แถลงนโยบาย ยุบ กอ.รมน. โดย รังสิมันต์ โรม
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2023 ณ อาคารอนาคตใหม่
เรียนพี่น้องสื่อมวลชน และพี่น้องประชาชนที่ติดตามอยู่ทางบ้านทุกท่าน
วันนี้เป็นการแถลงข่าวโดยผม รังสิมันต์ โรม ด้านหนึ่งนอกจากทำหน้าที่เป็น สส.ของพรรคก้าวไกล อีกด้านหนึ่งก็ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ซึ่งประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมและเป็นที่พูดถึงตลอดหลายวันที่ผ่านมา คือเรื่องของการยุบ กอ.รมน.
ซึ่งเรื่องนี้ จุดยืนของเราที่ต้องการเสนอยุบ กอ.รมน. จริงๆ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่อะไร เป็นการเสนอซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของพรรคก้าวไกลที่มีมาตั้งแต่การหาเสียง และมีการพูดถึงมาเป็นระยะมาโดยตลอดว่า
พรรคก้าวไกลเรามีความเห็นว่า กอ.รมน. ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น มีจุดประสงค์เพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์นั้น วันนี้เป็นองค์กรที่ล้าสมัย เป็นองค์กรที่ไม่มีความเหมาะสมที่จะต้องมีต่อไป ไม่ว่าแนวทางหรือการทำงานที่ผ่านมาของ กอ.รมน. ในด้านต่างๆ ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าการคง กอ.รมน.เอาไว้ต่อไปไม่ได้สร้างประโยชน์โพดผลอะไรให้กับประเทศชาติของเรา
ซึ่งในวันนี้ เราอยากจะใช้โอกาสนี้ในการอธิบายให้มากขึ้น ถึงแนวความคิดดังกล่าว ว่าทำไมพรรคก้าวไกล โดยคุณรอมฎอน ปันจอร์ ถึงเสนอตัวร่างกฎหมายที่จะยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งจะนำไปสู่การยกเลิก กอ.รมน.
การชี้แจงครั้งนี้ ผมจะอธิบายให้อย่างชัดเจนว่านอกจากการยกเลิก เราไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีองค์กรที่จะมาทำในเรื่องความมั่นคงเลย เพราะวันนี้ปัญหาในเรื่องความมั่นคงต้องยอมรับว่ามันมีความแตกต่างจากยุคสงครามเย็นมาก ปัญหาของความมั่นคงวันนี้สะท้อนในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น
- ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร
- ปัญหาความมั่นคงทางการเกษตร
- ปัญหาความมั่นคงทางด้านสุขภาพ
- ปัญหาความมั่นคงซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากอาชญากรข้ามชาติ
- ปัญหาความมั่นคงซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากภัยยาเสพติด
ปัญหาความมั่นคงจึงไม่ได้มีจำกัดอยู่แค่เฉพาะวิธีคิดในลักษณะที่จะต้องเป็นทางด้านการทหารเท่านั้น ไม่ได้มีแค่เฉพาะว่าเราจะถูกรุกรานจากประเทศอื่นเท่านั้น วันนี้ปัญหาความมั่นคงมันมีหลากหลายมิติ ซึ่งองค์กรที่จะมารับมือ จะมาทำหน้าที่ในการที่จะรับมือกับภัยความมั่นคงในลักษณะแบบนี้ ก็ต้องยอมรับว่า กอ.รมน. ไม่ได้เป็นองค์กรแบบนั้น
อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า กอ.รมน.เกิดขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ ซึ่งวันนี้คอมมิวนิสต์ในลักษณะที่เราเห็นกันในช่วงสงครามเย็นมันเปลี่ยนไปมากแล้ว
กอ.รมน. ถ้าจะให้วิพากษ์วิจารณ์ ก็ต้องยอมรับว่ามีบทบาทในการสร้างความแตกแยกในสังคมผ่านการสร้างคนที่อาจจะเห็นต่างทางการเมืองให้เป็นศัตรูของประเทศ เป็นศัตรูที่จะสั่นสะเทือนความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทำให้งบประมาณต่างๆ ที่ กอ.รมน.นำมาใช้ในการจัดการกับคนที่เป็นศัตรูเหล่านี้ ถูกใช้ไปในลักษณะแบบนั้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือความแตกแยกของสังคมโดยที่เราไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
แนวความคิดในการทำงานของ กอ.รมน.
