free geoip

ปลุกเศรษฐกิจท้องถิ่นแพร่ – ก้าวไกลฟังปัญหาช่างไม้-โอท็อป-วิสาหกิจชุมชน


ปลุกเศรษฐกิจท้องถิ่นเมืองแพร่ ‘ก้าวไกล’ ฟังปัญหา ช่างไม้-โอท็อป – วิสาหกิจชุมชน พบ ‘อำนาจรัฐ’ คืออุปสรรคสำคัญกีดขวางศักยภาพประชาชน

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการฯพรรค และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล เดินทางจากจังหวัดอุตรดิตถ์มายังจังหวัดแพร่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อรับฟังปัญหาในพื้นที่โดยเฉพาะผลกระทบหลังโควิด-19 และแนวทางเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตต่อไปในอนาคต



‘ไม้เมืองแพร่’ กฎหมายล้าหลังทำลายโอกาสเศรษฐกิจ

วิโรจน์ กล่าวว่า จากการเดินทางไปรับฟังปัญหาจากกลุ่มช่างไม้ ตำบลน้ำชำ อำเภอสูงเม่น ได้รับเสียงสะท้อนว่าพวกเขาประสบปัญหาในทางกฎหมายและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ทั้งที่เป็นการทำไม้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสามารถเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจให้คนจังหวัดแพร่ได้เป็นอย่างสูง

นโยบายกรมป่าไม้ ปี 2541 ห้ามไม่ให้มีการขออนุญาตเปิดโรงแปรรูปไม้เพิ่ม ทำให้ไม่สามารถนำไม้มาผลิตเฟอนิเจอร์หรือวงกบประตูหน้าต่างได้ ซึ่งพวกเขายืนยันว่าช่างไม้เมืองแพร่ในเรื่องนี้เก่งที่สุดในโลก ปัจจุบันแม้กฎหมายนี้จะยกเลิกไปแล้วราวปี 2562 และ มี พ.ร.บ.สงวนป่า เกิดขึ้น โดยมาตรา 7 อนุญาตให้ใช้ไม้ที่ปลูกในที่ดินตามกรรมสิทธิได้ ไม่ถือเป็นไม้หวงห้าม แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีการออกระเบียบการใช้ พอจะขอตั้งโรงงานทำไม้จากสวนเอกชนก็มีกระบวนการทางเอกสารมากมายคล้ายเตะถ่วงเพื่อไม่อนุญาต ขอเอกสารเพิ่มจนหมดเวลายื่นขอแล้วก็ให้ไปเริ่มกระบวนการใหม่วนไปจนไม่มีผู้ได้รับอนุญาตแม้แต่รายเดียว

ในอีกประเด็นหนึ่ง คือ การมีกฎหมายโบราณซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 ห้ามการแปรรูปไม้ด้วยเครื่องจักร เว้นแต่ขอชั่วคราวทำได้ 3 เดือน รู้กันว่ามีค่าใช้จ่ายนอกระบบ 30,000 บาทต่อครั้ง และขอไปแล้วกว่าจะให้ก็ใกล้หมดสามเดือนก็ต้องจ่ายอีก

ขณะที่ ชัยธวัช กล่าวถึงแนวทางออกว่า ประชาชนในพื้นที่ต้องการทำไม้ให้ถูกกฎหมาย ซึ่งมีกฎหมายรองรับตาม พ.ร.บ.สงวนป่า ที่ออกมา แต่เหมือนมีเจตนาทำให้ผิดกฎหมาย เรื่องนี้ต้องการปลดล็อกให้ได้ เพราะเกี่ยวข้องการสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด เบื้องต้นคณะทำงานจังหวัดแพร่พรรคก้าวไกล จะตั้งเป็นคณะทำงานเรื่องนี้รวมกับประชาชนในพื้นที่เพื่อรวมปัญหาไปยื่นต่อ กมธ.ที่ดินฯ สภา เพื่อให้หน่วยงานชี้แจงเหตุผลความล่าช้าในการอนุมัติการขอตั้งโรงงานทำไม้ของประชาชน รวมถึงจะเสนอให้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม อาจรวมถึงการแก้กฎหมายที่ล้าหลัง เช่น ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ กฎหมายการแปรรูปไม้ ปี 2478 ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่เพราะกระทบสิทธิการทำกินของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องในแต่ละระดับ ตั้งแต่กฎกระทรวงหรือระเบียบต่างๆ ที่ต้องออกซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรี และศึกษาตามข้อเสนอของพื้นที่ที่ว่า องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (วันที่ 1 ต.ค. 64) ควรให้ท้องถิ่นดูแลเพราะการจัดสรรทรัพยากรและการดูแลจะเป็นไปเพื่อท้องถิ่น



