“ก้าวไกล” เปิดตัว “วิโรจน์” แคนดิเดตผู้ว่ากรุงเทพ – “พิธา” ลั่นมีคุณสมบัติพร้อมชนทุกปัญหา – แม้เสียดายงานในสภาแต่ก็อยากเห็นบทบาทใหม่ – ด้านเจ้าตัวโชว์วิสัยทัศน์ ชน 3 ปัญหาหลักกรุงเทพ – หมดเวลาผู้ว่าที่ยอมจำนนปล่อยประชาชนทนรับสภาพ
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 พรรคก้าวไกลจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ภายใต้สโลแกน “หมดเวลาซุกปัญหาไว้ใต้พรม ถึงเวลาเลือกผู้ว่าฯ ที่พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ” ซึ่งก่อนหน้านี้มีการปล่อยแคมเปญดังกล่าวจนเป็นที่จดจำของชาวกรุงเทพมหานครมาแล้ว โดยในวันนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล นำทีม ส.ส. และว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. ของพรรค ร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมหน้า ท่ามกลางสื่อมวลชนที่มารอทำข่าวเป็นจำนวนมาก
“พิธา” เผยสานต่อภารกิจและอุดมการณ์พรรคอนาคตใหม่ “ยุติรัฐราชการรวมศูนย์” ทำงานคู่ขนาน “คณะก้าวหน้า”
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่าตั้งแต่ครั้งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ หนึ่งในภารกิจที่เราตั้งใจจะทำให้สำเร็จ นั่นคือการยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ปลดปล่อยศักยภาพของคนไทยผ่านการมีผู้บริหารท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ มีวิสัยทัศน์ มีอำนาจในการออกแบบอนาคตของแต่ละท้องถิ่นให้สอดคล้องกับความต้องการ ความฝันของคนในพื้นที่ และเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ เราขับเคลื่อนกันต่อในนามของพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า ภารกิจนี้ยังคงเป็นภารกิจหลัก คณะก้าวหน้าทำงานการเมืองท้องถิ่นในทุกระดับทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้เข้าไปช่วยสนับสนุน ช่วยบริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นในระดับเทศบาล 16 แห่ง และ อบต. 38 แห่งทั่วประเทศ เริ่มมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ภายในเวลาเพียงไม่ถึงปี ไม่ว่าจะเป็นการทำน้ำประปาดื่มได้ที่ ทต.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด การสร้างรายได้แก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนผ่านการทำท่องเที่ยวชุมชนที่ปงผาง เทศบาลจำบลทากาศเหนือ จ.ลำพูน การบรรจุหลักสูตรโคดดิ้งและเอไอที่โรงเรียนในเทศบาลตำบลด่านสำโรง จ.สมุทรปราการ หรือการสร้างสวัสดิการให้ประชาชนด้วยรายได้จากการรีไซเคิลขยะ ที่เทศบาลตำบลหนองแคน จ.