- การพัฒนา
- งานมวลชน
- การปฏิบัติเชิงจิตวิทยา
ทำไม กอ.รมน.ถึงมีปัญหามากนักที่พรรคก้าวไกลเราอยากจะยกเลิก?
เรามีเหตุผลดังนี้
ถ้าเราดูในแง่ของ โครงสร้าง
เราจะเห็นแนวคิด ทหาร นำ การเมือง เป็นแนวคิดที่เอาบทบาทของทหารเป็นตัวนำจริงๆ เราอาจจะเห็นว่า ผอ.รมน.เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าเราพิจารณาต่อไปเราจะพบว่า
ผู้ที่เป็นรอง ผอ.รมน. คือ ผบ.ทบ.
เลขาธิการของ กอ.รมน.ก็เป็น เสธ.ทบ.
แค่เฉพาะ 2 ตำแหน่งนี้ ถ้าเราไปดูหนังสือย้อนหลังของ กอ.รมน.หลายๆ ฉบับ เราจะเห็นบทบาทของสองคนนี้ในการลงนามในเรื่องต่างๆ
ดังนั้น กอ.รมน.จึงมีความผูกพันแนบแน่น ใกล้ชิดกับทหารเป็นอย่างมาก
มากไปกว่านั้น หากเราลงไปยังจังหวัดต่างๆ เราก็จะพบว่าบทบาทของ กอ.รมน.มีลักษณะของการไปสั่งผู้ว่าราชการจังหวัด กองทัพจึงสามารถที่จะแทรกซึมไปยังส่วนต่างๆ ของระบบราชการ แล้วเอาวิธีคิดของความมั่นคงแบบที่ตัวเองเชื่อ แบบที่ตัวเองคิดในเรื่องของความมั่นคงทางการทหารเป็นตัวนำ แล้วสามารถสั่งการระบบราชการได้ทั้งหมด
สิ่งเหล่านี้เป็นความอันตราย เพราะเท่ากับความมั่นคงของเราจะถูกมองจำกัดอยู่เฉพาะความมั่นคงทางกองทัพเท่านั้น
ประการถัดมา เราจะเห็นบทบาทของ กอ.รมน.ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กอ.รมน.เน้นการทำงานด้านมวลชน ในช่วงของการรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญตอนที่เราจะต้องรับ (หรือไม่รับ) รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โฆษก กอ.รมน.ได้ให้สัมภาษณ์และแถลงข่าวอย่างชัดเจนว่ามวลชนที่ กอ.รมน.ทำงานด้วยกว่า 5 แสนคน จะมีบทบาทในการสนับสนุนตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นปัญหา ที่เรากำลังใช้อยู่ในเวลานี้ นี่คือบทบาทของ กอ.รมน.
