free geoip

ความมั่นคงในที่ดินที่หายไป เพราะการนั่งเขียนแผนที่ในห้องแอร์

ปัญหา “คนรุกที่ป่า” เป็นหนึ่งในปัญหาที่สร้างความสับสนงุนงงให้กับเราได้เสมอ โดยเฉพาะเมื่อเรื่องราวของการ “ทวงคืนผืนป่า” ที่ออกมาในสมัยรัฐบาล คสช. ตามหน้าข่าวต่างๆ มักชี้นำสังคมไปในทิศทางที่ทำให้เราเชื่อว่ากรณีเหล่านั้นเกิดจากการ “บุกรุก” ของคนเข้าไปในป่าเสมอ

แม้กรณีเช่นนั้นจะไม่ใช่ไม่มีอยู่เลย แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วหลายกรณีจำนวนมากคือการที่ป่ารุกมากินพื้นที่ทำกินของคนต่างหาก หรือหากจะให้พูดในทางรูปธรรมที่สุด นั่นก็คือการที่รัฐออกประกาศ คำสั่ง มติต่าง ๆ ขีดเส้นบนแผนที่ให้พื้นที่หนึ่ง ๆ กลายเป็น “ป่า” ขึ้นมา โดยไม่นำเอาข้อมูลจากการลงสำรวจพื้นที่จริงมาพิจารณา กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ในทุกภูมิภาคมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นเต็มไปหมด และในหลายกรณีนำไปสู่การไล่คนออกจากพื้นที่ ตัดโค่นทำลายพืชสวนพืชไร่ของชาวบ้าน และการดำเนินคดีต่อประชาชนโดยรัฐ

กรณีที่เราจะหยิบยกมาเล่าสู่กันให้ฟังในวันนี้ เป็นกรณีที่นับได้ว่าแปลกประหลาดพิสดารอย่างยิ่ง แม้จะไม่ได้มีผลตามมาอย่างเลวร้ายเท่าหลายกรณีที่รัฐใช้กำลังบังคับไล่คนออกจากพื้นที่ แต่ก็เป็นกรณีที่ทำให้ความมั่นคงในผืนดินทำกินของประชาชน ต้องแขวนชะตากรรมเอาไว้อยู่บนเส้นด้าย นั่นคือกรณีของพื้นที่ใน ต.คลองทราย อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร ซึ่งหากดูบนแผนที่ผังเมืองรวม จะพบว่ามีการจัดสรรให้เป็น “ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้”

หากฟังตามนี้ เราทุกคนย่อมคิดภาพในหัวว่าพื้นที่ดังกล่าว จะต้องเป็นป่าไม้ มีต้นไม้สูงชันปกคลุมรกทึบ เป็นพื้นที่ภูเขาหรือเนินเขา ตามแบบฉบับของป่าไม้โดยทั่วไป แต่นับตั้งแต่วินาทีที่ ดุษฎี บัวเขียว ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล เขต 2 จ.พิจิตร ขับรถพาพวกเราเข้าเขตพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่เริ่มต้นจนจบการสำรวจ เรากลับพบว่าพื้นที่ทั้งหมด ช่างห่างไกลจากคำว่า “ป่า” อย่างมาก

สภาพพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตป่า

สวนมะม่วง นาข้าว แปลงผัก บ้านเรือน ร้านค้า ชุมชน เรียงรายสลับตัวไปมาไม่ต่างไปจากพื้นที่เกษตรกรรมในชนบททั่วไปเลยแม้แต่นิดเดียว ภาพถ่ายทางอากาศจากโดรนที่เรานำมาบินก็ฉายภาพมุมกว้างที่ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว และภาพจากแผนที่กูเกิลก็สำทับข้อเท็จจริงนี้ซ้ำลงไปอีก เมื่อกางเทียบดูกับแผนที่ผังเมืองรวม ที่ไม่มีอะไรไปมากกว่าสีและเส้น ก็ยิ่งเป็นภาพที่ขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด

ที่ดินของลุงสมใจ จินาพงษ์ศิริ เป็นหนึ่งในที่ดินทำกินที่ไม่มีสถานะของเอกสารสิทธิ์อย่างเป็นทางการ แม้เขาจะมีเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3) แต่นั่นก็กลายเป็นเพียงกระดาษที่ไม่มีความหมายกับทางราชการอีกต่อไปแล้ว

ลุงสมใจยังเล่าให้เราฟังอีก ว่าในความเป็นจริงแล้ว พื้นที่ ต.คลองทราย อ.สากเหล็ก แห่งนี้ มีการตั้งถิ่นฐานและทำกินโดยชาวบ้านมาตั้งแต่ราว ๆ ปี 2480 แล้ว ตัวเขาเองซึ่งมีอายุได้ 68 ปีนี้แล้ว ก็ยังเกิดและเติบโตขึ้นที่นี่

ในปี 2509 ซึ่งเป็นปีหมุดหมายเดียวกันที่รัฐได้ประกาศพื้นที่เขตป่าสงวนหลายแห่งในประเทศไทย ก็ได้มีการประกาศเขตป่าสากเหล็ก-ป่าดงทับไทร ขึ้นมาในพื้นที่ ต.คลองทราย พร้อม ๆ กับการที่มีการประกาศเขตป่าลุ่มแม่น้ำวังทองฝั่งซ้าย ขึ้นมาในพื้นที่ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก

