free geoip

โรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช ยังไม่หยุด เจตนาทำให้แย่แต่แรก เอื้อมาเฟียบ่อกลบขยะหรือไม่?


เช้าที่สดใสอาจหม่นหมองไปได้ง่ายๆ หากได้กลิ่นเน่าเหม็น เมื่อทำงานเหนื่อยๆ กลับบ้านมาก็ยังได้กลิ่นโชยมา บ้านที่ควรจะเป็นที่พักกายและใจ กลับมีเรื่องมลพิษทางกลิ่นทุกๆ วัน นี่เป็นชีวิตของประชาชนที่อาศัยในกว่า 30 หมู่บ้านในรัศมี 5 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้ากำจัดขยะของ บริษัท กรุงเทพธนาคม

แม้ล่าสุด มีคำสั่งจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้สั่งพักใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าของ บริษัท กรุงเทพธนาคม เนื่องจากบริษัทไม่ปฏิบัติตาม Code of Practice : CoP สำหรับการใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้ครบถ้วน โดยเฉพาะการจัดการเชื้อเพลิงขยะชุมชนจนส่งผลให้เกิดปัญหากลิ่นเน่าเหม็นต่อชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง แต่โรงไฟฟ้ากำจัดขยะแห่งนี้ก็ยังไม่ยุติการดำเนินการ


วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล หมายเลข 1 พร้อมด้วย ฐาปนีย์ สุขสำราญ ผู้สมัคร ส.ก.เขตประเวศ พรรคก้าวไกล หมายเลข 6 และ ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สะพานสูง-ประเวศ เดินทางไปสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นรอบโรงไฟฟ้ากำจัดขยะแห่งนี้ และพบว่า แม้มีคำสั่งพักใบอนุญาตฯ​ แต่ดูเหมือนจะมีการเอื้อให้โรงไฟฟ้าขยะกลายเป็นที่พักขยะ เพื่อส่งต่อไปฝังกลบในบ่อขยะในพื้นที่อื่น รวมถึงบ่อใหญ่ในจังหวัดข้างเคียง

นี่หมายความว่า กรุงเทพมหานครอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 800 บาทต่อตัน และหากการกำจัดขยะโดยเปลี่ยนเป็นพลังงานทำไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการลดการฝังกลบ จากเดิมร้อยละ 80 ให้เหลือร้อยละ 30 ปัญหาขยะแบบเดิมๆ ก็จะยังอยู่กับกรุงเทพต่อไป


วิโรจน์ ยืนยันว่า ไม่ได้แอนตี้โรงไฟฟ้ากำจัดขยะ และมองว่าเป็นแนวคิดที่ดีด้วยซ้ำในการเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นพลังงานด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ยกตัวอย่างสวีเดนและญี่ปุ่น ประชาชนยินดีที่มีการตั้งโรงไฟฟ้าขยะ เพราะประชาชนจะได้อากาศที่กรองสะอาดขึ้น มีน้ำที่สะอาดขึ้น ในญี่ปุ่นกรองน้ำจนสะอาดเกินไป ทำให้ปลาไม่แข็งแรง เจอเชื้อโรคจะตายง่าย เลยต้องเติมสารเคมีเพิ่มลงไปด้วยซ้ำ ซึ่งโรงงานเหล่านี้ก็อยู่กับเมืองมาได้หลายสิบปีโดยที่ไม่มีปัญหาอะไร

“กรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นบริษัทของ กทม. แทนที่ทำแล้วจะกลายเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่น กลับทำลายความเชื่อใจของประชาชนในพื้นที่ เพราะเมื่อมีปัญหาตั้งแต่โครงการแรก โครงการที่สองที่สามก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ในที่สุดก็จะต้องใช้การฝังกลบต่อไปกลายเป็นปัญหาระยะยาว” วิโรจน์ กล่าว


