free geoip

เสวนา ‘สุราก้าวหน้า ก้าวแล้วไปไหน’ ปลดล็อกกฎหมาย เพื่อโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ


“คนไทยมีภูมิปัญญาในการผลิตสาโทใกล้เคียงกับสาเก แต่ญี่ปุ่นจะพิถีพิถันมากในการเตรียมหัวเชื้อ และใช้เครื่องจักรที่ใช้กินแรงม้าสูงเพื่อให้คุมคุณภาพได้ ขจัดสารปนเปื้อนออกได้ ซึ่งจะไม่สามารถทำแบบนี้ในไทยได้ เพราะกฎหมายจำกัดไว้ที่ 5 แรงม้า การขจัดสารปนเปื้อนในการผลิตสุราชุมชนของชาวบ้านจะไม่สามารถทำได้เลยด้วยเครื่องมือที่จำกัด”

นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ รศ.ดร.โชคชัย วนภู นักวิจัยสุราแช่- เบียร์ ร่วมแชร์ในการเสวนาหัวข้อ ‘สุราก้าวหน้า ก้าวแล้วไปไหน’ ที่พรรคก้าวไกลจัดร่วมกับกองทุนพัฒนาการเมือง เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ… หรือ ‘พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า’ ที่อดีตพรรคอนาคตใหม่เสนอ ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้เเทนราษฎร โดยมีคณะรัฐมนตรีขอรับร่างกฎหมายดังกล่าวไปศึกษาก่อนจะส่งกลับคืนภายใน 60 วัน

รศ.ดร.โชคชัย ได้ทำวิจัยเรื่องกับสุราไทยมากว่า 20 ปี พบว่า ประเทศไทยผลิตข้าวได้หลายชนิด และมีเชื้อสารพัด มีวัตถุดิบหลากหลายที่สามารถนำมาผลิตสุราที่มีคุณภาพได้ แต่ด้วยข้อจำกัดของกฎหมายทำให้จำกัดการใช้เทคโนโลยี จึงทำให้สูญเสียศักยภาพในการผลิตสุราคุณภาพดี


ด้าน ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ หรือผู้ผลิตเบียร์และสุรากลุ่มเทพพนม กล่าวเสริมว่า ปัญหาหลักของกฎหมายไทยคือ การผลิตที่จำกัดไว้ที่ 5 แรงม้า 7 แรงคน อีกทั้งยังมีข้อจำกัดเรื่องการโฆษณาอีกด้วย

“เตาแก๊ส 1 เตา ก็ 3.5 แรงม้าแล้ว สุราชุมชนจึงทำไม่ได้ การทำสุราให้ใสก็ต้องใช้เทคโนโลยีก็ใช้ไม่ได้ เครื่องบรรจุขวดยังต้องใช้แรงคนเท่านั้นเพราะถูกคิดเป็นแรงหมด สมมติอยากทำเครื่องดื่มหลายชนิด ต้องมีเครื่องบด เครื่องคั้น หม้อหุงข้าว ถูกนับเป็นแรงม้าหมด ดีไม่ดี หม้อต้มร้านก๋วยเตี๋ยวแรงม้ายังเยอะกว่าที่เราใช้ในโรงกลั่น เอาจริงๆ ถ้าไม่มีธุรกิจอื่น ธุรกิจสุราอยู่ด้วยตัวเองยาก อย่างเราทำได้น้อย แต่คุมคุณภาพมาก ใช้ต้นทุนมาก เราจึงตั้งราคาขายที่เหมาะอาจสูงหน่อย ก็กลับมีปัญหาอีกอย่างว่า เราพูดถึงไม่ได้เพราะจะเป็นการโฆษณา ถูกห้ามกระทั่งจะเหตุผลว่าทำไมจึงต้องขายราคานี้”


ขณะที่ ณิกษ์ อนุมานราชธนนิก ในฐานะผู้ผลิตเหล้ารัม กล่าวถึงอีกปัญหาที่เจอว่า ปัจจุบันผลิตรัมด้วยอ้อยสด แต่ไม่สามารถเขียนสิ่งที่เราทำบนฉลากขวดว่าเป็น ‘รัม’ ในประเทศไทยได้ เพราะถูกมองว่าเป็นการเพิ่มมูลค่า และใบอนุญาตผลิตคือเป็นสุรากลั่นชุมชน ประเทศไทยพยายามไม่อนุญาตให้เราเรียกว่าสิ่งที่เราทำ แต่พอส่งออกนอก เขาเรียกสิ่งที่เราทำว่ารัมได้

“ผู้ผลิตไม่มีโอกาสได้พัฒนา ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ด้วยซ้ำ ซึ่งมันทำได้ด้วยแก้กฎหมาย แก้แรงม้าให้ทำการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่คุมคุณภาพได้ เขาอนุญาตทำสุราชุมชนได้แต่ห้ามรวย ห้ามทำให้ดี ห้ามทำให้มีคุณภาพ”


“เรื่องฉลากยังเจออีกว่า เราผลิตในภาคอีสาน เมื่อส่งฉลากไปขออนุญาต หน่วยงานต้องส่งจากต่างจังหวัดไปกรุงเทพฯ กรุงเทพฯตรวจเสร็จตีกลับมาบอกให้ไปแก้อักษร เรื่องแค่นี้ใช้เวลา 3 เดือน ส่งไปใหม่ก็รออีก สุราผลิตไปได้ที่แล้ว แต่ฉลากยังต้องรออนุญาต ทางแก้จึงต้องเดินทางมาขอที่ส่วนกลางเอง นี่คือปัญหารัฐราชการรวมศูนย์ เป็นอีกเรื่องที่ต้องแก้ไขด้วย”

