free geoip

สั่งยกเลิกตรวจโควิดแรงงานข้ามชาติ “รัฐบาลไม่เคยมองคนเท่ากัน”



นิวโลว์ขั้นสุด! สั่งยกเลิกตรวจโควิดแรงงานข้ามชาติกลุ่มเสี่ยง รัฐบาลไม่เคยมองคนเท่ากัน

เมื่อวานนี้ 13 กรกฎาคม 2564 ปรากฏเอกสารระบุว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีคำสั่งให้ยกเลิกการตรวจคัดกรองโควิด-19 กับกลุ่มแรงงานสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยเฉพาะแรงงานที่ทำงานในกิจการที่มีความเสี่ยง อาทิ สถานที่ก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม ตลาดสด ฯลฯ บันทึกข้อความลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ลงนามโดย ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน

ทั้งที่ก่อนหน้านี้เกิดกรณีการแพร่ระบาดหนักในคลัสเตอร์แคมป์คนงานหลายจุดทั่วกรุงเทพมหานคร แต่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือใดๆ กับแรงงานอย่างทั่วถึง

แนวทางการรับมือที่รัฐบาลไทยเลือกทำ คือออกคำสั่งให้ปิดแคมป์ก่อสร้างอย่างเข้มงวด ไม่ให้คนงานออกจากพื้นที่ แรงงานขาดรายได้ ผลักภาระให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดหาอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภค แถมคนงานยังต้องอาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราวที่แออัด ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อการพักอาศัยระยะยาว ไร้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข มีการส่งเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบทั้งทหารและตำรวจไปเฝ้าหน้าแคมป์เพื่อป้องกันการหลบหนี จนเรียกได้ว่ามีสภาพไม่ต่างอะไรกับคุกสังกะสีหรือค่ายกักกันกลางกรุง!

ล่าสุดเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานในซอยกิ่งแก้ว แรงงานในแคมป์คนงานซึ่งอยู่ในรัศมีที่ได้รับผลกระทบก็ไม่สามารถอพยพออกมาได้ เพราะเจ้าที่หน้าห้ามออกจากพื้นที่

แนวทางเหล่านี้คือการมุ่งปราบปราม สร้างความหวาดกลัวให้นายจ้าง จงใจลอยแพแรงงานข้ามชาติ แทนที่จะป้องกัน เยียวยา และควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ

ต่อมา อธิบดีกรมการจัดหางาน ออกมาแก้ข่าวโดยปัดความรับผิดชอบไปว่าอำนาจในการตรวจคัดกรองโควิดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็นอำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และกล่าวว่าอยู่ระหว่างเตรียมการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในด้านอื่นๆ ต่อไป ซึ่งก็ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการช่วยเหลือในด้านอื่นๆ นั้นคืออะไรกันแน่?

สุเทพ อู่อ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล อธิบายว่าการสั่งยกเลิกตรวจคัดกรองกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติแสดงให้เห็นว่ารัฐมีนโยบายเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน ตั้งแต่การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามมาตรา 33 ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงแรงงานข้ามชาติ มาตอนนี้ยังกีดกันไม่ให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำกัดให้เฉพาะแรงงานที่มีเอกสารเท่านั้น

“ทั้งๆ ที่รัฐทราบดีว่า โควิดไม่เลือกที่รักมักที่ชัง จะชาติไหน มีบัตรหรือไม่ก็มีโอกาสติดโควิดเหมือนกัน และถ้าแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะมีเอกสารหรือไม่มีเอกสารไม่ปลอดภัย พวกเราทุกคนก็ไม่มีทางปลอดภัย คำสั่งเช่นนี้คือใบอนุญาตปล่อยให้คนตายใช่หรือไม่?”

สุเทพถามทิ้งท้าย พร้อมระบุว่าในฐานะประธานกรรมาธิการการแรงงานจะรีบดำเนินการทำหนังสือด่วนถึงนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียกร้องให้ทบทวนคำสั่งดังกล่าว



ด้าน มู โซชัว ตัวแทนสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights – APHR) ออกมาวิจารณ์กรณีนี้ว่า “การกีดกันแรงงานข้ามชาติจากการตรวจคัดกรองโควิด-19 และบริการสาธารณสุข ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และไม่เป็นประโยชน์ต่อความพยายามในการยับยั้งการแพร่กระจายของโควิด-19″ นอกจากนี้ยังเสนอว่ารัฐบาลไทยต้องทำให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ มีเอกสารตามกฎหมายหรือไม่ ให้เข้าถึงการตรวจคัดกรองโควิด-19 การรักษาพยาบาล และต้องได้รับวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน

เห็นได้ชัดว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์แคมป์คนงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทั่วประเทศยังคงอยู่ในภาวะย่ำแย่และมีแต่จะหนักขึ้นๆ ต่อไป ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการโรคระบาดและความล้าหลังของรัฐบาลที่ยังคงมีนโยบายเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเชื้อชาติ ซ้ำร้ายยังเป็นการปลูกฝังทัศนคติเหมารวมและสร้างความหวาดกลัวเกลียดชังต่อแรงงานข้ามชาติ ทั้งที่พวกเขาคือเรี่ยวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

การควบคุมการแพร่ระบาดที่ได้ผล คือต้องปูพรมตรวจเชิงรุกกลุ่มแรงงานทั้งหมด จากนั้นก็คัดกรองแรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 ออกมาจากผู้ที่ยังไม่ป่วย เข้าถึงการรักษาพยาบาล เพิ่มมาตรการเยียวยาอย่างเป็นระบบให้กับแรงงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่มีประกันสังคม แรงงานข้ามชาติ แรงงานรายวัน แรงงานที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ประจำ รวมทั้งต้องกำหนดมาตรฐานสภาพความเป็นอยู่ของแคมป์คนงานก่อสร้างให้ถูกสุขลักษณะและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เหตุใดรัฐบาลจึงไม่เคยมองคนเท่ากัน? โควิด-19 ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะรวยหรือจน ทำอาชีพอะไร ทุกคนมีโอกาสติดได้เหมือนกัน ดังนั้นมาตรการป้องกัน เยียวยา บริการด้านสาธารณสุข ก็ต้องไม่เลือกปฏิบัติ ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ไม่แบ่งแยกฐานะ เช่นเดียวกัน

อย่าเอาปัญหาระหว่างหน่วยงาน ระบบราชการรวมศูนย์ และการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพมาเป็นข้ออ้าง!

เพราะแรงงานทุกคนคือคนเท่ากัน

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า