free geoip

รัฐจัดงบคมนาคมสร้างแต่ถนนซ้ำซ้อน-บริหารผิดพลาดผลาญงบฯ


สุรเชษฐ์ ก้าวไกล อภิปรายอัดการจัดสรรงบประมาณกระทรวงคมนาคมหลักแสนล้าน เน้นแต่สร้างโครงการใหญ่ซ้ำซ้อนให้คนมีเงินใช้ แถมบริหารผิดพลาด-ผู้รับเหมาทิ้งงาน ส่วนท้องถิ่นได้งบไม่พอแม้แต่ซ่อมถนน ชี้จัดงบฯ ต้องคิดถึงการสร้าง “เมือง” ด้วย ไม่ใช่ทำแต่ถนน

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 โดยอภิปรายในส่วนของงบลงทุนด้านคมนาคม ว่าเป็นงบประมาณที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด 4 ปีของรัฐบาล และนำไปสู่การพัฒนาประเทศ


ในงบประมาณปี 2566 ทั้งหมด 3.185 ล้านล้านบาท เป็นงบลงทุนเพียง 4.92 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 15.45% แต่ที่นับได้ว่าเป็นการพัฒนาประเทศมีเพียงประมาณ 2.6 แสนล้านบาท หรือเพียง 8.16% เท่านั้น โดยเป็นงบประมาณในส่วนของกระทรวงคมนาคม 1.68 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 34% ของงบลงทุนทั้งหมด

ในรายละเอียด จะพบได้อีกว่ามีการกระจุกตัวของงบประมาณในแต่ละแผนงานและหน่วยงานอย่างมาก เช่น กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ที่แย่งกันสร้างถนนโดยใช้งบกว่า 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณอย่างล้มเหลว

ตัวอย่างเช่น ในกรณีทางด่วนมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ที่เริ่มสร้างเมื่อปี 2559 ตั้งเป้าแล้วเสร็จปี 2563 งบประมาณรวม 1,965 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2,125 ล้านบาทในปี 2563 แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเสร็จ และหากลงลึกไปดูเอกสารงบประมาณในแต่ละปี ไล่จากปี 2562 ย้อนขึ้นมาถึงปี 2566 จะเห็นได้ว่ามีการเลื่อนกำหนดแล้วเสร็จและมีงบผูกพันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีจนมาถึงปัจจุบัน

นี่เป็นตัวอย่างแค่ 1 ช่วงจาก 40-ช่วง 17 สัญญาเท่านั้น โครงการที่อนุมัติโดย คสช. เมื่อปี 2559 นี้ เป็นเพียงความต้องการสร้างโครงการขนาดใหญ่ โดยไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจ โดยแบบที่นำมาประมูลเป็นแบบเก่าที่ทำเอาไว้ตั้งแต่ปี 2551 ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงหน้างาน และหากลองไปเปิด Google ดูก็เจอ มอเตอร์เวย์ขาดเป็นท่อน ทำให้เห็นว่าปัจจุบันผู้รับเหมาก็ทิ้งหน้างานไปแล้ว แม้โครงการจะระบุว่าเสร็จไปแล้วถึง 95% แต่ในสภาพหน้างานจริงอีกอย่างน้อย 20 เดือนจึงจะเสร็จ หาก ครม.อนุมัติงบเพิ่มนะครับ

สุรเชษฐ์ยังระบุอีกว่า เมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน ตัวเองและทีมงานลองเอา Drone ขึ้นบินจนได้เห็นความล้มเหลวของงานว่ามีปัญหาอยู่หลายจุด จากสภาพหน้างานที่เปลี่ยนไปและทำให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มในการก่อสร้าง

“เดี๋ยวรัฐมนตรีคงมาตอบแบบอ้อมแอ้มว่าตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด กำลังตรวจสอบอยู่ โน่นนี่นั่น แต่ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ครับท่านประธาน ท่านรัฐมนตรีต้องตอบให้ได้ว่าใครผิด? ไม่เช่นนั้นท่านรัฐมนตรีเองนั่นแหละที่ผิด ไม่ใช่ว่าเคลียร์แล้วจบไป แบบมึนๆ ไม่มีใครผิด งานมันช้า งบมันบาน ประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์ มันมีความผิดพลาดเกิดขึ้นเห็นๆ”