มุกดาหาร ส่วนพรรคก้าวไกลเราได้ขับเคลื่อนงานสภาเพื่อมุ่งแก้ไขกฎหมายที่กดทับศักยภาพท้องถิ่น จำกัดงบประมาณ ทรัพยากรและอำนาจของท้องถิ่น ภารกิจยุติรัฐราชการรวมศูนย์ทำเพียงขาเดียวไม่ได้ ต้องทำจากส่วนบน คือการมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ให้อำนาจท้องถิ่นมากขึ้น และในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างผู้บริหารท้องถิ่นที่มีศักยภาพ ใช้งบประมาณและอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
ชี้ 47 ปี กรุงเทพฯ ความเดือดร้อนประชาชนไม่เคยถูกแก้ – ลั่นต้องการผู้ว่าฯ ที่มีเจตจำนงมุ่งมั่นพร้อมชนทุกปัญหา
พิธากล่าวต่อว่าในบรรดาทุกท้องถิ่น กรุงเทพมหานครในฐานะเมืองหลวง และศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ ได้เลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นมาก่อนที่อื่น เป็นเวลา 47 ปีมาแล้ว ที่ชาวกรุงเทพฯ ได้เลือกผู้ว่าราชการจังหวัดของตัวเอง แต่ตนยังไม่เห็นว่าตลอด 47 ปีที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ได้ทำงานสมกับเป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นตัวแทนของประชาชนที่ทุกข์ยากเดือดร้อน คนกรุงเทพฯ เคยชินกับผู้ว่าฯ ที่บอกว่าทำนั่นไม่ได้ ทำนี้ไม่ได้ นั่นไม่อยู่ในอำนาจ นั่นอยู่นอกเหนือหน้าที่ นั่นก็เป็นที่ของหน่วยงานอื่น ปัญหากรุงเทพฯ จึงเรื้อรังมาหลายสิบปี ฝนตกน้ำท่วม รถติด มลพิษ คลองเน่าเหม็น ค่าครองชีพสูงลิ่ว ขนส่งสาธารณะไม่มีคุณภาพและยังราคาแพง ฟุตบาธเป็นหลุมเป็นบ่อ ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ต้องใช้ความรู้ความสามารถวิเศษวิโส หรือนวัตกรรมชั้นเลิศอะไรในการแก้ไข เป็นปัญหาทั่วไปที่ต้องการผู้ว่าฯ ที่มีเจตจำนงทางการเมืองที่จะสู้เพื่อให้ประชาชนพ้นจากความเดือดร้อน จบปัญหาให้ได้โดยปราศจากข้ออ้างและการผัดวันประกันพรุ่ง ตนเองก็เป็นคนกรุงเทพฯ ตลอดชีวิตไม่เคยเห็นผู้ว่าฯ ที่เป็นแบบนั้น ผู้ว่าฯ ที่ยืดอกปกป้องประชาชน พร้อมชนกับระบบทุจริตคอรัปชั่นภายในกรุงเทพมหานครเอง พร้อมชนกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจทับซ้อนกับกรุงเทพมหานคร จนทำให้กรุงเทพมหานครไม่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้า แก้ปัญหาให้ประชาชนได้ พร้อมชนกับทุนใหญ่ ทุนผูกขาด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครซึ่งมาจากการเลือกตั้ง กลับไม่ต่างจากข้าราชการ ที่ทำงานตามหน้าที่ ตามข้อจำกัด แล้วก็ลงจากตำแหน่งไปเมื่อหมดวาระโดยหลงลืมไปว่าตลอด 4 ปีนั้น ได้อยู่ในตำแหน่งด้วยเสียงจากประชาชน
