free geoip

หนังสือ 3 เล่มที่ต้องเขียนใหม่ ของ ‘ไอติม พริษฐ์’ สู่หนทางในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ในสีเสื้อ ‘ก้าวไกล’



Wake Up Thailand เปิดใจ ไอติม- พริษฐ์ วัชรสินธุ กับบทบาทใหม่ในฐานะ ‘ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย’ ของพรรคก้าวไกล ประเทศไทยในฝันในมุมมองของไอติมและก้าวไกล มีภาพใหญ่ที่มองเห็นร่วมกันคืออะไร


“หากกล่าวถึงประเทศไทยในฝันแบบฉบับก้าวไกล ผมขอแบ่งให้เห็นชัดเจนเป็น 3 ประเด็นหลัก คือการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ประเด็นแรก การเมืองที่ก้าวไกลต้องการผลักดันคือ ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ ระบบกติกา มีกติกาสูงสุดคือรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตย เคารพสิทธิเสรีภาพ ประชาชนมีสถาบันทางการเมือง ทุกสถาบันที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน”

“วัฒนธรรม คือ ค่านิยมทั้งเสรีภาพ ความเสมอภาค ที่เข้าไปแทรกซึมในทุกนโยบาย อาทิ การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เป็นการคำนึงถึงเรื่องเสรีภาพในการประกอบอาชีพ การผลักดันสมรสเท่าเทียมเป็นการคำนึงถึงเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ”

“เศรษฐกิจ คือ การแข่งขันที่เรามอง 2 มิติ คือ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เช่น การปฏิรูประบบราชการ การกระจายอำนาจ การปลดล็อกท้องถิ่น หรือการปฏิรูประบบการศึกษา แต่ในอีกมุมหนึ่งถ้าเรามองมาข้างใน เราก็ต้องมองการแข่งขันที่เป็นธรรม หมายความว่า ต้องไม่ใช่ตลาดทุกตลาดมีนายทุนผูกขาด แต่ต้องสร้างกฎกติกาที่ส่งเสริมการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ ทำอย่างไรให้คนไทยสามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันและทำให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกันอย่างเเท้จริง”

พริษฐ์ กล่าวถึง หนทางไปถึงประเทศไทยในฝันว่า จำเป็นต้องมีนโยบายเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมี หนังสือ 3 เล่ม ที่ต้องเขียนใหม่ สู่หนทางการเปลี่ยนแปลง

เล่มแรก – รัฐธรรมนูญ
เล่มสอง – การจัดทำงบประมาณประจำปี
เล่มสาม – หลักสูตรการศึกษา

“มันคือเรื่องของกฎ เรื่องของเงิน เเละเรื่องของคน กฏ คือ เราวางกติกาอย่างไรไว้กับรัฐธรรมนูญ เงินคือเรากำลังลงทุนไปกับการแก้ปัญหาอะไรในแต่ละปี ส่วนการศึกษาคือการฉายภาพให้เห็นว่า ในอนาคตเราจะปลูกฝังทักษะแบบไหน ส่งเสริมทักษะแบบไหนให้กับบุคลากรในประเทศ”

ประเทศไทยในฝันที่อยากเห็นกับ 3 หนังสือที่ต้องเขียนใหม่ พริษฐ์ บอกว่า เชื่อว่ามันเป็นไปได้ แม้ยอมรับสภาพว่าประเทศไทยที่ผ่านมายังไม่สามารถปักธงประชาธิปไตยที่เข้มเเข็งสำเร็จ ถ้าจินตนาการภาพประชาธิปไตยในไทย จะนึกถึงการชักเย่อ มีการดึงกัน หากเทียบตอนนี้กับ 80 ปีที่แล้ว มันถดถอยลง หากเอารัฐธรรมนูญ 2560 เทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี 2475 หรือปี 2540 ก็จะเห็นว่ามีเนื้อหาทางประชาธิปไตยที่ถดถอยลง มีการขยายอำนาจของสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งให้มีบทบาทมากขึ้น

“แต่สิ่งที่ทำให้ผมมั่นใจว่ามันเปลี่ยนได้ คือ มันมีอีกด้านดึงกลับด้วย ตอนนี้สังคมตื่นตัวมากขึ้นเรื่องประชาธิปไตย อาจด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลหลากหลายขึ้น รัฐไม่สามารถผูกขาดการนำเสนอชุดข้อมูลได้อีกต่อไป จึงเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้ทำให้สังคมมีความต้องการและเรียกร้องการมีประชาธิปไตยมากขึ้น แรงดึงจากประชาชนมันแรงขึ้น และมันดึงกันไปมา แต่สิ่งที่ชี้ขาด คือ ทิศทางของสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง เพราะลมมันพัดไปทางทิศทางเดียว”

สำหรับคำถามที่คนจำนวนมากอยากรู้ ทำไมจึงออกจาก Newdem พรรคประชาธิปัตย์ แล้วมาพรรคก้าวไกล เพราะต้องยอมรับว่ามีชุดความคิดบางอย่างที่แตกต่างกันอย่างแน่นอน