สรรพสามิต เล่นงาน ‘สุราพื้นบ้าน’ ซ้ำเติมโควิด

ในการรับฟังปัญหากลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตสุราท้องถิ่น ได้รับเสียงสะท้อนว่า ไม่สามารถขายได้ในช่วงล็อกดาวน์ พอคลายล็อกและเริ่มผลิตกลับถูกสรรพสามิตเข้ามาตรวจสอบบัญชีและบอกว่ารายงานบัญชีไม่ครบต้องจ่ายค่าปรับ 20,000 บาท ถ้าไม่จ่ายจะเก็บภาษีย้อนหลัง 70,000 บาทจึงยอมจ่าย แต่ก็เท่ากับต้นทุนที่จะกลับผลิตก็หมดไปแล้ว สิ่งที่สังเกตคือ เป็นการเอาระเบียบมาจับผิด และอาจมีเจตนาเอื้อให้เกิดการทุจริต โรงกลั่นสุราท้องถิ่นไหนยอมจ่ายก็ไม่โดน โรงไหนไม่ยอมก็ถูกกวนหนัก

วิโรจน์ กล่าวว่า โดยหลักใหญ่ต้องดูจากเจตนา ถ้าทางผู้ผลิตไม่มีเจตนาก็ต้องดูว่าทางราชการมีเจตนาหรือไม่ ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่มีเจตนาก็ต้องไปดูว่าปัญหามาจากข้อติดขัดจากระเบียบต่างๆหรือไม่ที่ไปทำบั่นทอนพลังทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น จะเก็บประเด็นนี้ไปถามต่อยังรัฐบาลว่า ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิดจริงหรือ เพราะการฟื้นฟูท้องถิ่นเท่านั้นคือทางออก เรารอเมกะโปรเจ็คไม่ได้ โควิดทำลายชีวิตไปแล้วยังจะให้ระเบียบกฎหมายมาทำลายเศรษฐกิจคนเล็กคนน้อยอีกหรือ

“เรื่องสุรา ประชาชนต้องการทำให้สุจริต แต่ระเบียบทำให้ยุ่งยากเอื้อในการจับผิด ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะเอากฎหมายเวิ่นเว้อออกไป แล้วเราจะเอากฎหมายมาจัดการคนที่จะฟื้นตัวจากโควิดทำไม ส่วนใหญ่เรามักอ้างกฎหมายแล้วจบ แต่ความจริงคือถ้ากฎหมายไม่เป็นธรรมก็ต้องทบทวน ประเทศพัฒนาทำแบบนี้ แต่ประเทศล้าหลังจะตรึงไว้อย่างนั้นและเอื้อต่อการเกิดทุจริตด้วย

ด้านรังสิมันต์ กล่าวว่า หากไม่มีเจตนาละเมิดกฎหมาย สิ่งที่ต้องทำคือการช่วยเหลือ ทบทวนข้อจำกัดทางกฎหมาย หากทางรอดของเศรษฐกิจประเทศคือท้องถิ่นก็ต้องไม่อุดจมูกเขาจนหายใจไม่ได้

“ต้องปลดล็อกให้สามารถทำธุรกิจได้ง่าย เงื่อนไขของคนรวยกับคนจนต้องไม่เหลื่อมล้ำกัน ต้องตระหนักว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ใช่ทุนใหญ่อีกแล้วแต่คือทุนของคนเล็กคนน้อยที่ขับเคลื่อนไปได้ การมาจังหวัดแพร่ทำให้เห็นว่า หลายบ้าน หลายครอบครัวมีศักยภาพในการทำสุราท้องถิ่นหรือผลิตภัณฑ์เข้มแข็งแต่ผู้บริโภคกลับมีตัวเลือกน้อยมากสะท้อนว่าการแข่งขันที่มีอยู่มันไม่เป็นธรรม”



โอท็อปผ้า-ทำมีด หมดหวังฟื้นตัว เข้าถึงแหล่งทุนยาก

ที่ ต.ร่องฟอง อ.เมือง ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มสตรี ตัวแทนผู้ประกอบการโอท็อป และตัวแทนผู้ประกอบการทำมีด สะท้อนปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์โควิดทำให้ไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ โดยประสบปัญหาอย่างต่อเนื่องมา 2 ปี ไม่ได้รับการเยียวยา และด้วยความที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคลทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้

วิโรจน์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิดทำให้ตลาดหด ไม่สามารถขายสินค้าได้ หนี้เดิมจึงอาจเกินความสามารถในการชำระหนี้ ประเด็นก็คือนโยบายพักหนี้กำลังจะครบกำหนดต้นปีหน้า แต่ด้วยสถานการณ์แบบนี้คงไม่สามารถใช้หนี้ได้ตามกำหนด ในเรื่องนี้จะมีการนำเสนอเข้าสู่ กมธ.เศรษฐกิจ สภาฯ เพื่อเสนอแนะไปยังรัฐบาลให้ยืดเวลาออกไป

ในเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุน แม้กลุ่มวิสาหกิจหรือโอท็อปจะไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่ก็มีการรับรองการรวมกลุ่มโดยหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการพัฒนาสังคมฯหรือกระทรวงมหาดไทย ต้องหาทางทำให้การรวมกลุ่มแบบนี้เข้าถึงแหล่งทุนให้ได้ เพราะแค่การพักหนี้ไม่พอต้องมีวงเงินมาฟื้นฟูด้วย