ส่ง “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” เป็นแคนดิเดตผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เชื่อใจที่สุด – สู้ไม่ถอย – ไม่ทอดทิ้งประชาชน
พิธากล่าวว่าปีนี้กรุงเทพมหานครจะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ อีกครั้ง เป็นการเลือกตั้งที่พิเศษ เพราะเราถูก คสช. แช่แข็ง สั่งให้มีผู้ว่าฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง บริหารกรุงเทพมหานคร ยาวนานถึง 5 ปี เป็นการเลือกตั้งที่เราหวังว่าประชาชนชาวกรุงเทพฯ จะเดินเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งด้วยความรู้สึกใกล้เคียงกับเมื่อครั้งเลือกตั้งมีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งหลังจาก 5 ปีใต้รัฐบาลเผด็จการที่ปล้นชิงอำนาจไปจากประชาชน ครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการเลือกผู้ว่าฯ แต่คือการแสดงพลังอำนาจของประชาชนผู้เสียภาษี ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ว่าเราต้องการผู้ว่าฯ ที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ผู้ว่าฯ หุ่นเชิดเผด็จการ หรือร่างทรงของระบบราชการ และเมื่อเป็นการเลือกตั้งที่พิเศษเช่นนี้ ผู้สมัครของเราจึงต้องพิเศษ ตนไม่ได้หมายความว่าเขาต้องเป็นยอดมนุษย์ที่ทรงพลัง จบปริญญายาวเหยียดหลายใบ แต่ความพิเศษนั้นคือ ต้องเป็นคนที่เชื่อได้สนิทใจ สู้ไม่ถอย ไม่ทอดทิ้งประชาชน เป็นคนที่มีจิตสำนึกเต็มร้อยว่าผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ต้องพร้อมชนทุกปัญหาเพื่อคนกรุงเทพฯ ไม่หวั่นไหวต่ออำนาจเงิน อำนาจมืดอิทธิพลเถื่อนที่จะเข้ามาทำให้เขาต้องโอนอ่อนหรือถอยห่างจากประชาชน
“ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราคัดเลือกทาบทามบุคคลที่มีศักยภาพ มีคุณสมบัติดี พร้อมทำงานเพื่อประชาชน มีอุดมการณ์ตรงกับพรรคจำนวนไม่น้อย แต่สุดท้าย ไม่มีใครที่ผมจะเชื่อใจได้มากไปกว่าเพื่อน ส.ส. ที่เดินร่วมกันมาตั้งแต่วันที่ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ คนที่ฝ่าทุกมรสุมทางการเมืองมาโดยไม่เคยถอยหนี ไม่เคยคลอนแคลนในอุดมการณ์อนาคตใหม่ วันนี้ผมตัดสินใจครั้งสำคัญ ผมขอส่งหนึ่งในคนที่ดีที่สุดของพรรค คนที่เป็นเสาหลักในการต่อสู้ในสภาของเรามาตลอด 3 ปี มาอาสาทำงานให้กับคนกรุงเทพฯ นั่นคือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
พิธา กล่าว
ทั้งนี้ ตอนเลือกตั้งมีนาคม 2562 ไม่มีใครรู้ว่าวิโรจน์เป็นใครมาจากไหน ไม่มีใครโหวตให้พรรคนี้เพราะวิโรจน์ แต่ผ่านไป 3 ปี วันที่มีกระแสข่าวว่าเราจะส่งวิโรจน์ลงผู้ว่าฯ ทุกคนเสียดายที่เขาจะลาออกจาก ส.ส. แต่อย่าลืมว่า ถ้าเราเสียดาย เราก็ไม่มีโอกาสเห็นวิโรจน์ในบทบาทใหม่ ที่จะโดดเด่นอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ใครเสียดายวิโรจน์ในสภา วิโรจน์จะพิสูจน์ให้ทุกท่านเห็นว่าเขาทำงานบริหารได้ดีไม่แพ้งานตรวจสอบรัฐบาลและอภิปราย”