พริษฐ์ ตอบคำถามนี้ว่า สิ่งที่จุดชนวนทางความคิด คือ หลังจากการเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าร่วมกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ทำให้ลาออกจากสมาชิกพรรคทันที ซึ่งตอนที่ยังอยู่ในพรรคก็ขับเคลื่อนไม่ให้เกิดการตัดสินใจแบบนั้น

2 เหตุผล ที่ทำให้ตัดสินใจลาออก ประเด็นแรก การไม่รักษาคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.เขต ต้องลงไปคุยกับประชาชนทุกคน ว่าเลือกเราไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่พอมันเกิดเหตุการณ์นี้จึงไม่ใช่เรื่องที่รับไม่ได้ ประเด็นต่อมา การเข้าร่วมรัฐบาลที่พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ คือ การไปรับรองการสืบทอดอำนาจที่เราเรียก ‘ระบอบประยุทธ์’ คือการรับรองว่า กติกาที่เขียนขึ้นมาเข้าข้างตัวเอง อย่างรัฐธรรมนูญ 60 เป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์รับได้ จึงชัดเจนว่าอุดมการณ์ไปด้วยกันไม่ได้จึงลาออกมา

“ผมคิดว่าจุดยืนทางการเมืองจากวันนั้นจนถึงวันนี้ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนไปในเชิงนัยยะสำคัญ ในตอนที่ผมเข้าร่วมประชาธิปัตย์ ผมมีความเชื่อว่า ประชาธิปัตย์จะเปลี่ยนแปลงมาในทิศทางที่ตรงกับอุดมการณ์เรามากขึ้น เนื่องจากเราเริ่มเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลง เราเริ่มเห็นสมาชิก กปปส.ลาออกไปสนับสนุนพรรครวมพลังประชาชาติไทย ของสุเทพ เทือกสุบรรณ ไปสนับสนุนพลังประชารัฐ ในที่สุดเราก็เห็นที่พรรคประกาศชัดเจนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งเรามีความเชื่อว่าเราสามารถจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงได้”

แม้ในฐานะนักการเมือง เขาจะมองว่าจุดยืนไม่ได้เปลี่ยนไป แต่ในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่งที่อายุใกล้ 30 ปี พริษฐ์ ยอมรับว่า ประเด็นที่มีผลต่อการพัฒนาทางความคิดมากที่สุด น่าจะเป็นเหตุการณ์ของการชุมนุมของเสื้อแดงปี 2552-2553 เมื่อมองย้อนกลับไปเห็นตัวเองตอนนั้น เสียใจกับความคิดของตัวเองที่มีต่อกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้งเพียงพอถึงสาเหตุ เเละเป้าหมายของการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม ขาดการวิเคราะห์ที่มันนรอบคอบเพียงพอจากข้อมูลเพียงพอที่รอบด้าน และขาดความเห็นอกเห็นใจ คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์คนละฝั่งการเมืองกับเรา ในสภาพแวดล้อมที่การเมืองแบ่งขั้วอย่างรุนแรง นับถึงวันนั้นจนถึงวันนี้ นี่คือความรู้สึกที่เสียใจที่สุด

“นักการเมือง เป็นหนึ่งในอาชีพที่สนใจในสมัยเรียน ตอนนั้นผมเลือกเรียน การเมืองเศรษฐศาสตร์ เพราะอยากมีส่วนร่วมในการกลับมาพัฒนาประเทศ ก็มีกระบวนการที่เริ่มพัฒนาความคิดขึ้นมาเหมือนกัน แต่ต้องยอมรับว่า ยังมีบางชุดความคิดในตอนนั้นที่ทำให้เราเสียใจมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเราพยายามจะเก็บความผิดพลาดในวันนั้นมาเป็นบทเรียนในการทำงาน ปัจจุบันและอนาคต”

เมื่อถูกถามว่า พริษฐ์ เห็นด้วยกับความเห็นของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่กล่าวถึงเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งหรือไม่ พริษฐ์ยืนยันว่า “ไม่ว่าจะสนับสนุนฝ่ายใด ทุกพรรคการเมืองจำเป็นต้องร่วมกันปฏิเสธและป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหาร”

พริษฐ์ อธิบายต่อว่า การป้องกันรัฐประหารต้องทำ 2 อย่างคู่ขนานกันไป คือ 1. ก็ต้องแก้ตัวบทกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้ เช่น แก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปกองทัพ 2. ต้องทำงานเชิงความคิด

“ต้องทำงานเชิงความคิด เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าประเทศจะเจอวิกฤตอะไร เราสามารถแก้ไขมันได้ผ่านกลไกประชาธิปไตย กลไกทางการเมือง ไม่ใช่ไปหาอำนาจนอกกติกาอย่างกองทัพเข้ามามีบทบาท ซึ่งก็ต้องทำงานกันต่อไป”


Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า