เมื่อวานนี้ (28 มีนาคม) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ร่วมเสวนาที่จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพูดถึง ‘วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย’
พิธาเสนอแนวทาง ‘อุตสาหกรรมก้าวหน้า’ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและฟื้นฟูอุตสาหกรรมของประเทศ สาระสำคัญมี 3 ประเด็น
📌 ประเด็นที่หนึ่ง ‘เป้าหมาย’
ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเป็น Low Tech & Low Touch ต่อไปต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมไทยพัฒนาเป็น High Tech & High Touch การส่งออกของไทยต้องใส่เทคโนโลยีและดีไซน์ลงไป ซึ่งปัจจุบันประเทศในภูมิภาคเช่น มาเลเซีย เวียดนาม ทำได้ดีกว่าเรา และตอนนี้พรรคก้าวไกลมีบุคลากรอย่าง อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ที่ตั้งใจเข้ามาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง
📌 ประเด็นที่สอง ‘ทิศทางการพัฒนา’
ต้องเปลี่ยนจาก Area based ให้เป็น Supply chain based จากเดิมนโยบายพัฒนาอุตสาหกรมไทยคือ Made in Thailand ทำอย่างไรให้การลงทุนเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่วันนี้ต้องเปลี่ยนเป็น Made with Thailand ทำอย่างไรให้เราเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือไต้หวัน ที่เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิป-เซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงตัวชี้วัดของเศรษฐกิจต้องไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) แต่ต้องเป็นรายได้ประชาชาติ (GNI)
📌 ประเด็นที่สาม ‘ปัจจัยการผลิต’
ที่ผ่านมามีเพียง 2 รูปแบบคือ อุตสาหกรรมเน้นแรงงาน (Labor intensive) และอุตสาหกรรมที่เน้นเครื่องจักร (Capital intensive) แต่ต่อไปต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เครื่องจักรกับคนทำงานร่วมกัน เพื่อผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมที่มีความหมายต่อลูกค้า (Personalization) เป็นสินค้าที่มี ‘คุณค่า’ เป็นจุดขาย ไม่ใช่แค่เรื่องราคาที่ถูกลง
การจะสร้างอุตสาหกรรมก้าวหน้าตามแนวทางที่ว่านี้ได้ ประเทศไทยต้องถูกยกระดับผ่าน 5 นโยบาย
(1) นโยบายกฎระเบียบภาครัฐ ต้องเพิ่มการแข่งขันในทุกอุตสาหกรรม, ลดกฎระเบียบภาครัฐ 50%, รู้ผลใบอนุญาตใน 15 วัน
(2) นโยบายการศึกษา อาชีวะต้องเรียนฟรี แก้ไขการขาดแคลนแรงงาน, คูปองเสริมทักษะ-เปลี่ยนอาชีพ 5,000 บาท/คน/ปี, สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิต
(3) นโยบายพลังงาน สนับสนุนการเปิดตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี รัฐดูแลระบบสายส่ง และ ‘ค่าไฟแฟร์’ ลดกำลังการผลิตสำรอง
(4) นโยบายแก้ไขคอร์รัปชัน ระบบ AI จับโกง, คนโกงวงแตก, ป.ป.ช. ยึดโยงประชาชน
(5) นโยบายเศรษฐกิจสีเขียวครบวงจร รถเมล์ไฟฟ้า 100% อุดหนุนงบ 10,000 ล้านบาท และนำเทคโนโลยีประหยัดพลังงานหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5-2 เท่า
อีกหนึ่งคำถามที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้รับโจทย์ คือรัฐบาลก้าวไกลจะทำอย่างไร ให้ไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แข่งขันกับประเทศร่วมภูมิภาคได้ เช่น เวียดนาม
คำตอบของพิธา มาจากคำยืนยันของนักลงทุนต่างชาติ ว่า ‘คอร์รัปชัน’ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การลงทุนในไทยและเวียดนามแตกต่างกัน เห็นได้ชัดเจนจากข้อมูลนี้ เมื่อปี 2020
- การลงทุนจากต่างประเทศในไทย มูลค่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเวียดนาม 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ดัชนีความโปร่งใส ไทยอยู่อันดับ 101 (ตกจากอันดับ 85 เมื่อปี 2014) ส่วนเวียดนามอยู่อันดับ 77 (ดีขึ้นจากอันดับ 119 เมื่อปี 2014)
เราจะแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไร? ข้อเสนอของพิธาคือในเมื่อ สมการคอร์รัปชัน = M (Monopoly หรือการผูกขาด) + D (Discretion หรือดุลยพินิจ) – A (Accountability หรือกลไกความรับผิดชอบ)
ดังนั้น ถ้าจะขจัดการคอร์รัปชัน ต้องแก้ปัญหาทีละอย่าง คือ ลดการผูกขาด ลดการใช้ดุลยพินิจ และเพิ่มกลไกความรับผิดชอบ
- ลดการผูกขาด ด้วยการใช้ AI จับโกง วิเคราะห์ข้อมูลแบบทันทีหรือ real-time และ ‘ปักธงแดง’ แจ้งเตือนให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบต่อ เมื่อมีโครงการที่เสี่ยงเกิดการทุจริต
- ลดการใช้ดุลยพินิจ ด้วยการกิโยตินกฎหมาย ลดกฎระเบียบภาครัฐ 50%
- เพิ่มกลไกความรับผิดชอบ ด้วยนโยบาย ‘คนโกงวงแตก’ ทำให้คนที่คิดจะร่วมกันโกง (เช่น คนจ่ายกับคนรับสินบน บริษัทที่จะฮั้วประมูลกัน) ระแวงกัน จนไม่มีใครกล้าร่วมกันโกง
ไม่เพียงแค่นั้น การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในปัจจุบัน นอกจากเราต้องมีคน มีตลาด มีเทคโนโลยี มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม รวมถึงมีสิ่งจูงใจนักลงทุน (เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี) ประเทศไทยยังควรใช้ประโยชน์จากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเลือกสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ต้องการให้เกิดการลงทุนในประเทศ เช่น ที่สหรัฐฯ อุดหนุนอุตสาหกรรมชิป 1.8 ล้านล้านบาท ญี่ปุ่น 2.4 แสนล้านบาท อินเดีย 3.5 แสนล้านบาท ในขณะที่ประเทศไทย 0 บาท
การสร้างอุตสาหกรรมก้าวหน้าควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน จะทำให้ประเทศมีความโปร่งใสและกลับมามีขีดความสามารถในการแข่งขัน คนไทยและประเทศไทยจะไม่ตกขบวน แต่จะเข้าไปเชื่อมโยงเป็นส่วนผสมหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตของโลก