free geoip

แก้ที่ ‘4 รอ’ อย่าปล่อยให้กลายเป็น ‘รอความตาย’


วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล เขียนบทความตั้งข้อสังเกตต่อกรณีการแถลงของ ศบค. แถลงเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 ที่ระบุว่า “พบข้อมูลระยะเวลาวันที่ทราบผลติดเชื้อจนถึงเสียชีวิตค่าเฉลี่ย 3 วัน ” จึงอาจทำให้ตีความได้ว่า การระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบนี้ รุนแรงมาก เพราะติดเชื้อเพียงแค่ 3 วัน ก็เสียชีวิตแล้ว จากข่าวบางรายเสียชีวิตในวันที่ทราบผลตรวจ บางรายเสียชีวิตก่อนที่ผลตรวจจะออกก็มี อย่างไรก็ตาม ระยะเวลา 3 วัน ดังกล่าวเริ่มนับจาก ‘วันที่ทราบผลติดเชื้อ’ จึงมีสมมติฐานที่สามารถคิดได้อีกมิติหนึ่งคือ การเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ อาจจะเกิดขึ้นจาก ‘การรอคอย’ ก็ได้ ซึ่งการรอคอยอาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการ 4 รอ ได้แก่


  • 1) รอคิวตรวจ: กว่าผู้ป่วยจะได้คิวตรวจคัดกรอง ก็ต้องเสียเวลารอก็ได้ ตามข่าวก็ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อ ที่ต้องรอคิวตรวจจนต้องเสียชีวิตหรือกว่าจะมาพบแพทย์ ผู้ติดเชื้ออาจจะมีอาการหนักแล้วก็ได้


  • 2) รอผลตรวจ: เนื่องจากมีการตรวจ RT-PCR เป็นจำนวนมาก ทำให้กว่าจะออกผลตรวจได้ อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ


  • 3) รอเตียง: ทั้งๆ ที่ทราบผลตรวจแล้ว ก็ยังต้องรอเตียงว่างอีก และระหว่างที่รอจากเดิมที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ก็อาจลุกลามจนเชื้อไวรัสลงปอด และมีอาการหนักขึ้น จากเดิมที่ไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ก็ต้องมาใส่ท่อช่วยหายใจ จากเดิมที่ไม่ต้องอยู่ในห้อง ICU ก็อาจจะต้องมาอยู่ในห้อง ICU


4) รอยา: ในกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ หรือมีน้ำหนักตัวมาก หรือมีโรคประจำตัว) ระหว่างรอเตียง หรือได้เตียงแล้วก็ตาม ระหว่างที่ยังไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย แทนที่หากได้รับยาก Favipiravir เร็ว (ตามการวินิจฉัยของแพทย์) หากกระบวนการจ่ายยาช้า ต้องรอให้มีอาการก่อน ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถสกัดการลุกลามได้ พออาการหนักขึ้น โอกาสการเสียชีวิตก็มีเพิ่มขึ้น


“ผมคิดว่ากระทรวงสาธารณสุขควรเอากรณีการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น มาวิเคราะห์ว่าในกระบวนการรักษาผู้ป่วย นั้นมีระยะเวลาในการรอคอย หรือ Idle Time เท่าไหร่ และสามาถลดขั้นตอนการทำงาน ลดงานเอกสาร ลดงานธุรการ ลดการบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อน ลดหลักฐานเอกสารที่ใช้ แก้ไขกฎระเบียบที่วุ่นวาย เพื่อทำให้ขั้นตอนต่างๆ มีระยะเวลาในการรอคอยที่ลดลงได้หรือไม่ ในแวดวงวิศวกรรม วิศวกรในกระบวนการผลิตต่างทราบดีว่า Idle Time เป็นความสูญเปล่า หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Muda เป็นกระบวนการที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าและมีต้นทุนเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้ คือ กระบวนการในการรักษาชีวิตคน ซึ่งเป็นต้นทุนที่มีมูลค่ามหาศาล ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการลดการรอคอยให้เหลือน้อยที่สุด”


วิโรจน์ ยังชี้ต่อไปว่า ความจริงต้นทุนที่ถูกที่สุดก็คือ การฉีดวัคซีนไม่ให้ประชาชนต้องเจ็บป่วย ต้นทุนหากฉีด AstraZeneca 2 โดส ก็อยู่ที่ 302 บาท ถ้าเป็น Sinovac 2 โดส ก็อยู่ที่ 1,098 บาท ถ้าเป็น Pfizer 2 โดส ก็อยู่ที่ 1,181 บาท ถ้าเป็น Johnson & Johnson ฉีดแค่โดสเดียว ราคาอยู่ที่ 302 บาท แต่ต้นทุนในการรักษาแพงกว่ามาก อย่างค่าตรวจ RT-PCR เคสละ 1,600 บาท ยา Favipiravir เม็ดละประมาณ 125 บาท ผู้ติดเชื้อ 1 คน ต้องใช้ยาประมาณ 40-70 เม็ด ต่อรายก็มีต้นทุนสูงถึง 5,000-8,750 บาท หากผู้ติดเชื้อมีอาการหนักต้องเข้าห้อง ICU อย่างสถาบันบำราศนราดูร ก็มีต้นทุนเพิ่มอีกวันละ 1,000 บาท ยังไม่นับค่าใช้จ่ายอื่นๆ


“ต้นทุนที่แพงที่สุดก็คือ การเสียชีวิตของผู้ป่วย ที่ทำให้เด็กหลายๆ คนต้องเป็นเด็กกำพร้า คู่ชีวิตอีกเป็นจำนวนมากต้องเป็นหม้าย พ่อแม่หลายคู่ที่ต้องอยู่ในสภาพคนหัวหงอกต้องมาเผาคนหัวดำ ความสูญเสียชีวิต ถือได้ว่าเป็นการสูญเสียที่มีมูลค่ามากมายมหาศาลมาก โรคโควิด-19 เป็นโรคที่แข่งกับเวลา ถ้าได้ยา Favipiravir ตั้งแต่อาการยังไม่หนัก โอกาสรอดก็สูง ถ้าได้ยาช้า หลังจากที่ปอดอักเสบหนักมากแล้ว โอกาสรอดชีวิตก็จะเหลือน้อยลง อย่าปล่อยให้ผู้ติดเชื้อต้องเสียชีวิต เพราะการรอคอย ไม่ว่าจะเป็น รอคิวตรวจ รอผลตรวจ รอเตียง หรือ รอยา เพราะการรอต่างๆ เหล่านี้ ผู้ติดเชื้ออาจกำลัง ‘รอความตาย’ อยู่ก็ได้”

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า