กรณีศาลอาญาสั่งจำคุก ‘ประสิทธิ์ เจียวก๊ก’ อดีตนักธุรกิจ ‘คนดี’ กับพวกรวม 3 คน คนละ 4 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่เนื่องจากให้การรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุกคนละ 2 เดือนโดยไม่รอลงอาญา จากเหตุการณ์ที่ประสิทธิ์พยายามหลบหนีขณะถูกควบคุมตัวตามหมายขังของศาล
จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงเป็นการตัดสินในฐานความผิดละเมิดอำนาจศาล ทั้งที่น่าจะเป็นเรื่องรอง ส่วนการกระทำของประสิทธิ์กับพวกที่น่าจะเป็นความผิดหลัก คือการวางแผนหลบหนีจากการคุมขัง ซึ่งเป็นความผิดชัดเจนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 190 ที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กระบวนการดำเนินคดีดังกล่าว กลับแยกออกไปทำภายหลังความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
นี่เป็นเรื่องที่ต้องถูกชงขึ้นมาจากผู้ฟ้อง ซึ่งคืออัยการและกระทรวงยุติธรรม ศาลไม่สามารถเป็นผู้ตั้งคดีเองได้ ด้วยเหตุนี้อัยการและกระทรวงยุติธรรมจึงควรต้องมีคำตอบที่ชัดเจน ว่าการสืบสวนในกรณีพยายามหลบหนีจากการคุมขังของประสิทธิ์นั้นคืบหน้าไปเพียงใดบ้างแล้ว และเหตุใดจึงไม่มีการเร่งดำเนินการในฐานความผิดนี้เป็นหลัก ก่อนความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
นอกจากผลการสืบสวนในความผิดฐานพยายามหลบหนีแล้ว สิ่งที่ควรมีการชี้แจงด้วย คือผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงคณะต่างๆ ที่ตั้งกันขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการของกรมราชทัณฑ์ ที่มี ‘อายุตม์ สินธพพันธุ์’ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ตั้งขึ้นเพื่อสอบข้อเท็จจริง ว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประสิทธิ์ให้หลบหนีด้วยหรือไม่
และยังมีคณะกรรมการสอบที่แต่งตั้งขึ้นโดย ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อสอบหาข้อเท็จจริงอีกชั้นหนึ่ง ทั้งที่วันนี้ผ่านกำหนด 30 วัน ตามที่รับปากในการตอบกระทู้ของ ‘อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลแล้ว แต่ยังไม่มีคำตอบออกมา
ยังไม่นับรวมกรณีเมื่อกลางปี 2564 ที่ พ.ท.พญ.อมราภรณ์ วิเศษสุข กำลังพลสังกัดกองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลในเครือข่ายของประสิทธิ์ ถูกจับกุมในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ก่อนถูกย้ายไปช่วยราชการที่โรงพยาบาลค่ายสุรนารี พร้อมกับมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อดําเนินการทางวินัยกับ พ.ท.พญ.อมราภรณ์ โดย พล.อ. ธเนศ วงศ์ชะอุ่ม แม่ทัพภาคที่ 2 ซึ่งผ่านมาจนถึงวันนี้ ผลการสอบสวนที่รวมถึงว่ามีกำลังพลของกองทัพคนอื่นเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ก็ยังไม่มีการเปิดเผยออกมาเช่นกัน
จิรัฏฐ์กล่าวต่อไปว่า สังคมยังรอฟังคำตอบจากคณะกรรมการหลายคณะที่ว่ามานี้อยู่ จนอดสงสัยไม่ได้ว่าการตั้งกรรมการกันมามากมายเช่นนี้มีประโยชน์อะไร ถ้าสุดท้ายแล้วจะไม่มีการเปิดเผยผลการสอบสวน
“ใบเรียกเก็บเงินค่าเบี้ยประชุมกรรมการสอบสวนชุดต่างๆ คือเงินจากภาษีที่ประชาชนต้องเป็นคนจ่ายเสมอ โดยเฉพาะในกรณีของประสิทธิ์ เจียวก๊ก ที่แสร้งเป็นคนทำความดีเพื่อแผ่นดิน เป็นจิตอาสาที่จงรักภักดี เป็นที่รักในหมู่นายทหารระดับสูงของกองทัพไทย บัดนี้ความจริงปรากฎแล้วว่าเป็นเพียงหน้ากากคนดีเพื่อแผ่นดินจอมปลอม ก็ต้องติดตามกันต่อไป ว่าหน้ากากคนดีที่เคยสวมจะช่วยให้ประสิทธิ์มีความผิดน้อยลง หรือได้รับอภิสิทธิ์ในการถูกคุมขัง หรือตัดสินโทษแตกต่างจากสามัญชนคนทั่วไปหรือไม่ นี่จะเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งของกระบวนการยุติธรรมไทยที่สังคมตั้งคำถามมาตลอดหลายปี”
จิรัฏฐ์กล่าว