free geoip

เปิดประเทศ แต่ไม่ปรับกฎรับแรงงานข้ามชาติ – ‘ค้ามนุษย์’ ยิ่งเฟื่องฟู

เปิดประเทศ แต่ไม่ปรับกฎรับแรงงานข้ามชาติ ‘ค้ามนุษย์’ ยิ่งเฟื่องฟู


เปิดประเทศสุดลักลั่น ไม่ปรับกฎเกณฑ์ลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติให้เหมาะสม สวนความต้องการภาคเศรษฐกิจ ยิ่งเน้นจับแรงงานลักลอบเข้าเมือง ยิ่งส่งเสริมขบวนการ ‘ค้ามนุษย์’ ให้เฟื่องฟู

ในยามที่รัฐบาลต้องการเปิดประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาเหมือนเดิม ความต้องการแรงงานที่เคยหายไปช่วงปิดเมืองก็กลับมาสูงขึ้น โดยเฉพาะแรงงานต่างชาติที่ยังจำเป็นอย่างมากในหลายภาคส่วน ไม่ว่าภาคประมง ภาคเกษตร ภาคท่องเที่ยว หรือภาคอุตสาหกรรม ปัญหาที่ตามมาด้วยก็คือ ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างชาติ

ปัญหาแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้าเมือง เกี่ยวพันซ้อนทับกับปัญหาหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากขบวนการค้ามนุษย์ ต้นทุนทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงทางสาธารณสุขที่อาจเกิดการระบาดของโควิด-19 ซ้ำรอยกรณีคลัสเตอร์แรงงานต่างชาติจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อธันวาคม 2563 สิ่งที่น่ากังวลก็คือ รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ไม่เคยมีการถอดบทเรียนเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นเลย

กรณีคลัสเตอร์สมุทรสาคร เกิดขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 จากคำสั่งปิดเมืองรอบแรก ทำให้มีความต้องการแรงงานข้ามชาติสูงในภาคการผลิต แต่ภาครัฐก็ยังปิดชายแดนอย่างเข้มงวด ทำให้เกิดขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงาน ซึ่งเป็นธุรกิจสีเทาที่จะเกิดไม่ได้เลย หากไม่มีความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงที่ทุจริตกินสินบาทคาดสินบน ซึ่งรู้กันดีว่าส่วนไหนดูแลชายแดน แต่กลับปล่อยให้แรงงานเถื่อนทะลักเข้ามาได้มหาศาล จนเกิดเป็นคลัสเตอร์จังหวัดสมุทรสาคร และต้องล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอีกครั้ง สร้างความเดือดร้อนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง โดยที่รัฐบาลไม่สามารถหาตัวเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในความบกพร่องมารับผิดได้เลย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อมาก

สุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนแรงงาน พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร สะท้อนทัศนะต่อสถานการณ์แรงงานในขณะนี้ว่า เมื่อไม่มีการถอดบทเรียน จึงยังเห็นนโยบายที่เน้นการปิดชายแดนอย่างเข้มงวด สวนทางกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจเหมือนเดิม และช่วงที่ผ่านมา ก็เห็นสัญญาณการลักลอบนำเข้าแรงงานข้ามชาติอย่างผิดกฎหมายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งในส่วนที่จับกุมได้ เช่น ที่จังหวัดกาญจนบุรี วันเดียว 260 คน พบว่ามีการจ่ายกันถึงรายละ 18,000-23,000 บาทต่อคน ขณะเดียวกัน ส่วนที่จับกุมไม่ได้ก็มี ดังกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถคว่ำและถูกเอาไปทิ้งไว้ข้างทางกว่า 20 คน ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 3 คน ในจำนวนนี้ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด- 19 ด้วย

“เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ทั้งแรงงานในประเทศหรือแรงงานข้ามชาติล้วนเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งที่ขาดไม่ได้ทั้งสิ้น ในทางกลับกัน หากบริหารจัดการไม่ดี ปัญหาก็จะวนลูปกลับไปเหมือนกรณีคลัสเตอร์สมุทรสาคร”

