“ทุกอย่างกำลังจะดีขึ้น ส่งค่างวดรถ จ่ายค่าผ่อนบ้าน จ่ายค่าแชร์พอไหว แต่พอเจอโควิดระลอกสาม ทุกอย่างก็พังทลายไปอีกรอบ”
“รอบที่แล้ว แฟนตกงาน เรายังพอค้ำจุนครอบครัวให้ไปต่อได้ เจรจากับแบงค์ขอปรับหนี้ได้ รอบนี้เราก็เพิ่งตกงานอีกคน มืดแปดด้านไม่รู้จะทำยังไง แบงค์ก็ไม่ให้ผ่อนผันแล้วเพราะถือว่าเข้ามาตรการไปแล้ว”
นี่คือบางส่วนของเสียงประชาชนที่สะท้อนออกมาต่อปัญหาความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย ได้รับฟังจากโปรเจ็คเล็กๆ “วัคซีนแก้หนี้” ที่นำร่องในเขตพื้นที่บางขุนเทียนของ ส.ส. ณัฐชา บุญไชยอินทร์สวัสดิ์
จากการรับฟังปัญหา ศิริกัญญาได้สะท้อนออกมาว่า “ทุกคนพยายามดิ้นรนสุดแรงแล้ว ไม่มีใครไม่ทำงานหนัก ไม่มีใครที่ไม่หารายได้เสริม ไม่มีใครนั่งเฉยๆ รอให้รัฐบาลเข้ามาช่วย แต่มรสุมที่ซัดเข้ามาในระลอกสามนี้ มันทำให้ชีวิตพวกเขาพังลงต่อหน้า ด้วยความผิดที่พวกเขาไม่ได้เป็นคนก่อ เงินที่นำมาลงทุนขายของกลับสูญเปล่าเพราะไม่มีใครมาเดินตลาด งานที่ทำประจำที่โรงงานโดนลดชั่วโมง ตัดโอที เจ้าของร้านอาหารโทรมาบอกพวกเขาว่าไม่ต้องเข้ามาแล้วเพราะจ้างต่อไม่ไหว”
นอกจากนี้ ศิริกัญญายังสะท้อนออกมาอีกว่าปัญหาหนี้สินของประชาชนที่เราเจอ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เป็นเพราะพวกเขาใช้จ่ายเกินตัว หรือไม่มีความรู้ทางการเงิน แต่ความยากลำบากในเวลานี้สะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา และกำกับธุรกิจไฟแนนซ์ที่ขูดเลือดขูดเนื้อประชาชนจริงๆ
“โครงการทำเราทำอาจช่วยเหลือได้บางคน หลักสิบ หลักร้อยคน แต่ยังมีคนในประเทศนี้ไม่รู้เท่าไหร่ที่เดือดร้อนในแบบเดียวกันที่ต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้น ดิฉันคิดว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าการเริ่มลงมือทำในพื้นที่เล็กๆ คือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและเรียกร้องนโยบายให้รัฐบาลเข้ามาดูแล”
เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินประชาชน ศิริกัญญาได้ “ขอร้อง” รัฐบาลออกมาดังๆ 3 ข้อ
“สิ่งแรกที่ดิฉันขอ คือขอให้รัฐบาลออกมาตรการ พักหนี้ทันที โดยรอบนี้ควรจะพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ประชาชนหมดหนทางสู้แล้วจริงๆ ในรอบนี้ ขอเวลาให้ประชาชนได้ตั้งหลัก ให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้ซักพักแล้วค่อยจ่ายหนี้กันต่อ”
“อันดับต่อมา ดิฉันอยากขอให้รัฐบาลช่วยหาทางออกสำหรับ หนี้นอกระบบ โดยการออกสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องระดับครัวเรือนที่ดอกเบี้ยไม่สูงเกินไปนัก”
“เราจะแก้ปัญหาหนี้สินไม่ได้เลยถ้าเราไม่ ปรับลดภาระอื่นที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็น ค่าติดตามทวงถาม ซึ่งธนาคาร ไฟแนนซ์ แต่ละเจ้าตั้งค่าทวงหนี้กันตามอำเภอใจ ไม่ได้สัดส่วนกับค่างวด มีตั้งแต่หลักร้อย ไปจนถึงหลักพัน โดยเฉพาะเจ้าหนี้บริษัทไฟแนนซ์หลายเจ้าคิดค่าทวง 1,000-2,000 บาท/ครั้ง ค่าทวงหนี้ที่แพงไม่ได้ทำให้ประชาชนจ่ายได้เร็วขึ้น แต่กลายเป็นภาระที่ทำให้หนี้ยิ่งบาน และลูกหนี้จ่ายคืนไม่ไหว”
“ดิฉันอยากเห็นมหกรรมไกล่เลี่ยหนี้เช่าซื้อ เหมือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยทำ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มาแล้ว เพื่อหาคนกลางมาไกล่เกลี่ย เจรจากับเจ้าหนี้แทน และให้ภาระประชาชนผ่อนหนักเป็นเบาในยามที่ประชาชนมีวิกฤตหนี้ท่วมถึงคอหอย” ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้าย