ปัญหากลิ่นของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ไม่ได้เกิดจากปัญหาขยะมาถูกพักไว้แล้วเกิดกลิ่นเหม็น แต่กลิ่นที่รุนแรงขนาดนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากกระบวนการหมักของขยะ เพื่อเตรียมเปลี่ยนเป็น RDF: Refuse Derived Fuel หรือเชื้อเพลิงขยะ ซึ่งเดิมออกแบบไว้เป็นระบบปิด แต่จากการตรวจสอบของกรมโรงงานพบว่า ระบบบำบัดกลิ่นเสีย ทำให้เกิดกลิ่นที่รุนแรงจนต้องเปิดระบายออกมาสร้างปัญหาให้พื้นที่รอบข้างและนำไปสู่การร้องเรียนต่างๆ

วิโรจน์ ตั้งข้อสังเกตว่า การทำให้เทคโนโลยีดีๆ กลายเป็นระบบที่ใช้การไม่ได้ อาจเกิดจากความจงใจเอื้อกลุ่มทุนธุรกิจบ่อขยะที่จะเสียประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นค่านำไปฝังกลบที่ กทม. ต้องจ่าย หรือจากรายได้ที่คนเข้าไปคัดแยกเอาขยะต้องเสีย ซึ่งตรงนี้รู้กันว่าเป็นธุรกิจที่มีมาเฟียคุมมาอย่างยาวนาน เมื่อโรงไฟฟ้าขยะเหล่านี้ใช้งานไม่ได้ สุดท้ายจะเหลือสภาพเป็นเพียงจุดพักขยะเพื่อรอนำไปที่บ่อขยะรอการฝังกลบ สำหรับพื้นที่จุดพัก จากแค่ปัญหากลิ่นก็จะขยายต่อกลายเป็นปัญหาน้ำ เพราะน่าจะไม่มีการออกแบบไว้เพื่อรองรับขยะที่หมักหมม และน้ำเสียอาจซึมลงดินไปสู่แหล่งน้ำที่อยู่ใกล้ๆ ได้


หลังการพบปะรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ วิโรจน์ รุดไปพูดคุยกับพนักงานที่ทำงานในโรงไฟฟ้าขยะโดยตรง และได้คำตอบว่า คำสั่งจาก กกพ. สั่งพักใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า เป็นเพียงการยุติการขายไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังดำเนินการหมักเพื่อแปลงขยะเป็น RDF อยู่ โดยลดปริมาณลง

นอกจากนี้ พนักงานยอมรับว่า ยังรับขยะเข้ามาวันละ 800 ตัน อย่างต่อเนื่อง และหากกระบวนการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานหยุดชะงักก็เป็นไปได้ที่จะต้องนำไปสู่กระบวนการฝังกลบ ส่วนการซ่อมระบบบำบัดกลิ่นจะเสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งทาง วิโรจน์ ได้ขอว่า หากซ่อมเสร็จจริงขอให้รายงานไปทางคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพื่อจะขออนุญาตนำคณะกรรมาธิการฯ พร้อมด้วยทีมวิศวกรสิ่งแวดล้อมลงมาตรวจสอบ ซึ่งทางบริษัทรับปากตามที่ขอ


วิโรจน์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า โรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ เกิดจากคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 ซึ่งละเว้นกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ประชาชนในพื้นที่จึงยังมีข้อสงสัยว่า การจัดการที่ล่าช้าในเวลานี้ เป็นเพราะคณะกรรมการบริษัทแห่งนี้มีนายทหารระดับสูงที่อาจรู้จักกับ พล.อ.อนุพงษ์, พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร ด้วยหรือไม่ รวมถึงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์นายทุนธุรกิจบ่อกลบขยะในจังหวัดข้างเคียง จึงทำให้การแก้ไขปัญหาอะไรก็ตามที่ควรจะทำได้ง่ายกลับกลายเป็นยาก




ผู้ผลิต วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
ที่อยู่ผู้ผลิต พรรคก้าวไกล เลขที่ 167 ชั้น 6 ซอยรามคำแหง 42 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240
จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น
ผลิตตามวันและเวลาที่ปรากฏ

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า