ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติขนส่งทางบก 2522 ที่นำเสนอโดย สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล คือร่างกฎหมายที่จะนำไปสู่การปลดล็อกอำนาจของท้องถิ่นในอีกเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ นั่นคือเรื่องการบริการขนส่งสาธารณะ
หลายคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องราวของจังหวัดหลายจังหวัด ที่อยากจะทำระบบขนส่งสาธารณะของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโมโนเรลภูเก็ต รถรางขอนแก่น รถไฟฟ้าที่เชียงใหม่ ฯลฯ แต่ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ไม่เคยได้เกิดขึ้นจริงหรือกระทั่งมีแววที่จะเกิดขึ้น
เพราะอุปสรรคที่สำคัญ อยู่ที่รัฐราชการรวมศูนย์ นั่นคือ “กรมการขนส่งทางบก” ที่เป็นหนึ่งในกลไกราชการส่วนกลาง ที่ไม่ยอมอนุมัติ ไม่ยอมพิจารณา และไม่ยอมปล่อยวางเรื่องที่ตัวเองไม่รู้เรื่องจริงๆ เสียที
จริงอยู่ว่าที่ผ่านมา แม้จะมีการถ่ายโอนภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการขนส่งทางบกมาให้ท้องถิ่นบ้างแล้ว เช่น การอนุญาตให้จัดตั้งและจัดให้มีสถานีขนส่งผู้โดยสารภายในเขตจังหวัด และการให้มีใบอนุญาตประกอบการขนส่งในเขตจังหวัดแล้ว แต่อำนาจในการบริหารจัดการของท้องถิ่นยังถูกจำกัดอยู่เฉพาะที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร แต่ไม่มีอำนาจในการบังคับรถโดยสารเข้าใช้สถานีได้ เหมือนกับการให้อำนาจมาเพียงครึ่งเดียวแบบไม่สุด โดยอุปสรรคสำคัญอยู่ที่ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก 2522 ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขนี้เอง
นั่นจึงเป็นที่มาของการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก 23 มาตราในครั้งนี้ ซึ่งมีสาระสำคัญพอจะสรุปใจความออกมาได้ดังนี้:
1) รื้อโครงสร้าง “คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบก” ในแต่ละจังหวัด
เดิมที ผู้ว่าราชการจังหวัดที่แต่งตั้งจากส่วนกลาง จะเป็นประธาน “คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด” แต่ร่างของพรรคก้าวไกลเสนอให้เปลี่ยนเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นประธาน
นอกจากกรรมการจะเป็อัยการจังหวัด ตามกฎหมายเดิมกำหนดไว้ ร่าง พ.ร.บ. นี้ยังให้มีกรรมการเพิ่มเติมประกอบด้วยผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด, ผู้อำนวยการแขวงทางหลวง, ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทจังหวัด, ประธานหอการค้าจังหวัด, ผู้แทนเทศบาลนครและเทศบาลเมืองในเขตจังหวัดไม่เกิน 3 คน และผู้แทนเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตจังหวัดไม่เกิน 5 คน โดยในกรณีจังหวัดชลบุรี ให้มีนายกเมืองพัทยาเป็นกรรมการด้วย
ส่วนของผู้แทนจากนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีที่มาจากเสียงข้างมากของที่ประชุมในการประชุมร่วมกันของนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท ได้แก่ ที่ประชุมร่วมกันของนายกเทศมนตรีแห่งเทศบาลนครทุกเทศบาลนคร และนายกเทศมนตรีแห่งเทศบาลเมืองทุกเทศบาลเมือง เลือกผู้แทนเทศบาลนครและเทศบาลเมืองในเขตจังหวัดไม่เกิน 3 คน
ที่ประชุมร่วมกันของนายกเทศมนตรีแห่งเทศบาลตำบลทุกเทศบาลตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุกองค์การบริหารส่วนตำบล เลือกผู้แทนเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตจังหวัดไม่เกิน 5 คน
พร้อมกันนี้ ยังให้มี “คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกรุงเทพมหานคร” ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ แทนที่ “คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง” โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการ และมีผู้บัญชาการตำรวจนครบาล, ผู้แทนสภากรุงเทพมหานครไม่เกินห้าคน, อธิบดีกรมทางหลวง, อธิบดีกรมทางหลวงชนบท, ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด, และอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นกรรมการ
นี่จะทำให้อำนาจในการกำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่ง และจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทาง และไม่ประจำทางในกรุงเทพมหานคร ไม่ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางอีกต่อไป อันจะทำให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาการให้บริการขนส่งสาธารณะต่อชาวกรุงเทพฯ มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
