free geoip

หยุด พ.ร.บ. ควบคุม NGO


รัฐบาลต้องหยุด พ.ร.บ. ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน

เป้าหมายหลักของการรวมกลุ่มของประชาชนขึ้นมาเป็นประชาสังคม หรือ Civil society ก็เพื่อให้สังคมและชุมชนเข้มแข็งขึ้น โดยที่ประชาชนเองมีส่วนร่วมหลักในการพัฒนา ขณะที่รัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวกเท่านั้น ไม่ใช่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจกรรมของประชาชน อย่างที่รัฐบาลกำลังทำผ่าน การผลักดันร่าง พ.ร.บ. ควบคุม NGOs

พระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์ไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … สาระสำคัญคือการกำหนดนิยาม “องค์กรไม่แสวงหากำไร” ที่กว้างครอบคลุมเกือบทุกการรวมกลุ่ม ขยายไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำกับดูแลการจดทะเบียนมูลนิธิ สมาคมอยู่แล้ว และกำหนดว่าองค์กรต่างๆ ต้องไม่มีลักษณะที่ดำเนินกิจการส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือก่อให้เกิดความแตกแยกของสังคม

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้องค์กรไม่แสวงหากำไร ต้องเปิดเผยข้อมูล ทั้งวัตถุประสงค์การจัดตั้ง วิธีการดำเนินการ ผู้รับผิดชอบ แหล่งที่มาของเงินทุน ซึ่งกระบวนการตรวจสอบแหล่งทุนจะยิ่งละเอียดขึ้น หากองค์กรได้รับเงินทุนจากต่างชาติ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่มีรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธาน มาเป็นผู้กำกับดูแล

ข้อดีอย่างเดียวของการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ คือการทำให้ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนถึง 1,800 กว่าองค์กร เป็นหนึ่งเดียวกันในการออกมาลงชื่อร่วมกันคัดค้าน และเชื่อว่ามีอีกมากกว่าจำนวนนั้น สำหรับพรรคก้าวไกลนั้นมีจุดยืนเคียงข้างกับภาคประชาสังคมและภาคประชาชนคือไม่เห็นด้วยกับการยกร่างกฎหมายฉบับนี้

ร่าง พ.ร.บ. นี้ มีเนื้อหาสาระขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติกา และอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ และความเห็นจากเวทีภาคประชาสังคมและภาคประชาชนเป็นจำนวนมาก ต่างเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายซ่อนเร้น ทำลายความเข้มแข็งของภาคประชาชน ที่ทำงานตอบสนองต่อประชาชนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ แรงงาน การเกษตร การอาชีพ การพัฒนาประชาธิปไตย ที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ ที่ภาครัฐเองไม่อาจดูแลได้อย่างทั่วถึง และสุดท้ายประชาชนจะกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบ

ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า แทนที่รัฐจะออกกฎหมาย “ส่งเสริม” องค์กรภาคประชาสังคมและภาคประชาชนที่เข้ามาเติมเต็มส่วนรัฐไม่สามารถให้กับประชาชนได้ รัฐกลับผลักดันกฎหมาย “ควบคุม” พวกเขา

ร่าง พ.ร.บ.นี้ ไม่อาจคิดเป็นอื่นได้ นอกเสียจากวาระซ่อนเร้นทางการเมือง เพราะหลายองค์กรได้ท้วงติงการบริหารของรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิและส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะหากรัฐบาลตั้งใจจะตรวจสอบแบบไม่มีวาระซ่อนเร้น ก็สามารถใช้กลไกทางกฎหมายและการบริหารที่มีอยู่ดำเนินการได้อยู่แล้ว

“รัฐบาลที่ดีจะต้องฟังเสียงประชาชน หากเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ ก็อย่าดันทุรังเดินหน้าส่งสภาฯ แต่หากจะเดินหน้าส่ง ผมเชื่อว่า ส.ส. ที่มาจากประชาชนย่อมทราบว่าประชาชนต้องการสิ่งใด เมื่อนั้นตัวแทนประชาชนจะพิพากษาซ้ำให้ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมประชาชนฉบับนี้ตกไป และ รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้กระทำมาทั้งหมด”

ณัฐวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … ผ่านช่องทางต่างๆ ของกระทรวงทั้งระบบออนไลน์ และเวทีรับฟังความเห็นผ่านสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในทุกจังหวัด โดยสำหรับประชาชนสามารถส่งความเห็นต่อร่างกฎหมายนี้ได้ที่เมล์ [email protected] จนถึงวันที่ 25 มีนาคม ควบคู่ไปกับเวทีของภาคประชาสังคมที่มีกำหนดจะจัดการชุมนุมคัดค้าน กม.ฉบับนี้ในวันที่ 24 มีนาคม หน้ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดทั้งวัน

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า