มากไปกว่านั้น กอ.รมน.ยังมีบทบาทในการปิดเว็บไซต์ที่เป็นเว็บไซต์ความเห็นต่างทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ที่เห็นต่างในเรื่องเกี่ยวกับการรัฐประหาร เกี่ยวกับบทบาทของกองทัพ เกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาล กอ.รมน.เข้าไปมีบทบาทในการปิดเว็บไซต์เหล่านี้นับพันเว็บไซต์ นี่คือบทบาทของ กอ.รมน.ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
มากไปกว่านั้น กอ.รมน.ยังสร้างเว็บไซต์อย่าง pulony.blogspot.com ซึ่งเราได้ข้อมูลนี้มาจากกรรมาธิการงบประมาณ และปัจจุบันเว็บไซต์นี้ก็ยังเปิดใช้อยู่ อาจจะไม่ได้แอคทีฟแล้ว แต่เว็บไซต์นี้เป็นเว็บไซต์ที่ถูกเปิดใช้เพื่อใส่ร้ายป้ายสีนักกิจกรรม พรรคการเมือง โดยเฉพาะคนที่มีส่วนสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนที่แอคทีฟในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจะเห็นว่า กอ.รมน.มีบทบาทในการเข้ามาแพร่มลทิน ด้อยค่า คนที่เห็นต่างทางการเมือง คนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เอาแค่ลำพังเหล่านี้ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าบทบาทของ กอ.รมน. ได้สร้างความแตกแยกต่อสังคมมากขนาดไหน
พิจารณาต่อไปในแง่ของงบประมาณ
ปีล่าสุด กอ.รมน.ได้งบประมาณ 7,700 ล้านบาท เจ็ดพันเจ็ดร้อยล้านบาทเป็นงบประมาณที่ใกล้เคียงกับงบกระทรวงดิจิทัล กระทรวงอุตสาหกรรมได้งบ 4,000 ล้านนะครับ ได้งบน้อยกว่า กอ.รมน.ด้วยซ้ำ
ทำไมประเทศของเราต้องจ่ายเงินงบประมาณเจ็ดพันเจ็ดร้อยล้านบาทในปีงบประมาณ 66 ให้กับ กอ.รมน.ด้วย?
ถ้าเรารวมระยะเวลากว่า 11 ปีย้อนกลับไป กอ.รมน.ใช้งบประมาณไปแล้วกว่าแสนล้าน ผมอยากให้พี่น้องประชาชนและพี่น้องสื่อมวลชนได้ทำความเข้าใจ ลองจินตนาการว่าแสนล้านมันสร้างประโยชน์ให้กับประเทศนี้ ทำเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เอาไปลงทุน เอาไปทำอย่างอื่นได้มากขนาดไหน
บุคลากรจำนวนมากของ กอ.รมน.ก็มาจากหน่วยงานอื่น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ กอ.รมน.ซึ่งพี่น้องประชาชนทราบไหมครับว่า สี่พันล้านจากเจ็ดพันเจ็ดร้อยล้านถูกใช้อยู่ในรายการอย่างอื่นโดยที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเอาไปใช้อะไร ซึ่งสุดท้ายพอเราไปสืบสวน ไปเสาะหาข้อมูลมา สี่พันล้านดังกล่าวถูกใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่ง เพื่อทำให้เป็นขุมทรัพย์ให้กับคนที่เป็นทหาร แล้วเข้ามาทำงาน กอ.รมน.
ประเทศเราได้อะไรครับ จากการมี กอ.รมน. เราจะมี กอ.รมน.เอาไว้ทำไม?
