free geoip

ก้าวไกลหนุนใช้ประโยชน์จากกัญชา ภายใต้กฎหมายควบคุม ย้ำต้องนำกลับไปเป็นยาเสพติด


เมื่อวานนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง สนับสนุนให้ตัดมาตรา 3 ในร่างกฎหมายดังกล่าว ที่กำหนดให้กัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมาย

พิธายืนยันว่า จุดยืนต่อเรื่องกัญชาไม่เคยเปลี่ยนแปลง ยังเชื่อว่ากัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ ยังเชื่อในศักยภาพของประเทศไทยที่จะเป็นฮับกัญชาทางการแพทย์ของเอเชีย และยังเชื่อในเรื่องกัญชาทางการท่องเที่ยว ภายใต้เงื่อนไขว่าเราสามารถบริหารควบคุมให้เพิ่มประโยชน์และจำกัดโทษของกัญชาแบบค่อยเป็นค่อยไป

แต่ที่ไม่เห็นด้วยคือการปลดล็อกกัญชาอย่างไร้การควบคุม เช่นที่เกิดขึ้นหลังจากกระทรวงสาธารณสุขปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดโดยไม่มีกฎหมายที่กำกับควบคุมได้จริงมารองรับ เพราะการปลดล็อกกัญชาอย่างไร้การควบคุม จะให้โทษมากกว่าประโยชน์ และคนที่ได้ประโยชน์คือผู้ค้าขนาดใหญ่และกลุ่มการเมือง

ข้อเสนอของพรรคก้าวไกล คือให้กัญชายังถือเป็นยาเสพติด สอดคล้องกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษของสหประชาชาติ โดยเรายังสามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์ได้ มีมาตรการกำกับดูแลตามกฎหมายที่บังคับได้จริง เมื่อเป็นเช่นนี้ สังคมโดยรวมจะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากโทษของกัญชา ขณะเดียวกัน คนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากกัญชาก็มีกฎหมายรองรับให้ทำได้ตามสมควร

“ส่วนตัวแล้ว ผมเข้าใจประโยชน์ของกัญชาทางการแพทย์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่พบว่าตัวเองเป็นโรคลมชัก ต้องกินยา Tegretol หรือต้องพกยา Epipen ติดตัว ในด้านการท่องเที่ยว ผมเคยเดินทางไปจาเมกา บ้านเกิดของ Bob Marley เห็นว่าเขาสามารถขายกัญชาเพื่อการท่องเที่ยวและสร้างเศรษฐกิจให้ท้องถิ่นได้”

พิธาระบุ


พิธายังกล่าวถึงระยะเวลาที่ประเทศอื่นๆ ใช้ในการปลดล็อกกัญชาว่า การใช้ประโยชน์จากกัญชาเป็นไปได้ แต่ถ้าปลดล็อกแบบ 100% ในชั่วข้ามคืนแล้วคาดหวังว่าจะไม่เละ คงเป็นไปไม่ได้ หากดูตัวอย่างต่างประเทศที่มีการปลดล็อก ต้องใช้เวลาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นขั้นเป็นตอน ยกตัวอย่างเมืองบอสตัน ในปี 2008 เลิกเอาผิดทางอาญาและให้เป็นใบสั่งแทน ไม่ติดคุก ผ่านไป 4 ปีจึงอนุญาตเชิงการแพทย์ และผ่านไปอีก 4 ปี ในปี 2016 จึงอนุญาตเชิงสันทนาการ รวมใช้เวลา 8 ปี หรือแคนาดาใช้เวลา 17 ปี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยต้องใช้เวลามากขนาดนี้ เพราะเรามาทีหลัง ได้บทเรียนจากประเทศอื่นๆ มาก่อน ทำให้เร็วกว่านี้ได้ แต่เนื่องจากกัญชาหายไปจากสังคมเรามากกว่า 60 ปี ตั้งแต่อนุสัญญาระหว่างประเทศปี 1961 ดังนั้น การจะทำให้สังคมเข้าใจกัญชา และใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม คงเป็นไปไม่ได้ในชั่วข้ามคืน แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

ดังนั้น การเอามาตรา 3 ออกไป ให้กัญชายังสามารถถูกควบคุมได้ในฐานะที่อยู่ในทะเบียนยาเสพติด จะมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ทั้งต่อในประเทศและระหว่างต่างประเทศ

สำหรับในประเทศ

  • หากปลดกัญชาออกจากยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง: เจ้าหน้าที่ที่จะบังคับใช้กฎหมายกัญชา ก็จะเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย กับ พ.ร.บ. กัญชา กัญชงฉบับนี้ ซึ่งเชื่อได้เลยว่า ไม่ได้มีทรัพยากรมากเพียงพอที่จะบังคับใช้กฎหมายที่กระทบคนวงกว้างมากมายเช่นนี้ได้ สุดท้ายจะทำให้กฎหมายควบคุมกัญชาฉบับนี้ไม่มีสภาพบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ
  • แต่หากให้กัญชามีสถานะเป็นยาเสพติด: ตำรวจและหน่วยงานอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่มีทรัพยากร มีประสบการณ์ในการบังคับใช้กฎหมาย จะสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายยาเสพติด ไปจัดการกับผู้ที่ใช้กัญชานอกเหนือจากที่กฎหมายฉบับนี้อนุญาตได้


สำหรับระหว่างประเทศ

  • การเอากัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน ทั้งอนุสัญญาปี 1961 ปี 1971 ไปจนถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (United Nations Convention on the Rights of the Child: CRC) ซึ่งตามมาตรา 33 ของ CRC ต้องคุ้มครองไม่ให้เด็กเข้าถึงกัญชา
  • แม้แต่ประเทศแคนาดาที่มีกฎหมายควบคุมแล้ว ก็ยังมีช่องโหว่ และมีความเสี่ยงว่าทาง UN ที่มีการประเมิน CRC ทุก 5 ปี จะประณามแคนาดาในเรื่องนี้


พิธาอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า การนำมาตรา 3 ออก และทำให้กัญชายังคงเป็นยาเสพติด กฎหมายจะไม่มีผลย้อนหลัง สำหรับผู้ที่ปลูกแล้ว มีหน้าร้านแล้ว เก็บสต็อกกัญชาไว้พร้อมขายแล้ว ก็ไม่มีผลถ้าขออนุญาตถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย แต่หากการยกเลิกภาวะสุญญากาศของกฎหมาย จะกระทบกับคนที่ทำธุรกิจกัญชาไปแล้วบ้าง รัฐบาลต้องมีทางออกให้คนเหล่านี้ เช่น การเข้าไปเยียวยาหรือเข้าไปรับซื้อในฐานะกัญชาทางการแพทย์ เพราะถือว่าเป็นผลกระทบจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล

“ตอนนี้รัฐบาลทำเละไปแล้ว เราต้องมาช่วยกันแก้ เราสามารถเปิดให้ใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างเหมาะสมเท่าที่กฎหมายจะอนุญาต และต้องทำให้กัญชายังคงมีสถานะเป็นยาเสพติดต่อไป เพื่อให้สังคมสามารถกำกับควบคุมกัญชาได้จริง เพราะฉะนั้น จึงขอสนับสนุนการแปรญัตติให้ตัดมาตรา 3 ออกไป”

พิธากล่าว



สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของพรรคก้าวไกลนี้ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ปี พ.ศ. 2565
ผลิตโดย บริษัท สเปกเตอร์ ซี จำกัด จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น งบประมาณ 3,000 บาท ผลิตวันที่ 15 ธันวาคม 2565

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า