‘ก้าวไกล’ เชิญชวนประชาชน ร่วมแสดงความเห็นร่าง พ.ร.บ.กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อสนับสนุนความหลากหลายในสังคม
ปัจจุบัน มีร่างกฎหมายที่เปิดรับความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญอยู่มากมาย หนึ่งในร่าง พ.ร.บ. ที่น่าสนใจและกำลังเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนอยู่ ก็คือ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ….
ที่ผ่านมา ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ที่สถานะพลเมือง การรักษาวัฒนธรรม และมีความขัดแย้งกับรัฐ โดยเฉพาะที่ดินทำกินและการที่รัฐมองว่าพวกเขาบุกรุกป่า ทั้งที่พวกเขาอาศัยอยู่ในป่ากันมานานหลายร้อยปีแล้ว แม้ปี 2542 จะเคยมีมติคณะรัฐมนตรีให้กลุ่มชาติพันธุ์งานมีสิทธิ์ในการดำรงวัฒนธรรมดำรงพื้นที่ทำกินได้ แต่หลังการรัฐประหารปี 2557 การปฏิบัติงานภายใต้การทวงคืนพื้นป่า ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่วิธีทางเศรษฐกิจต่อชุมชน โดยปัจจุบัน รัฐดำเนินคดีฟ้องร้องกว่า 20 คดีกับกลุ่มชาติพันธุ์
ทั้งหมดนี้ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ นักวิชาการ และนักกฎหมาย ร่วมกันต่อสู้ผลักดันให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติที่ยั่งยืนและสามารถกำหนดวิถีชีวิตตนเอง
พรรคก้าวไกลได้ให้ความสำคัญกับประเด็นความหลากหลายในสังคมมาโดยตลอด รวมถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติด้วย และพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ. ที่คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ฉบับนี้ จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. ซึ่งเสนอโดย ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ ของพรรคก้าวไกล กับคณะ
ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองชาติพันธุ์ฉบับนี้ มีสาระสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่
- คุ้มครองการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มชาติพันธุ์ คุ้มครองการดูถูกเหยียดหยาม ทำให้เป็นกฎหมายระดับสากลทัดเทียมนานาอารยะประเทศ
- กำหนดพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิมได้ เช่น ให้ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงหมู่บ้านชาติพันธุ์ในเขตอุทยานหรือป่าสงวนได้ ให้มีถนนหนทางสะดวกขึ้น เพื่อเป็นสาธารณูปโภคและสิทธิขั้นพื้นฐานของกลุ่มพลเมืองทุกคน
- ตั้งสภากลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการสะท้อนปัญหาและเสนอแนะนโยบายต่างๆ ไปยังรัฐบาล
ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะทำให้ไทยมีกฎหมายที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 70 ซึ่งกำหนดให้รัฐส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน
ทั้งนี้ ไทยได้เข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติข้อตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับที่ส่งเสริมความหลากหลายทางเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) หรือปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (UNDRIP) แต่ไทยกลับยังไม่มีกฎหมายเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง
การไม่มีกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรงนั้น ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญปัญหาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการขาดสิทธิทางวัฒนธรรม ขาดสิทธิทางทรัพยากร และอคติทางสังคมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะช่วยให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิมีเสียง รวมถึงกระบวนการในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นทางการได้