แน่นอนครับ มีความพยายามที่จะมอบหมายภารกิจให้กับ กอ.รมน.ในการต่อต้านงานความมั่นคงด้านอื่นๆ ซึ่งถ้าเราไปดูรายละเอียดในโครงการมีทั้งป่าไม้ มีทุกอย่าง มีการเวนคืนที่ของชาวบ้าน ที่มีการตั้งเป้าที่จะเอาที่ของชาวบ้านกลับคืนมาสู่รัฐ มีความพยายามที่จะมอบหมายงานอย่างการป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้กับ กอ.รมน.ในพื้นที่ชายแดน
แต่เราพูดกันตรงๆ สุดท้ายสังคมที่เรากำลังอยู่กันในวันนี้มันเป็นการตอบอย่างชัดเจนว่าผลงานของกอ.รมน.ล้มเหลวมากเพียงใด
พรรคก้าวไกลเราเห็นถึงความสำคัญว่าประเทศของเรากำลังเผชิญหน้ากับความมั่นคงในรูปแบบต่างๆ ในด้านต่างๆ แต่เราไม่คิดว่าการที่เรายังอัดงบประมาณถึง 7,700 ล้านแบบนี้ให้กับ กอ.รมน.สร้างประโยชน์อะไร เราเห็นว่าควรมีองค์กรลักษณะอื่นที่จะมาทำหน้าที่คล้ายๆ กับเป็น Homeland Security (กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ) เหมือนในประเทศสหรัฐอเมริกา เราเห็นว่าควรมีองค์กรในรูปแบบอื่นที่มีความคิดเป็นพลเรือนนำในการรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ และหนึ่งในองค์กรที่เราคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาและยกระดับศักยภาพให้สูงขึ้นเพื่อรับมือกับภัยการคุกคามในรูปแบบต่างๆ คือ สมช.(สภาความมั่นคงแห่งชาติ)
ซึ่ง สมช.ได้งบเท่าไหร่รู้ไหมครับ? 200 กว่าล้านครับ น้อยมากเมื่อเทียบกับ กอ.รมน. ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง สมช.จะต้องดูภาพรวมของภัยคุกคามในทุกรูปแบบ
ผมในฐานะของกรรมาธิการความมั่นคงฯ และเคยมีบทบาทอยู่ในกรรมาธิการการกฎหมายฯ และกรรมาธิการการต่างประเทศ เราเห็นว่าจริงๆ แล้ว สมช.เป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้มีความทันสมัยและไม่มีมุมมองความมั่นคงเฉพาะทางการทหารเท่านั้น แล้ว สมช.จะมีศักยภาพในการรับมือกับภัยคุกคามในทุกรูปแบบ
วันนี้ค้ามนุษย์ตามตะเข็บชายแดน กอ.รมน.ทำอะไรได้ไหมครับ?
กอ.รมน.ทำอะไรไม่ได้
แต่ถ้าเราพัฒนา สมช.ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เราสามารถที่จะป้องกันและยกระดับความมั่นคงในทุกรูปแบบที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นอย่างมาก
ดังนั้น ต่อยอดจากสิ่งที่ผมแถลงในวันนี้ ในฐานะของประธานกรรมาธิการความมั่นคงฯ เราเองจึงมีการพูดคุยกันว่าควรจะมีคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะศึกษาในเรื่องนี้ ซึ่งทางผมได้มอบหมายให้กับคุณรอมฎอน ปันจอร์เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่อที่จะไปศึกษาและยกระดับว่ามันจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะมีองค์กร อาจจะเป็น สมช.หรือองค์กรอื่นก็ได้ ที่สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ และรวมไปถึงการมีเอกสาร การมีรายงาน การมีเหตุผลที่นำไปสู่การยุบ กอ.รมน.
ทั้งหมดทั้งมวลเมื่อเราบรรลุเป้าหมายสำเร็จ เราก็จะมีรายงานที่ประกอบไปด้วยเหตุผล ที่ศึกษาอย่างรอบด้าน แล้วมอบหมายไปให้กับทางกรรมาธิการและส่งต่อไปที่สภาผู้แทนราษฎร และส่งต่อไปที่รัฐบาล
เราหวังว่าเมื่อถึงเวลานั้น รัฐบาลของคุณเศรษฐาจะศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด
จริงๆ พูดถึงตรงนี้ เราเองก็เคยมีข้อตกลงกับอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถ้าพี่น้องสื่อมวลชนไปดูก็คงจะเห็นว่าเราเคยมีข้อตกลงในลักษณะนี้ การยุบ กอ.รมน.เป็นหนึ่งในพันธะสัญญาที่เคยตกลงเอาไว้ว่าเราต้องทำให้ได้
แต่น่าเสียดายที่วันนี้เมื่อคุณเศรษฐาเป็น ผอ.รมน.แล้ว ความสำคัญของการที่จะยกเลิก กอ.รมน.ภายใต้รัฐบาลชุดนี้กลับเปลี่ยนไปโดยไม่ได้สนใจที่จะศึกษาให้รอบด้านว่า กอ.รมน.ได้สร้างปัญหาให้กับประเทศนี้มากขนาดไหนเมื่อเทียบกับงบประมาณ
ดังนั้นครับในโอกาสนี้ แม้รัฐบาลจะไม่ให้ความสำคัญแล้วกับการยุบ กอ.รมน.