“วิโรจน์” แสดงวิสัยทัศน์ ชน 3 ปัญหาหลักกรุงเทพฯ – หมดเวลาผู้ว่าฯ ที่ยอมจำนนปล่อยประชาชนรับสภาพ
จากนั้น วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ ตอนหนึ่งว่า วันนี้หมดเวลาซุกปัญหาไว้ใต้พรม ถึงเวลาเลือกผู้ว่าฯ ที่พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ ซึ่งถามว่า ทำไมต้องชน ไม่ประสาน ไม่ร่วมมือ ตนอยากถามว่า กับส่วยกรุงเทพฯ จะร่วมมืออย่างไร จะประสานอย่างไร ต้องชนและกำจัดอย่างเดียว ซึ่งทุกคนรู้ดีว่าส่วยกรุงเทพฯ นั้นมีอยู่จริง มันคือปรสิตที่คอยเซาะกร่อนอนาคตคนกรุงเทพฯ ถ้าจัดการได้ กรุงเทพฯ ในหลายมิติจะดีขึ้นโดยอัตโนมัติ ส่วยนี้กัดกินตั้งแต่ประชาชนตาดำๆ พ่อค้าแม่ขายรายเล็กๆ ผู้ประกอบการ เป็นค่าน้ำมันหล่อลื่น เป็นค่าน้ำร้อนน้ำชา เหล่านี้รวมๆ ทั้งปีขั้นต่ำสุด 5 พันล้านบาท สูงสุด 1.5 พันล้านบาท ทั้งๆ ที่งบฯ กรุงเทพฯ 100,000 ล้าน แสดงว่าส่วยนี้มากถึง 15% การใช้ชีวิตค่าครองชีพแพงอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่คนกรุงเทพฯ ต้องจ่ายค่าครองชีพให้กับผู้ใดอีก ตนตั้งคำถามอย่างนี้ว่า นี่คือเรื่องที่เราต้องชนใช่ไหม ซึ่งไม่ต้องห่วงว่าตนจะทำงานกับข้าราชการไม่ได้ เพราะข้าราชการที่ดีมี 90% เขาพร้อมทำงานกับผู้ว่าฯ ที่ตรงไปตรงมา ที่ให้ข้าราชการที่ดีมีโอกาสเติบโต เรามักพูดกันว่าโตไปไม่โกง ถึงเวลาที่ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ต้องพิสูจน์กับข้าราชการว่า ถ้าใครโกงมันไม่โต ผู้ว่าฯ ต้องประกาศให้ชัดว่า ต้องไม่มีการรีดไถในกรุงเทพฯ อีกต่อไป ถ้าผู้ว่าฯ ชื่อวิโรจน์ กรุงเทพฯ ต้องหยุดไถทันที และถ้าใครมีหลักฐานส่งมา ตนจะลากคอมาลงโทษให้ดู
“ชนเรื่องที่สอง คือ ระบบราชการส่วนกลาง ซึ่งเรามีหน่วยงานเยอะแยะเต็มไปหมด ที่ผ่านมาในวิกฤตโควิด กรุงเทพฯ ไม่ได้ขาดแคลนหมอ ไม่ได้ขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ทันสมัย แต่ขาดระบบสาธารณสุขที่ดี ที่ไม่สอดประสานกัน การประสานหาเตียงของโรงพยาบาลที่ไม่บูรณาการกัน ทุกคนคงจำโครงการจองคิวฉีดวัคซีนของกรุงเทพมหานครได้ นั่นคือ ไทยร่วมใจ ที่ให้คนกรุงเทพฯ จองคิวฉีดและประสานร่วมกับร้านสะดวกซื้ออย่างดี แต่สุดท้ายวัคซีนไม่มา ทำให้การฉีดวัคซีนคนกรุงเทพฯ เลื่อนไปเรื่อยๆ คนกรุงเทพฯ เสียโอกาสปกป้องชีวิตตัวเอง เสียโอกาสปกป้องชีวิตคนที่เรารัก แล้วผู้ว่าฯ ก็ยอมรับชะตากรรม ไม่ออกมาปกป้อง ลอยแพคนกรุงเทพฯ ให้ผจญกับโรคระบาดตามยถากรรม ซึ่งด้วยข้อจำกัดจากส่วนกลางที่ล่าช้า ทำให้เราเห็นคนกรุงเทพฯ มานอนข้างกำแพงวัดเพื่อรอตรวจ และก็มีเสียชีวิตอย่างที่ไม่ควรจะตาย ผู้ว่าฯ ยอมรับสภาพจากส่วนกลางที่เละ ยอมจำนน ยอมปล่อยให้เผชิญอย่างนั้นเหรอ ถ้าผู้ว่าฯ ชื่อวิโรจน์ คนนี้พร้อมชนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียกว่าพร้อมชนไม่ถูก เพราะชนมาแล้ว ไม่ได้กลัวเพราะไม่ใช่ชนส่วนตัว แต่ชนเพื่อรักษาชีวิตประชาชน นี่คือเรื่องพื้นฐานที่สุดสำหรับคนเป็นพ่อเมือง”
วิโรจน์ กล่าว
หยุดอ้าง ผู้ว่าฯ ไม่มีอำนาจ “ขุดถนน – น้ำท่วมซ้ำซาก – อุบัติเหตุคนเดินถนน” ต้องจบ
วิโรจน์กล่าวอีกว่า ไม่ใช่แค่เรื่องโควิด แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เจอทุกวันอย่างทางเท้า หลายคนพูดว่าเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบ การก่อสร้างให้คงทนถาวร แต่ปัญหาแท้ที่จริง คนกรุงเทพฯ ทุกคนกำลังเจอปัญหากับนักขุดซึ่งมาจากหลายหน่วยงาน ถ้าแก้ปัญหานักขุดไม่ได้ ต่อให้สร้างดีอย่างไรก็ถูกขุดเละเหมือนเดิม ทั้งท่อประปา เสาไฟลงดิน ซ่อมบำรุงต่างๆ ซึ่งเรารู้ว่านัดให้มาขุดพร้อมกันทำยาก และการขุดเพื่อสาธารณูปโภคทำได้ แต่ขุดแล้วต้องส่งคืนในสภาพที่ดี ถ้าไม่ดีต้องแก้ ถ้าแก้ไม่ได้ผู้ว่าฯ ต้องกล้าปรับไม่ใช่รับสถาพ ถ้ารับสภาพก็หมายถึงว่าให้ยอมรับว่าเป็นวิถีประจำวัน ยอมรับว่าเป็นปกติ ซึ่งไม่ใช่ผู้ว่าฯ ที่ชื่อวิโรจน์ หรือเรื่องน้ำท่วมชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งท่วมที่เดิมทุกปี กรุงเทพมหานครก็เอากระสอบทรายมาเรียงให้ทุกปี โดยไม่เอะใจว่าทำไมไม่สร้างพนังกันน้ำ คำตอบคือบอกว่าอำนาจไม่อยู่ที่ผู้ว่าฯ ถามว่าแล้วผู้ว่าฯ ไม่คิดจะคุย ไม่คิดทลายข้อจำกัดเลยเหรอ ต้องทะลุข้อจำกัดเพื่อแก้ปัญหาประชาชนให้ได้ พอกันที่กับกระสอบทรายรายปี
ยังมีเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับคนเดินถนนปีหนึ่งกว่า 800 คดี ที่น่าหดหู่ใจคือมีคนโดนรถชนเสียชีวิตบนทางม้าลายคนข้าม สิ่งที่ผู้ว่าฯ ทำได้ทันทีคือปรับปรุงทำทางคนข้าม 4,000 แห่งทั่วประเทศ เส้นเตือนต้องชัด สัญญาณไฟคนข้ามต้องมี เป็นต้น และสิ่งที่ผู้ว่าฯ ต้องทำให้ได้แม้ไม่มีอำนาจคือการคุยกับกองบังคับการตำรวจจราจร ให้บังคับใช้ พ.ร.บ. การจราจรทางบก ทางม้าล้ายต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนเดินถนน คนขับรถต้องชะลอรถ ผู้ว่าฯ จะบอกว่าไม่อยู่ในอำนาจแล้วไม่ทำไม่ได้ คุณปล่อยให้มีคนตายบนทางม้าลายไม่ได้
