free geoip

พ.ร.บ. #สมรสเท่าเทียม ไม่คล้าย พ.ร.บ. คู่ชีวิต อย่าลดศักดิ์ศรีกลุ่ม #LGBTQ


สิทธิที่จะสร้างครอบครัวคือสิทธิมนุษยชน


นี่คือหลักการที่พรรคก้าวไกลยึดถือ เราจึงตั้งใจจะผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.1448) หรือร่าง พ.ร.บ. #สมรสเท่าเทียม และแม้ คณะรัฐมนตรีจะไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. นี้ แต่ร่าง พ.ร.บ. นี้ก็จะยังเข้าสู่สภา เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติกันต่อไป

ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม นี้ผลักดันให้บุคคลทุกคน ไม่ว่าจะมีเพศวิถีใด สามารถสมรสและสร้างครอบครัวกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีศักดิ์ศรีและได้รับความคุ้มครองเทียบเท่ากับคู่รักต่างเพศ ตามหลักสิทธิในการสร้างครอบครัว ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนและได้รับการรับรองในหลักการยอกยาการ์ตาข้อ 24

ครม. ให้เหตุผลในการตีตก ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตอยู่แล้ว ซึ่ง “มีหลักการใกล้เคียงกัน” โดยให้กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกันศึกษาร่าง #คู่ชีวิตของรัฐบาล พร้อมกับงานวิจัยของสุโขทัยธรรมาธิราช


แต่พรรคก้าวไกล ยืนยันว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่เท่ากับ พ.ร.บ. #สมรสเท่าเทียม

ขณะที่ ‘การสมรส’ หรือ Marriage คือการใช้ชีวิตคู่สมรสที่มีสิทธิ ศักดิ์ศรี และ สวัสดิการ เท่าเทียมกัน ‘คู่ชีวิต’ หรือ Civil Partnership คือการใช้ชีวิตคู่ สามารถทำนิติกรรมบางอย่างร่วมกัน สามารถจัดการทรัพย์สินและหนี้สินร่วมกัน รับมรดกได้ รวมถึงมีหน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ในกรณีที่อีกคนกลายเป็นคนไร้ความสามารถหรือวิกลจริต

ข้อแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับนี้ยังมีอีกหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการลดหย่อนภาษี การรับสวัสดิการอื่นๆ ที่มอบให้แก่คู่สมรส ไปจนถึงเรื่องการรับบุตรบุญธรรมร่วมกันหรือการอุ้มบุญ และข้อแตกต่างที่สำคัญที่สุดก็คือ ศักดิ์ศรีในการเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย

การใช้กฎหมายแยกกับระหว่างคู่รักต่างเพศและคู่รักเพศเดียวกัน เป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนว่ามีการเลือกปฏิบัติทางเพศต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ สะท้อนความคิด ครม. มองว่ากลุ่มหลากหลายทางเพศ ไม่จำเป็นต้องมีสิทธิ สวัสดิการ และศักดิ์ศรี เสมอภาคกับคู่ชายหญิง นอกเสียจากว่าจะมีการกลับไปแก้ไขและเปิดโอกาสให้คู่รักต่างเพศสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ด้วยเหมือนในหลายประเทศ แล้วยื่นร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต แยกออกจาก พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม กล่าวว่า ช่วง 60 วันที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ถูกอุ้มไปให้ ครม. พิจารณา ตนได้มีโอกาสหารือกับทุกภาคส่วนในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งในการหารือทุกฝ่ายต่างก็เห็นด้วย จึงอยากย้ำว่า หากนักการเมืองคนไหนมีประวัติว่าเคยไม่รับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นเรื่องที่น่าละอายมาก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย เป็นสิทธิมนุยชนขั้นพื้นฐานของครอบครัว

“คณะรัฐมนตรีฟังตรงนี้ อำนาจอยู่ในมือของท่าน ท่านสามารถรับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับได้ เพราะสมรสเท่าเทียมไม่เท่ากับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต พรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อไป ขอขอบคุณประชาชนที่ส่งกำลังใจมาในข้อความทุกช่องทาง แน่นอนว่าเราเสียใจเราผิดหวัง แต่เราในฐานะผู้แทนราษฎรเราจะต้องต่อสู้ผลักดันต่อไป”

ธัญวัจน์ กล่าว

ตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม จะยังถูกนำเข้าไปพิจารณาในรัฐสภาอีกครั้ง หากประชาชนต้องการสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ ก็สามารถส่งเสียงไปยัง ส.ส. ในทุกช่องทาง ไม่ว่า ส.ส. เขตของทุกคน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่ตัวเองรู้จัก จะอยู่พรรคใดก็ตาม เพื่อกดดันให้พวกเขาร่วมกันรับหลักการร่าง พ.ร.บ. นี้ เพราะคู่รักเพศเดียวกัน ถูกพรากสิทธิในการสร้างครอบครัวมานานเกินไปแล้ว

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า