เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 65 พรรคก้าวไกลจัดงานสมาชิกสัมพันธ์ “ส่งเสริมความรู้ที่ก้าวหน้า” โดยมีชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และศรายุทธิ์ ใจหลัก ผู้อำนวยการพรรคก้าวไกล ร่วมกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เข้าร่วมพูดคุยถึงเป้าหมายและอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกล ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วยสมาชิกพรรคก้าวไกลจากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ศรายุทธิ์ เริ่มต้นวงพูดคุยด้วยการพูดถึงความเชื่อพื้นฐานของพรรค ว่าสิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องการทำ ไม่ใช่การแสวงหาอำนาจทางการเมืองแค่เพื่อจะมีอำนาจ แต่คือการแสวงหาอำนาจทางการเมืองเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเราเริ่มต้นตั้งพรรคจากความเชื่อร่วมกัน 4 อย่าง คือ (1) เชื่อว่าสังคมที่ดีกว่านี้เป็นไปได้ (2) เชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลง เราสามารถเปลี่ยนความคิดคนอื่นได้ด้วยเหตุผล (3) เชื่อว่าประเทศนี้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และ (4) ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ต้องร่วมกันทำ ไม่ใช่แค่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง
ส่วนชัยธวัช พูดถึงพัฒนาการของประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยกล่าวว่า สถาบันต่างๆ ในประเทศไทยถูกออกแบบมาเพื่อรวมศูนย์อำนาจ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรับใช้ประชาชน ตัวอย่างเช่น กองทัพสมัยใหม่ที่ตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมดินแดนหัวเมืองต่างๆ และปราบปรามกบฏ ซึ่งเป้าหมายของกองทัพถึงแม้ผ่านไปกว่า 100 ปี ก็ยังแทบไม่เปลี่ยนแปลง คือเก่งในการใช้อำนาจกับประชาชนในประเทศ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาก เพราะเป็นครั้งแรกที่สถาปนาอำนาจสูงสุดของประชาชนขึ้นมา
ด้านธนาธรได้บรรยายถึงโจทย์ทางเศรษฐกิจของประเทศที่เชื่อมโยงกับอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรที่ขึ้นอยู่กับรัฐและกลุ่มทุนมาแทบตลอดประวัติศาสตร์ โดยระบุว่าโจทย์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมี 2 เรื่อง คือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจน-คนรวย และการเพิ่มขีดความสามารถของไทยในการแข่งขันกับโลกาภิวัตน์ จะทำอย่างไรให้เรารักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจได้โดยเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำควบคู่ไปด้วย
ธนาธรกล่าวต่อว่า จากรายงานของเครดิต สวิส ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีช่องว่างคนรวย-คนจนสูงที่สุดในโลก หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่ามีความเหลื่อมล้ำมากขนาดไหน ต้องให้คนไทย 67 ล้านคนมาต่อแถวกัน จะพบว่าคนที่ยืนอยู่กลางห้องพอดี มีรายได้เพียงแค่ 7,000 บาท/เดือน นอกจากนี้ อีกความท้าทายของประเทศ คือจำนวนเด็กเกิดใหม่ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 20 ปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 1,000,000 คนต่อปี ปัจจุบันอยู่ที่ราว 500,000 คนต่อปีเท่านั้น ส่งผลให้เกิดสังคมสูงวัย (Aging Society) ในอนาคตคนที่จะเหนื่อยคือคนวัยทำงาน อายุ 20-60 ปี ที่ต้องแบกรับสังคมเอาไว้
“ความฝันของคนส่วนใหญ่เรียบง่าย คือมีงานทำที่ดี สามารถลงหลักปักฐาน ซื้อบ้าน มีครอบครัว มีลูก หรือสามารถไปเที่ยวต่างประเทศได้ 1-2 ครั้งต่อปี แต่ภายใต้สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ความฝันที่เรียบง่ายเช่นนี้ยังเป็นความจริงได้ยาก เพราะทั้งที่คนวัยทำงานจำเป็นต้องเก็บเงินก้อนหนึ่งไว้ใช้ยามแก่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนแก่ในประเทศนี้แทบทุกคนไม่มีเงินออมไว้ใช้ในวัยชรา”
ธนาธรกล่าว
ประธานคณะก้าวหน้ากล่าวอีกว่า การทำความเข้าใจสังคมอย่างเรียบง่ายที่สุด คือต้องทำความเข้าใจอำนาจของคน 3 กลุ่ม ได้แก่ รัฐ-ทุน-ประชาชน ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ คนกลุ่มไหนสามารถกุมวาระของสังคมได้ ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจว่าในประเทศไทยถูกขับเคลื่อนโดยอำนาจรัฐและกลุ่มทุน ส่วนภาคประชาชนมีพลังในการขับเคลื่อนสังคมน้อยที่สุด โดยหากเปรียบเทียบระหว่างทุนใหญ่ของไทยกับทุนใหญ่หรือคนรวยในต่างประเทศ เช่น บิล เกตส์ (Bill Gates) ที่ผลิตระบบปฏิบัติการ Windows ให้คนทั้งโลกเข้าถึงการใช้คอมพิวเตอร์ได้ หรือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ที่สร้าง Facebook ทำให้คนทั้งโลกติดต่อกันได้ หรือ ทอมัส เอดิสัน (Thomas Edison) ที่ผลิตหลอดไฟสร้างแสงสว่างให้คนทั้งโลกได้ จะพบว่าทุนใหญ่ๆ ที่รวยในประเทศไทย แทบทั้งหมดเกิดจากธุรกิจที่ไม่มีนวัตกรรมซับซ้อน แต่ได้รับอำนาจรัฐอุปถัมภ์ให้ผูกขาดการแข่งขัน
“เพราะแบบนี้ เราจึงต้องรักษาพรรคก้าวไกลเอาไว้ เพราะเป็นพรรคที่ต่อสู้กับกลุ่มทุนผูกขาด เรื่องค่าไฟแพง ต่อสู้เรื่องการควบรวมทรู-ดีแทค ค่าสมาชิก 100 บาทที่สมาชิกพรรคสนับสนุน มีความสำคัญมาก เพราะนี่คือสิ่งที่ทำให้พรรคก้าวไกลไม่เกรงกลัวในการต่อสู้เคียงข้างประชาชน”
ธนาธรกล่าว