“ตรงนี้ คำว่าชนของเราหมายความว่าเราต้องไปประสาน แต่ประสานแล้วไม่มีความคืบหน้า ปล่อยให้ชีวิตคนกรุงเทพฯ ยังเป็นแบบเดิมไม่ได้ ต้องตาม ต้องจี้ ทำแล้วไม่ดีให้กลับมาทำใหม่ เพราะทุกครั้งที่ผู้ว่าฯ ยอมจำนนคือการลอยแพ คือการให้มองปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ และใครไม่พอใจก็ควักกระเป๋าใช้เงินแก้ปัญหาให้กรุงเทพฯ เอง ผู้ว่าฯ ที่ชื่อวิโรจน์ไม่ใช่แบบนั้น เพราะเรื่องนี้ ต่อให้นโยบายของผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครดีเลิศแค่ไหน แต่ทว่าเกรงใจทุกหน่วยงาน แต่ไม่เกรงใจคนกรุงเทพฯ ขับเคลื่อนไม่ได้ ปัญหาคนกรุงเทพฯ ไม่จะถูกแก้ แต่จะแก้แบบปะผุ แบบนี้ไปเรื่อยๆ”
วิโรจน์ กล่าว
พร้อมชน “นายทุน” เปิดสัญญาลึกลับรถไฟฟ้าสายสีเขียว – แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยราคาแพง
วิโรจน์กล่าวอีกว่า ชนเรื่องที่ 3 คือชนกับนายทุน ผู้ว่าฯ ต้องพร้อมเป็นกันชนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ ไม่ให้ถูกเอาเปรียบโดยนายทุน เช่น เรื่องรถไฟฟ้าราคาแพง ซึ่งเราแพงกว่าสิงคโปร์ ฮ่องกง และอีกหลายๆ เมือง แต่เราก็ต้องจ่ายเพราะอยากได้การเดินทางที่ดี และทุกคนรู้ว่าสัญญาสัมปทานนี้พัวพันกว่า 10 ฉบับ และรู้ว่าวันนี้กรุงเทพมหานครมีรถไฟฟ้าสายเขียว และค้างค่าจ้างเดินรถ คำถามเกิดขึ้นใจทันทีคือ ถ้าเป็นหนี้ถึง 37,000 ล้าน แล้วคนกรุงเทพฯ ได้ขึ้นรถเท่าเทียวกันก็ว่าไปอย่าง แต่นี่ยังมีคนที่ไม่ได้ขึ้นเพราะจ่ายไม่ไหว แล้วจะมีประโยชน์อะไรที่กรุงเทพฯ จะได้รับการจัดลำดับว่ามีระบบรางยาวเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ขณะที่ลูกตาสีตาสา มนุษย์เงินเดือนนั้นขึ้นไม่ได้ ตนเชื่อว่าวันนี้ คนกรุงเทพฯ ไม่ได้ต้องการผู้ว่าฯ ที่สร้างรถไฟฟ้า แต่คนกรุงเทพฯ ต้องการผู้ว่าฯ ที่ทำให้คนกรุงเทพฯ ขึ้นรถไฟฟ้าได้ต่างหาก ถ้าผู้ว่าฯ ชื่อวิโรจน์ แม้มีอำนาจจำกัด สายสีเขียวต่อขยายสัญญาลึกลับดำมืดนี้จะต้องเปิดเผยทันที และต้องเปิดเพราะสัญญาฉบับนี้เกี่ยวข้องกับคำสั่ง คสช.3/2562 ต้องเปิดดูว่าตกลงอะไรกันไว้ ถ้าไม่เปิด ปัญหาเหล่านี้แก้ไม่ได้เลย นี่คือสิ่งที่ผู้ว่าฯ ต้องกล้าทำ จากนั้น ผู้ว่าฯ ต้องพร้อมเป็นหัวหอกให้เกิดตั๋วร่วมในกรุงเทพฯ จะสำเร็จหรือไม่ เจอตออะไรหรือไม่ หรือติดอะไรไม่รู้ แต่ต้องไม่ติดที่ผู้ว่าใส่เกียร์ว่างเพราะนายทุนเอาเงินมาปิดปาก
“ในส่วนเรื่องที่พักอาศัย คนกรุงเทพฯ ทุกวันนี้หลายคนเงินเดือนวิ่งตามที่พักอาศัยไม่ทัน จึงทำให้ต้องหนีออกไปไกลเรื่อยๆ และสุดท้ายนายทุนก็กว้านซื้อที่ใจกลางเมืองทำห้างสรรพสินค้า ทำคอนโดมิเนียมหรูขายให้ชาวต่างชาติ ถ้าผู้ว่าฯ ชื่อวิโรจน์ จะต้องสร้างที่อยู่อาศัยที่คนกรุงเทพฯ จ่ายไหว ซึ่งเรื่องนี้ แม้จะยากและหลายเรื่องเกินอำนาจ แต่ผู้ว่าฯ จะอยู่เฉยๆ แล้วให้คนกรุงเทพฯ ถูกไล่ออกจากกรุงเทพฯ อย่างนี้ไม่ได้ ต้องส่งเรื่องนี้่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติแก้ให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจ และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครทำงานคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องมี ส.