ปัญหาที่ดินคือกระดุมเม็ดแรก: ประเทศไทยต้องการจินตนาการใหม่ของที่ดินไทยเพื่อแก้ไขปัญหาป่าทับคน ให้คนไทยได้มีสิทธิในที่ดินทำกิน
เมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากการเลือกตั้ง 2562 ไม่นาน ผมได้มีโอกาสพบปะกับพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์กลุ่มหนึ่งในจังหวัดสกลนคร พี่น้องเกษตรกรที่ผมพบเจอในวันนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้ผมอย่างยิ่ง เนื่องจากพวกเขาสามารถที่จะเลิกใช้สารเคมีตั้งแต่ปี 2552 มีธนาคารชีวภาพเป็นของตัวเอง ปลูกข้าวอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน IFOAM และส่งออกข้าวด้วยตนเองในราคาตันละ 3 หมื่นบาท
ในวันนั้นเป็นช่วงเวลาไม่นานก่อนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น และผมก็ได้มีโอกาสเปิดอ่านนโยบายเกษตรของรัฐบาลร่วมกับพี่น้องเกษตรกรกลุ่มนี้ และจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ผมจึงได้ทราบว่าความสำเร็จของพวกเขามีปัจจัยตั้งต้นที่สำคัญที่สุดคือพวกเขามีโฉนดที่ดินเป็นของตัวเอง
และนี่คือที่มา ที่ผมลุกขึ้นอภิปรายนโยบายเกษตรของรัฐบาลในรัฐสภา ว่าการที่เกษตรกรไทยจะหลุดพ้นจากวังวนของ หนี้สิน สารเคมี และการขาดนวัตกรรมได้ กระดุมเม็ดแรกที่เราต้องกลัดให้ถูกคือ ปัญหาที่ดินของประเทศไทย และด้วยความมุ่งหมายที่จะต่อสู้ให้เกษตรกรไทยมีที่ดินเป็นของตัวเองและยุติข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับรัฐในเรื่องที่ดิน ผมจึงได้ผลักดันให้ทั้งอดีตพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะใช้กลไกรัฐสภาในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับสิทธิในที่ดินของคนไทย
ในช่วงเวลาที่ผมดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ ผมได้รับรายงานว่ารัฐไทยมีคดีข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับชาวบ้านสูงถึงกว่า 8 หมื่นคดี และในช่วงเวลาเพียง 2-3 เดือนหลังจากที่ผมเข้ารับตำแหน่ง ก็มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับที่ดินเข้ามาที่รัฐสภามากกว่า 200 เรื่อง ส่วนมากเกี่ยวกับนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ที่รุกไล่ที่ดินทำกินของคนยากจนที่อยู่ในพื้นที่มาก่อนการประกาศพื้นที่ป่า นอกจากนี้ กมธ. ที่ดิน ยังได้จัดเวทีรับฟังปัญหาทั่วประเทศ และร่วมกับ 98 เครือข่ายภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาที่ดินของประเทศ
ในวันที่ 31 ม.ค. 2563 ผมได้อภิปรายในสภาเพื่อให้ตั้ง กมธ. วิสามัญแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนของประเทศ ในหัวข้อ “จินตนาการใหม่ที่ดินไทย” ผมได้แสดงข้อมูลให้เห็นถึงปัญหาแผนที่ทับซ้อนระหว่างหน่วยงานรัฐเองว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ 320 ล้านไร่ก็จริง แต่ถ้าเอาแผนที่ของหน่วยงานรัฐทั้งหมดมารวมกันประเทศไทยจะมีพื้นที่ 464 ล้านไร่ นอกจากนี้ผมยังได้แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องแปลกอย่างยิ่งที่รัฐไทยถือครองที่ดินของประเทศอย่างมหาศาล เป็นเจ้าของที่ดินของประเทศถึง 57% ขณะที่ในสวีเดนรัฐเป็นเจ้าของที่ดินเพียง 15% ถ้ามาดูพื้นที่ป่า รัฐไทยถือครองป่าเกือบ 100% แต่รัฐสวีเดนซึ่งเป็น Best Practice ของโลกด้านการบริหารป่า พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 100% ใน 100 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสวีเดนถือครองป่าของประเทศเพียง 3% เท่านั้นเอง ที่เหลือเป็นของ ประชาชน บริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจ และกลุ่มชาติพันธุ์
การอภิปรายในวันนั้นผมได้แสดงให้เห็นถึงต้นตอของความบิดเบี้ยวในการจัดสรรที่ดินของไทย ว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยยุคอาณานิคม เจ้ากรมป่าไม้คนแรกของไทย Mr. H. Slade ก็เป็นชาวอังกฤษ ชาติยุโรปต่างก็มาให้คำแนะนำรัฐไทยให้ผูกขาดป่าไม้เพื่อที่จะได้เจรจาสัมปทานป่าไม้กับรัฐไทยเพียงเจ้าเดียว ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 ประเทศไทยมี พ.ร.บ. ป่าไม้ฉบับแรก ก็เขียนว่า “ที่ดินที่ยังไม่ได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดินถือว่าเป็นป่าไม้” ที่ดินที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์จึงถูกนับเป็นป่าไม้ทั้งหมด
ในปี 2502 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ Dr. George D. Ruhle จากสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาวางแผนอุทยานของไทย องค์ความรู้ของสหรัฐฯ ในขณะนั้นยังเป็นองค์ความรู้เก่าที่เชื่อว่าการอนุรักษ์ป่าจะต้องใช้วิธีการแบบทหาร มีกลิ่นอายของสงคราม ในการขับไล่ชาวชาติพันธุ์ออกจากป่า แนวคิดนี้สวนทางการองค์ความรู้ปัจจุบันจากรายงานของ FAO ว่าพื้นที่ป่าที่มีชาวชาติพันธุ์อาศัยอยู่สามารถรักษาระบบนิเวศน์ได้ดีกว่าป่าที่ไม่มีชาวชาติพันธุ์อยู่เป็นเท่าตัว
ทั้งหมดนี้ผมต้องการแสดงให้เห็นว่าจินตนาการที่ดินของไทยในปัจจุบันที่รัฐผูกขาดป่าเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ และสภาพปกติกับองค์ความรู้ของโลกในปัจจุบันคือคนต้องอยู่ร่วมกับป่าได้ ในการนี้ทาง Think Forward Center – ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ได้ศึกษาปัญหานี้ต่อมาในรายละเอียด และพบว่าประเทศไทยมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างรัฐกับประชาชน 13.52 ล้านไร่ คิดเป็น 6.5% ของที่ดินของรัฐทั้งหมด และปัญหานี้กระทบกับประชาชน 1.2 ล้านคน และผลกระทบของการไม่มีกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ในที่ดินคือผลิตภาพที่ต่ำและการไม่ลงทุนในปัจจัยการผลิตเพื่อที่จะยกระดับประสิทธิภาพการผลิตได้
ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ผมจะเดินทางกลับไปยังสกลนครอีกครั้งหนึ่งครับ ช่วงเวลา 2 ปีให้หลังจากวันที่ผมได้เรียนรู้จากชาวสกลนครว่าปัญหาที่ดินคือกระดุมเม็ดแรก ในครั้งนี้ผมจะไปติดตามปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กร่วมกับคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ผมและพรรคก้าวไกลจะใช้กลไกรัฐสภาในการผลักดันให้คนไทยมีสิทธิในที่ดินทำกินและแก้ปัญหาป่าทับคน นำ “จินตนาการใหม่ของที่ดินไทย” มาแก้ไขปัญหากระดุมเม็ดแรกของเกษตรกรไทยให้ได้ครับ