free geoip

หลักสูตร วปอ. มีไว้ทำไม???


หลักสูตร วปอ. มีไว้ทำไม ???

จากการที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการซื้อชุดตรวจโควิด-19 จำนวน 8.5 ล้านชิ้น ที่เชื่อมโยงไปถึงสายสัมพันธ์ของผู้มีอำนาจและผู้บริหารของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเป็นตัวแทนจำหน่ายชุดตรวจดังกล่าว รวมไปถึงคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ที่กรรมการหลายคน มีความบังเอิญหรือจงใจไม่ทราบได้ที่เชื่อมโยงไปถึงผู้มีอำนาจในรัฐบาลอย่างแนบแน่นใกล้ชิด อีกทั้งกรรมการส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่เคยผ่านหลักสูตร วปอ. มาด้วยกันทั้งสิ้น

ย้อนชมคลิปการอภิปรายเต็ม https://youtu.be/XYld2PBPfEc



ด้วยเหตุนี้เราเลยอยากพาทุกคนไปย้อนดูว่า หลักสูตร วปอ. มีไว้ทำไม และยังจำเป็นอยู่หรือไม่ในยุคสมัยปัจจุบันที่จะมีหลักสูตรนี้อยู่ต่อไป

จากเว็บไซด์ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ระบุว่า วิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาและการวิจัยระดับสูงของกระทรวงกลาโหม ตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมเสนาธิการกลาโหม พ.ศ.2498 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 เพื่อ “ประศาสน์วิทยาการด้านการป้องกันราชอาณาจักรให้แก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้ง ฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือน เพื่อให้เกิดความสำนึกและตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในอันที่จะต้องป้องกัน ต่อสู้ การจัด สรรพกำลัง การปกครอง และการรักษา ความสงบของประเทศ” รวมถึงได้มีการวางศิลาฤกษ์ในวันอาทิตย์ที่ 5 ส.ค. 2496 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2497 ได้ทำพิธีเปิดอาคารพร้อมๆ กับพิธีเปิดการศึกษา วปอ.รุ่นที่ 1 ในวันที่ 14 ก.ค. 2498

ปัจจุบันสังกัด กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม

เมื่อไปดูคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าเรียนหลักสูตรนี้ได้พบว่า คุณสมบัติทั่วไปคือต้องจบอย่างน้อยปริญญาตรี ได้รับความไว้วางใจเข้าถึงชั้นความลับของทางราชการระดับ “ลับที่สุด” ผ่านการตรวจสอบพฤติกรรมจากหน่วยงานรัฐว่าไม่เป็น “ภัยต่อความมั่นคงของชาติ” หากเป็นทหารหรือตำรวจต้องมีชั้นยศเทียบเท่ากับ พันเอก (พิเศษ) ขึ้นไป และหากเป็นข้าราชการพลเรือน ต้องดำรงตำแหน่งระดับบริหารระดับต้น อำนวยการสูง วิชาการระดับเชี่ยวชาญ ขึ้นไป หรือหากเป็นระดับซีแบบเก่าจะเทียบเท่า C9 หากเป็นข้าราชการตุลาการ ต้องเงินเดือนชั้น 3 ขึ้นไปหรือรวม 104,360 บาท ขึ้นไป หากเป็นอัยการต้องชั้น 5 ขั้นไปหรือ 117,800 บาทขึ้นไป ซึ่งข้าราชการเหล่านี้ต้องอายุตั้งแต่ 53 ปีแต่ต้องไม่เกิน 55 ปี และถ้าหากเป็นนักธุรกิจ ต้องมีคุณสมบัติคือ ประกอบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและมีสถานภาพมั่นคง อายุต้องไม่ต่ำกว่า 48 ปีและไม่เกิน 55 ปี

จากคุณสมบัติข้างต้น ยิ่งชี้ให้เห็นว่าคนที่จะเข้ามาเรียนได้ หากเป็นข้าราชการต้องเป็นผู้บริหารระดับกลางค่อนสูงของหน่วยงานและเมื่อดูคุณสมบัติอายุประกอบด้วยนั้น ยิ่งชี้ให้เห็นว่า คนที่จะได้มาเรียนนั้นโดยคุณสมบัติมีโอกาสเติบโตไปถึงผู้บริหารสูงสุดของกระทรวง ทบวง กรมและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ด้วยเพราะการที่สามารถมีชั้นยศระดับ C9 ขึ้นไป (การนับตำแหน่งแบบเก่า) ในอายุ 53-57 ปียังมีเวลาอีกอย่างน้อย 5-6 ปี ที่จะไต่เต้าขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นอีก

ไม่นับว่าในทางปฏิบัติ ข้าราชการที่จะได้โอกาสมาเรียน หากหน่วยงานส่งมา ก็ต้องให้ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานเป็นคนอนุมัติ จึงมักเกิดกรณีว่าคนที่ได้มาเรียนนั้นล้วนแล้วแต่เป็น “เด็กนาย” หรืออย่างน้อยต้องมีสายสัมพันธ์อันดีกับผู้บริหาร