2) กำหนดบทบาทและอำนาจใหม่ระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ในการจัดการขนส่งสาธารณะ
พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการถ่ายโอนอำนาจจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง มาเป็นอำนาจของท้องถิ่น (ยกเว้นในกรณีการขนส่งระหว่างจังหวัดและการขนส่งระหว่างประเทศ) ได้แก่
2.1) การกำหนดอัตราค่าบริการในการดำเนินการของสถานีขนส่ง, กำหนดสถานที่ จัดให้มีหรือจัดตั้งสถานีขนส่ง, ตรวจสอบการปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับสถานีขนส่งที่กำหนดโดยคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง และกำหนดที่หยุดหรือจอดรถเพื่อรับส่งผู้โดยสาร
2.2) การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ
2.3) การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางภายในจังหวัด
2.4) การออกใบอนุญาตและเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการรับจัดการขนส่ง
2.5) การอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่งภายในแต่ละจังหวัด
2.6) การจัดให้มีสถานีขนส่ง ให้เป็นอำนาจของกรมการขนส่งทางบก หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับจังหวัด
2.7) การกำกับและควบคุมการดำเนินการที่เกี่ยวกับสถานีขนส่ง การบริหารงานที่เกี่ยวกับสถานีขนส่ง การแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลควบคุมและดำเนินการที่เกี่ยวกับสถานีขนส่ง รวมทั้งการแต่งตั้งข้าราชการ ลูกจ้างสังกัดราชการส่วนท้องถิ่น เป็นนายสถานีและเจ้าหน้าที่ประจำสถานี
2.8) การกำหนดอายุของใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการสถานีขนส่ง
2.9) การกำหนดการระวางโทษผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ที่ไม่นำรถเข้าหยุดหรือจอดเพื่อรับส่งผู้โดยสาร หรือขนถ่ายสินค้า ณ สถานีขนส่งตามที่กำหนด
กล่าวโดยสรุป ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีสาระสำคัญ ที่มุ่งหวังให้ท้องถิ่นสามารถจัดทำบริการขนส่งสาธารณะ และจัดการระบบขนส่งสาธารณะในท้องที่ของตนเองภายในแต่ละจังหวัดได้ โดยไม่ต้องรอการอนุญาตจากส่วนกลางที่ “กรมการขนส่งทางบก” ที่เป็นเหมือนคอขวดอีกต่อไป
ประเด็นตั้งต้นสำคัญของเรื่องนี้ คือ เป็นไปได้อย่างไร ที่กรมการขนส่งทางบกที่ส่วนกลาง จะรู้เรื่องความต้องการในการเดินทางของประชาชนในแต่ละจังหวัดได้อย่างละเอียด ในเมื่อพวกเขาที่มีอำนาจตัดสินใจล้วนไม่ใช่คนที่ต้องอยู่กับปัญหาทุกวัน คอยแต่รออ่านเอกสารที่ส่วนภูมิภาครายงานขึ้นมาแล้วจรดปากกาเซ็นอนุมัติหรือไม่อนุมัติ และสุดท้ายโครงการต่างๆ ที่ประชาชนตั้งตารอ อยากเห็นการบริการขนส่งสาธารณะ จึงไม่ได้เกิดขึ้นเสียที
แต่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล จะเปิดทางให้ความฝันของแต่ละท้องถิ่นที่จะจัดบริการขนส่งของตัวเองได้โดยไม่ต้องง้อส่วนกลาง จะขยับเข้าใกล้ความเป็นจริงได้มากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งทุกคนสามารถเข้าไปร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บไซต์ของรัฐสภา ที่นี่ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=219
ความเห็นของทุกคน จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎรอภิปรายร่างนี้ โดยยึดโยงกับความเห็นของประชาชน
การเดินทางคือสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในทุกประเทศบนโลกใบนี้ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย แต่นี่คือสิ่งที่ประชาชนคนไทยทั้งมวลโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ถูกจำกัดสิทธิ์เป็นอย่างยิ่งโดยกลไกรัฐราชการส่วนกลางที่ขาดความเข้าใจในความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่
นี่คือการ “ปลดล็อกท้องถิ่น” ครั้งสำคัญ ในเวอร์ชั่นขนส่งสาธารณะ ที่พรรคก้าวไกลมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะผลักดันให้สำเร็จให้จงได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยหลายสิบล้านคนในต่างจังหวัด ให้สามารถได้ใช้บริการขนส่งสาธารณะที่ “คุณภาพดี ราคาถูก เข้าถึงง่าย”