“ในส่วนที่มีการอบรมรีสกิล อัพสกิลที่รัฐจัด เขามีความต้องการ แต่โครงการจากส่วนกลางที่รัฐจัดลงมาไม่ตอบโจทย์ บางทีก็สั้นไป หรือหาตลาดให้ไม่ได้ ควรเอางบมาให้เขาไปตัดสินใจคิดสิ่งที่อยากพัฒนากันเองเลยว่าต้องการเสริมจุดแข็งด้านไหนหรือให้ใครอบรม”

“นอกจากนี้ จะทำอย่างไรให้ประชาชนสะดวกในการเข้าถึงเงินทุนเพื่อฟื้นฟู ซึ่งผู้ประกอบการเห็นด้วยว่าไม่ควรให้งบหน่วยงานรัฐเพราะมีความล่าช้าแต่ควรผ่านธนาคารในการปล่อยงบเพื่อความโปร่งใสและต้องทำเกณฑ์ให้เข้าถึงง่าย แต่รัฐต้องหาวิธี ทำให้ธนาคารกล้าปล่อย เช่น การรองรับหนี้เสีย รัฐจะกลัวไม่ได้ ถ้ากลัวเศรษฐกิจภาพใหญ่ไปไม่ได้เลย รัฐต้องขยับก่อน ประชาชนสายป่านหมดแล้ว ตลาดก็ยังปิด รัฐต้องถือธงเคลื่อน ในเรื่องนี้ เราจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ กมธ.เศรษฐกิจ และจัดทำนโยบายพรรคเพื่อเสนอแนะไปยังฝ่ายบริหารต่อไป”



ชู ‘กาแฟแม่ลัว’ ปลุกชีพเศรษฐกิจท้องถิ่น

ที่บ้านแม่ลัว ต.ป่าแดง อ.เมือง ชัยธวัช กล่าวว่า เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวท้องถิ่น เพราะอยู่ห่างจากตัวเมืองเพียง 20 กิโลเมตร แต่มีธรรมชาติที่สมบูรณ์รวมถึงมีการปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าที่มีใบรับรองรสชาติจากสมาคมกาแฟพิเศษไทยได้ลำดับที่ 28 มีรสชาติเฉพาะแบบเปรี้ยวนำ จบด้วยหวานและมีความนัตตี้

“กาแฟคือพืชรักษาป่า เพราะต้องการต้นไม้ใหญ่คลุม ชอบความดิบชื้นและที่นี่คือป่าต้นน้ำแม่แคม แม่ลัวเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟที่ดีที่สุดของแพร่ และสามารถส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นที่ให้คนอยู่กับป่าได้ เดิมพื้นที่นี้นิยมปลูกเมี่ยงแต่ปัจจุบันมีคนเคี้ยวน้อยลง การทำกาแฟจึงเป็นรายได้ใหม่ที่ทดแทนได้ ตอนนี้ราคาเชอรี่กาแฟอยู่ที่ 20 บาทบาทต่อกิโลกรัม สร้างรายได้ครัวเรือนละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อปี มีโรงสีเม็ดกาแฟ และมีร้านกาแฟที่ดีตั้งอยู่ที่นี่ ตอนนี้หลายบ้านเริ่มทำเมล็ดกาแฟหลากหลาย Process มีทั้ง Washed , Natural หรือ Honey Processed ที่เพิ่มมูลค่าได้มากขึ้นอีก ตอนนี้มีแบรนด์ในหมู่บ้านประมาณ 5 แบรนด์

“เราพบว่าหลายที่ในภาคเหนือทำกาแฟรักษาป่าได้แต่เจอปัญหาระเบียบกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ล็อกไว้ หากปลดล็อกเชื่อว่าจะสามารถสร้างเศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืนไปพร้อมกับการสร้างการท่องเที่ยวท้องถิ่นได้”



เห็นโอกาสต่อยอด ‘หม้อห้อม’ ลุยตลาดโลก

คณะเดินทางยังได้ไปเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ชุมชนทุ่งเจริญ (บ้านป้าเหงี่ยม) ซึ่งเป็นเชื้อสายชาติพันธุ์ไทพวนที่มีวิธีการย้อมผ้าแบบหม้อห้อมมากว่า 200 ปี โดย ชัยธวัช, วิโรจน์ และรังสิมันต์ ได้ร่วมประชันฝีมือการออกแบบลายมัดย้อมผ้าหม้อห้อม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพียงหนึ่งเดียวของเมืองแพร่

รังสิมันต์ กล่าวว่า ศักยภาพของหม้อห้อมสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจท้องถิ่นได้อีกมาก แต่ปัญหาที่ได้รับสะท้อนมาคือ แม้เราจะรู้จักชื่อเสียงหม้อห้อมเมืองแพร่มานาน แต่กลับไม่มีผลงานวิจัยมาศึกษารองรับข้อดีหรือยืนยันการไม่ตกของสีหรือด้านอื่นๆ เลย ทำให้แม้จะมีความสนใจจากบริษัทชั้นต่างชาติเพื่อสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ แต่เมื่อขาดการวิจัยจึงขาดเครื่องมือหนุนเสริมศักยภาพ ทำให้การต่อยอดขยายหรือสร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่มีข้อจำกัดไป

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า