หากพิจารณาจากความต้องการของภาคเศรษฐกิจขณะนี้ คาดว่า ไทยยังมีความต้องการแรงงานต่างชาติไม่น้อยกว่า 5 แสนคน เพราะแรงงานกลุ่มเดิมที่กลับภูมิลำเนาไปยังไม่สามารถกลับเข้ามาได้หรือกลับมาได้ยาก เนื่องจากการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายมีต้นทุนสูง มีต้นทุนจากการตรวจคัดกรองตามระบบสาธารณสุขเพิ่มเข้ามา ขณะเดียวกัน ระบบราชการที่ล่าช้าก็เป็นอีกช่องว่างหนึ่งที่ภาคธุรกิจรอไม่ได้ ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ตกค้างในประเทศน่าจะอยู่ประมาณหนึ่งล้านคน บางส่วนเมื่อหมดอายุลง การขึ้นทะเบียนใหม่ก็มีภาระต้นทุนแพงกว่าการใช้แรงงานผิดกฎหมาย

หากรัฐบาลและกระทรวงแรงงานมีวิสัยทัศน์ มองแรงงานเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจ เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส หันมาส่งเสริมสนับสนุนสวัสดิการและการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเต็มที่ จูงใจให้แรงงานต้องการอยู่ในระบบ แต่เมื่อการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติยิ่งยาก ขบวนการค้ามนุษย์ก็ยิ่งเฟื่องฟูขึ้น

“ที่ผ่านมาก็ไม่เห็นว่าจะเอาผิดใครได้ จึงไม่รู้ว่าการทำการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติให้เป็นเรื่องยากนั้น เป็นการขยิบตาเอื้อประโยชน์ทางนโยบายให้ใครหรือไม่ ภาคเอกชนมีข้อเสนอว่า ไทยควรทำ MOU แบบรัฐต่อรัฐในการนำเข้าแรงงานให้ชัดเจน ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และตรวจโรคอย่างถูกหลักของระบบสาธารณสุข ทราบว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีท่าทีขานรับ ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ที่ผ่านมาก็พูดแบบนี้มาตลอด ดังนั้น จึงควรต้องทำอย่างรวดเร็วและจริงจังในทางปฏิบัติด้วย เพราะยิ่งช้ายิ่งไม่ส่งผลดีต่อทั้งภาคเศรษฐกิจ สถานการณ์ทางสาธารณสุข รวมถึงปัญหาทางสิทธิมนุษยชนจากขบวนการค้ามนุษย์”

สุเทพ ยังมีข้อเสนอว่า สิ่งที่ต้องรีบทำทันที คือการช่วยเหลือแรงงานต่างชาติที่ตกค้างในประเทศด้วยการทบทวนปรับลดค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียน เพื่อจูงใจให้นายจ้างนำลูกจ้างมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง และขอเรียกร้องให้รัฐบาลนิรโทษกรรมความผิดในการลักลอบเข้าเมืองเป็นการชั่วคราว

รัฐบาลไม่ควรสั่งตั้งทีมตรวจจับตรวจ ค้นนายจ้างว่าจ้างแรงงานผิดกฎหมายหรือไม่ จะต้องมองอย่างเข้าใจว่า นายจ้างก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด หลายรายยังไม่ฟื้นและไม่สามารถรับภาระต้นทุนการขึ้นทะเบียนที่สูงมากได้ หากการทำถูกกฎหมายไม่ใช่เป็นการสร้างภาระก็คงไม่มีใครอยากทำผิดกฎหมาย

สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ต้องการเข้ามาใหม่ ก็ควรเปิดให้เข้ามาได้ โดยผ่านการคัดกรองตรวจหาเชื้อ รวมถึงถ้าสามารถจัดหาวัคซีนมาให้ฉีดได้โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติก็จะยิ่งเป็นการลดความเสี่ยงทางสาธารณสุข

“การแก้ปัญหาแรงงานลักลอบเข้าเมืองที่แท้จริงคือการทำให้ถูกกฎหมาย ไม่ใช่การอ้างบังคับใช้กฎหมาย แต่ไปเอื้อต่อการทุจริตเชิงนโยบายของเจ้าหน้าที่ ราวกับมีเจตนาต้องการให้การขึ้นทะเบียนต้องมีราคาแพง เพื่อกีดกันการเข้ามาของแรงงานอย่างถูกต้อง เหมือนต้องการส่งเสริมกลไกธุรกิจสีเทาหรือขบวนการค้ามนุษย์มีช่องให้สามารถทำงานได้”

สุเทพ ระบุ

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า