ส. อย่าง ส.ส.พรรคก้าวไกลในสภา และเราจะทำงานสอดประสานกัน เพราะเราทำงานเป็นทีม และนี่คือ 3 เรื่องที่ต้องชน”
วิโรจน์ กล่าว
ให้สโลแกนใหม่ “กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่หมดตัว” ชี้ “สาธารณสุข – การศึกษา” สารพัดค่าใช้จ่าย
วิโรจน์กล่าวว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีสิ่งดีๆ อยู่เต็มไปหมด เพียงแต่คุณต้องมีเงินจ่าย เพราะถ้าไม่จ่ายก็เจอบริการสาธารณะห่วยๆ บริการพื้นฐานแบบตามมีตามเกิด จนกลายเป็นชีวิตประจำวัน แต่เมื่อทนไม่ได้ก็ต้องควักเงินจ่ายเพื่อแก้ปัญหาด้วยตัวเองจนเคยชิน จนคิดว่าเป็นเงื่อนไขของกรุงเทพมหานครไปแล้ว คำว่า ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ หรือที่จริงแล้วเป็น ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่หมดตัว’ กันแน่ ไม่จ่ายต้องเจ็บและชินไปเอง ยกตัวอย่าง กรุงเทพมหานครมีโรงพยาบาล มีแพทย์เฉพาะทาง 24 ชั่วโมง ถ้าคุณมีเงินจ่าย แต่ถ้าคุณไม่จ่ายก็ต้องทนกับศูนย์บริการสาธารณสุขแบบที่เป็นอยู่ หรือเบียดเสียดกับโรงพยาบาลรัฐ เรารู้หรือไม่ว่าประเทศไทยมีร้านขายยาแผนปัจจุบัน 17,000 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 5,000 แห่ง หรือ 30% นี่สะท้อนว่าคนกรุงเทพฯ พึ่งพิงศูนย์บริการสาธารณสุขไม่ได้ โรงพยาบาลรัฐก็รอนาน สุดท้ายเวลาเจ็บป่วยต้องซื้อยากินเอง ซึ่งก็คือต้องควักเงินจ่าย ด้านการศึกษา กรุงเทพมหานครไม่เคยขาดแคลนโรงเรียนดีๆ ทั้งประเทศเรามีโรงเรียนนานาชาติ 200 กว่าแห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 180 แห่ง ถ้าคุณมีเงินจ่าย โรงเรียนดีๆ มีให้บริการแน่นอน แต่ถ้าคุณไม่มีเงิน อย่างไรก็ต้องกัดฟันจ่ายให้ลูกเรียนโรงเรียนอยู่ดี เรียนในโรงเรียนที่คุณภาพการศึกษาที่แค่ให้ได้มาตรฐานเท่านั้นเอง แต่ถ้าเลี่ยงไม่จ่าย ก็จะเจอสภาพโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่แค่ทักษะการอ่าน ผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ และไม่ใช่จ่ายแค่ค่าเทอม แต่ค่าเวลาของพ่อแม่ที่ต้องตื่นแต่เช้าไปส่งลูกก็ต้องจ่าย ขณะที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ กทม. ทุกวันนี้อยู่ได้ด้วยจิตวิญญาณและความเสียสละครูพี่เลี้ยง ภายใต้งบประมาณจำกัดสุดๆ ค่าอาหาร 20 บาท ต่อวัน ทำให้พ่อแม่ต้องกัดฟันเลือดซิบๆ ให้ลูกได้ไปเนอร์สเซอรี เพื่อให้ตัวเองได้ทำงานอย่างสบายใจ นี่คือกรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่คุณต้องจ่าย