ตามมาด้วยการรังวัดพื้นที่สำรวจโดยเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ จนค้นพบว่าในพื้นที่ ๆ มีการประกาศเป็นป่าสากเหล็ก-ป่าดงทับไทรไปแล้วนั้น ความจริงไม่ใช่ จนในที่สุดได้มีการนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาโดยรัฐบาล และนำไปสู่การยกเลิกประกาศให้เป็นป่าสากเหล็ก-ป่าดงทับไทร ในปี 2515 ในที่สุด

จนเมื่อปี 2522 มีการออก นส.3 ให้ประชาชนในพื้นที่เป็นเอกสารสิทธิ์รับรองสิทธิในการใช้ที่ดินทำกิน ตามมาด้วยความพยายามที่จะออกโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชนเป็นเจ้าของในปี 2540-2547 จนได้มีการออกโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชนไปแล้วถึง 80% ของพื้นที่ แต่ในขณะที่กำลังเหลือ 387 แปลงสุดท้าย ก็ได้มีการคัดค้านขึ้นมาว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ “ป่าลุ่มแม่น้ำวังทองฝั่งซ้าย” ขอให้ระงับการออกโฉนดที่ดินให้ประชาชนเสียก่อน

เรื่องการแจกโฉนดที่ดินให้ประชาชนชาวคลองทรายหลายราย จึงถูกระงับไว้ตั้งแต่นั้นมาเป็นเวลากว่า 18 ปี จนในปี 2558 จึงได้มีการมาแจกโฉนดอีกครั้งหนึ่ง แต่หลังจากแจกไปได้เพียง 35 ราย หน่วยงานที่ดินจังหวัดพิจิตรก็ได้ระงับการแจกโฉนดและขอคืนโฉนดที่แจกไปแล้วกลับมาก่อน เนื่องจากเจ้าหน้าที่มาพบภายหลังว่า “แผนที่” ของกรมที่ดินยังคงให้พื้นที่นี้ เป็นป่าลุ่มแม่น้ำวังทองฝั่งซ้ายอยู่

“ปัญหาก็คือไอ้ตอนที่เขาทำแผนที่เนี่ย เขาเขียนแผนที่เลยล้ำเข้ามาในจังหวัดพิจิตร ทีนี้ก็เลยเกิดปัญหา ว่าเขาประกาศเขตป่าแค่ในพิษณุโลก แต่ลากแผนที่เลยเข้ามาในจังหวัดพิจิตร ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าทำไมเขาถึงลากแผนที่เข้ามา”

ลุงสมใจ เล่าให้เราฟังด้วยความคับข้องใจ

นั่นเท่ากับว่าหากวันหนึ่งรัฐตัดสินใจ “บ้าจี้” ยึดเอาตามประกาศป่าไม้ เอาจริงกับการ “ทวงคืนผืนป่า” ขึ้นมาอีก ต้นมะม่วงในสวนของลุงสมใจทั้งหมดรวมทั้งบ้านของลุงสมใจเองด้วย ล้วนแต่อยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกยึด “คืน” กลับไปเป็นเขตป่าอีกครั้ง และอาจจะรวมพื้นที่ของชาวบ้านที่ได้รับโฉนดที่ดินไปแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2522 ด้วย

ที่ดินบ้านลุงสมใจ ซึ่งถูกระบุว่าอยู่ในเขตป่า

แต่แน่นอนว่าในเมื่อสภาพพื้นที่ที่เป็นจริงของพื้นที่เป็นเช่นนี้มานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว คงจะไม่มีใครบ้าจี้ไปพยายามทวงคืนสวนมะม่วงและนาข้าวให้กลายเป็นป่าอีกครั้งหรอก (แต่ก็ไม่แน่ เพราะเราก็ได้เห็นมาตลอด 8 ปีของรัฐบาลนี้แล้ว ว่าพร้อมที่จะบ้าจี้ไปกับมาตรการบ้า ๆ ของรัฐราชการขนาดไหน)

เช่นเดียวกับที่ดินของ ลุงกรพจน์ พันธุ์เลิศไพบูลย์ ที่บ้านของเขาตั้งรายล้อมไปด้วยที่นา ทั้งหมดล้วนแต่อยู่ในเขต “ป่าลุ่มแม่น้ำวังทองฝั่งซ้าย” และปัจจุบันบ้านของกรพจน์เอง ก็ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์อะไรมารับรองสิทธิในที่ดินที่พ่อและแม่ของเขามาลงหลักปักฐานเอาไว้

สิ่งที่เป็นตลกร้ายไม่น้อย คือรายรอบบ้านของลุงกรพจน์ เพื่อนบ้านของเขาถัดไปสามเสาไฟฟ้ามีโฉนดที่ดินอย่างถูกต้อง ในขณะที่บ้านที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งก็ไม่มีโฉนดเหมือนลุงกรพจน์ กลายเป็นสภาพกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบสลับฟันปลากันไปมาแบบแปลกๆ ราวกับว่าทั้งๆ ที่อยู่ในที่เดียวกัน ที่ดินบางผืนเป็นป่าสงวน บางผืนก็ไม่ใช่ป่าสงวน

