หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เชียงใหม่ก้าวไกล สำรวจปัญหาชาวชุมชนแออัดริมคลองแม่ข่าในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เสี่ยงถูกไล่รื้อโดยไม่มีการชดเชย-หาที่อยู่ใหม่ ชี้ช่องแก้ปัญหาระยะสั้น ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการ ส่วนระยะยาวต้องสร้างรัฐสวัสดิการ กระจายอำนาจ ปฏิรูปที่ดินของรัฐ-ทุนใหญ่ ให้กระจายสู่มือประชาชน
วันที่ 10 ธันวาคม 2565 ที่จังหวัดเชียงใหม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เชียงใหม่ของพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย เขต 1 พลอย เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู, เขต 3 ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล และ เขต 4 พุธิตา ชัยอนันต์ ร่วมสำรวจและรับฟังปัญหาชาวชุมชนริมคลองแม่ข่า หลังวัดโลกโมฬี อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนแออัดที่อยู่ในพื้นที่ของเทศบาลนครเชียงใหม่ และกำลังได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาแม่บทคลองแม่ข่า รวมถึงการไล่รื้อชุมชนออกจากพื้นที่ด้วย
จากการรับฟังปัญหา พบว่าชุมชนแออัดในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ มีจำนวนกว่า 21 ชุมชน รวม 2,169 หลังคาเรือน คิดเป็น 3% ของประชากรในเขตเทศบาล โดยที่ดินที่อาศัยอยู่ทั้งหมดเป็นที่ดินของรัฐ ส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุและเทศบาลนครเชียงใหม่ และหน่วยงานอื่นๆ รวมกันกว่า 9 หน่วยงาน ชาวชุมชนมีทั้งที่อยู่อาศัยโดยมีสัญญาเช่าและไม่มีสัญญาเช่า ซึ่งตามแผนพัฒนาแม่บทคลองแม่ข่าไม่ได้มีแผนในการจัดการที่อยู่อาศัยหรือการชดเชยที่ชัดเจนหากการไล่รื้อเกิดขึ้น
เพชรรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตัวแทนชุมชนมีข้อเสนอในการจัดการ โดยขอให้ทางจังหวัดหยุดการไล่รื้อหรือย้ายประชาชนออกจากชุมชนจนกว่าจะมีแผนแม่บทการจัดการที่อยู่อาศัยที่ชัดเจน โดยชุมชนพร้อมจะปรับปรุงในที่ดินเดิมผ่านคณะทํางานที่อยู่อาศัยระดับชุมชน ในการร่วมกำหนดระยะร่นของอาคารและการปรับปรุงที่เหมาะสม ส่วนประชาชนที่ไม่สามารถอยู่ที่เดิมได้ จะขอเช่าอยู่ในพื้นที่ของรัฐใกล้เคียงที่เดิมและขอมีส่วนร่วมในการกําหนดเกณฑ์การพิจารณาสิทธิในการอยู่อาศัยร่วมกับคณะทํางาน
เพชรรัตน์ กล่าวว่าการใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวในการไล่รื้อที่อยู่อาศัยที่คร่อมคลองหรือที่อยู่ริมคลอง ไม่ได้เป็นทางออกที่ดีที่สุด ในเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วจะต้องมองที่ต้นตอของปัญหาและร่วมกันแก้ไขระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน เพราะการใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวในการย้ายชาวชุมชนออกจากที่อยู่อาศัยเดิม อาจทําให้เกิดจํานวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น หรือการย้ายชุมชนแออัดจากที่เดิมไปที่อื่น
“ในเมื่อพวกเราทุกคนที่อยู่ในเมือง รวมทั้งชาวชุมชนแออัดทั้ง 21 ชุมชน มีส่วนร่วมในการทําให้เมืองน่าอยู่จนกลายเป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นหัวเมืองหลักทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดจํานวนมหาศาล การพัฒนาเมืองควรต้องโอบรับทุกคน ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยว แต่ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองด้วย”
เพชรรัตน์กล่าว
ด้านพิธา ระบุว่า ปัญหาชุมชนแออัดในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ มีลักษณะร่วมกับปัญหาคนจนเมืองทั่วประเทศ เป็นประชาชนที่มีปัญหาเกี่ยวกับปากท้อง ที่อยู่อาศัย และถูกหลงลืมจากสังคม หลายแห่งก็กำลังเผชิญกับปัญหาการปรับภูมิทัศน์หรือการไล่รื้อในลักษณะเดียวกัน ซึ่งสำหรับกรณีทั้ง 21 ชุมชนของเทศบาลนครเชียงใหม่ ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการชดเชย หรือการย้ายที่อยู่อาศัยที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบ ทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การทำงาน การเรียนหนังสือ และการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ เนื่องจากชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ที่นี่ส่วนใหญ่ตั้งรกรากมากว่า 30-40 ปีแล้ว
ในระยะสั้น ต้องทำให้มั่นใจได้ว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นจะเป็นไปภายใต้การยอมรับและการมีส่วนร่วมของชาวชุมชน ส่วนในระยะยาว การมีรัฐสวัสดิการ การปลดล็อกท้องถิ่นให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารจังหวัด ดูแลคนในจังหวัดด้วยคนในจังหวัดเองได้โดยสมบูรณ์ ที่สำคัญที่สุดคือการแก้ปัญหาที่ดินในระยะยาว ซึ่งปัญหาชุมชนคนจนเมืองส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับปัญหาที่ดินไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องอาศัยการปฏิรูปที่ดินมาสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับประชาชน โดยไม่มีใครถูกลืมไว้ข้างหลัง
“ที่ดินของรัฐในประเทศนี้มีมากเกินไป ส่วนใหญ่ถูกปล่อยทิ้งรกร้างไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ เมื่อความเหลื่อมล้ำทางรายได้ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถมีที่อยู่อาศัยได้อย่างมั่นคง ก็ย่อมนำมาสู่การตั้งรกรากบนที่ดินเหล่านี้โดยความจำเป็น พรรคก้าวไกลเห็นว่าในระยะยาวสัดส่วนที่ดินของรัฐเหล่านี้ต้องลดลง กระจายให้ไปอยู่ในมือของประชาชนมากขึ้น ส่วนที่ดินของเอกชนขนาดใหญ่ที่ถือครองมากเกินไป ก็ต้องมีการสร้างกลไกให้เกิดการกระจายออกสู่มือประชาชนทั่วไปให้มากขึ้นด้วย เพื่อกระจายความมั่งคั่งให้ประชาชนสามารถไปทำงานสร้างเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคงต่อไป”
พิธากล่าว