ไม่เป็นไร
แต่เราก็จะยังคงยืนยันที่จะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป และจะพยายามนำเสนอเข้าสู่สภาให้ได้ ปัญหาที่เราเจอ พี่น้องสื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนก็คงทราบว่า ด้วยร่างกฎหมายที่เราเสนอเป็นร่างการเงิน ซึ่งต้องได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี ผมอยากจะให้นายกรัฐมนตรีเสนอมาที่สภาก็ได้ครับ ให้สภาว่ากัน อย่าใช้กลไกของการไม่ให้คำรับรอง จนสุดท้ายกฎหมายต้องตกไปและสภาก็ไม่มีโอกาสได้พูดคุย ว่าท่านมีเหตุผลในการยืนยันว่าควรจะมี กอ.รมน.จริงๆ
มาคุยกันในสภา ให้ร่างกฎหมายนี้ได้มีโอกาสเข้าสู่สภา ท่านเสียงข้างมาก มากกว่าอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยให้พวกเราได้นำเสนอ ต่อสภา ต่อสังคม ต่อพี่น้องสื่อมวลชน ต่อพี่น้องประชาชน ว่าเหตุผลของการยุบ กอ.รมน.มีว่าอย่างไร พี่น้องประชาชนควรได้รู้ทั้ง 2 แง่มุม ฝั่งที่เห็นด้วยกับการมี กอ.รมน.ต่อไป และฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการมี กอ.รมน. และผมคิดว่านั่นละครับคือสิ่งที่สวยงามของการใช้กลไกสภา
แต่ไม่แน่ใจว่าคุณเศรษฐาจะยอมไหม
ทั้งหมดนี้คือการแถลงของผมในเรื่องของ กอ.รมน.
Q&A หลังการแถลงข่าวกับสื่อมวลชน
Q: ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่าจะไม่มีการยุบ กอ.รมน. เรื่องนี้พรรคก้าวไกลจะดำเนินงานอย่างไรต่อไป
A: เบื้องต้นต้องบอกว่าไม่ใช่แค่ทางพรรคก้าวไกล แต่ทางคุณรอมฎอน ซึ่งจริงๆ ก็เป็น สส.ก้าวไกลและนั่งอยู่ในกรรมาธิการความมั่งคงฯ ก็เสนอการตั้งคณะทำงานที่จะศึกษาเรื่องนี้ มีกรอบระยะเวลาประมาณ 90 วัน ถ้าศึกษาได้แล้วก็จะส่งมาที่กรรมาธิการ ปลายทางของมันก็คือการส่งรายงานพร้อมเหตุผลจากการศึกษาไปให้นายกฯ เพราะนายกฯก็อาจจะได้ฟังแค่เหตุผลที่อยู่ใน กอ.รมน.และอาจจะฟังได้แค่ว่า โอเค ทุกอย่างดีหมด ควรมี กอ.รมน. แต่เรามาฟังอีกด้านหนึ่งของการศึกษาที่ครอบคลุมทั้งข้อดีข้อเสีย ว่าสุดท้ายท่านต้องชั่งน้ำหนักว่าจะยุบหรือไม่ยุบ
ประการที่ 2 ในส่วนที่เป็นร่างกฎหมายเราก็เสนอไปแล้ว แต่พอเป็นร่างการเงิน มันไม่รู้จะทำยังไง มันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ถ้าคุณเศรษฐาไม่ยอมเซ็นคำรับรอง ถ้าเรายกเลิก กอ.รมน.