‘หมออ๋อง’ ซัด รัฐบาลไทยทำเรื่องน่าอาย จัดวงหารือไม่เป็นทางการ ให้รัฐบาลทหารเมียนมาร์ร่วมโต๊ะ ไม่แคร์ข้อตกลงอาเซียน ด้านอีก 5 ชาติสมาชิกปัดทิ้งคำเชิญ ชี้ ไทยไร้ความชอบธรรม จะเป็นตัวกลางเจรจา ต้องเริ่มจากเคารพกติกาก่อน
กรณีปรากฏภาพวงหารืออย่างไม่เป็นทางการ (Informal Consultation) ที่รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพ เชิญชาติสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม อ้างว่าหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมี ดอน ปรมัติวินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ วันนา หม่อง ลวิน (U Wunna Maung Lwin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาและลาว รวมถึงผู้แทนจากประเทศเวียดนามร่วมโต๊ะ ในขณะที่อีก 5 ประเทศปฏิเสธคำเชิญ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และบรูไน
เกิดเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยกำลังไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่ชาติอาเซียนเคยเห็นร่วมกัน ว่าจะไม่ให้รัฐบาลเมียนมาร์เข้าร่วมวงประชุมระดับสูง จนกว่าจะมีความคืบหน้าของกระบวนการสร้างสันติภาพในประเทศ ตามฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) ที่อาเซียนเคยตกลงกัน
ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตอนนี้เมียนมาร์กำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แต่เมื่อดูปัจจัยแวดล้อมในการเมืองเมียนมาร์ ไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าการเลือกตั้งจะเสรีและเป็นธรรม เพราะนักโทษการเมืองยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ความรุนแรงบริเวณชายแดนยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ พรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากดอน ให้เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในด้านสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เคยออกมาแถลงขอให้ประชาคมโลกมั่นใจในการเลือกตั้งของเมียนมาร์ แต่ความมั่นใจนี้สวนทางกับฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ที่ต้องการให้เมียนมาร์เดินหน้าไปสู่สันติภาพ (ที่ขณะนี้ยังไม่เห็นวี่แวว) ก่อนการเลือกตั้ง
ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตอนนี้ไทยไม่อยู่ในจุดที่มีความชอบธรรมจะเป็นเจ้าภาพหรือตัวกลางพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาร์อีกต่อไป เนื่องจากการแสดงจุดยืนหลายครั้งที่ผ่านมามีลักษณะสวนทางกับการนำไปสู่สันติภาพและการเคารพสิทธิมนุษยชนของประชาชนในเมียนมาร์ เช่น งดออกเสียงมติของสหประชาชาติกรณีระงับขายอาวุธให้เมียนมาร์ หรือการที่ทางการไทยส่งผู้ลี้ภัยการสู้รบกลับเมียนมาร์ในปี 2564 รวมถึงการจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้ ก็ไม่เป็นไปตามฉันทามติ 5 ข้อและการตัดสินใจของอาเซียนที่จะไม่ให้เมียนมาร์เข้าร่วมในการประชุมระดับสูง ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
ดังนั้น ตอนนี้ไทยกำลังใช้จุดยืนเดียวกันกับเมียนมาร์ในการละเมิดข้อตกลง หากต้องการกลับมามีสถานะผู้นำในภูมิภาคอย่างชอบธรรม รัฐบาลไทยต้องเริ่มจากทำตามฉันทามติ เปลี่ยนจุดยืนของประเทศไทยบนเวทีโลกเสียก่อน
“เป็นความน่าอับอาย และเป็นการกระทำที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวอีกครั้งหนึ่งของรัฐบาลไทย ไม่ว่าฝ่ายการเมืองจะพยายามส่งเสียงให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงท่าทีอย่างไร แต่เพราะทั้งไทยและเมียนมาร์ปัจจุบัน มีรัฐบาลทหารที่กำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งและการสืบทอดอำนาจแบบเดียวกัน ผลเลยออกมาเป็นแบบนี้ เชื่อว่าถ้ารัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย จะต้องทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป ด้วยการทำให้ไทยเป็นผู้นำในการส่งเสริมการเจรจาสันติภาพในเมียนมาร์ เพื่อผลประโยชน์ของเมียนมาร์และอาเซียนเอง”
ปดิพัทธ์กล่าว