และจากการวิจัยของ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนองานวิจัยเรื่อง “เครือข่ายผู้บริหารระดับสูง” ซึ่งจัดทำร่วมกับ ดร.ภาคภูมิ วาณิชกะ พบว่า นักธุรกิจที่มีธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐจะไม่นิยมเข้าเรียน

และเมื่อไปดูกำหนดการของหลักสูตรก็พบว่า จะมีพิธีเปิด มีการปฐมนิเทศน์ มีการฝึกอบรมลูกเสือ มีกิจกรรมการแก้ปัญหาเป็นคณะ มีสัมนา และมีการบรรยายในแต่ละสัปดาห์โดยจะเชิญวิทยากรที่เป็นศิษย์เก่า วปอ. เข้ามาบรรยาย เช่น ในการอบรม วปอ.รุ่น 63 ในหัวข้อ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของรัฐกับเอกชน ได้มีการเชิญ กลินทร์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย วปอ.รุ่น 57

รวมไปถึงยังมีกิจกรรมเดินทางไปดูงานทั้งในและต่างประเทศ อย่างในกรณีของ วปอ.รุ่น 57 มีการเดินทางไปทวีปยุโรป จำนวน 10 สายการเดินทางคือ 1.เยรมัน-ฝรั่งเศส 2.สเปน-โปรตุเกส 3.สวีเดน-นอร์เวย์ 4.เบลเยี่ยม-เนเธอแลนด์ 5.นอร์เวย์-เดนมาร์ก 6.อินเดีย 7.รัสเซีย-ฟินแลนด์ 8.สวิสเซอร์แลนด์-อิตาลี 9.โปแลนด์-สาธารณรัฐเช็ก 10.จีน-ญี่ปุ่น

คำถามที่เกิดขึ้นคือในแต่ละปี แต่ละรุ่น หากสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ เมื่อมีการเดินทางไปต่างประเทศ ได้มีการอุดหนุนหรือจ่ายค่าเดินทางไปต่างประเทศให้บุคลากรของวิทยาลัยฯ หรือแม้กระทั่งหากมีการจ่ายให้ผู้เข้ารับการอบรมด้วย จ่ายคนละเท่าไหร่ เพราะนั่นคือเงินภาษีของประชาชนชาวไทยทุกคน

อีกทั้ง การเรียนในหลักสูตร วปอ. ยังมีการปลูกฝังอุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่ตีคลุมว่าสิ่งเหล่านี้คือคุณค่าที่ต้องยึดถือและแยกกันไม่ออกกับเรื่องความมั่นคง และยืนยันค่านิยมหลักกองบัญชาการกองทัพไทย “จงรักภักดี น้อมนำพระบรมราโชวาทและปฏิบัติตามคำสัตย์ปฏิญาณเป็นที่ไว้วางใจในงานที่รับมอบปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเท่าเทียม สร้างคุณค่าในงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน”

รวมทั้งหลักสูตร วปอ. ยังเป็นพื้นที่ให้รัฐบาลโดยเฉพาะรัฐบาลที่มี นายกรัฐมนตรี หรือ รมว.กลาโหม ใช้เป็นเวทีพูดคุยเพื่อผลักดันนโยบายของรัฐบาลด้วย อย่างกรณีเมื่อวันที่ 5 ก.ย.2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานให้ข้อคิดเห็นในการแถลงผลการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยย้ำบทบาทหลักของกองทัพ คือป้องกันอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ของชาติในทุกมิติ รวมทั้งการดำเนินการต่อภัยคุกคามที่มิใช่ทางทหาร ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญของกองทัพในการสนับสนุนรัฐบาล จึงต้องอาศัยการบริหารจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย มีความสงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ขอฝากให้ทุกคนทำงานเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

นอกจากนี้ในแต่ละรุ่นยังมีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ เป็นหมู่ๆ ด้วย ซึ่งหมู่เหล่านี้จะตั้งชื่อตามชื่อสัตว์ต่างๆ เช่น หมู่ช้าง หมู่นกยูง หมู่เหยี่ยว หมู่นกหัวขวาน ฯลฯ โดยมากหากผู้เข้าอบรมอยู่หมู่เดียวกัน ก็มักจะยิ่งมีความสนิทสนมกันมากขึ้นด้วย เพราะนอกจากทำกิจกรรมลูกเสือด้วยกันแล้ว ก็มักจะทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วยกันด้วย เช่น มีการนัดสังสรรค์หรือไปเที่ยวร่วมกันเป็นหมู่ อย่างกรณี วปอ.รุ่น 63 หมู่เหยี่ยว ก็มีการนัดจัดเลี้ยงที่โรงแรมในจังหวัดพิษณุโลก

