกิดได้ทุกที่แม้กระทั่งพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่สีเขียว ทำให้สิ่งแวดล้อมไทยเละมาจนถึงทุกวันนี้

การตั้งโรงไฟฟ้าขยะง่ายเกินไป ทำให้ไม่มีการคัดแยกขยะที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากพอให้ได้เชื้อเพลิง RDF ที่มีคุณภาพ ผลคือประเทศไทยต้องนำเข้าขยะจากต่างประเทศ เป็น คำสั่ง คสช. ขยะ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของคนไทย

นอกจากนี้ คำสั่งการยกเว้นดังกล่าว ยังเอื้อต่อโรงงานจัดเก็บสารเคมีอันตรายต่างๆ ให้ตั้งได้ใกล้เขตชุมชนโดยย่อหย่อนกระบวนการตรวจสอบ ดังที่เคยเกิดเหตุโรงงานหมิงตี้ระเบิด นอกจากนี้ยังพบความไม่ปกติเพราะของหลายโรงงานที่การก่อตั้งแบบง่ายๆ มักมีความสัมพันธ์เป็นครือญาติของบุคลากรระดับสูงของกองทัพ



“ทวงคืนผืนป่า ทำลายชีวิตคน” : มานพ คีรีภูวดล, อภิชาติ ศิริสุนทร

คำสั่งที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชาชนทั่วประเทศคือ ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ ที่ให้อำนาจคนเพียง 17 คน เข้าไปจัดการทรัพยากร โดยให้ กอ.รมน. มีอำนาจเต็มในการสั่งจำคุกประชาชนที่อาศัยทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ถึงแม้คำสั่งเหล่านี้จะยกเลิกไป แต่อำนาจยังฝังอยู่ในรูปแบบของกฎหมายคือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า รวมถึงระดับอนุบัญญัติที่ทำให้ประชาชนไร้สิทธิในการมีที่ทำกินและปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยสิ้นเชิง

ที่สำคัญ คือ ถึงคำสั่งจะยกเลิกไปแต่คดียังอยู่ ยังมีประชาชนถูกจำคุกจนบ้านแตกสาแหรกขาด ขณะนี้ ประชาชนที่อาศัยในเขตป่าถูกดำเนินคดีไปแล้วเกือบ 30,000 คดี และเป็นประชาชนที่ไร้ที่ดินทำกินอาศัยในที่ดินของรัฐทั้งสิ้น ไม่มีนายทุนอยู่ในนั้น และถ้ายังดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป ประชาชนกว่า 10 ล้านคนในประเทศที่อาศัยในเขตป่าทั้งหมดจะต้องถูกดำเนินคดี



“คำสั่ง คสช. คือสารตกค้างทำลายระบอบประชาธิปไตย” : วุฒินันท์ บุญชู

คณะรัฐประหารตั้งตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ด้วยการออกคำสั่งหลายร้อยฉบับมารองรับอำนาจที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง คำสั่ง คสช. ที่ 3/58 ทำลายสิทธิเสรีภาพประชาชนมากที่สุดฉบับหนึ่ง กีดกันประชาชนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 60 ที่เป็นการสืบทอดอำนาจไว้ในนั้น คำสั่ง คสช. หลายฉบับยังเป็นสารตกค้างทำลายล้างระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสภาในฐานะตัวแทนของประชาชน ต้องการเอาอำนาจประชาชนที่มอบให้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน

“สิ่งเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าผลพวงจากประกาศ คำสั่ง คสช. และ คำสั่งหัวหน้า คสช. มีคนที่เจ็บจริง หายจริง มีคนที่อยู่ในคุก และมีคนเสียชีวิตจริง ส่งผลร้ายลึกทำให้เยาวชนคนหนุ่มสาวเห็นว่า จำเป็นต้องย้ายออกจากประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแห่งนี้”

“ยามใดที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเต็มตัว เราจะไม่มีการรัฐประหาร การรัฐประหารย่อมไม่เป็นรัฏฐาธิปัตย์อีกต่อไป ถ้าท่านเชื่ออย่างที่พวกเราเชื่อ ผมขอให้สภายอมรับหลักการในร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้”

ณัฐวุฒิ บัวประทุม

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า