สุรเชษฐ์กล่าว

สุรเชษฐ์อภิปรายต่อไป ว่านอกจากในเรื่องความผิดพลาดแล้ว ยังมีเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น ขณะที่ส่วนกลางมีงบประมาณมากจนไปทำมอเตอร์เวย์ 8.5 หมื่นล้านบาท รวมถึง Frontage Roads โดยรอบในเขตทางหลวง ยังไม่รวมโครงการซ้ำซ้อนระหว่างเมืองหลายแสนล้านบาท ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง โดยมีมอเตอร์เวย์มาตัดดีมานด์กันเอง เพื่อให้คนที่มีกำลังจ่ายได้ใช้นานๆ ครั้งสำหรับการเดินทางระหว่างเมือง แต่เลยออกไปในเขตท้องถิ่น กลับไม่มีงบประมาณสร้างถนนของตัวเอง และหลายกรณีกลายเป็นว่าโครงการส่วนกลางมาทำให้ถนนหน้าบ้านประชาชนที่อยู่ภายใต้การกำกับของท้องถิ่นพัง แต่ไม่มีงบประมาณลงมาซ่อมแซมให้

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างงบประมาณของส่วนกลางก็คือกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท กับงบประมาณของท้องถิ่นแล้ว จะเห็นได้ว่างบประมาณสำหรับซ่อมต่อความยาวถนนที่ดูแล กรมทางหลวงได้เงินประมาณ 3 แสนบาทต่อกิโลเมตรไปซ่อมถนน

กรมทางหลวงชนบทได้ 3.58 แสนบาทต่อกิโลเมตร แต่ท้องถิ่นได้เพียง 5.8 หมื่นบาทต่อกิโลเมตรเท่านั้น และยิ่งหากนำงบประมาณซ่อมถนนของส่วนกลางในแต่ละจังหวัด หารด้วยค่าเฉลี่ยของทุกจังหวัด จะเห็นได้ว่าบุรีรัมย์ได้งบซ่อมถนนมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 4.29 เท่า ตามมาด้วยสุรินทร์ 3.58 เท่า ทำให้เห็นการจัดสรรงบประมาณมาที่ไม่ทั่วถึงและเป็นธรรม กลายเป็นระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา

สุรเชษฐ์ยังระบุว่าระบบการดูแลถนนแบบที่มีอยู่ บางเส้นดูแลโดยกรมทางหลวง บางเส้นดูแลโดยกรมทางหลวงชนบท บ้างก็ดูแลโดยท้องถิ่น ทั้งที่ในความเป็นจริงท้องถิ่นควรเป็นผู้ดูแลถนนในเมืองทั้งหมด ขณะที่กรมทางหลวงดูแลถนนระหว่างเมือง แต่ด้วยสภาพการดูแลที่แบ่งกันอย่าง “มั่วซั่ว” เช่นนี้ ทำให้การบริหารถนนไม่มีหลักการ ไม่มี Road Hierarchy หน่วยงานแย่งกันสร้างถนน แล้วปล่อยให้เมืองโตตามยถากรรม 100 เมตร 2 ข้างทาง ก่อให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุ รถติด มลพิษ ฯลฯ

“พรรคก้าวไกลจึงเสนอว่าการสร้างเมืองต้องมี Road Hierarchy ต้องคิดถึงการพัฒนาเมือง ต้องพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ต้องสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน มีโรงเรียนที่ดี มีโรงพยาบาลที่ครอบคลุม มีสถานีตำรวจที่คอยดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างทั่วถึง ก้าวไกลคิดสร้างเมืองครับ ไม่ใช่เอาแต่สร้างถนน”

สุรเชษฐ์กล่าว

ในท้ายที่สุด สุรเชษฐ์ได้กล่าวถึงการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ขนส่งทางบกโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งมุ่งเน้นการกระจายอำนาจด้านการจัดการขนส่งสาธารณะให้กับหน่วยงานท้องถิ่นสามารถให้บริการขนส่งสาธารณะ กำหนดเส้นทาง และกำหนดราคาค่าโดยสารได้เองในท้องถิ่น ซึ่งจะนำไปสู่การกระจายอำนาจและเม็ดเงินสู่ท้องถิ่นอย่างจัง ทำให้ท้องถิ่นทั่วประเทศสามารถให้บริการระบบขนส่งสาธารณะที่ดี ให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น และหวังว่าสภาจะให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ต่อไปในอนาคต

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า