ทั้งหมดนี้จึงไม่ใช่อะไรอื่นแต่คือการถ่ายทอดอุดมการณ์ความมั่นคง ของทหารไปสู่ “ว่าที่อีลีทหรือชนชั้นนำกลุ่มใหม่” ในทุกภาคส่วนเป็นการส่งต่ออุดมกาณ์จากรุ่นสู่รุ่น รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการหลอมละลายความคิดและสร้างความเป็นพวกเดียวกันให้เกาะกลุ่มกันไว้เป็นกลุ่มชนชั้นนำ เป็นเพื่อนที่สนิทชิดเชื้อกัน ผ่านกิจกรรมระหว่างการอบรม ทั้งการรับน้องใหม่ การเลี้ยงกันภายในรุ่น และระหว่างรุ่น การเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมศิษย์เก่า อีกทั้งยังมีการขนานนามกันในนักเรียนเรียน วปอ. รุ่นแล้วรุ่นเล่าว่า เพื่อน วปอ.คือเพื่อนกลุ่มสุดท้ายของชีวิตด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อไปสำรวจข้อมูลในแต่ละรุ่นว่าใครเรียนรุ่นเดียวกับใครบ้าง พบว่า ในกรณีของ วปอ.รุ่น 50 มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารและนายกรัฐมนตรี เป็นประธานรุ่น และมี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ที่ตอนเรียน วปอ.รุ่น 50 มาในโควต้าภาคธุรกิจ ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือแม้กระทั่ง นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ก็อยู่รุ่นนี้ด้วยเช่นกัน

และ วปอ.รุ่น 61 รุ่นนี้มี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข และมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช. เกษตรและสหกรณ์และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (สละสิทธิ์) รวมไปถึง วิษณุ เทพเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน)

และยิ่งการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เคยพูดไว้ตอนดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อครั้งเดินทางมาเป็นประธานเปิดหลักสูตร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 61 ณ วันที่ 8 พ.ย. 2562 ซึ่งเป็นรุ่นที่ อนุทิน ชาญวีรกูล และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้เข้าอบรมในรุ่นนี้ด้วย โดยกล่าวว่า “การมาเข้ารับการศึกษาของทุกท่านนั้น เป็นความสมัครใจของทุกคนที่เข้ามา เพราะทุกคนก็วิ่งเต้นกันทั้งนั้น…”

การสารภาพกลางเวทีครั้งนั้นน่าสนใจเพราะในตอนนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สวมหมวกอีกหนึ่งใบ ในฐานะ รมว.กลาโหม คือ นั่งเป็นประธานคณะกรรมการสภาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ด้วย เป็นประธานกรรมการคัดเลือกคนที่จะได้เข้ามาเรียนหลักสูตรนี้ ยิ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมและที่มาของผู้ที่จะได้เข้ามารับการอบรมหลักสูตร วปอ. ซึ่งคงไม่ใช่แค่รุ่น 61 เท่านั้นที่การรับคนเข้าอบรมมีกระบวนการวิ่งเต้น แต่น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดมาช้านานและยังดำรงอยู่จนกระทั่งปัจจุบันด้วยหรือไม่ ?

จนอดคิดไม่ได้ว่า เมื่อกระบวนการเข้าเรียนหรือที่มาของการได้รับเลือกให้มาอบรมหลักสูตรนี้นั้น ได้รับเลือกเพราะวิ่งเต้นกันเข้ามา คำถามคือ หลักสูตรนี้เป็นที่รวมคนประเภทไหนกัน ? และผู้มีอำนาจคัดเลือกก็เห็นดีเห็นงามหรืออย่างน้อยที่สุดคืออนุมัติยอมรับกับกับกระบวนการแบบนั้น แล้วหลักสูตรแบบนี้จะสร้างคนแบบไหนออกมาเป็นชนชั้นนำของสังคม ?

ยังไม่นับว่าการเกาะเกี่ยวกันไม่ว่ารูปแบบไหนทำให้การแสวงหาผลประโยชน์กระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นนำมากขึ้นโดยที่ประชาชนที่อยู่ภายนอกหรือระดับล่างย่อมเข้าไม่ถึง และหากมีการเล่นพรรคเล่นพวก ระบอบอุปถัมภ์ต่อกิจการสาธารณะด้วยแล้ว นอกจากจะเป็นการคอรัปชั่นเชิงอำนาจแล้วนั้น ยังเป็นการกีดกันโอกาสของสังคมและบุคคลที่มีศักยภาพหากไม่อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ จนส่งผลร้ายแรงต่อประเทศ รวมไปถึงการถ่างกว้างของความเหลื่อมล้ำที่เป็นผลสืบเนื่องจากการผนึกกำลังความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและกลุ่มทุน

คำถามคือการดำรงอยู่ของหลักสูตร วปอ. สร้างประโยชน์อะไรให้กับประชาชน และเป็นผลดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศอย่างไร ทั้งๆ ที่ในแต่ละปีการบริหารจัดการ ทรัพยากรต่างๆ เกิดมาจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น เพราะหากไม่ได้ก่อประโยชน์กับเจ้าของเงินภาษีและเจ้าของประเทศแล้วนั้น หรือซ้ำร้ายหากยังเป็นอุปสรรคขัดขวางกับประชาชนส่วนใหญ่และระบอบประชาธิปไตยด้วยแล้วนั้น การมีอยู่ของหลักสูตร อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป


วปอ. มีไว้ทำไม ???



อ่านภาคต่อเกี่ยวกับองค์การเภสัชกรรม https://www.moveforwardparty.org/parliament/5491/

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า