ประกาศพร้อมเป็นตัวแทนคนกรุงเทพฯ “ชนทุกปัญหา” ลั่น ถึงเวลาสะบัดพรม-ได้เวลาเก็บกวาด
วิโรจน์กล่าวทิ้งท้ายว่า ความเชื่อของตน คือผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ไม่ได้จำเป็นต้องมีเทคนิคล้ำเลิศอะไร เป็นคนธรรมดาก็ได้ แต่ต้องเป็นคนที่มองคนกรุงเทพฯ ทุกคนเป็นเหมือนพี่น้อง เหมือนญาติ เหมือนคนในครอบครัว และพร้อมทุ่มเททำงานหนัก มีเจตจำนงที่มุ่งมั่น ทำงานอย่างลงรายละเอียด เก็บทุกเม็ดเพื่อปกป้องชีวิตของคนกรุงเทพฯ นี่คือหน้าที่ผู้ว่าฯ และถ้าผู้ว่าฯ ชื่อวิโรจน์ กรุงเทพมหานครไม่มีความจำเป็นต้องติดอันดับโลกเพื่อคนอื่น แต่ต้องเป็นเมืองที่คนที่มีชีวิตอยู่ที่นี่ คนที่มีลมหายใจที่นี่ อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ต้องเป็นเมืองที่มีสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ดีที่คนกรุงเทพฯ ทุกคนฝากผีฝากไข้พึ่งพิงได้ กรุงเทพฯ ต้องพร้อมเป็นฟูกผืนหนึ่งที่ทำให้ทุกคนมั่นใจได้ว่า สักวันหนึ่งถ้าเราพลาดล้มลงเราต้องไม่เจ็บหนัก เราต้องพร้อมลุกขึ้นยืนใหม่ได้ ไม่ใช่ล้มคนเดียวแล้วล้มทั้งบ้าน หรือถ้าเปรียบกรุงเทพฯ เป็นโรงเรียน กรุงเทพฯ ต้องไม่เป็นโรงเรียนที่เอาแต่เด็กห้องคิงแล้วทิ้งเด็กห้องอื่นไว้ กรุงเทพฯ ต้องไม่ใช่เอาแต่ประคบประหงมนักเรียนแลกเปลี่ยน มีชื่อขึ้นป้ายสวยหรูภายใต้ความทุกข์ของเด็กทุกคนในโรงเรียนแบบนี้
“ผมเริ่มต้นการทำงานกับพรรคอนาคตใหม่ วันนี้อยู่กับพรรคก้าวไกล ผมเชื่อมาโดยตลอดว่า เราสามารถลงมือทำให้สิ่งที่เราเป็นอยู่ดีกว่านี้ได้ เราสามารถส่งผ่านอนาคตที่ดีให้กับลูกหลานของเราได้ ดีเอ็นเอของความเป็นอนาคตใหม่ บนวิถีทางการทำงานพรรคก้าวไกล ทำให้ผมพร้อมชนทุกปัญหาเพื่อคนกรุงเทพฯ ทำให้ผมพร้อมแก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมาโดยเอาผลประโยชน์คนกรุงเทพฯ เป็นตัวตั้ง พร้อมปักธงอนาคต พาคนที่มีความแตกต่างหลากหลายเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน พอกันทีกับกรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่คุณต้องจ่าย ที่เมื่อไหร่ถ้าคุณไม่จ่าย ต้องเจ็บและชินไปเอง หมดเวลาที่เราต้องทน หมดเวลาซุกปัญหาไว้ใต้พรม ถึงเวลาเลือกผู้ว่าฯ ที่พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ ถ้าคนกรุงเทพฯ ต้องการคนไปพร้อมชนกับทุกปัญหา ผมพร้อมเป็นคนๆ นั้น สะบัดพรมกรุงเทพฯ ได้เวลาเก็บกวาดแล้วครับ”
วิโรจน์ กล่าว