90 วัน โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ ส.ส.ก้าวไกล จี้รัฐเร่งเยียวยา – เอกชนจ่ายค่าชดเชย
‘วุฒินันท์’ จากพรรคก้าวไกล ขอความชัดเจนเรื่องการเยียวยา กรณีที่โรงงานบริเวณซอยกิ่งแก้วไฟไหม้หลังครบกำหนด 90 วันตามระเบียบเงินทดรองช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับทำงานล่าช้า พร้อมจี้ให้บริษัทเอกชนชดเชยค่าเสียหายให้ผู้ประสบภัย
วุฒินันท์ บุญชู ส.ส. เขต 4 จังหวัดสมุทรปราการ จากพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการปกครอง ได้จัดสัมมนาเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อให้ความรู้เชิงติดตามความคืบหน้าการเยียวยาเหตุการณ์ภัยพิบัติ #โรงงานกิ่งแก้วระเบิด โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมด้วย ได้แก่ นายอำเภอบางพลี หัวหน้าส่วนราชการท้องที่, ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น, สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดสมุทรปราการ, บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด, สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จังหวัดสมุทรปราการ, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, สภาทนายความ จังหวัดสมุทรปราการ, อุตสาหกรรม จังหวัดสมุทรปราการ และประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย
วุฒินันท์ ให้ความเห็นว่า ความเสียหายครั้งนี้ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งสภาพร่างกาย และจิตใจ ขณะที่ระเบียบราชการเงินทดรองจ่ายเหตุสาธารณะภัยมีกำหนดเวลา 3 เดือน วันนับจากเกิดภัย แล้วให้ยุติการจ่าย แต่หน่วยงานราชการทำงานล้าช้า เพราะการระบาดโควิด-19 รุนแรงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แต่เมื่อสถานการณ์โควิดคงที่และเริ่มรับมือได้เพียงพอแล้ว หวังว่า การขยายการเยียวยาเพิ่มขึ้น 60 วันของภาครัฐจะต้องเร่งเยียวยาประชาชนให้สำเร็จทุกครอบครัว ตนในฐานะผู้แทนในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัตินี้ จะติดตามการทำงานของภาครัฐอย่างใกล้ชิด และรายงานความคืบหน้าต่อประชาชนทุก 15 วัน
ส่วนการชดใช้ของ บริษัทหมิงตี้ วุฒินันท์มีความเห็นว่า เหตุการณ์นี้สร้างความเสียหายให้ประชาชนในอำเภอบางพลี รวมแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท (ข้อมูลจาก สถานีตำรวจภูธรบางแก้ว) โดย 3 เดือนที่ผ่านมา หมิงตี้เพิ่งจะชดใช้ไปเพียง 10 ล้านบาท ถ้าเทียบแล้ว คิดเป็นเพียง 1% เท่านั้น ตนมีความเห็นว่าหมิงตี้ควรเร่งนำเงินประกันทั้งทรัพย์สินและบุคคลภายนอกที่หมิงตี้ทำไว้ชดใช้ประชาชนทั้งหมด
ครั้งนี้เป็นเพียงยกแรกของการติดตาม ที่หมิงตี้จะได้เจอกับตน ตนจะติดตามเรื่องนี้ และตนไม่ปล่อยเรื่องนี้ให้หายไปเด็ดขาด เพราะประชาชนบ้านพัง ฝ้าร่วง กระจกแตก ข้าวของเครื่องใช้เสียหายจำนวนมาก บาดเจ็บทั้งกายและจิตใจ เด็กๆ เสียขวัญ มีภาพจำของเหตุภัยพิบัติที่ประเมินค่ามิได้ ตนเข้าใจความารู้สึกความเจ็บปวดนี้จากการลงพื้นที่
วุฒินันท์ กล่าวว่า ตนขอปวารณา (อาสารับใช้) ขอเป็นหัวเรียวหัวแรง ในฐานะ ส.ส.เจ้าของเขตพื้นที่ ติดตามการเยียวยา-ชดใช้เหตุภัยพิบัติ ต่อสู้ให้ชาว อ.บางพลี ซึ่งเป็นเพื่อนตน เป็นครอบครัวของตน เป็นประชาชนที่ตนต้องดูแล
จากการสัมมนาครั้งนี้ สามารถสรุปความาคืบหน้าจากแต่ละฝ่ายได้ ดังนี้
สมศักดิ์ แก้วเสนา นายอำเภอบางพลี หัวหน้าส่วนราชการท้องที่ กล่าวว่า 3 เดือน ที่ผ่านมา มีปัญหาการระบาดรุนแรงของโควิด-19 ในพื้นที่อำเภอบางพลี ทำให้การตรวจสอบความเสียหายจริงและแจ้งข้อมูลผู้เสียหาย ไม่สามารถทำได้เต็มที่นัก แต่สถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้เริ่มคงตัวแล้ว สามารถดำเนินการเยียวยา ในส่วนความรับผิดชอบของ กรรมการช่วยเหลือภัยพิบัติอำเภอ ได้ภายใน 7 วัน เพื่อส่งต่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดผู้มีหน้าที่ และอำนาจจัดสรรเงินช่วยเหลือสาธารณะภัยในคณะกรรมการช่วยเหลือภัยพิบัติจังหวัด
ด้านตัวแทนสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย จังหวัดสมุทรปราการ ให้ข้อมูลว่า ปภ.จังหวัด ขยายกรอบเวลาการเยียวยาเหตุภัยพิบัติหมิงตี้เพิ่มอีก 60 วัน หลังจากครบกำหนด 90 วัน จากระเบียบ ข้อ 10 (2) คาดว่าเมื่อ กรรมการช่วยเหลือภัยพิบัติอำเภอ ส่งข้อมูลให้ทางจังหวัดแล้ว จะดำเนินการจ่ายเงินได้ทันที และถ้าหากวงเงินที่จังหวัดจัดสรรมีไม่เพียงพอ (ปภ.จังหวัด มี 20 ล้านบาท) ก็สามารถขอจัดสรรเพิ่มเติมจากส่วนกลางตามระเบียบราชการได้