ณิกษ์ ระบุ



ถ้า ‘พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า’ ผ่านจะเป็นโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล เล่าว่า เวลาเขาเดินกลับจากโรงเรียนที่นิวซีแลนด์ก็จะผ่านไร่องุ่น และคนที่นั้นก็เล่าเกี่ยวกับกระบวนการในการทำไวน์ให้ฟัง จึงทองแห็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากองุ่นมาเป็นไวน์ พอเทียบกันจะเห็นเลยว่า การเกษตรของไทย ทำมากแต่ได้น้อย ขณะที่ที่อื่นทำน้อยแต่ได้มาก

“ถามว่าสุราพื้นบ้านของไทยสามารถไปอยู่ในย่านอย่างทองหล่อ สุขุมวิท เพื่อขายด้วยมูลค่าสูงได้หรือไม่ ผมเคยเห็นที่บาร์ โรงแรมห้าดาวของไทยแห่งหนึ่งรวมสุราไทยกว่า 60 ผลิตภัณฑ์วางบนบาร์ ก็จะมาพร้อมแผนที่ให้ลูกค้าเลือกว่าภาคไหน มาจากผลไม้อะไร ก็เลือกดื่มกัน ดังนั้น เรื่องศักยภาพไม่ห่วง ขายด้วยประวัติศาสตร์เรื่องเล่าที่ดื่มได้ ไม่ห่วง ห่วงเรื่องเดียวคือ กระบวนการผลิตซึ่งยังติดล็อกกฎหมาย”

พิธากล่าว

ถ้าปลดล็อกได้ ยังมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องข้างหลังอีกมาก ไม่ว่าอุตสาหกรรมแพ็คเกจจิ้ง ฉลาก ฝาขวด กระทั่ง ออแกนไนเซอร์ที่จะรับจัดงานเทศการต่างๆ มองเห็นเกษตรกร คนขายปุ๋ย คนทำเครื่องจักร ระบบชลประทาน มองเห็นการเรียนการสอนระดับ ปวช. ปวส.ที่สามารถสอนเรื่องเหล่านี้ได้ มองเห็นแรงงานที่จะเกิดขึ้น เหล่านี้มีมูลค่ามหาศาลที่จะทำให้เศรษฐกิจลุกขึ้นได้ ตั้งแต่เกษตรกรขึ้นมาถึงผู้ประกอบการ

“ถ้ากฎหมายสุราก้าวหน้าไม่ผ่าน โอกาสทั้งของเอกชน ราชการ หรือการบริหาร ก็จะไม่เกิด ผู้ผลิตก็คงต้องเป็นศรีธนญชัย เจ้าเดียวกันอาจต้องจดทะเบียนแยกหลายหม้อต้ม ต้องแอบขายบอกว่าเป็นสไปร์ท เห็นสรรพสามิตมาก็วิ่งหนี จะยังคงเห็นเจ้าหน้าที่รัฐคอยกดขี่ข่มเหง เก็บส่วย จะกลายเป็นบ้านเมืองปากว่าตาขยิบต่อไปเรื่อยๆ”

พิธา ระบุ

จากนั้น วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะหนึ่งในทีมนโยบายสุราก้าวหน้าที่มีบทบาทสำคัญในการเขียนร่างกฎหมาย เล่าว่า กฎหมายนี้เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น ยังไม่สามารถแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมเหล้าเบียร์ไทยได้ทั้งหมด ยังมีรายละเอียดอีกมากที่อยากเพิ่มเติม เช่น เรื่องภาษี แต่เกรงว่าจะถูกตีความเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งจะต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาก่อน

“ผมมองหน้าประยุทธ์และเจ้าสัวที่อยู่ข้างหลังแล้วคิดว่าตัดเรื่องภาษีออกไปก่อนดีกว่า ซึ่งคิดถูกแล้ว เพราะจากนั้นมาร่างกฎหมายทุกฉบับของเราที่ถูกตีความว่าเป็นร่างเกี่ยวกับการเงินถูกประยุทธ์ปัดตกหมดทุกฉบับจริงๆ”


ด้าน เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพ พรรคก้าวไกล หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายสุราก้าวหน้า กล่าวว่า พรรคก้าวไกลอยากผลักดันให้ภาษีที่จัดเก็บจากสุราพื้นบ้านคืนกลับไปที่ท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่หรือจัดการผลกระทบที่อาจเกิดจากการดื่มสุรา และปลดล็อกให้ท้องถิ่นมีสิทธิตัดสินใจเองว่าเห็นด้วยกับการผลิตสุราในพื้นที่หรือไม่ เช่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็ให้กำหนดออกมาจากท้องถิ่น แต่หากจังหวัดไหนอยากหนุนการท่องเที่ยวด้วยสุรา หรือยกระดับการเกษตรด้วยสุราเป็นนโยบายก็สามารถสนับสนุนได้

“ถ้าจัดเก็บภาษีคืนให้ท้องถิ่น เรารู้ว่าจะเงินก้อนนี้กลายเป็นโรงพยาบาล จะนำไปใช้เพื่อพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ แต่ถ้ายังเก็บเข้าส่วนกลางเราไม่รู้เลยว่า วันดีคืนดีภาษีเราจะกลายเป็น F35 หรือไม่”

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า