ชายแดนไทย- เมียนมา ยังน่าห่วง ‘พิธา’ จี้ ‘ประยุทธ์’ ทบทวนนโยบายต่างประเทศ – ยืนยัน การผลักดันผู้ลี้ภัยชายแดนกลับประเทศเป็นความ ‘ไร้มนุษยธรรม’ หวั่นบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอาเซียน
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย มานพ คีรีภูวดล ส.ส.สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล รับเรื่องร้องเรียนจาก สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพเเละความขัดเเย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยเเละคนไร้รัฐ (CRSP) เพื่อขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและแก้ปัญหาของชาวเมียนมาที่ลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทย
พิธา กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบมาจากความไม่สงบในเมียนมาตั้งเเต่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น หากพูดถึงตัวเลขของคนพลัดถิ่นในประเทศมีมากกว่า 200,000 ราย มีผู้เสียชีวิตกว่า 900 ราย มีนักโทษทางการเมืองทั้งหมด 6,000 คน เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องถามไปยัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงนโยบายต่างประเทศของประเทศไทย ต่อการจัดการสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ส่วนในการแก้ไขปัญหานั้น ขอมองภาพรวมเป็น 4 ประเด็นหลัก
ในประเด็นเเรก – การจัดการปัญหาเฉพาะหน้าคือการช่วยผู้ลี้ภัยและการบริหารชายแดน โดยเราจะไม่ผลักดันมนุษย์ด้วยกันกลับไปสู่ดินแดนอันตราย เรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องยึดให้มั่นในนโยบายต่างประเทศ
ประเด็นต่อมา – ในวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา นายดอน ปรมัตถวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปร่วมประชุมการประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ประเทศอินโดเนีย ในฐานะ ส.ส.ฝ่ายค้าน คงต้องถามไปยังพลเอกประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เเละนายดอน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อฉันทามติ 5 ข้อ ที่เป็นข้อสรุปเพื่อยุติความรุนเเรงในเมียนมาของอาเซียน ซึ่งมีประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งคือการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบและไม่กีดขวางการช่วยเหลือได้ดำเนินไปตามนั้นหรือไม่
ประเด็นที่สาม – การช่วยเหลือชาวเมียนมาในสถานการณ์ที่มีความไม่สงบในประเทศ ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเเละการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งในฐานะที่ตนเป็นกรรมาธิการพิจารณางบประมาณประจำปี 2565 ได้แสดงความเห็นในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อช่วยเหลือประชาชนเมียนมาว่าเป็นสิ่งที่ควรจะทำและทำได้
ประเด็นที่สี่ – ขณะนี้ทีมงานกฎหมายของพรรคก้าวไกลอยู่ระหว่างการพิจารณายกระดับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีให้เปลี่ยนเป็นกฎหมายในการบูรณาการดูแลปัญหาเรื่องชายแดนให้มีความชัดเจน เพื่อให้ผู้ลี้ภัยในกลุ่มเปาะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้หญิง ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น และในฐานะที่เป็นสมาชิกรัฐสภาไทยเเละรัฐสภาอาเซียน ตนพร้อมที่จะช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างเต็มที่
ด้าน สุริชัย กล่าวว่า สถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา (รัฐกะเหรี่ยง) ขณะนี้มีการสู้รบกันระหว่างกองกำลังเมียนมาและกองกำลังเคเอ็นยูมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม จึงคาดการว่าจะมีผู้อพยพพลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs) กระจัดกระจายอยู่ฝั่งเมียนมาที่เป็นเขตป่าเขาจำนวนกว่า 7 หมื่นคน ซึ่งไม่สามารถกลับเข้าไปยังหมู่บ้านของตนได้ และไม่สามารถทำการผลิตได้ จึงหมายถึงปัญหาการขาดแคลนอาหารในระยะยาวด้วย นอกจากนี้การที่ต้องมาอยู่ในเขตป่า นอกจากปัญหาการขาดแคลนอาหารแล้ว ยังมีภาวะเจ็บป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมาลาเรียในหน้าฝน ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์หรือแม่ลูกอ่อน รวมถึงเด็กๆ และผู้บาดเจ็บด้วย ซึ่งประชากร 70-80% ของ IDPs คือกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ เนื่องจากที่ผ่านมาได้เคยมีการอพยพข้ามแม่น้ำสาละวินมาฝั่งไทยเป็นระลอกๆ แต่ทางการไทยที่ควบคุมแนวชายแดนจะผลักกลับ โดยอ้างว่าการสู้รบสงบแล้ว นอกจากนี้ แม้จะมีการระดมของบริจาคจากสาธารณะเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้อพยพแต่ก็ยังขาดกลไกการช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่การตั้งคณะกรรมการประสานงานระดับจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็ไม่สามารถทำงานได้จริง ปัจจุบันกลุ่มช่วยเหลือในท้องถิ่นยังไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งของข้ามไปช่วยเหลือได้ ส่วนองค์กรต่างประเทศก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการช่วยเหลือ IDPs ที่อยู่นอกแคมป์ฝั่งไทยได้
ด้าน กรกนก วัฒนภูมิ ตัวเเทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยเเละคนไร้รัฐ เสนอข้อเรียกร้องผ่านพรรคก้าวไกลไปยังรัฐบาลในการจัดทำนโยบายให้ความช่วยเหลือและจัดการผู้ลี้ภัยตามหลักกฏหมายสิทธิมนุษยชนใน 9 ประเด็นหลัก คือ
- รัฐไทยต้องยึดมั่นและดำเนินการตามหลักการไม่ผลักดันกลับ
- รัฐจะต้องไม่ปิดกั้น เเละควรต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคประชาชนไทยที่ประสงค์จะช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นในประเทศเมียนมาร์
- รัฐไทยต้องรับคณะทำงานเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากการสู้รบชายเเดนไทย – เมียนมา เเละตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจครอบคลุมพื้นที่อื่นๆที่มีผู้ลี้ภัยตามเเนวชายเเดนด้วย
- รัฐไทยต้องไม่ปฏิเสธการขอเข้าลี้ภัยโดยการอ้างเหตุผลในการแพร่ระบาดของ โควิด-19
- รัฐไทยควรอนุญาตให้สิทธิอาศัยชั่วคราวเเก่ผู้ลี้ภัย โดยตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อผู้ลี้ภัยจะสามารถอาศัยอยู่ในประเทศได้อย่างถูกกฎหมาย
- ในกรณีมีการจับกุมเเละมีการดำเนินคดี ให้ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงทนายความเเละสามารถปรึกษากับทนายความได้เป็นส่วนตัว
- ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาควรสามารถเข้าถึงกลไกการคัดกรอง เเละมีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อรับสถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองได้
- ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขอให้มีมาตรการในการดูเเลเพื่อให้เข้าถึงการตรวจคัดกรองโรค รักษาโรค รวมทั้งวัคซีนป้องกันโรค เเละ
- รัฐไทยควรดำเนินการช่วยเหลือให้ผู้ลี้ภัยสามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ด้วยความสมัครใจเเละมีความพร้อม ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน โดยเราต้องการให้รัฐไทยมีความชัดเจนในนโยบายระดับท้องถิ่นเเละระดับประเทศ