เราไม่ได้ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น แต่เราประหยัดงบ ปัญหาก็คืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ เพิ่มขึ้นหรือลดลง สุดท้ายมันเป็นร่างการเงินหมด แม้เราจะมีเจตนาในการช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดิน แต่สุดท้ายต้องอาศัยคำรับรอง ถ้าคุณเศรษฐาไม่เซ็น สภาก็พิจารณาต่อไม่ได้ ดังนั้น ใช่ครับ ถ้าคุณเศรษฐาไม่เซ็น เราก็ไม่สามารถยื่นเข้าสู่สภาได้ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคืออธิบายต่อสังคมให้เข้าใจ และเราหวังว่ามันจะเป็นเสียงที่ดังขึ้นไปถึงรัฐบาล ให้เข้าใจถึงเหตุผลของการยุบ กอ.รมน. นี่คือกลไกที่เราสามารถทำได้และพยายามทำ
และถึงที่สุด ถ้ารัฐบาลไม่ตอบสนองต่อรายงาน ผมเองก็คงต้องเสนอในกรรมาธิการว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเชิญตัวแทนของรัฐบาล ตัวแทนของ กอ.รมน.ที่มีอำนาจในการตัดสินใจมาพูดคุยเรื่องนี้ ว่าทำไมคุณถึงไม่ปฏิบัติตามรายงาน ซึ่งผมก็ยังไม่รู้หรอกครับว่าผลของรายงานจะออกมาเป็นอย่างไรบ้าง แต่ว่าฟังจากเหตุผลทั้งหมดในความเป็นไปได้ที่จะมีการเก็บ กอ.รมน.ไว้ ผมว่ามันจะน้อยมาก ดังนั้นถ้าเราทำรายงานจนสำเร็จ แล้วรัฐบาลไม่ปฏิบัติตาม รัฐบาลก็ต้องมาชี้แจงต่อกรรมาธิการ นี่คือกลไกปกติของเรา ที่เราสามารถทำได้
สุดท้าย ดีไม่ดี ทำได้หรือไม่ได้ของรัฐบาล ก็จะเป็นภาระความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาลต่อไป
Q: ในกรณีที่ยุบ กอ.รมน. ไปแล้ว มีคนมองว่าอาจจะเกิดสถานการณ์ความรุนแรงมากขึ้น มองเรื่องนี้อย่างไร
A: นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องการพัฒนา สมช.ให้เป็นองค์กรที่มีศักยภาพ ดูแลในเรื่องความมั่นคงทุกมิติมากขึ้น
สมช.เป็นองค์กรที่น่าสนใจนะครับจากที่ผมทำงานมา ปัญหาคือเขาไม่ค่อยมีทรัพยากรที่เพียงพอในการทำงานในหลายๆ รูปแบบแล้วก็มีการซ้อนทับกับ กอ.รมน.ในหลายๆ เรื่อง ดังนั้นถ้าเราส่งเสริม สมช.ให้เป็นองค์กรที่จะเข้ามามีบทบาทในการจัดการความมั่นคงที่หลากหลาย ผมคิดว่าไม่มีปัญหาครับ
ปัญหาความมั่นคงท่านไม่ต้องกังวล วันนี้สิ่งที่ท่านต้องกังวลคือคนที่มีอำนาจคิดแค่ว่าความมั่นคงมีเฉพาะทางทหารเท่านั้น การที่ผู้มีอำนาจคิดแค่นี้ก็เหมือนกับเราเอาคนตาบอดที่ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในห้องที่ตัวเองอยู่ แล้วก็ให้ตัดสินใจ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ปัญหาของความมั่นคงก็อย่างที่เรารู้ เราผ่านโควิดมา เราเรียกว่าอะไร ดังนั้นผมถึงคิดว่าเราต้องมีองค์กรที่มาทำงานในรูปแบบที่หลากหลายกว่านี้
ซึ่ง กอ.รมน.ทำงานเรื่องเหล่านี้ไม่เป็น