งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกตรวจสอบ ส่วนราชการในพระองค์ต้องเข้าชี้แจงการใช้งบประมาณด้วยมาตรฐานเดียวกันกับหน่วยรับงบประมาณประชาชนอื่น
ท่ามกลางกระแสธารความคิดทางการเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างถึงราก หนึ่งในข้อเรียกร้องที่ดังก้องในสังคมไทย โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ และผู้เรียกร้องประชาธิปไตย คือข้อเสนอให้มีการ “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” หนึ่งในข้อเรียกร้องคือ การปฏิรูปงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งเรื่องนี้ เบญจา แสงจันทร์ ผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้ทำงานติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด
รับชมคลิปได้ที่นี่ https://youtu.be/SZiROzJ0fRE
“ในขณะที่ภาพรวมงบประมาณ 65 ถูกจัดสรรลดลง แต่ถ้าพูดถึงงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตามหน่วยงานกลับลดลงไม่มากนัก และไม่สอดคล้องกับการใช้จ่ายจริง อย่างเช่น งบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่่นั่ง เพื่อดูแลฝูงบิน 42 ลำ (เฮลิคอปเตอร์ 21 ลำ และเครื่องบิน 21 ลำ) โดยปี 64 เบิกจ่ายได้เพียง 470 ล้านบาท จากที่ตั้งไว้ 1,959 ล้านบาท แต่ปีนี้มีการตั้งขอเข้ามาอีก 1,500 ล้านบาท ทั้งที่งบประมาณที่ใช้ในปีที่แล้วใช้จริงน้อยมาก ดิฉันก็อยากตั้งคำถามถึงความสมเหตุสมผลในการตั้งงบประมาณดังกล่าว ว่าความสมเหตุสมผลในการจัดสรรงบประมาณอยู่ตรงไหน”
อีกเรื่องที่งบถวายความปลอดภัยกระจายอยู่ในหน่วยงานความมั่นคง ถ้าเราจำกันได้ พ.ร.บ.จัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ถ่ายโอนหน้าที่ด้านการถวายความปลอดภัย ทั้งด้านภารกิจ กำลังพล และงบประมาณทั้งหมดไปไว้ในส่วนราชการในพระองค์แล้ว แต่ในทางปฏิบัติกลับยังมีการตั้งงบประมาณในส่วนนี้ในหลายหน่วยงาน ตั้งไว้ที่กระทรวงกลาโหม 1,296 ล้านบาท และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2,119 ล้านบาท
งบส่วนนี้ได้สอบถามในกรรมาธิการดูแล้วว่านำไปใช้จัดสรรอะไรบ้าง อย่างเช่น สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ได้รับคำตอบมาว่าเป็นค่าก่อสร้าง ค่าฝึก ค่าอุปกรณ์ ค่าเสื้อผ้า ค่าฝึกกำลังพล เอาจริงๆ ไม่ใช่การตั้งงบที่เกี่ยวกับชื่อโครงการ ไม่ใช่งบเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย แต่เป็นค่าฝึก ค่าเครื่องแต่งกาย ค่าเครื่องฝึก ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ายานพาหนะ ค่าส่งกำลังบำรุง
ส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการจัดสรรไปกับค่าเช่ารถตามขบวนเสด็จหลากหลายรุ่นที่มีสเปคสูงกว่ารถทั่วไปค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าฝึกยุทธวิธี ค่าก่อสร้าง และค่าครุภัณฑ์อาวุธ และที่น่าสนใจก็คือมีการเช่ารถตรวจการณ์ไฟฟ้ายี่ห้อ Tesla ซึ่งในปี 64 ได้มีการโอนเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการชาร์จแบตรถไฟฟ้าและการให้บริการของตัวแทนจำหน่าย
ส่วนงบประมาณที่เป็นโครงการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์และบรมวงศานุวงศ์ มีแฝงไว้หลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม 74.99 ล้านบาท กรมการศาสนา 22.5 ล้านบาท สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ 107.35 ล้านบาท กองทัพทุกเหล่าทัพ 422.69 ล้านบาท สิ่งที่เห็นบรรยากาศในกรรมาธิการ งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันยังมีบรรยากาศที่คิดว่าไม่ควรปรับลด โครงการในพระราชดำริก็ไม่อนุญาตให้ปรับลดเลย ทั้งที่มีปัญหาโครงการ เช่น ความซ้ำซ้อนในการเบิกจ่าย
โครงการในพระราชดำริ ขอยกตัวอย่างโครงการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของกองทัพ ซึ่งตั้งงบประมาณไว้แทบจะทุกเหล่าทัพ เราถามว่างบส่วนนี้มีความเกี่ยวข้องกับภารกิจของกองทัพอย่างไร สิ่งที่เขาตอบคือตั้งงประมาณส่วนนี้ เพราะเป็นโครงการที่ต่อเนื่องกันทุกปี แต่เมื่อถามถึงความสมเหตุสมผล และผลการดำเนินงานของโครงการ กลับถูกห้ามไม่ให้พูดถึงในกรรมาธิการ ทำให้การซักถามเกี่ยวกับความเหมาะสมของโครงการเป็นไปได้ยากลำบาก ทั้งที่โครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องมายาวนานกว่า 30 ปี แล้ว ตั้งงบมาตั้งแต่ปี 2535 แต่ผลสัมฤทธิ์โครงการเป็นอย่างไรเราก็ไม่ทราบคำตอบ
ในขณะที่ส่วนราชการทุกหน่วยงานมีเอกสารชี้แจงงบประมาณ และมีตัวแทนจากหน่วยงานเข้ามาชี้แจงการใช้งบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการพิจารณางบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ทุกปีกลับไม่มีเอกสารชี้แจง และไม่มีตัวแทนจากส่วนราชการเข้ามาชี้แจง ซึ่งเป็นการพิจารณางบประมาณที่สองมาตรฐานกับหน่วยรับงบประมาณภาษีประชาชนอื่น
“สถานการณ์ของประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงความเปลี่ยนแปลง กระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ดังขึ้นเรื่อยๆ ดิฉันขอเรียกร้องไปยังกรรมาธิการงบประมาณทุกท่านให้ มีความกล้าหาญในการพิจารณางบประมาณของหน่วยรับงบประมาณอย่างส่วนราชการในพระองค์ ขอให้กรรมาธิการรอพิจารณาออกไปก่อนยังไม่ให้งบประมาณของหน่วยงานนี้ผ่าน จนกว่าหน่วยงานจะมาชี้แจงพร้อมเอกสารชี้แจง แบบเดียวกับที่หน่วยงานรับงบประมาณอื่นทำกัน”