ประชาชนหรือเผด็จการเลือกมาเป็น ส.ส.? สภาคว่ำ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช.
เป็นอีกครั้งที่ผลการลงมติเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปอย่างน่าผิดหวัง และเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ของประชาชนที่ต้องจดจำใบหน้าเหล่านี้ไว้ให้ดี เมื่อพวกเขาในฐานะผู้แทนของประชาชนกลับเลือกทำหน้าที่ประหนึ่ง ‘เผด็จการ’ จิ้มนิ้วเลือกมา จึงไม่กล้ากระทั่งรับหลักการของกฎหมายเพื่อปลดอาวุธล้างมรดกบาป คสช. ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนตลอด 7 ปีที่ผ่านมา
ร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ ฉบับ จอน อึ้งภากรณ์ และประชาชน 12,609 คน ร่วมกันเข้าชื่อ และฉบับ ปิยบุตร เเสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ พยายามจะแก้คำสั่ง คสช. ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย 3 หมวด ได้แก่
- หมวดละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยเฉพาะคำสั่งที่ 3/2558 ที่มีเพื่อนสมาชิกจากรัฐบาลและฝ่ายค้านจำนวนมากที่ถูกเรียกตัว โดยรวมถึงการอุ้มหาย การเสียชีวิต การละเมิดสิทธิมนุษยชน
- หมวดการออกกฎหมายเฉพาะ อาทิ เรื่องผังเมือง และกรณี EEC รวมไปถึงนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
- หมวดที่เกี่ยวกับพี่น้องที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆ อาทิ นโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งในปัจจุบันมีคดีที่รอการพิจารณากว่า 10,000 คดี และมีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 30,000 คน
สภากลับปิดประตูทางออกให้กับประเทศ ไม่ยอมปลดล็อกกฎหมายที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ปกป้องมรดกบาปของ คสช. ให้ดำรงอยู่ต่อไป คำสั่งที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ ท่ามกลางความทุกข์ ความเดือดร้อน ความคับแค้นของผู้ที่ได้รับผลกระทบ นั่นก็คือประชาชน
“เราผิดหวังเเต่ไม่ผิดคาด จากกรณีการอภิปรายของเพื่อนสมาชิกทั้งหมด ไม่มีเพื่อนสมาชิกคนใดที่กล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.เพื่อยกเลิกคำสั่งดังกล่าว แต่ทว่าเมื่อลงมติผลกลับออกมาเป็นอีกอย่าง อย่างไรก็ตาม เราต้องการตอกย้ำและเดินหน้าในการรื้อมรดก คสช. รื้อระบอบประยุทธ์ทั้งหมดต่อไป แต่พวกเราไม่อาจเดินทางเพียงลำพังได้ หากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชน”
ณัฐวุฒิ บัวประทุม กล่าว
“การลงมติครั้งนี้คือวิธีการลงมติโดยไม่มีการอธิบาย ไม่สื่อสารให้พี่น้องประชาชนทราบ ในวันที่พี่น้องประชาชนตั้งคำถาม ในวันที่ประชาชนต้องการที่จะเห็นร่างดังกล่าวเพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. สิ่งที่ตอบกับพี่น้องประชาชนคือเงียบและลงมติ”
รังสิมันต์ โรม ระบุ
“อยากให้พวกเขาเหล่านั้นกลับไปจดจำความรู้สึกที่เคยถูกกระทำ ตอนที่พวกเราได้รับความเดือดร้อนในสมัยยุค คสช. รังแกพวกเราเเละรังเเกประชาชน หากไม่เอาความรู้สึกเหล่านั้นมาใส่ใจในหัวใจของเรา คิดว่าการทำหน้าที่เป็นผู้เเทนราษฎรที่ดีคงไม่อาจเกิดขึ้นได้ ผมเชื่อว่าการลงมติครั้งนี้ เป็นการลงมติในประวัติศาสตร์ คนที่ขัดขวางจะถูกจดจำในฐานะของคนที่ขัดขวางระบอบประชาธิปไตยและขัดขวางประเทศไทยไม่ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้”
“อยากให้ส่องกระจกแล้วถามตัวเองว่า ใครเป็นคนเลือกท่านมา ท่านไม่ได้มาจาก คสช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่เป็นคนที่เลือกท่านเข้าสภามา คนที่เลือกท่านคือประชาชน ถ้าส่องกระจกแล้วจำได้ ก็ขอให้เดินหน้าทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรต่อไป หากท่านจำไม่ได้ ประชาชนก็จะจำท่านไม่ได้เช่นกัน นี่คือผลกรรมที่ท่านเลือกไม่ฟังเสียงประชาชน”
“ขอเรียกร้องให้ ส.ส.รัฐบาลรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น ต้องอธิบายว่าเหตุผลอะไรทำไมไม่เห็นด้วยกับการไม่รับหลักการร่างกฎหมายยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. หรือถ้า หากเห็นด้วยก็ต้องอธิบายเช่นกัน การลงมติในทุกครั้งท่านต้องอธิบายให้ได้ เพราะมันมีผลต่อพี่น้องประชาชน เราเป็นตัวแทนของประชาชนในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ เราเคยอยู่ในยุคผู้มีอำนาจเหนือประชาชน เเล้วเหตุใดเราถึงไม่ให้คำสั่งของผู้อำนาจเผด็จการเหล่านั้นถูกยกเลิก”
จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ กล่าวทิ้งท้าย