ลุงกรพจน์ พันธุ์เลิศไพบูลย์ เล่าให้ ดุษฎี บัวเขียว ว่าที่ผู้สมัครเขต 2 พิจิตร ที่บ้านของเขาตั้งรายล้อมไปด้วยที่นา ทั้งหมดล้วนแต่อยู่ในเขต “ป่าลุ่มแม่น้ำวังทองฝั่งซ้าย” และปัจจุบันบ้านของกรพจน์เอง ก็ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์

“อยากบอกว่าให้ชาวบ้านเขาไปเถอะ เผื่อชาวบ้านเขาเดือดร้อนจะเอาไปเข้าธนาคาร ส่วนใหญ่ชาวบ้านก็เป็นเกษตรกรทั้งนั้น ชาวไร่-ชาวนา พอไม่มีที่ดินเป็นเอกสารจริง ๆ ก็เข้าถึงแหล่งทุนไม่ได้ ก็ต้องอยู่อย่างนี้”

ลุงกรพจน์สะท้อนความในใจให้เราฟังด้วยความ “ปลง” หลังจากต่อสู้ผ่านหน่วยงานหลายหน่วยงานมาตั้งหลายสิบปีที่ผ่านมา

นี่คือข้อเท็จจริงที่หากได้มาดูด้วยตาเปล่า ก็เพียงพอแล้วที่จะมาพบว่าพื้นที่คลองทรายนั้นหมดสภาพความเป็นป่ามานานนับครึ่งศตวรรษแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่าก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่าในปี 2509 เสียอีก ยังไม่นับรวมกับการมีเจ้าหน้าที่หน้างานมาทำการสำรวจพื้นที่หลายต่อหลายครั้ง ส่วนราชการที่อยู่ข้างล่างกว่าก็มองเห็น โครงสร้างระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ก็ล้วนแต่มองเห็น และอาจพูดได้เป็นเสียงเดียวกันว่า “นี่มันไม่ใช่ป่า“เสียดายแค่ว่าคนที่มีอำนาจตัวจริง ที่สามารถชี้เป็นชี้ตาย กำหนดให้อะไรเป็นป่าเป็นพงได้ ล้วนแต่นั่งดูแผนที่อยู่ในห้องแอร์ ไม่ใช่หน้างานจริง

“จริง ๆ การประกาศเขตป่า พอประกาศแล้วต้องให้ประชาชนได้รับรู้และมีสิทธิที่ถ้าใครจะค้านก็ให้มาคัดค้านได้ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เคยรู้กันเลย จนมาปี 2540 ที่มีการมารังวัดเขาถึงรู้กัน

คนสำรวจก็สำรวจไป ส่วนคนวาดแผนที่จริงก็ไม่ได้เอาสิ่งที่คนสำรวจมาพิจารณา นั่งวาดอยู่ในห้องแอร์มันถึงเป็นแบบนี้ แล้วก็แก้ไขปัญหาได้ลำบาก แล้วแทนที่เมื่อตัวเองผิดจะยอมรับผิดและทำการแก้ไข แต่กลับโยนความผิดนี้ให้ประชาชนแทน”

ดุษฎีสรุปให้เราฟังถึงสาเหตุที่มาที่ไปของเรื่องนี้ทั้งหมด

สำหรับดุษฎี ในฐานะว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 จ.พิจิตรของเรา ที่ผ่านมาได้พยายามอย่างยิ่งเพื่อให้การต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ทำกินของชาวบ้านคลองทราย ได้ผลสำเร็จอย่างที่ควรได้มาตั้งแต่ปี 2540 และที่ผ่านมาได้เคยนำการประสานงานให้เรื่องนี้ได้เข้าสู่คณะกรรมาธิการที่ดินและสิ่งแวดล้อมของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เป็นประธานคณะ พร้อมพาคณะมารับฟังปัญหาถึงพื้นที่แล้ว

ที่เหลือก็คือเรื่องของการ “ดัน” ให้สุดทาง เท่าที่อำนาจในฐานะฝ่ายค้านของเราจะพอมีอยู่ แม้ความหวังจะไม่มากด้วยเหตุที่รัฐบาลนี้คือรัฐบาลที่ฟังกลไกราชการมากกว่าฟังประชาชนตัวจริง

ความหวังในอนาคตจากนี้ จึงอาจจะขึ้นอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงในอนาคตเสียมากกว่า เมื่อเรามีรัฐบาลที่มาจากประชาชน

“ต้องดันให้ออกโฉนดให้หมด นี่ไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขได้ยากเลย ขอแค่มีอำนาจและความมุ่งมั่น ความกล้าที่จะชนกับพวกรัฐราชการที่นั่งวาดนั่งดูแผนที่อยู่ในห้องแอร์พวกนั้น ผมเชื่อว่าเราจะจบปัญหานี้ได้”

ดุษฎีกล่าวทิ้งท้าย

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า