ส่วนตัวแทน บริษัทหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมา หมิงตี้ชดใช้ความเสียหายให้กับประชาชนไปแล้วบางส่วน โดยหมิงตี้แจ้งว่าดำเนินการไปแล้ว 10 ล้านบาท 300 กว่าครัวเรือน โดยเป็นเงินสำรองจากหมิงตี้ แต่หมิงตี้ยังไม่ได้รับเงินจากประกันที่หมิงตี้ทำไว้ โดยบริษัทพยายามจะเจรจาชดใช้กับผู้เสียหายทุกสัปดาห์ ที่ สภ.บางแก้ว ซึ่งปัจจุบันสามารถเจรจาชดใช้ค่าเสียหายได้ในอัตราสัปดาห์ละ 60-70 ราย
ที่ผ่านมา หมิงตี้เจอปัญหาอุปสรรค เช่น การรวบรวมข้อมูลเอกสารความเสียหาย ซึ่งทางหมิงตี้ได้ประสานขอความอนุเคราะห์จาก อำเภอบางพลี เพื่อขอข้อมูลความเสียหายของประชาชน ซึ่งประชาชนผู้เสียหายท่านใดยังไม่ได้ส่งเอกสารให้กับหมิงตี้ สามารถติดต่อที่ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือของหมิงตี้ ได้ ที่ ซอยกิ่งแก้ว 21/1
อีกอุปสรรคหนึ่งคือระหว่างทางหมิงตี้กับประกันที่หมิงตี้ทำไว้ โดยประกันได้แจ้งว่าไม่สามารถเข้าพื้นที่ตัวอาคารหมิงตี้ที่เกิดเหตุเพื่อประเมินความเสียหายได้ เนื่องจากติดคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่ จึงทำให้การได้เงินประกันบุคคลภายนอก (หมิงตี้มีประกันบุคคลภายนอก 20 ล้านบาท) ล่าช้าไป ซึ่งนายอำเภอบางพลี ได้แจ้งหมิงตี้ว่าให้บริษัทประกันและหมิงตี้ทำเรื่องขอเข้าพื้นที่ได้เลย เพราะการปิดประกาศนั้นมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันประชาชน และบุคคลทั่วไปเข้าพื้นที่ ซึ่งอาจได้รับอันตรายจากโครงสร้างที่ชำรุดจากเพลิงไหม้และการระเบิด
ขณะที่ ตัวแทนคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมประกันภัย จ.สมุทรปราการ (คปภ.จังหวัด) ให้ข้อมูลด้านการประกันภัยของบริษัทหมิงตี้เคมีคอล จำกัด โดยมีรายละเอียดทั้งประกันทรัพย์สินของหมิงตี้กว่า 380 ล้านบาท และประกันบุคคลภายนอก 20 ล้านบาท ซึ่ง คปภ. ได้ติดตาม และมีการประชุมร่วมกันกับส่วนที่เกี่ยวข้อง โดย คปภ.ให้ความเห็นว่า ความเสียหายของทรัพย์สินของ บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด เป็นลักษณะ ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งได้เกิดความเสียหายจนไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้อีกต่อไป (LOSS OF SPECIE)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) ให้ความเห็นในประเด็นที่น่าสนใจว่า อยากให้ติดตามความคืบหน้าด้านสุขภาพร่างกายของประชาชน และนักผจญเพลิง-ดับเพลิง โดยที่ผ่านมา ยังไม่ทราบความคืบหน้าตรงส่วนนี้ อยากได้ข้อมูลและความคืบหน้าจากโรงพยาบาลจังหวัดที่รับผิดชอบเรื่องนี้ เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพร่างกายของประชาชนและนักผจญเพลิง-ดับเพลิง
ด้าน ประธานสภาทนายความ จังหวัดสมุทรปราการ ให้คำแนะนำผู้ที่ติดต่อขอความช่วยเหลือในกรณีนี้ว่า การฟ้องร้องกลุ่มจะสามารถประหยัดค่าธรรมเนียมศาลได้ โดย ประธานสภาทนายความได้ให้คำมั่นว่าจะเร่งติดตามความคืบหน้าด้านข้อมูลการชดใช้ของประกันบุคคลนอกและทรัพย์สินของหมิงตี้ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการการปกครองอย่างใกล้ชิด
ตัวแทนอุตสาหกรรม จ.สมุทรปราการ ให้ข้อมูลของการขออนุญาตตั้งทำการของ บริษัทหมิงตี้ ว่า ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นบริษัทที่จดตั้งก่อนการกำหนดผังเมืองจังหวัด รวมถึงเรื่องกลิ่นก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากลเสมอมา แต่อนุกรรมาธิการ ให้ความเห็นว่า หากทำตามเกณฑ์แต่ประชาชนยังได้กลิ่น ยังได้รับมลภาวะ มีผลกระทบ และปรากฎสิ่งมีชีวิต เช่น นก ในพื้นที่เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุให้เห็นบ่อยครั้ง เกณฑ์นี้อาจจะอ่อนเกินไปหรือไม่กับสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีโรงงานหนาแน่น แต่ปล่อยมลภาวะออกมาพร้อมๆ กัน จึงเสนอให้กรรมธิการรับเรื่องตรวจสอบเรื่องมลภาวะทางกลิ่นของโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ตำบลบางพลีใหญ่ หมู่ 15 ในชั้นกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรอย่างเร่งด่วน