กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 6 มกราคม 2566 ชี้แจง “ปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565” หรือที่เรียกชื่อเล่นว่า พ.ร.บ.อุ้มหายฯ
ใจความสำคัญของหนังสือนี้ที่ลงนามโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คือ การบอกว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หมวด 3 การป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญ กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมตัว เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่า ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายหรือซ้อมทรมาน – โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติอ้างข้อขัดข้อง 3 เหตุผล
- ด้านการจัดเตรียมงบประมาณ: เนื่องจากถ้าจะทำตามกฎหมายดังกล่าว ตำรวจต้องมีกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวระหว่างปฏิบัติภารกิจ แต่ปัจจุบัน กล้องที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ต้องใช้งบประมาณดำเนินการราว 3,473 ล้านบาท ซึ่งงบดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในแผนงบประมาณรายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยจะต้องตั้งคำของบประมาณอย่างเร็วที่สุดคืองบประมาณปี พ.ศ. 2567
- ด้านการเตรียมความพร้อมบุคลากร: สำนักงานตำรวจแห่งชาติอ้างว่าจากการสำรวจความพร้อมของเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ พบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจยังขาดความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากเทคโนโลยีและอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงในปัจจุบันพัฒนาก้าวล้ำไปมาก จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง
- ปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติงาน: เนื่องจากความไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือในบทบัญญัติกฎหมาย และยังไม่มีระเบียบหรือแนวทางการปฏิบัติอันเป็นมาตรฐานกลาง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมหรือควบคุมยึดถือปฏิบัติ
ด้วยเหตุผล “ไม่มีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์ ทักษะในการปฏิบัติ และแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานกลาง” สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอเสนอให้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายในหมวด 3 (การป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย) ออกไปก่อน เพราะหากทำทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม อาจก่อให้เกิดผลร้ายต่อสังคม
รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญในฐานะการยกระดับกระบวนการยุติธรรมที่คุ้มครองพี่น้องประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ หากไปดูประเทศที่เจริญแล้ว ที่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและโปร่งใส เช่น สหรัฐอเมริกา หรือหลายประเทศในยุโรป จะพบว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการติดกล้องประจำตัวไว้ เป็นเรื่องปกติมาก และทำให้ทราบได้ว่า การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นการควบคุมตัวตามกฎหมายจริงหรือไม่ หากย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย ก็มีการกล่าวอ้างอยู่เป็นระยะว่าการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ มีการซ้อมทรมาน การทำร้ายร่างกาย หรือมีการควบคุมตัวที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากล กฎหมายฉบับนี้จึงมีเจตนารมณ์ที่ดี
ดังนั้น การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอเลื่อนการบังคับใช้หมวด 3 ในกฎหมายฉบับนี้ ที่มุ่งคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองประชาชนจากการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง
ในฐานะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เคยเรียกให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายนี้ เข้ามาชี้แจงต่ออนุกรรมาธิการฯ
หนึ่งในนั้นมี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เข้าชี้แจงเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ได้ตอบคำถามอย่างชัดเจนว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายฉบับดังกล่าว ทุกหน่วยงานที่เข้ามาชี้แจงก็ยืนยันเช่นนั้น โดยตนก็ได้เสนอว่า หากมีความจำเป็นต้องจัดซื้อกล้องบันทึกภาพ ก็สามารถใช้งบกลางได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือ สตช. กลับออกหนังสือขอชะลอการบังคับใช้กฎหมาย
“การปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ ผบ.ตร.คนปัจจุบัน ล้มเหลวทุกด้าน ทั้งด้านการปราบปรามอาชญากรรม ทุนจีนสีเทา คดีหลงจู๊ จึงขอฝากไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงยุติธรรม และนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่าใช้วิชามารเลื่อนกฎหมายที่พิทักษ์สิทธิมนุษยชน”
รังสิมันต์กล่าว